เดิมพันประเทศด้วย BTC “ติดดอย” ด้วยภาษีประชาชน

รูปล้อมกรอบ

ต้นเดือนมิถุนายน 2021 “สาธารณรัฐเอลซัลวาดอร์” ประเทศแถบอเมริกากลาง ขึ้นพาดหัวข่าวทั่วโลก หลังเป็นชาติแรกของโลกที่รัฐสภาผ่านกฎหมายรับรอง “บิตคอยน์” (BTC) เป็นสกุลเงินที่สามารถชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย ควบคู่ไปกับสกุลดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเดิมใช้เป็นเงินสกุลหลักของประเทศ

ไอเดียนี้มาจากวิธีคิดอันแหวกแนวของรัฐบาลเอลซัลวาดอร์ ภายใต้การนำของ “นายิบ บูเคเล” (Nayib Bukele) ประธานาธิบดีหนุ่มวัย 40 ปี ที่หวังให้ประเทศเปิดกว้างต่อการลงทุนด้านสินทรัพย์ดิจิทัล

บูเคเลมองว่าการเปิดกว้างเงินดิจิทัลทำให้เม็ดเงินจากต่างแดนหลั่งไหลเข้าประเทศมากขึ้น ทั้งยังช่วยให้ประชากรส่วนใหญ่ซึ่งมีรายได้ต่อหัวในระดับต่ำ ที่ไม่มีบัญชีธนาคาร สามารถนำไปจับจ่ายใช้สอยต่าง ๆ ผู้นำหนุ่มยังประเดิมการผ่านกฎหมายด้วยการนำงบประมาณไปทุ่มซื้อ BTC ลอตแรก 400 เหรียญ มูลค่า 20.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 680 ล้านบาท โดยการตั้งทีมเทรดของรัฐบาลเป็นการเฉพาะ

จากรายงานของบลูมเบิร์ก ซึ่งเก็บข้อมูลการเข้าลงทุนใน BTC ของรัฐบาลบูเคเลพบว่า นับตั้งแต่ประเทศผ่านกฎหมายบิตคอยน์ เอลซัลวาดอร์ เข้าซื้อ BTC แล้วไม่น้อยกว่า 8 ครั้ง ครั้งที่มากที่สุดคือ เมื่อ 27 ต.ค. 2021 จำนวน 420 เหรียญ ด้วยมูลค่าขณะนั้น 58,630 ดอลลาร์สหรัฐต่อเหรียญ เป็นจำนวน 24.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ขณะที่จากการเปิดเผยข้อมูลล่าสุดผ่านทวิตเตอร์ของบูเคเล เมื่อ 21 ธ.ค. 2021 ระบุว่า รัฐบาลเข้าซื้ออีก 21 เหรียญ ด้วยราคา 49,258 ดอลลาร์ต่อเหรียญ คิดเป็นมูลค่าราว 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

บูเคเลอธิบายว่า BTC จำนวน 21 เหรียญ ที่เอลซัลวาดอร์เข้าซื้อล่าสุดนี้มีความหมาย เนื่องจากเอลซัลวาดอร์มีพื้นที่ประมาณ 21,000 ตร.กม. ขณะที่อุปทานของ บิตคอยน์ทั่วโลกมีราว 21 ล้านเหรียญ และเป็นการทำธุรกรรมในวันที่ 21 ของปี 2021

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไม่ได้เผยชัดเจนว่าถือ BTC ทั้งหมดจำนวนเท่าใด แต่จากการรวบรวมข้อมูลของบลูมเบิร์กพบว่า บูเคเลใช้เงินประเทศซื้อบิตคอยน์แล้วราว 1,391 เหรียญ ที่ราคาเฉลี่ย BTC ละ 51,056 ดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นเม็ดเงินลงทุนกว่า 71 ล้านเหรียญสหรัฐ ทว่านับตั้งแต่ พ.ย. 2021 บิตคอยน์ราคาทยอยทิ้งดิ่งลงเรื่อย ๆ จากปัจจัยหลายประการ โดย ณ 17 ม.ค. 2022 อยู่ที่ 42,830 ดอลลาร์สหรัฐ

