ผู้ป่วยโรคมะเร็ง ออกกำลังกายอย่างไรดี

สุขภาพดีกับรามาฯ
รศ.นพ.เอกภพ สิระชัยนันท์

 

การออกกำลังกายในผู้ป่วยโรคมะเร็ง เพื่อให้มีประสิทธิภาพ โปรแกรมการออกกำลังกาย ในช่วงระหว่างการรักษา และหลังการรักษา จึงมีหลายรูปแบบ ดังนี้

การฝึกหายใจ (breathing exercise) ผู้ป่วยมะเร็งหลายคนมีอาการหายใจไม่สะดวก การฝึกหายใจจะช่วยให้การหายใจเข้า-ออก ดีขึ้น และยังช่วยลดความเครียด ความกังวล

stretching การทำ stretching เป็นประจำ ทำให้เพิ่มความยืดหยุ่น และช่วยพัฒนาบุคลิก เพิ่มการไหลเวียนของเลือดในกล้ามเนื้อ เหมาะสมกับผู้ป่วยที่เพิ่งจะฟื้นตัวจากการรักษามะเร็ง เช่น หลังการฉายแสง อาจมีการเคลื่อนไหวของข้อจำกัดเพราะกล้ามเนื้อดึงรั้ง หรือหลังผ่าตัดอาจมีแผลเป็นดึงรั้ง

การฝึกความสมดุล (balance exercise) โรคมะเร็งหรือการรักษามะเร็งอาจทำให้ความสามารถในการทรงตัวลดลง การฝึก balance exercise ช่วยให้สามารถกลับมาเคลื่อนไหวได้เป็นปกติ และป้องกันการหกล้มได้

aerobic exercise หรือที่เรียกกันว่า cardio เป็นการออกกำลังกายรูปแบบหนึ่ง ที่หวังผลเพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของหัวใจและปอด ทำให้รู้สึกเหนื่อยง่ายลดลง เช่น การเดินความเร็วปานกลาง ครั้งละ 30-40 นาที 3-4 ครั้งต่อสัปดาห์ หรือ 150 นาทีต่อสัปดาห์ หรือการวิ่ง 75 นาทีต่อสัปดาห์ เป็นต้น

strength training ในระหว่างการรักษามะเร็ง กล้ามเนื้อมักจะลีบลง เนื่องจากไม่ได้ใช้งานมาก โรคมะเร็งหรือการรักษาอาจทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรงลงได้ strength training หรือ resistance training ช่วยสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ช่วยให้ทรงตัวได้ดีขึ้น ลดความอ่อนล้า และทำกิจวัตรต่าง ๆ ได้ดีขึ้น และยังอาจป้องกันกระดูกผุที่อาจเกิดจากการรักษามะเร็ง ผู้ป่วยมะเร็งควรทำ full body strength training 2 ครั้งต่อสัปดาห์

ข้อควรระวังในการออกกำลังกายต่อผู้ป่วยโรคมะเร็ง

การเตรียมตัวก่อน หรือหลังออกกำลังกายสำหรับผู้ป่วยมะเร็งแต่ละคน ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ ได้แก่

– โรคมะเร็งที่เป็น

– ชนิดของการรักษาที่ได้รับ

– ผลข้างเคียงของการรักษาที่เกิดขึ้น

– ความพร้อมของร่างกาย

– โรคประจำตัว

ข้อควรระวังในการออกกำลังกายต่อผู้ป่วยโรคมะเร็ง

โปรแกรมการออกกำลังกายอาจถูกปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ได้ตลอดเวลา ขึ้นอยู่กับผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นในภายหลัง เช่น ถ้าการรักษาทำให้กระดูกผุได้ การออกกำลังกายต้องเลือกวิธีที่หลีกเลี่ยงการตก หกล้ม เป็นต้น อย่างไรก็ตาม หลักการโดยรวมของการวางแผนมีดังนี้

– ค่อย ๆ เพิ่มระดับการออกกำลังกายที่ละน้อย ช้า ๆ แม้ว่าร่างกายจะมีความพร้อม แต่การเพิ่มช้า ๆ ทำให้ป้องกันการบาดเจ็บและเพิ่มความมั่นใจขึ้น

– ควรเลือกออกกำลังกายในสถานที่ที่ปลอดภัย ผู้ป่วยมะเร็งมีโอกาสติดเชื้อง่าย ไม่ควรออกกำลังกายในที่ที่มีผู้คนจำนวนมาก อากาศถ่ายเทไม่ดี

– ประเมินสุขภาพตนเอง ว่าสามารถออกกำลังกายได้นานหรือหนักแค่ไหนเสมอ

– อย่าขาดน้ำในระหว่างออกกำลังกาย พยายามดื่มน้ำให้เพียงพอ

– พยายามเลือกรับประทานอาหารที่เป็นประโยชน์ เช่น โปรตีนจากเนื้อสัตว์ เพื่อให้ฟื้นตัวหลังออกกำลังกายได้เร็วขึ้น

– ควรปรึกษาแพทย์เป็นประจำ เพื่อประเมินสภาพร่างกาย และข้อควรระวังในการออกกำลังกาย

หมายเหตุ : รศ.นพ.เอกภพ สิระชัยนันท์ หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศด้านโรคมะเร็ง คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล