สัมมนาอีอีซีคึกคัก! เอกชนยาหอมพร้อมลุยลงทุน ห่วงยังขาดบุคลากรรองรับ

วันนี้ (21 ก.ย.) ในงานเสวนาผู้ประกอบการ “6 เดือนกับความร่วมมือของภาคเอกชน” ในงานสัมมนา “อีอีซี แม่เหล็กเศรษฐกิจไทยเชื่อมโลก” จัดโดยมติชน ร่วมกับสำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (สกรศ.) มีผู้ร่วมสัมมนาประกอบด้วย นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทย นายเกรียงไกร เธียรนุกูล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) นายสรัญ รังคสิริ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีขั้นปลาย บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) นายสมศักดิ์ กาญจนาคาร ผู้อำนวยการบริษัท ฮิตาชิ เอเชีย (ประเทศไทย) จำกัด มีนายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) เป็นผู้ดำเนินรายการ

นายคณิศกล่าวว่า อีอีซีเริ่มต้นมาจากประชารัฐคณะทำงานการพัฒนาคลัสเตอร์อุตสาหกรรมแห่งอนาคต หรือคณะ D5 ช่วยกันทำเรื่องกฎหมายจนออกมาเป็น ม.44 และอื่นๆ โดยต้องยอมรับว่าอีอีซีมีจุดเริ่มต้นมาจากเอกชนที่ช่วยขับเคลื่อน ส่วนรัฐช่วยวางนโยบายและสนับสนุน ซึ่งจะมีการใช้เงินจากภาครัฐ 10-20% ดังนั้นจึงเป็นเหมือนการส่งบัตรเชิญว่าเอกชนต้องมาร่วมลงทุนด้วย โดยเฉพาะเอกชนไทย ทั้งนี้ในการศึกษาเรื่องอีอีซีพบ 2 เรื่องคือ ไม่มีประเทศไหนที่ก้าวพ้นกับดักประเทศปานกลางถ้าขาดเทคโนโลยี และไม่มีประเทศไหนพัฒนาไปได้ถ้ารัฐเอกชนไม่ทำงานร่วมกัน ตอนนี้ประเทศไทยกำลังเกิดทั้งในมี 2 เรื่อง

“ตอนนี้งานอีอีซีกำลังดี มีการยกระดับด้านการท่องเที่ยวนานาชาติ เท่าที่คุยหอการค้าญี่ปุ่น เขากังวลเรื่องคน ที่จริงการพัฒนาทุกแห่งเมื่อดึงเทคโนโลยีมาใช้ จะมีปัญหาว่าคนไม่ค่อยพร้อม การดึงนักลงทุนต่างชาติมาลงทุนในอีอีซีไม่ได้เน้นเฉพาะการลงทุนอย่างเดียว ยังคาดหวังให้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้อีกด้วย” นายคณิศกล่าวและว่า ขณะนี้บริษัทโบอิ้งมาคุยว่าจะสร้างศูนย์ฝึกอบรมในอีอีซี พบว่านักบินไทยยังขาด 500 คน และในภูมิภาคต้องมีความต้องการ 2,000 คน

นายเกรียงไกรกล่าวว่า สำหรับเรื่องของสภาวะอุตสาหกรรมในขณะนี้ สมาชิก ส.อ.ท. รู้ว่ายุคนี้เข้าสู่ ยุคเรียกว่าเทคโนโลยีแห่งการทำลายล้าง (Disruptive Technology) ดังนั้นสมาชิกใน 45 กลุ่มอุตสาหกรรมจะตื่น ถ้าไม่ปรับตัวจะสูญพันธุ์ เพราะเทคโนโลยีไม่ค่อยปรานีใคร ไทยเองกำลังก้าวไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 แต่เท่าที่สำรวจสมาชิกส่วนใหญ่พบว่า ส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรม 2-2.5 เพราะยังใช้เครื่องจักรกลธรรมดา หรือกึ่งอัตโนมัติ สำหรับกลุ่มที่ก้าวไปถึง 4.0 แล้วยังไม่ค่อยเห็นเท่าไหร่ ที่เห็นสูงสุดระดับ 3-3.5 ส่วนใหญ่เป็นบริษัทต่างชาติ ดังนั้นคงไม่สามารถผลักดันให้ทุกบริษัทก้าวไปสู่ 4.0 ภายใน1-2 ปี

