ดับบาวาลา “คนส่งปิ่นโต” ดีลิเวอรี่มุมไบ ธุรกิจเก่าแก่ในโลกดิจิทัลที่คุณต้องทึ่ง!

แม้ว่า “อินเดีย” เป็นประเทศที่ขึ้นชื่อว่ามีความพยามที่จะพัฒนาเทคโนโลยีล้ำสมัย เทียบชั้นมหาอำนาจโลกอย่างจีน และสหรัฐอเมริกา

มีบุคลากรด้านไอทีเชื้อสายอินเดีย ที่เป็นอัจฉริยะกระจายตัวทำงานอยู่ใน “ซิลิคอน วัลเลย์” แหล่งร่วมบริษัทไอทียักษ์ใหญ่ของโลก ซึ่ง “สุนทรา พิชัย”  ประธานเจ้าหน้าที่ผู้บริหารของบริษัทกูเกิล เป็นหนึ่งในนั้น

แต่เชื่อหรือไม่ในอินเดีย ยังมี “ธุรกิจดั้งเดิม” ที่เรียกว่า “ดับบาวาลา” (Dabbawala) หรือ “คนส่งปิ่นโต” ธุรกิจน่าทึ่งในเมืองมุมไบ ที่เปิดให้บริการแล้วถึง 125 ปี ตรงกับปี พ.ศ. 2435 ในสมัยรัชกาลที่ 5 ของประเทศไทย

ทว่ายังคงเติบโตท้าทายการเข้ามาของโลกยุคดิจิทัล และเป็นระบบ “โลจิสติกส์” ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นการทำงานจาก “สมองคนและระบบทีม” ที่น่าอัศจรรย์ ท่ามกลางโลกที่กำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่การขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นหัวใจสำคัญ

“มุมไบ” เมืองเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดของอินเดีย ซึ่งมีประชากรอาศัยอยู่มากกว่า 18 ล้านคน เป็นหนึ่งในพื้นที่แออัดมากที่สุดในอินเดีย แต่ร้านอาหารที่รสชาติถูกปากคนทำงานกลับมีให้เลือกน้อย แถมอยู่ไกลและราคาแพง

“มหาเดียว ฮาวาจี บาชเช” ผู้ก่อตั้งThe Mumbai Tiffin Box Suppliers หรือ “มุมไบ ดับบาวาลา” เป็นบริการส่งปิ่นโตโฮมเมดมื้อเที่ยงจากภรรยาทุกวัน ตอกย้ำวัฒนธรรมการกินอาหารจากบ้านที่รสชาติคุ้นเคยมากกว่า

“ดับบาวาลา” เป็นชื่อเรียกผู้ทำหน้าที่จัดส่งอาหารกลางวันจากบ้าน ไปยังสถานที่ทำงานของลูกค้า ทุกเช้าดีลิเวอรี่แบบดับบาวาลาจะเริ่มต้นจากการรวบรวมปิ่นโตจากบ้านลูกค้าไปยังจุดรวมพล เพื่อขนส่งไปยังสถานีรถไฟ ก่อนกระจายไปเขตต่าง ๆ ใช้วิธีการจำเพียงรหัส 4 ตัว ด้วยการจำแนก “ตัวอักษร ตัวเลข และสี” ได้แก่ 1) ต้นทางของปิ่นโต 2) สถานีรถไฟต้นทาง 3) สถานีรถไฟปลายทาง และ 4) สถานที่จัดส่งปิ่นโต

ความน่าสนใจคือ รูปแบบในการจัดส่งปิ่นโตที่สวนกระแสยุคเทคโนโลยีอย่างสุดโต่ง “ฟอร์บส” เคยมอบรางวัล Six Sigma ให้ในปี 2001 โดยระบุว่าระบบการทำงานของดับบาวาลามีประสิทธิภาพถึง 99.99% คือมีความผิดพลาดในการส่งปิ่นโตเพียง 1 ใน 16 ล้านครั้ง และทั้งหมดของความแม่นยำไม่มีการพึ่งพาเทคโนโลยีใด ๆ จนกลายเป็นกรณีศึกษาด้านจัดการธุรกิจที่มีประสิทธิภาพของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ และโรงเรียนธุรกิจฮาร์วาร์ด ในปี 2010

“ไฟแนนเชียล ไทมส์” รายงานว่า ปัจจุบันมีไม่กี่ธุรกิจที่สามารถยืนหยัดการทำธุรกิจแบบดั้งเดิมได้ เพราะปัญญาประดิษฐ์ (AI) ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อทดแทนแรงงานมนุษย์ และอำนวยความสะดวกในยุคแห่งความเร่งรีบและการแข่งขันสูง

“ปาวาน อะการ์วาล” หัวหน้าองค์กร ดับบาวาลา กล่าวว่า ปัจจุบันมุมไบเปลี่ยนไปจากเดิมมาก แต่นั่นก็ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อธุรกิจจัดส่งปิ่นโต แถมคนหันมาใช้บริการมากขึ้น ด้วยความที่แม่นยำ ตรงต่อเวลา และค่าบริการจัดส่งเพียงเดือนละ 150-300 รูปี

ทุกวันนี้ในมุมไบมีสายส่ง “ดับบาวาลา” กว่า 5,000 เซอร์วิส ส่งปิ่นโตไปถึงมือผู้รับกว่า 200,000 คนในแต่ละวัน

“อัลฮาส มูเก” ประธาน มุมไบ ดับบาวาลา กล่าวว่า คนส่งปิ่นโตส่วนใหญ่ คือกลุ่มผู้มีการศึกษาต่ำ แต่มีความสามารถในการจดจำรหัสที่แม่นยำ

“ระยะทางการส่งปิ่นโตอาจไกลถึง 60-70 กิโลเมตร และต้องเปลี่ยนมือผู้ส่งถึง 3-4 ครั้งกว่าจะถึงผู้รับ ให้ทันภายในเที่ยงวัน โดยปิ่นโตกว่า 200,000 เถาที่ถูกลำเลียงให้ลูกค้า โดยจัดแบ่งที่ 40 เถาต่อหนึ่งดับบาวาลา แต่ภารกิจยังไม่สิ้นสุดเพราะหลังอาหารกลางวันปิ่นโตที่ว่างเปล่าจะต้องถูกนำส่งกลับไปที่บ้านในช่วงบ่าย ธุรกิจเราจึงต้องพึ่งพาคนจำนวนมาก”

ปัจจุบันรายได้สำหรับดับบาวาลาเฉลี่ย 10,000-12,000 รูปีต่อเดือน และธุรกิจนี้ก็ยังเติบโตเฉลี่ย 5-10% ต่อปี แม้กระแสของฟู้ดดีลิเวอรี่กำลังเข้ามาปัจจุบันดับบาวาลาก็มีการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ เช่นให้บริการผ่าน SMS เฟซบุ๊ก และเปิดเว็บ digitaldabbawala.com เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพบริการ และเพิ่มระยะทางการให้บริการจัดส่งปิ่นโตพิสัยไกลขึ้น ทั้งยังมีแผนจะเปิดตัวแอปพลิเคชั่นเร็ว ๆ นี้

“แม้เทคโนโลยีจะไม่ใช่อุปสรรคใหญ่ของดับบาวาลา แต่ในยุคที่ผู้หญิงอินเดียทำงานนอกบ้านมากขึ้น กลายเป็นความท้าทายของธุรกิจ เราจึงเสนอทางเลือกให้ลูกค้า ระหว่างฝีมือของแม่ครัวคนส่งปิ่นโต หรือร้านอาหารที่เรา ดีลไว้ เพียงระบุรสชาติหรือความต้องการพิเศษในราคาที่เป็นมิตร” ประธานดับบาวาลากล่าว