คลังขยายภาษี “ไนต์ไลฟ์” ล้อมคอกธุรกิจเลี่ยงบาลี-

ภาพ Pixabay

สรรพสามิตรับลูก สนช.จัดระเบียบธุรกิจ “ไนต์ไลฟ์” เผยขยายฐานเก็บภาษี 10% ของรายรับของสถานบันเทิงที่ปิดหลังเที่ยงคืน เพิ่ม “ผับ-บาร์-ค็อกเทลเลานจ์” รวมถึงร้านอาหารที่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีการแสดงบันเทิงด้วย ยันสร้างความเป็นธรรม-เท่าเทียมให้ผู้ประกอบธุรกิจ ระบุรายได้ภาษีเพิ่มแค่หลักร้อยล้านบาทต่อปี

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ อธิบดีกรมสรรพสามิต กระทรวงการคลัง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า พระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 มีผลบังคับใช้เมื่อ 16 ก.ย. ได้มีการปรับปรุงการจัดเก็บภาษีการประกอบธุรกิจ ประเภท “ไนต์ไลฟ์” (night life) โดยขยายฐานภาษีธุรกิจสถานบริการให้ครอบคลุมกิจการประเภทผับ บาร์ ค็อกเทลเลานจ์ รวมถึงสถานที่ที่จำหน่ายอาหาร และเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ โดยจัดให้มีการแสดงดนตรี หรือการแสดงอื่นเพื่อการบันเทิง ซึ่งปิดทำการหลัง 24.00 น. (เที่ยงคืน) ด้วย จากเดิมกฎหมายเก่าจะมีการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตจากสถานบริการประเภทไนต์คลับและดิสโก้เธค

อย่างไรก็ดี กรณีมีกระแสโจมตีว่าการขยายฐานภาษีของกรมสรรพสามิตดังกล่าว จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจท่องเที่ยว จนถึงขั้นจะทำให้มีผู้ตกงานเป็นจำนวนมากนั้น ทางกรมสรรพสามิตยืนยันว่า ไม่ได้ทำให้เกิดผลกระทบมาก เพียงแต่จัดเก็บเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ประกอบธุรกิจ โดยอัตราการจัดเก็บก็ยังคงอยู่ที่ 10% ของรายรับส่วนที่ต้องเสียภาษีสรรพสามิตเท่านั้น ไม่ใช่รายรับทั้งหมด ซึ่งรวม ๆ แล้วรัฐจะมีรายได้เพิ่มแค่หลักร้อยล้านบาทต่อปีเท่านั้น

“เป็นการขยายฐานให้สอดคล้องกับคำพิพากษาฎีกาในคดีซานติก้า ผับ ที่ระบุว่า ไม่จำเป็นจะต้องมีฟลอร์เต้นรำ ซึ่งตามกฎหมายเดิมพวกผับ บาร์ ดิสโก้ เราก็เก็บภาษีอยู่แล้ว เพียงแต่ถ้าไม่มีฟลอร์เต้นรำ เราไม่ได้เก็บ แต่พอศาลฎีกาพิพากษาออกมาว่า จะมีฟลอร์เต้นรำหรือไม่มี ก็ถือว่าเข้าข่าย เราจึงขยายฐานตรงนี้เพื่อความเป็นธรรม ความเท่าเทียมมากขึ้น รวมถึงเป็นการเก็บภาษีจากรายรับส่วนที่ต้องเสียภาษีสรรพสามิตเท่านั้น ไม่ใช่เก็บจากรายรับทุกบาททุกสตางค์ ไม่ใช่รายรับค่าอาหาร แต่เป็น 10% ของรายรับส่วนที่ต้องเสียภาษีสรรพสามิต ซึ่งของเดิมก็เป็นแบบนี้อยู่แล้ว” อธิบดีกรมสรรพสามิตกล่าว

ทั้งนี้ การปรับปรุงภาษีสรรพสามิตดังกล่าว ยังเป็นการดำเนินการตามแนวทางที่คณะกรรมาธิการการเศรษฐกิจ การเงินและการคลัง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่ได้เสนอแนะแนวทางให้เก็บภาษีสรรพสามิตอย่างทั่วถึง ไม่เกิดความเหลื่อมล้ำ โดยปรับปรุงวิธีการจัดเก็บให้สอดคล้องกับลักษณะสินค้า มีความทันสมัย และเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีได้มากขึ้น โดยเฉพาะในส่วนภาษีไนต์ไลฟ์นั้น ทาง สนช.เห็นว่า ปัจจุบันการประกอบธุรกิจประเภทไนต์ไลฟ์มีการพัฒนาแตกต่างจากการประกอบธุรกิจในอดีตมาก และการตีความคำนิยามตามกฎหมายเดิมไม่ครอบคลุมการประกอบธุรกิจไนต์ไลฟ์ได้ทั้งหมด จึงต้องมีการขยายฐานภาษีให้ครอบคลุมขึ้น

โดยเมื่อย้อนไปดูข้อมูลการจัดเก็บรายได้ภาษีสรรพสามิตจากไนต์คลับ และดิสโก้เธคที่จัดเก็บในอัตรา 10% ช่วงปี 2555-2559 พบว่า มีรายได้แค่ปีละ 100 ล้านบาทเศษเท่านั้น ได้แก่ ปี 2555 มีรายได้ 103.92 ล้านบาท ปี 2560 มีรายได้ 106.07 ล้านบาท ปี 2557 มีรายได้ 106.71 ล้านบาท ปี 2558 มีรายได้ 125.06 ล้านบาท และปี 2559 มีรายได้ 118.46 ล้านบาท

นายณัฐกร อุเทนสุต ผู้อำนวยการ สำนักแผนภาษี กรมสรรพสามิต กล่าวว่า ภาษีสรรพสามิตสถานบริการ เดิมเก็บ 10% จากรายรับของสถานบริการประเภทไนต์คลับและดิสโก้เธค แต่ก็มีผู้ประกอบการบางส่วนที่พยายามเลี่ยงบาลี อ้างว่าเปิดแค่ผับ บาร์ จึงทำให้มีทั้งผู้ประกอบการที่เสียภาษีถูกต้อง กับผู้ประกอบการที่ทำไม่ถูกต้อง ดังนั้นจึงต้องเขียนกฎหมายใหม่ให้ชัดเจนขึ้น เพราะมองว่า กิจการประเภทเหล่านี้เป็นสิ่งที่ “เกินความจำเป็นต่อการดำรงชีพ”


“เป็นการเขียนกฎหมายใหม่ให้ชัดเจนขึ้น ไม่อย่างนั้นก็เกิดการลักลั่น จึงเก็บเพื่อสร้างความเท่าเทียม เพราะเกิดความไม่เป็นธรรมกับคนที่ตั้งใจทำธุรกิจอย่างถูกต้อง ซึ่งคนที่ทำถูกต้องอยู่แล้ว ไม่มีใครร้อง เพราะเคยเสียอย่างไร ก็เสียเหมือนเดิม” นายณัฐกรกล่าว