นายเกรียงไกร กล่าวว่า ในการผลักดันอุตสาหกรรม 4.0 มีแผนดำเนินการ 2 ช่วง แบ่งเป็น 5 ปีแรก ผลักดันกลุ่มที่ยังอยู่ในระดับ 2 ให้ก้าวไปสู่ 3 ตรงนี้ต้องปรับผลิตภาพการผลิตให้ใช้เครื่องจักรอัตโนมัติในการเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุน ลดของเสีย ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ โดยการก้าวไปถึงจนนี้จะต้องมีการใช้เครื่องอัตโนมัติ 75% มีผลผลิตต่อหัวเพิ่มขึ้น 3 เท่า ส่วนที่ 2 คือในช่วง 5 ปีต่อไป ผลักดันกลุ่มที่เป็น 3 ให้ก้าวขึ้นเป็น 4 การถึงจุดนี้ต้องสร้างความแตกต่างผลิตภัณฑ์มีการใช้อินเตอร์เน็ตในการเชื่อมต่อระบบอัตโนมัติ ซึ่งใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายกำหนดไว้ มีเรื่องหุ่นยนต์ และระบบอัตโนมัติ รวมอยู่แล้ว

“มีการศึกษาโดยสถาบันดูแลหุ่นยนต์โลกพบว่าในอีก 2 ปี จะมีภาคอุตสาหกรรมมาใช้หุ่นยนต์ หรือระบบอุตสาหกรรมัติ 1.4 ล้านตัว แต่พบว่าไทยยังใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติต่ำมาก โดยคน 1 หมื่นคน ใช้หุ่นยนต์เพียง 53 ตัว ในขณะที่สถิติทั้งโลกอยู่ที่ 69 ตัว ส่วนสิงคโปรอยู่ที่ 398 ตัว ใต้หวัน 190 ตัว ฉะนั้นไทยต้องเพิ่มอีกมาก เพื่อเข้าไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 ตามเป้าหมายของรัฐบาล” นายเกรียงไกรกล่าว

นายเกรียงไกรกล่าวต่อว่า ในอีอีซีกำหนด 10 อุตเป้าหมาย มีเรื่องหุ่นยนต์ และระบบอัตโนมัติ มีแผนยุทธศาสตร์ ผ่านคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไปเมื่อ 29 สิงหาคม ในแผนดังกล่าวมี 3 เรื่องที่สำคัญ คือ เรื่องแรก ทำอย่างไรกระตุ้นให้เอกชนมาใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติมากขึ้น ตรงนี้ต้องมีมาตรการสนับสนุน เช่นเงินกู้ ขณะนี้กระทรวงอุตสาหกรรมให้เงินกู้แล้ว ส่วนสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ให้ลดภาษีนิติบุคคลถึง 50% ส่วนกระทรวงการคลังให้สิทธิประโยชน์นำไปลดหย่อนถึง 300%

นายเกรียงไกรกล่าวว่า เรื่องที่ 2 ไทยยังขาดนักออกแบบติดตั้ง พบว่ามีเพียง 200 คน ดังนั้นถ้าก้าวไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 ต้องเริ่มพัฒนาบุคคลด้านนี้ วางเป้าหมายว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า จะสร้างบุคลากรด้านนี้ให้ได้ 1,400 คน เพราะบางประเทศมีหลายพัน หลายหมื่นคน ส่วนเรื่องที่ 3 ทำอย่างไร พัฒนาบุคคลกรให้สามาถรผลิตหุ่นยนต์ของไทยเองได้และทำให้ไทยมีเทคโนโลยีของไทยเอง ตั้งเป้าหมายว่าภายใน 5 ปี ต้องมีหุ่นยนต์ต้นแบบ 150 ผลิตภัณฑ์ มีผู้ประกอบการมาใช้ 100 หุ่นยนต์

