“โรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี” ต้นแบบวิศวกรรมสร้างสมดุลอย่างยั่งยืน

      หลังจากใช้เวลาศึกษาและพัฒนาโครงการร่วม 10 ปี โดย บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด(มหาชน) และมีบริษัท ช.การช่าง (ลาว) เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างด้วยมาตรฐานสูงสุด ผ่านอุปสรรคสำคัญที่สุดคือการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ผ่านจุดวิกฤตของการก่อสร้าง ปรับเปลี่ยนรูปแบบผสมผสานเทคโนโลยีที่เหมาะกับพื้นที่ ตลอดจนผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตของผู้คนริมฝั่งโขง ปัจจุบันโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี ก่อสร้างแล้วเสร็จเกือบ 100% พร้อมขายไฟเชิงพาณิชย์อย่างเป็นทางการ หรือ Commercial Operation Date-COD ในปลายเดือนตุลาคมนี้ 

      ทีมงาน “ประชาชาติธุรกิจออนไลน์” มีโอกาสลงพื้นที่โรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี ในช่วงที่การก่อสร้างที่คืบหน้าไปแล้วกว่า 99.86% นำชมโรงไฟฟ้าโดย “นายธนวัฒน์ ตรีวิศวเวทย์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ CKPower ที่แสดงถึงความพร้อมของการผลิตไฟฟ้า พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ วิศวกรด้านสิ่งแวดล้อม และผู้พัฒนาโครงการคอยอธิบายถึงแนวคิด การออกแบบ ตลอดจนการก่อสร้างจนเกิดเป็นโรงไฟฟ้าอย่างละเอียด

      นายธนวัฒน์ อธิบายว่า สืบเนื่องจากนโยบายที่สปป.ลาวได้วางแผนแม่บทการพัฒนาประเทศโดยใช้พลังงานโดย ตั้งเป้าหมายที่จะเป็นแบตเตอรี่แห่งเอเชีย ซึ่งศักยภาพด้านภูมิประเทศที่มีเขาสูงชันประกอบกับมีแม่น้ำสากลสายหลักอย่างแม่น้ำโขงไหลผ่าน เหมาะสมกับการสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำอย่างยิ่ง CKPower เป็นบริษัทไทยที่ได้รับความไว้วางใจจากรัฐบาลสปป.ลาว ให้เป็นผู้พัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำจำนวน 2 แห่ง ได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังน้ำ น้ำงึม 2 ตั้งอยู่บนแม่น้ำงึมซึ่งเป็นแม่น้ำสาขาของแม่น้ำโขง มีกำลังการผลิตติดตั้ง 615 เมกะวัตต์ โดยส่งไฟฟ้าขายให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ปัจจุบันเปิดทำการขายไฟเชิงพาณิชย์ไปแล้ว 

ธนวัฒน์ ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน)

      สำหรับโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี เป็น 1 ใน 11 โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำที่มีศักยภาพสูงบนแม่น้ำโขงตอนล่าง ลักษณะเป็นฝายทดน้ำขนาดใหญ่ เป็นโรงไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตั้งอยู่บนแม่น้ำโขงระหว่างแขวงไซยะบุรีและหลวงพระบาง มีกำลังการผลิตติดตั้งถึง 1,285 เมกะวัตต์ ใช้งบลงทุนกว่า 135,000 ล้านบาท มีสัญญาสัมปทาน 31 ปีนับจากวันที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ สามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้สูงสุด 7,600 ล้านหน่วยต่อปี โดย 95% จะขายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และ 5% ส่งให้กับรัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว (EdL) นับเป็นโครงการที่ใช้ประโยชน์ของน้ำจากแม่น้ำโขงอย่างเต็มประสิทธิภาพ และเป็นสัญญาณที่ดีในการก้าวเข้าสู่บริษัทผู้ผลิตไฟฟ้าชั้นนำทั้งในประเทศและระดับภูมิภาคอาเซียนของ CKPower

      กรรมการผู้จัดการ CKPower อธิบายเพิ่มเติมว่า “โรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี ก่อสร้างด้วยแนวคิด “เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” เป็นไปตามข้อกำหนดของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission: MRC) ทุกประการ เนื่องจากแม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำสากล การก่อสร้างโรงไฟฟ้าของ CKPower จึงต้องมีส่วนช่วยดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนด้วย ดังนั้น จากเงินลงทุนทั้งหมดกว่า 135,000 ล้านบาท และได้ลงทุนเพิ่มเติม 19,400 ล้านบาท เพื่อดูแลสิ่งแวดล้อม ใน 3 เรื่อง คือ ความปลอดภัย การระบายตะกอน และปลา โดยเลือกใช้เทคโนโลยีที่ดีที่สุด ณ ปัจจุบัน เป็นโรงไฟฟ้าพลังน้ำต้นแบบบนแม่น้ำโขงตอนล่าง โดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อม วิถีชุมชน และสังคม โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากทั่วโลก ให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิดตั้งแต่การพิจารณาคัดเลือกเครื่องจักรและอุปกรณ์ รวมถึงขั้นตอนการติดตั้ง เช่น บานประตูระบายน้ำ กังหันน้ำ เครื่องกำเนิดไฟฟ้า หม้อแปลง ระบบส่งไฟฟ้า 

โครงสร้างที่แข็งแรงของบานประตูระบายน้ำ (Spillway/Low Level Outlet)

      “การกำหนดมาตรฐาน Dam Safety ต้องสูงที่สุด สร้างความแข็งแรงให้โครงสร้างด้วยการเสริมเหล็กคุณภาพสูงเพื่อให้รับแรงแผ่นดินไหวได้สูงสุดในรอบกว่าหนึ่งหมื่นปี รวมทั้งรองรับฝนหมื่นปี ส่วนการระบายตะกอนที่มากับแม่น้ำโขงนั้น โรงไฟฟ้าได้ได้สร้างประตูระบายน้ำและตะกอน (Spillway/Low Level Outlet) จำนวน 11 บาน โดย 7 บานเป็นบานประตูระบายน้ำล้นและตะกอนแขวนลอยที่พัดมากับสายน้ำ ขณะที่อีก 4 บาน ติดตั้งบานประตูเพื่อระบายตะกอนหนัก ลึกลงไปถึงระดับใต้ท้องน้ำ เพื่อให้มั่นใจว่าตะกอนหนักที่พัดมากับน้ำ สามารถผ่านไปได้ เสมือนว่าไม่มีสิ่งก่อสร้างกีดขวาง

      อีกหนึ่งทรัพยากรของแม่น้ำโขงที่โรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี ให้ความสำคัญคือ ปลา ดังนั้น โรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี จึงศึกษาระบบนิเวศ พฤติกรรมปลาแม่น้ำโขงโดยผู้เชี่ยวชาญ แล้วเลือกเทคโนโลยีที่ดีที่สุดมาปรับใช้ให้เหมาะสม  เพื่อที่จะลดผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม จึงออกแบบทางปลาผ่านเพื่อให้ปลาอพยพขึ้นเหนือน้ำเพื่อวางไข่ได้อย่างปลอดภัย” กรรมการผู้จัดการ CKPower กล่าว

      “นายอานุภาพ วงศ์ละคร” รองกรรมการผู้จัดการ งานเดินเครื่องและบำรุงรักษา บริษัท ไซยะบุรี พาวเวอร์ จำกัด อธิบายถึงโครงสร้างหลักของโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี ว่า โครงสร้างหลักของโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี มีจุดเด่นด้านสิ่งแวดล้อมทุกจุด การลงทุนเพิ่มเติมในระบบที่ซับซ้อนเพื่อดูแลสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก จุดเด่นของโครงสร้างหลักเพื่อสร้างเป็นแลนด์มาร์คทางด้านการสัญจรและท่องเที่ยวคือ ช่องทางเดินเรือ หรือ Navigation Lock ที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้เรือสินค้าและเรือท่องเที่ยวให้สัญจรได้ตามปกติ ด้วยความกว้าง 12 เมตร ยาวกว่า 700 เมตร จึงรองรับเรือขนาดใหญ่ได้ถึง 500 ตัน พร้อมกัน  2 ลำ

อานุภาพ วงศ์ละคร รองกรรมการผู้จัดการ งานเดินเครื่องและบำรุงรักษา บริษัท ไซยะบุรี พาวเวอร์ จำกัด

      “แต่เดิมบริเวณนี้จะเป็นแก่งหิน ทำให้เดินเรือผ่านย่านนี้ทำได้ยาก เรือใหญ่จะติดแก่งตอนหน้าแล้ง เมื่อมีการก่อสร้าง Navigation Lock ของโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี ปัญหาการติดแก่งของเรือขนาดใหญ่ก็หมดไป ขณะที่เรือขนาดเล็ก โครงการได้เตรียมรถแทร็กเตอร์แอนด์เทรลเลอร์ ลากเรือระหว่างเหนือน้ำและท้ายน้ำ เพื่อประหยัดเวลา ปัจจุบันมีเรือขนส่งสินค้า และเรือท่องเที่ยวที่สัญจรผ่านโครงการทุกวัน ทั้งเรือขนส่ง และเรือท่องเที่ยวที่ล่องมาจากหลวงพระบาง ปริมาณเดือนละ 40 ลำ โดยในช่องทางเดินเรือนี้ นอกจากจะแก้ปัญหาการสัญจรให้กับประชาชนได้แล้ว ยังเป็นหนึ่งในช่องทางปลาผ่านด้วย โดยโรงไฟฟ้าจะมีเรือต้อนปลา หรือ Pontoon เพื่อเร่งให้ปลาอพยพเร็วยิ่งขึ้น”

