สงคราม “มหาเศรษฐี” ท่องอวกาศ…ใครเหนือกว่าใคร ?

ท่องอวกาศ
ชีพจรเศรษฐกิจโลก
ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

 

ความสำเร็จของ “ริชาร์ด แบรนสัน” ในการขึ้นบินกับยานท่องอวกาศของ “เวอร์จิ้น กาแล็กติก” แล้วกลับสู่พื้นโลกโดยสวัสดิภาพเมื่อ 11 ก.ค.ที่ผ่านมา ทำให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวอวกาศ ที่ถูกขนานนามว่าเป็น “สงครามมหาเศรษฐี” ร้อนฉ่าขึ้นมาโดยพลัน

ยูบีเอสเคยวิเคราะห์เอาไว้ว่า ตลาดท่องอวกาศนี้จะมีมูลค่าปีละ 3,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี ตั้งแต่ปี 2023 เป็นต้นไป

มหาเศรษฐีพันล้าน 3 คนอย่าง ริชาร์ด แบรนสัน, เจฟฟ์ เบซอส แห่งอเมซอน และ อีลอน มัสก์ แห่งเทสลา ก่อตั้งสตาร์ตอัพ เพื่อบุกเบิกการท่องเที่ยวอวกาศแข่งกัน ถึงตอนนี้ยังผลัดกันนำผลัดกันตามอยู่อย่างถึงพริกถึงขิง

แบรนสันมี “เวอร์จิ้น กาแล็กติก” เบซอสก็มี “บลู ออริจิ้น” ส่วนมัสก์ก็ไปได้ด้วยดีกับ “สเปซเอ็กซ์”

เที่ยวบินของแบรนสันดังกล่าวเป็นเที่ยวบินแรกของสเปซชิปทู ซิสเต็ม ที่มีนักบิน 2 คน และผู้โดยสารอีก 4 คนเต็มรูปแบบ ไม่ใช่เป็นเที่ยวบินทดสอบธรรมดา ๆ ที่ผ่านมา ซึ่งมีเพียงแค่นักบินเท่านั้น

ที่น่าสนใจก็คือ แบรนสัน มหาเศรษฐีวัย 70 ปีชาวอังกฤษ ไม่ได้มีชื่อเป็นผู้โดยสารอยู่ด้วยตั้งแต่แรก แต่ประกาศตัวขึ้นสู่ห้วงอวกาศด้วยเพียง 1 สัปดาห์ก่อนหน้าเที่ยวบินเท่านั้น

แล้วก็ประสบความสำเร็จในเชิง พี.อาร์.อย่างเอกอุ เพราะไม่เพียงแสดงถึงความปลอดภัยของระบบ ยังแสดงให้เห็นอีกด้วยว่า “ใคร ๆ ก็ขึ้นไปท่องอวกาศได้” (ถ้ามีเงินมากพอ)

ทั้งยัง “ตัดหน้า” เบซอส มหาเศรษฐีที่เตรียมขึ้นท่องอวกาศกับแคปซูล “บลู ออริจิ้น” ในวันที่ 20 ก.ค.นี้ด้วย

จนถึงขณะนี้ ต้องถือกันว่าเวอร์จิ้นฯ นำหน้าอยู่เล็กน้อยจากความสำเร็จครั้งนี้ ทั้งยังกำหนดชัดเจนว่าจะให้บริการปี 2022 เป็นต้นไป โดย “ไมเคิล โคลแกลเซียร์” ซีอีโอของบริษัท เปิดเผยว่า มีคนจับจองเป็นผู้โดยสารเที่ยวบินอวกาศแล้วถึง 600 คน ในราคาต่อที่นั่งสูงถึง 250,000 ดอลลาร์ คิดเป็นเงินไทยก็ราว 8 ล้านบาท