“ผมได้พูดคุยกับ ส.อ.ท. สิงคโปร์เมื่อปีที่ผ่านมา เขารู้สึกตื่นเต้นได้ยินอุตสาหกรรม 4.0 ในไทย แต่พบว่าเงินลงทุนที่ไหลมาถูกสิงคโปร์ดูดเงินได้ถึง 53% จากอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ผมว่าตรงนี้ไทยต้องเร่งแข่งขันกันเขาให้ได้” นายเกรียงไกรกล่าว

นายเกรียงไกรกล่าวว่า มีการพูดถึงว่าเมื่อใช้หุ่นยนต์คนตกงาน แต่หน่วยงานต่างประเทศบอกว่าการใช้หุ่นยนต์ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่คนจะดีขึ้น โดยใน 1 สัปดาห์ จะทำงาน 4 วันหยุด 3 วัน และในอีก 10 ปี จะทำงานแค่ 3 วัน หยุด 4 วัน ทำให้คนท่องเที่ยวและมีเวลาอยู่กับครอบครัวมากขึ้น

นายเกรียงไกรกล่าวต่อว่า ขณะนี้โลกกำลังเปลี่ยนกติกา และจะเห็นว่าอุตสาหกรรมหลักๆ ของไทยต้องเปลี่ยนไป ความร่ำรวยไปอยู่ในอุตสาหกรรมใหม่ เช่น ในอุตสาหกรรมรองเท้ากีฬา มีความต้องการใช้ไม่เหมือนกัน อาดิดาสประสบความสำเร็จแล้ว มีระบบให้สามารถสั่งซื้อได้ตามน้ำหนัก สี และความต้องการในกีฬา โดยเป็นการเชื่อมระบบอัตโนมัติได้เลย ส่วนประเทศเยอรมนีสำเร็จในการสร้างเครื่องจักรใช้ในภาคอุตสาหกรรมและเปลี่ยนเป็น 4.0 แล้ว

“เทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปทำให้อุตสาหกรรมดังเดิมกระทบต้องย้ายฐานไปประเทศอื่น อุตสาหกรรมที่เคยจ้างแรงงานเป็น 1 ล้านคนจะใช้แรงงานลดลง ทำให้ไทยต้องเริ่มปรับตัว แต่มีสิ่งที่ต้องระวังคือการถูกก๊อบปี้” นายเกรียงไกรกล่าว

ด้านนายสมศักดิ์กล่าวว่า นักลงทุนญี่ปุ่นที่เดินทางมาไทย เขาสนใจไทยมาก เหตุผลที่นักลงทุนมาไทยมีหลายเหตุผล และไทยอาจเป็นทางเลือกที่ดีในการกระจายการลงทุน นอกจากที่เขามอง จีน อินเดีย แล้ว ในกลุ่มประเทศอาเซียนไทยมีจุดเด่นกว่าประเทศอื่นมีลักษณะภูมิประเทศเชื่อมโยง และไทยมีการสนับสนุนด้านอุตสาหกรรม มีนิคมและสวนอุตสาหกรรมพร้อมอยู่แล้ว รวมถึงมีระบบสาธารณูปโภค และในช่วงน้ำท่วใหญ่ พื้นที่ตั้งอีอีซีไม่กระทบ

“นักลงทุนญี่ปุ่น ยังมีข้อกังวลเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาลจะเดินไปตามแผนที่วางไว้หรือไม่ รวมถึงการขาดบุคคลากร ถือเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งในไทยเด็กยังเรียนอาชีวะยังน้อยไป ทำให้ขาดแรงงานภาคอุตสาหกรรม แต่จากแผนที่ไทยวางไว้จะเติมเต็มความต้องการในอนาคต” นายสมศักดิ์กล่าว

นายสมศักดิ์แผนการลงทุนฮิตาซิในอีอีซี ต้องการลงทุนบิ๊กดาต้าในอีอีซี โดยมีการพบนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี มาแล้ว 2 ครั้ง ซึ่งประธานฮิตาซิให้ความสำคัญกับการลงทุนในอีอีซี ไทยมีสายสัมพันธ์ที่ดีกับญี่ปุ่น ซึ่งบริษัทที่มาลงทุนในไทยที่ผ่านมาค่อนข้างประสบความสำเร็จ ตรงนี้ทำให้เชื่อมโยงทางธุรกิจทีดีขึ้น

