ท่ามกลางการสู้รบระหว่างรัสเซีย-ยูเครนที่ดำเนินต่อเนื่องมาเป็นเวลา 6 เดือนแล้ว ในที่สุด “ยูเครน” ก็สามารถส่งออกธัญพืชได้สำเร็จในช่วงต้นเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา ถือเป็นสัญญาณบวกที่ทำให้ราคาอาหารในตลาดโลกปรับลดลง แต่นี่อาจเป็นเพียงการสิ้นสุดของวิกฤตลูกแรกเท่านั้น
นิกเคอิ เอเชีย รายงานว่า การเข้าเทียบท่า ที่ตุรกีของเรือบรรทุกสินค้าลำแรกจาก “ยูเครน” เมื่อต้น ส.ค.ที่ผ่านมา นับเป็นความสำเร็จในการส่งออกข้าวสาลี ข้าวโพด และถั่วเหลือง หลังจากรัสเซียเข้ารุกรานยูเครนเมื่อ ก.พ. 2022 ซึ่งทำให้เกิดการหยุดชะงักของการส่งออกสินค้าและอาหารหลายรายการจากทั้งสองประเทศ
ความสำเร็จครั้งนี้ส่งสัญญาณเชิงบวกไปยังตลาดอาหารโลก ส่งผลให้ราคาอาหารปรับตัวลดลง บางรายการมีราคาลดลงมาสู่ระดับก่อนเกิดสงคราม เช่น ราคาซื้อขายล่วงหน้า “ข้าวสาลี” ในตลาดชิคาโกของสหรัฐช่วงกลางเดือน ส.ค. ปรับตัวลงมาอยู่ที่ 8 ดอลลาร์สหรัฐ/บุชเชล ซึ่งเป็นระดับเดียวกับช่วงก่อนการสู้รบ จากที่พุ่งขึ้นไปอยู่ที่กว่า 12 ดอลลาร์สหรัฐ/บุชเชล เมื่อเดือน พ.ค.
ข้อมูลขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (เอฟเอโอ) แสดงให้เห็นว่า “ดัชนีราคาธัญพืช” ซึ่งครอบคลุมข้าวสาลี ข้าวโพด ข้าวบาร์เลย์ ข้าวฟ่าง และข้าว มีราคาเฉลี่ยลดจาก 166.3 จุดในเดือน มิ.ย. มาอยู่ที่ 147.3 จุดในเดือน ก.ค. 2022 ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการเปิดทางให้ยูเครนสามารถส่งออกสินค้าผ่านทะเลดำได้
ดัชนีราคาธัญพืชในเดือน ก.ค.ลดลงมาใกล้เคียงกันกับระดับก่อนเกิดสงครามที่ 140.6 จุดในเดือน ม.ค. ซึ่งนอกจากความผ่อนคลายของสถานการณ์แล้ว ยังเป็นผลจากการเข้าสู่ฤดูกาลเก็บเกี่ยวของหลายพื้นที่ เช่น อาร์เจนตินาและบราซิล ที่ช่วยบรรเทาแรงกดดันด้านราคาของธัญพืชในตลาดโลก
อย่างไรก็ตาม “แม็กซิโม โทเรโร” หัวหน้า นักเศรษฐศาสตร์เอฟเอโอ ชี้ว่า “ความไม่แน่นอนหลายประการยังคงอยู่ ไม่ว่าจะเป็น ‘ราคาปุ๋ย’ อาจส่งผลกระทบต่อการผลิตและความเป็นอยู่ของเกษตรกร แนวโน้มการ ชะลอตัวทางเศรษฐกิจ ไปจนถึงค่าเงินที่ผันผวน ทั้งหมดนี้ก่อให้เกิดความตึงเครียดอย่างรุนแรงต่อความมั่นคงด้านอาหารโลก”
โดยเฉพาะปุ๋ยที่ได้รับความนิยมของการเพาะปลูกพืชหลายชนิด “ไดแอมโมเนียมฟอสเฟต” มีราคาสูงถึง 784 ดอลลาร์สหรัฐ/ตันในเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา หรือ 2เท่าจากราคาปี 2020 ขณะที่ “รัสเซีย” ผู้ส่งออกปุ๋ยรายใหญ่ก็ไม่สามารถส่งออกปุ๋ยได้อย่างเต็มที่ จากมาตรการคว่ำบาตรของนานาชาติ
แม้ว่าขณะนี้ราคาปุ๋ยจะปรับลดลง แต่นักวิเคราะห์ของ “ฟิทช์ เรทติ้งส์” ชี้ว่า ปัญหาราคาก๊าซที่พุ่งสูงขึ้นในหลายภูมิภาคโดยเฉพาะในยุโรป สามารถส่งผลกระทบการผลิตปุ๋ยได้ โดยเฉพาะปุ๋ยไนโตรเจนที่ต้องใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นส่วนประกอบ ทำให้ราคาปุ๋ยกลับมาเพิ่มสูงขึ้น
ด้าน “อากิโอะ ชิบาตะ” ประธานสถาบันวิจัยทรัพยากรธรรมชาติของญี่ปุ่น ระบุว่า “หลายประเทศยังต้องพึ่งพาการนำเข้าปุ๋ยจากต่างประเทศในปริมาณมาก เช่น บราซิล อินเดีย และออสเตรเลีย ซึ่งเมื่อถึงฤดูเพาะปลูกก็เป็นไปได้ว่า ปุ๋ยจะมีปริมาณไม่เพียงพอต่อความต้องการและทำให้ราคาพุ่งสูงขึ้นอีก”
ขณะที่สภาพภูมิอากาศก็เป็นอีกปัจจัยที่คุกคามผลผลิตการเกษตร ซึ่งปัจจุบันหลายประเทศต้องเผชิญกับคลื่นความร้อนที่รุนแรงและบ่อยครั้งขึ้น ทำให้ผลผลิตไม่ได้ผลตามที่คาดหวัง ดังนั้น สถานการณ์ราคาอาหารจึงยังไม่สามารถวางใจได้ ชิบาตะระบุว่า “วิกฤตในภาคการเกษตรและอาหารระยะแรกเพิ่งจะสิ้นสุดลง แต่คลื่นลูกที่สองอาจอยู่ใกล้แค่เอื้อม”