      โครงสร้างที่แข็งแรงของ ประตูระบายน้ำและระบายตะกอน หรือ Spillway/Low Level Outlet ขนาดมหึมาจำนวน 11 บาน สามารถระบายน้ำได้สูงสุด 47,500 ลูกบาศก์เมตร/วินาที โดยหน้าที่หลักคือระบายน้ำล้น เป็นหลักการบริหารจัดการน้ำ กรณีที่มีน้ำมามากเกิน 5,000 ลูกบาศก์เมตร/วินาที ซึ่งเกินความต้องการผลิตไฟฟ้า โดยจะระบายน้ำส่วนเกินเพื่อรักษาสมดุลของปริมาณน้ำไหลเข้าให้เท่ากับน้ำไหลออก พร้อมทั้งทำหน้าที่ระบายตะกอนที่พัดมากับสายน้ำ ทั้งตะกอนหนักและตะกอนผิวน้ำให้ผ่านโครงการไปสู่ท้ายน้ำเป็นอาหารปลาและปุ๋ยธรรมชาติต่อไป

      ถัดจาก Spillway เป็นส่วนที่เรียกว่า Intermedia Block หรือเกาะกลาง หน้าที่ของบริเวณนี้คือเป็นส่วนที่ปิดช่องว่างระหว่างโครงสร้างหลัก ตั้งแต่ Navigation lock , Spillway และโรงไฟฟ้า (Powerhouse) รวมทั้งระบบทางปลาผ่าน เกาะกลางโรงไฟฟ้าใช้คอนกรีตชนิดแข็งแรงเป็นพิเศษ ขณะเดียวกันก็สร้างทางเข้า-ออกของทางปลาผ่านใน Intermedia Block ด้วย 

ประตูระบายน้ำและตะกอน (Spillway/Low Level Outlet)

      สำหรับพื้นที่ของโรงไฟฟ้า หรือ Powerhouse ซึ่งมีกังหันน้ำ (Turbine) ขนาด 5 ใบพัด เส้นผ่านศูนย์กลาง 8.6 เมตร น้ำหนัก 400 กว่าตันติดตั้งไว้ด้านล่าง เหตุผลของการเลือกกังหันน้ำ 5 ใบพัด ความเร็วของรอบหมุนช้า รวมทั้งการเรียง Turbine ให้กระจายตามความกว้างของลำน้ำ เป็นส่วนหนึ่งของคอนเซ็ปต์ fish friendly ที่เป็นมิตรกับปลาในแม่น้ำโขง เปิดโอกาสให้ปลามีทางเข้า-ออกตลอดโครงสร้าง เรียกได้ว่า ทุกส่วนของโรงไฟฟ้าแห่งนี้คำนึงถึงปลา และระบบนิเวศแม่น้ำโขงอย่างแท้จริง

ช่องทางเดินเรือ หรือ Navigation Lock
โรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรีจากฝั่งหลวงพระบาง และระบบทางปลาผ่านรูปตัวยู (U) ที่เชื่อมต่อกับโรงไฟฟ้า

      จุดที่ถูกกล่าวถึงมากที่สุดก่อนเปิดโรงไฟฟ้าคือ ระบบทางปลาผ่าน ที่ออกแบบเพื่อปลาแม่น้ำโขงโดยเฉพาะ ใช้เวลาศึกษาพฤติกรรมปลาอย่างต่อเนื่องติดต่อกันมากกว่า 1 ปี ที่บริเวณตลิ่งแม่น้ำโขง เพื่อนำมาออกแบบระบบทางปลาผ่านแบบผสม หรือ Multi-System Fish Passing Facilities ซึ่งประกอบด้วย 2 ส่วน คือทางปลาผ่านหลัก (Fish Ladder) ความยาวประมาณ 500 เมตร ยื่นด้านท้ายน้ำลักษณะคล้ายตัวยู (U) ค่อยๆ เพิ่มระดับความชัน และมีช่องให้ปลาผ่าน 4 ช่อง 3 ขนาด ตามพฤติกรรมของปลา เพื่อให้ปลาว่ายทวนน้ำไปสู่เหนือน้ำอย่างปลอดภัย หลังจากผ่าน Fish Ladder แล้วจะเข้าสู่ส่วนที่เรียกว่า Fish Lock หรือช่องยกระดับปลาเป็นส่วนที่ติดกับโรงไฟฟ้า เชื่อมต่อกับคลองส่งน้ำด้านเหนือโรงไฟฟ้า โดยค่อยๆ เพิ่มระดับน้ำในช่องนี้เพื่อยกปลาจากระดับน้ำ 245 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล สู่ระดับเหนือน้ำที่ 275 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล ก่อนจะปล่อยปลาที่คลองส่งปลาเพื่อให้ว่ายสู่เหนือน้ำต่อไป 

Fish Lock หรือช่องยกระดับปลา

      นับได้ว่าโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี สะท้อนความสำเร็จของการนำเทคโนโลยีในการผลิตไฟฟ้ากับการลงทุนด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อสร้างความยั่งยืนทางพลังงาน ชูจุดเด่นทางด้านวิศวกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สามารถรักษาคุณภาพน้ำ การระบายตะกอนจากเหนือน้ำลงสู่ท้ายน้ำโดยไม่กระทบกับวิถีชีวิตคนริมฝั่งโขง


      ในครั้งหน้า “ประชาชาติธุรกิจออนไลน์” จะเจาะลึกถึงหลักการทำงานของโรงไฟฟ้าแบบฝายน้ำล้น หรือ Run of River ซึ่งถือว่าเป็นอีกหนึ่งจุดเด่นของโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี โปรดติดตาม …