นายสรัญกล่าวว่า ประเทศเราเปลี่ยนจากยุคอุตสาหกกรม 2.0 สู่ 3.0 จากอุตสาหกรรมเบาเป็นหนัก ผ่านมา 30 ปี กำลังเปลี่ยนจากยุคอุตสาหกรรม 3.0 สู่ 4.0 ซึ่งหมายถึงเราจะสร้างสินค้ามีมูลค่าสูงขึ้น มีความพิเศษ หายาก เหล่านี้ต้องทำด้วยนวัตกรรม วันนี้ ปตท. เกี่ยวข้องกับอีอีซี มี 3 ส่วน คือ 1.อีอีซีไอ (EECI) เป็นที่ให้นักวิจัยมาอยู่รวมกัน คิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ 2.โครงการสนามบินอู่ตะเภา ได้ร่วมกับกองทัพเรือ และ 3.เศรษฐกิจชีวภาพ (ไบโออีโคโนมี) นอกจากนี้ เราอยากทำหลายอย่าง เช่น ท่าเรือ โรบ็อต ก็อยู่ในแผน

นายสรัญกล่าวว่า อีอีซีไอ เจ้าภาพจริง คือ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ภารกิจคือสร้างนิเวศนวัตกรรม ให้เป็นเมืองน่าอยู่ ทันสมัย เชิญชวนนักคิด วิจัย นักประดิษฐ์เก่งจากที่ต่างๆ มาอยู่ด้วยกัน มีทำเลที่วังจันทร์วัลเลย์ พื้นที่ 3 พันไร่ ซึ่งจะต่อยอดอุตสาหกรรมที่มีอยู่ในปัจจุบัน เช่น ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ ให้เพิ่มขีดความความสามารถในการแข่งขัน และสร้างอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ (นิวส์ เอสเคิร์ฟ) เช่น โรบ็อต ไบโอเทคโนโลยี

นายสรัญกล่าวว่า ส่วนสนามบินอู่ตะเภา ปตท.ให้การสนับสนุนเติมน้ำมันเชื้อเพลิงมากว่า 30 ปี สนามบินนี้มีความพร้อมรองรับผู้โดยสาร 3 ล้านคน โดยเราได้เข้าไปพัฒนาและสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ และการใช้เชื้อเพลิงที่นั่น ส่วนไบโออีโคโนมี ช่วงต้นปีที่ผ่านมาได้ลงนามเอกชน ให้สามารถเอาสินค้าเกษตรที่ไทยมีอยู่ จะต่อยอดห่วงโซ่การผลิตอย่างไรให้ยาวขึ้นหลายเท่า เกิดรายได้ต่อเนื่องทั้งซัพพลาย และขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโต

นายสรัญกล่าวว่า สำหรับไบโออีโคโนมี มี 3 ส่วนหลัก คือ ไบโอฟูเอล เช่น ไบโอดีเซล, ไบโอพลาสติก เช่น อ้อยมาหมักทำพลาสติกต่างๆ และไบโอเคมีคอล เอาพื้นฐานสินค้าเกษตรมาพัฒนาทำเครื่องสำอาง อาหารเสริม วิตามิน แต่ปัญหาของไบโออีโคโนมี คือ แหล่งหรือโรงงานแปรรูปอยู่ไกลจากแหล่งเพาะปลูกพืชวัตถุดิบต่างๆ ควรต้องอยู่ใกล้แหล่งผลิต ในภาคตะวันออกมีปาล์มมาก ก็ตั้งโรงงานสกัดใกล้ๆ อีสานมีอ้อย มันสำปะหลังมาก ก็ควรกระจายโรงสกัดเข้าไป แต่เราเจอปัญหาว่าพื้นที่ใกล้แหล่งเพาะปลูกห้ามทำอุตสาหกรรม จึงเป็นหน้าที่ที่เราต้องแก้ไขปัญหา ให้สามารถสร้างโรงงานสกัดใกล้พื้นที่เกษตรกรรมได้

 

ที่มา : มติชนออนไลน์