แบงก์ชาติอินโดฯแทรกแซง ค่าเงินรูเปียห์ร่วงสู่ระดับต่ำสุด ตั้งแต่วิกฤตต้มยำกุ้ง

ภาพ รอยเตอร์

ธนาคารกลางอินโดนีเซียเข้าพยุงค่าเงินรูเปียห์ขึ้นจากระดับต่ำสุดตั้งแต่วิกฤตการเงินเอเชีย

บลูมเบิร์ก (Bloomberg) รายงานว่า ธนาคารกลางของประเทศอินโดนีเซียเข้าแทรกแซงเพื่อพยุงค่าเงินจากระดับที่อ่อนค่าที่สุดนับตั้งแต่เกิดวิกฤตการเงินเอเชีย หรือต้มยำกุ้งเมื่อปี 1997-1998

เมื่อช่วงเช้าวันที่ 25 มีนาคม เงินรูเปียห์ร่วงลงอย่างหนัก 0.5% เหลือ 16,642 รูเปียห์ต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งถือเป็นระดับที่อ่อนค่าที่สุดนับตั้งแต่เดือนมิถุนายน 1998 ทั้งนี้ เงินรูเปียห์ร่วงลงมากกว่า 3% แล้วในปีนี้ ทำให้เป็นหนึ่งในสกุลเงินที่มีผลงานแย่ที่สุดในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่

ฟีตรา จัสดิมัน ผู้อำนวยการฝ่ายการจัดการการเงินและหลักทรัพย์สินทรัพย์ของธนาคารกลางอินโดนีเซียว่า ธนาคารกลางเข้าแทรกแซงอย่างกล้าหาญและรอบคอบเพื่อให้แน่ใจว่าอุปทานและอุปสงค์ของเงินรูเปียห์มีความสมดุล และรักษาความเชื่อมั่นในตลาดในประเทศ และระบุอีกว่า การที่ค่าเงินรูเปียห์อ่อนค่าลงนั้น เป็นผลมาจากความไม่แน่นอนของโลกเป็นหลัก รวมถึงภาษีศุลกากรของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐที่จะเรียกเก็บภาษีตอบโต้ในวันที่ 2 เมษายนนี้ และธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ที่มีแนวโน้มเข้มงวดมากขึ้น

อินโดนีเซีย ซึ่งเป็นตลาดที่ได้รับความนิยมมากที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้เมื่อปีที่แล้ว สูญเสียความน่าดึงดูดใจจากนักลงทุนทั่วโลกอย่างรวดเร็ว เนื่องจากความกังวลที่เพิ่มขึ้นต่อนโยบายประชานิยมของประธานาธิบดีปราโบโว ซูเบียนโต ผู้นำอินโดนีเซีย ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนแปลงนโยบายครั้งใหญ่ ทำให้นักลงทุนพากันกังวลถึงความยั่งยืนของนโยบายเศรษฐกิจ

ด้วยการใช้นโยบายประชานิยมจะผลักดันให้การขาดดุลงบประมาณเข้าใกล้ขีดจำกัดทางกฎหมายที่ 3% ของจีดีพี นอกจากนี้ รัฐสภายังตกลงที่จะขยายบทบาทของกองทัพให้สามารถนั่งตำแหน่งบริหารของฝ่ายพลเรือนมากขึ้น ถือเป็นการยกเลิกมาตรการป้องกันบทบาทของทหารในกิจการพลเรือนที่ถูกนำมาใช้หลังจากการล่มสลายของยุคนายพลซูฮาร์โต อดีตผู้นำเผด็จการและอดีตพ่อตาของปราโบโวในปี 1998

ADVERTISMENT

นายโมห์ ซอง ซิม นักยุทธศาสตร์ของธนาคารแห่งสิงคโปร์ (Bank of Singapore) คาดว่าธนาคารกลางอินโดนีเซียจะยังคงควบคุมความผันผวนของเงินรูเปียห์ที่มากเกินไปต่อไป ก่อนที่สหรัฐจะประกาศมาตรการภาษีในวันที่ 2 เมษายนนี้