ช่วงแรกที่เอลซัลวาดอร์ซื้อ BTC ราคาอยู่ที่เฉลี่ย 50,000 ดอลลาร์ แถมยังคงซื้อต่อเนื่อง แม้ทำสถิติสูงสุดเกือบ 69,000 ดอลลาร์ช่วงต้นเดือน พ.ย. ทว่านับตั้งแต่นั้นมูลค่าดิ่งลงเกือบ 40% หากอิงมูลค่าราคานี้ แน่นอนว่าพอร์ตของเอลซัลวาดอร์กำลัง “ติดดอย” ด้วยมูลค่าในพอร์ตเหลือราว 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

อย่างไรก็ตาม ตัวเลขติดดอยอาจมากหรือน้อยกว่าความเป็นจริง เนื่องจากเป็นประมาณการของบลูมเบิร์ก รัฐบาลไม่เปิดเผยการซื้อขายอย่างชัดเจน ข้อมูลการเทรดเป็นความลับ มีเพียงการอัพเดตตัวเลขการเข้าซื้อเหรียญจากที่บูเคเลทวีตเท่านั้น ขณะที่ รมว.การคลังเอลซัลวาดอร์ ระบุว่า รัฐบาลขาย BTC ออกมาแล้วบางส่วน เพื่อให้สอดคล้องกับมูลค่าของตลาด เช่นเดียวกับการตัดสินใจซื้อเมื่อราคาตก ซึ่งอยู่ภายใต้การประเมินของเจ้าหน้าที่รัฐ

เอลซัลวาดอร์เคยมีสกุลเงินของตัวเองคือ “ซัลวาดอราน โคลอน” (Salvadoran Colon) ใช้ตั้งแต่ปี 1892-2001 ประเทศได้ทำ dollarization หรือเปิดให้ “เงินดอลลาร์” เป็นสกุลหลักของประเทศ เนื่องจากมองว่าเป็นผลดีต่อประเทศมากกว่าจากเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น และสามารถคุมอัตราเงินเฟ้อได้ดีกว่าสกุลเงินของตน

ข้อมูลของธนาคารโลกระบุว่า ปี 2020 เอลซัลวาดอร์ได้รับเงินมากกว่า 5.9 พันล้านดอลลาร์ จากพลเมืองที่ขายแรงงานอยู่ต่างแดนโดยเฉพาะในสหรัฐ ทว่าเศรษฐกิจของประเทศเริ่มติดหล่มนับตั้งแต่ 2011 เรื่อยมากระทั่งหนักหนาสาหัสสุดเมื่อประเทศเผชิญโควิด-19

การนำเงินงบประมาณประเทศ ซึ่งคือเงินภาษีประชาชนมาลงทุนในบิตคอยน์ เผชิญกระแสวิจารณ์อย่างหนัก ทั้งฝ่ายค้านในประเทศและองค์กรระหว่างประเทศ ถึงอันตรายจากความผันผวนของคริปโท ที่บรรดานักเศรษฐศาสตร์หลายคนเตือน โดยเฉพาะกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และธนาคารโลก

“เจมี่ รอยเช่อ” นักวิเคราะห์จากมูดีส์ เตือนว่า การลงทุน BTC ของเอลซัลวาดอร์เพิ่มความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ และอาจจำกัดการเข้าถึงตลาดตราสารหนี้ต่างประเทศ เนื่องจากมีแนวโน้มเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์ที่ผันผวนมากขึ้น

เช่นเดียวกับ สตีฟ แฮงก์ ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ระดับโลกจากมหาวิทยาลัยจอห์นฮอปกินส์ ตั้งคำถามถึงแผนที่บูเคเลจะใช้พลังงานใต้พิภพ มาทำเหมืองขุด BTC ถึงความคุ้มค่าและควรนำไฟฟ้าไปใช้ภาคครัวเรือนมากกว่าไปลงทุนกับสินทรัพย์ที่ผันผวนสูง แต่บูเคเลตอบโต้แฮงก์ว่า “idiot”