จีนเร่งปฏิรูป “ภาษีทรัพย์สิน” รับมือวิกฤต “ฟองสบู่อสังหาฯ”

ปัญหาที่สั่งสมมายาวนานในภาคอสังหาริมทรัพย์ของ “จีน” ได้ปะทุออกมาเป็นวิกฤตครั้งใหญ่จากกรณีของ “เอเวอร์แกรนด์” (Evergrande) ที่สั่นสะเทือนไปทั่วโลก สะท้อนถึงปัญหา “ฟองสบู่อสังหาฯ” ของจีนที่ซุกซ่อนอยู่ ส่งผลให้รัฐบาลจีนต้องหันมาทบทวนภาคอสังหาริมทรัพย์อย่างจริงจัง และเตรียมปฏิรูปกฎระเบียบครั้งใหญ่ก่อนที่ปัญหาจะลุกลามบานปลาย

ไฟแนนเชียล ไทมส์ รายงานว่า เมื่อวันที่ 23 ต.ค.ที่ผ่านมา สภาประชาชนแห่งชาติจีนได้มีมติรับรองแผนการของคณะรัฐมนตรีจีน ในการขยายโครงการนำร่องจัดเก็บภาษีการถือครองทรัพย์สินที่อยู่อาศัยและพาณิชยกรรม โดยแผนการดังกล่าวจะเป็นการจัดเก็บภาษีการถือครองทรัพย์สินเฉพาะในเขตเมือง ไม่ครอบคลุมภาคครัวเรือนในชนบท ซึ่งอัตราภาษีและวิธีการจัดเก็บภาษีจะขึ้นอยู่กับรัฐบาลท้องถิ่น เบื้องต้นจะดำเนินการลักษณะโครงการนำร่องในบางพื้นที่เป็นระยะเวลา 5 ปี

การจัดเก็บภาษีดังกล่าวนับเป็นการปฏิรูประบบภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งจะส่งผลให้รัฐบาลจีนมีรายได้จากการจัดเก็บภาษีมากขึ้น จากเดิมที่ทางการจีนโดยเฉพาะรัฐบาลท้องถิ่นต้องพึ่งพิงรายได้จากการขายหรือให้เช่าที่ดินแก่นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งนำไปสู่ปัญหาการเก็งกำไรและการปั่นราคาสูงกว่าความเป็นจริง

ก่อนหน้านี้ในปี 2011 ได้มีความพยายามทดลองจัดเก็บภาษีที่อยู่อาศัยและพาณิชยกรรมในเซี่ยงไฮ้และฉงชิ่ง แต่เป็นเพียงการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมรายปีจากการครอบครองบ้านหลังที่ 2 ขึ้นไปหรือบ้านหรูราคาสูง

“แคปิตอล อีโคโนมิกส์” บริษัทวิจัยและที่ปรึกษาทางธุรกิจ ประเมินว่า หากจีนสามารถจัดเก็บภาษีในอัตรา 0.7% ของมูลค่าทรัพย์สินที่อยู่อาศัยและพาณิชยกรรมทั้งประเทศ จะส่งผลให้รัฐบาลจีนมีรายได้ถึง 1.8 ล้านล้านหยวนในปี 2020 ซึ่งมากกว่ารายได้ 1.6 ล้านล้านหยวนที่ทางการจีนได้จากการขายและให้เช่าที่ดิน

รวมทั้งการจัดเก็บภาษี จะเป็นแรงกดดันด้านราคาที่ไม่คุ้มค่าต่อการเก็งกำไร ยังจะลดความน่าสนใจของการลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์จีน และถ่ายเทเงินทุนไปยังภาคส่วนอื่น ๆ มากขึ้น เช่น ภาคการส่งออกหรือภาคการบริการที่สามารถกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ

ทั้งนี้ วิกฤตของบริษัทอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่อันดับสองของจีนอย่าง “เอเวอร์แกรนด์” ที่มีภาระหนี้สูงถึง 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเสี่ยงที่จะผิดนักชำระหนี้ เป็นแรงผลักดันสำคัญที่ทำให้รัฐบาลจีนหันมาทบทวนปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์อย่างเร่งด่วน

นอกจากนี้ นโยบายของประธานธิบดีสี จิ้นผิง ที่ประกาศสร้าง “ความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน” ด้วยการกระจายความมั่งคั่งและลดความเหลื่อมล้ำในสังคมจีน โดยเฉพาะการควบคุมรายได้ที่สูงเกินไปของคนบางกลุ่ม ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ผลักดันให้เกิดการริเริ่มปฏิรูปภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในครั้งนี้

อย่างไรก็ตาม ราคาอสังหาริมทรัพย์ที่ลดลงก็มีความเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจจีนในภาพรวม เนื่องจากที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นทรัพย์สินสำหรับการลงทุนและเก็บออมของคนจีนจำนวนมาก

ซึ่งกรณีเอเวอร์แกรนด์ก็ได้ส่งผลให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์จีนอ่อนแอลงอย่างเห็นได้ชัด โดยข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติจีนระบุว่า ระดับราคาบ้านใหม่ในหลายเมืองของจีนเดือน ก.ย. ลดลงจากเดือนก่อนหน้า เช่น เทียนจินลดลง 0.1% ไท่หยวนลดลง 0.7% และถังชานลดลงถึง 0.8% ซึ่งนับเป็นการร่วงลงของราคาบ้านใหม่เป็นครั้งแรกในรอบ 6 ปี

หากราคายังคงดิ่งลงอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องก็อาจส่งผลให้เกิดการล่มสลายของภาคอสังหาริมทรัพย์จีนและกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่สั่นสะเทือนรัฐบาลจีน