ระบบสเปซชิปทู ของเวอร์จิ้น กาแล็กติก ใช้เครื่องบิน 2 ลำ ลำแรกคือ “วีเอ็มเอส อีฟ” เป็นเครื่องบินเจ็ตลำตัวคู่ สำหรับนำส่งเครื่องบินอีกลำ “วีเอสเอส ยูนิตี้” ที่เป็นเครื่องบินจรวดขึ้นไปสู่ระดับสูง 14-15 กิโลเมตรเหนือพื้นดินแล้วปล่อยวีเอสเอส ยูนิตี้ ให้จุดระเบิดเครื่องยนต์จรวด นำยานขึ้นสู่ระดับ 86-88 กิโลเมตรเหนือพื้นดิน สร้างประสบการณ์ไร้น้ำหนัก 3-4 นาที ก่อนร่อนลงกลับสู่โลกกินเวลาทั้งหมดระหว่าง 60-90 นาที

“บลู ออริจิ้น” ใช้ระบบจรวดกับแคปซูลควบคู่กัน ติดตั้งแคปซูลไว้ตรงส่วนปลายสุดของจรวด “นิว เชปเพิร์ด” ยิงขึ้นจากฐานยิงพุ่งตรงสู่อวกาศโดยตรง ที่ระดับเกินกว่า 100 กิโลเมตรเหนือพื้นดิน
เมื่อถึงอวกาศก็จะแยกออกจากกัน แคปซูลบลู ออริจิ้น จะอยู่ในห้วงอวกาศในช่วงเวลาไม่เกิน 10 นาทีเช่นกันก่อนตกกลับสู่โลก

ยานแคปซูลบลู ออริจิ้น สามารถนำส่งผู้โดยสารต่อเที่ยวได้มากที่สุด คือ 6 คน มีหน้าต่างขนาดใหญ่ 6 หน้าต่างมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของยานอวกาศ บินด้วยระบบอัตโนมัติทั้งหมด ทำให้สามารถ “เกทับ” เวอร์จิ้นฯได้ว่า ผู้โดยสารของตนไม่เพียงได้ชมอวกาศได้กระจ่างตากว่า ยังขึ้นไปสูงกว่าและเป็นห้วงอวกาศที่แท้จริง เพราะที่เกิน 100 กิโลเมตรนั้นจะอยู่เหนือเส้นสมมุติ คาร์มาน ไลน์ ที่ถือว่าเป็นเส้นแบ่งบรรยากาศของโลกกับห้วงอวกาศ

แม้ว่าในนิยามของ “นาซา” รวมถึงกองทัพอากาศสหรัฐ ให้นิยามไว้ว่า นักบินอวกาศ คือผู้ที่บินขึ้นไปเหนือระดับ 80 กิโลเมตรก็ตาม

สำหรับในเที่ยวบินปฐมฤกษ์ของบลู ออริจิ้น นอกจากตัว “เจฟฟ์ เบซอส” แล้ว ยังมี “มาร์ก เบซอส” น้องชาย กับผู้โดยสารอื่น ๆ ซึ่งหนึ่งในจำนวนนั้นเป็นคนประมูลที่นั่งสุดท้ายไปเป็นเงิน 28 ล้านดอลลาร์

หนึ่งในผู้โดยสารที่พิเศษอย่างยิ่ง ก็คือ “วอลลี ฟังค์” ซึ่งเป็น 1 ในจำนวนผู้หญิง 13 คนที่ผ่านการทดสอบเป็นนักบินอวกาศของนาซาในยุค 1960 และจะกลายเป็นนักบินอวกาศที่อายุมากที่สุดในประวัติศาสตร์ที่ 82 ปี

ขณะที่ “สเปซเอ็กซ์” ของ อีลอน มัสก์นั้น ประสบความสำเร็จเงียบ ๆ จากการรับจ้างนาซาขนนักบินอวกาศและสัมภาระขึ้นสู่สถานีอวกาศนานาชาติมาแล้วหลายเที่ยว ก็กำลังจะประเดิมเที่ยวบินพลเรือนทั้งหมดในราวเดือนกันยายนที่จะถึงนี

มัสก์ยังมีกำหนดนำลูกค้ารายใหญ่ “ยูซากุ มาเอซาวะ” อภิมหาเศรษฐีชาวญี่ปุ่นไปวนรอบดวงจันทร์เล่นในปี 2023 อีกด้วย