ฤทธิ์แซงก์ชั่นรัสเซีย ทำ ‘ดอลลาร์’ เสื่อมจริงหรือ ?

คอลัมน์ : ชีพจรเศรษฐกิจโลก
ผู้เขียน : นงนุช สิงหเดชะ

หลังจากสหรัฐและพันธมิตรทำการแซงก์ชั่นรัสเซียอย่างรุนแรงเพื่อตอบโต้ที่รุกรานยูเครน โดยปิดกั้นไม่ให้รัสเซียสามารถทำธุรกรรมด้วยเงินดอลลาร์สหรัฐ ทำให้เริ่มมีการพูดหนาหูว่า การแซงก์ชั่นโดยใช้ดอลลาร์มาเป็นเครื่องมือลงโทษ จะทำให้ประเทศต่าง ๆ 
เมินเงินดอลลาร์และหันไปใช้เงินสกุลอื่นในการค้าขายหรือถือเงินสกุลอื่นไว้ในทุนสำรองระหว่างประเทศแทนดอลลาร์สหรัฐเพื่อกระจายความเสี่ยง

สถานการณ์ดังกล่าวทำให้ “เงินหยวน” ของจีนซึ่งเป็นมิตรใกล้ชิดรัสเซียถูกกล่าวถึงอีกครั้งในฐานะมีศักยภาพที่จะท้าทายดอลลาร์ เนื่องจากเป็นประเทศที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามกับสหรัฐและชาติตะวันตกที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 2 ของโลกรองจากสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะหลังจาก
ซาอุดีอาระเบียและจีนเล็งจะทำข้อตกลงซื้อขายน้ำมันกันด้วยเงินหยวน

“จิตา โกปินาธ” รองกรรมการผู้จัดการไอเอ็มเอฟให้สัมภาษณ์ว่า การแซงก์ชั่นรัสเซียจะทำให้ “อิทธิพลของดอลลาร์ลดลง” เพราะว่าประเทศต่าง ๆ จะหันไปกระจายถือเงินสกุลอื่นไว้ในทุนสำรอง ทำให้เกิดความหลากหลายของสกุลเงินในทุนสำรองมากกว่าเดิม

แต่เธอก็ย้ำว่าในระยะกลางไม่มีอะไรมาท้าทายหรือโค่นดอลลาร์ได้ เนื่องจากดอลลาร์มีความน่าเชื่อถือแข็งแกร่ง มีตลาดที่ลึกและการแปลงค่าเป็นไปอย่างเสรี แม้แต่เงินหยวนก็ไม่มีท่าทีจะมาแทนที่ดอลลาร์ในฐานะทุนสำรองหลักของโลกได้

หากพิจารณาสัดส่วนทุนสำรองระหว่างประเทศที่ธนาคารกลางทั่วโลกถือเอาไว้ จะพบว่าส่วนใหญ่ราว 60% ถือดอลลาร์สหรัฐ รองลงมาคือ ยูโรประมาณ 20% เยน 5% ปอนด์อังกฤษ 4.5% ขณะที่เงินหยวนมีเพียง 2.5%

“โทมัส ฟิลิปสัน” อดีตรักษาการประธานสภาที่ปรึกษาสภาเศรษฐกิจทำเนียบขาวระบุว่า แม้เศรษฐกิจจีนจะมีขนาดไล่เลี่ยกับสหรัฐ แต่ทว่า หากดูปริมาณการชำระเงินระหว่างประเทศจะพบว่ามีการใช้ดอลลาร์ถึง 40% แต่ใช้หยวนเพียง 3% หากจีนต้องการให้หยวนขึ้นมาแข่งกับดอลลาร์ต้องปฏิรูปตัวเองอย่างมหาศาล

“ไป่จู เฉิน” อาจารย์ด้านการเงินและเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเซาเทิร์นแคลิฟอร์เนียชี้ว่า หากจีนต้องการให้เงินหยวนขึ้นมาแข่งกับดอลลาร์ได้ จะต้องเปิดตลาดมากขึ้นและลดการควบคุมจากรัฐบาล เพราะโดยประวัติศาสตร์แล้วสกุลเงินใดก็ตามที่รัฐบาลมีการควบคุมอย่างมากจะไม่สามารถขึ้นมาเป็นสกุลเงินทุนสำรองหลักของโลกได้

จีนจะต้องปฏิรูปตลาดพันธบัตรเพื่อให้ไปถึงระดับเดียวกับสหรัฐ กล่าวคือ มีทั้งสภาพคล่องสูงและมีประสิทธิภาพ ซึ่งการจะเป็นอย่างนั้นได้จะต้องยกเลิกข้อจำกัดเรื่องดอกเบี้ย ต้องไม่แทรกแซงค่าเงิน อย่างเช่น ทำให้หยวนอ่อนเพื่อหนุนส่งออก อีกทั้งต้องปล่อยให้ธนาคารกลางมีอิสระ โปร่งใส

“ประเทศต่าง ๆ ไว้วางใจว่าสหรัฐจะไม่ทำพัง ดอลลาร์จึงมีความน่าเชื่อถือ แต่สำหรับหยวนแล้วการจะทำให้ประเทศต่าง ๆ รับรู้ว่าเป็นสินทรัพย์ที่มีความปลอดภัยในช่วงที่ยังไม่มีความแน่นอนของสงคราม ดูจะเป็นเรื่องยาก”

“เอสวาร์ ประสาท” อาจารย์ด้านนโยบายการค้า มหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ระบุว่า สิ่งสำคัญที่จะทำให้สกุลเงินใดก็ตามได้รับความน่าเชื่อถือให้เป็นทุนสำรองระหว่างประเทศก็คือ ขนาดของเศรษฐกิจและความลึก ความคล่องตัวของตลาดเงิน ซึ่งจำเป็นจะต้องมีกรอบการทำงานของสถาบันที่นักลงทุนต่างชาติให้ความเชื่อถือ มีธนาคารกลางที่เป็นอิสระ มีหลักนิติรัฐ มีสถาบันที่คอยตรวจสอบถ่วงดุล แต่สำหรับจีนแล้วยังไม่มีคุณสมบัติดังกล่าว

“มาร์แชล กิตเทลอร์” หัวหน้าฝ่ายวิจัยบีดีสวิสกรุ๊ปชี้ว่า การที่สกุลเงินใดจะขึ้นมาเป็นเบอร์หนึ่งทั้งในแง่สกุลทุนสำรองหลักหรือสกุลหลักในการค้าขายระหว่างประเทศ สิ่งสำคัญคือจะต้องสามารถกระจายปริมาณเงินออกไปทั่วโลกให้มากที่สุด จะต้องมีองค์กรขนาดใหญ่ที่จะทำหน้าที่ซัพพลายปริมาณเงินออกไปนอกประเทศให้มากที่สุด ซึ่งดอลลาร์สหรัฐทำสิ่งนี้สำเร็จเพราะดำเนินนโยบายขาดดุลบัญชีเดินสะพัดมาโดยตลอดอย่างน้อยก็นับจากปี 1980 ดอลลาร์จึงสะพัดอยู่ทั่วโลก

การขาดดุลบัญชีเดินสะพัด (นำเข้ามากกว่าส่งออก) นั่นหมายถึงว่าต่างชาติเป็นผู้ซื้อสินทรัพย์การเงินสุทธิของสหรัฐ ทำให้ต่างชาติสามารถสะสมดอลลาร์เป็นทุนสำรองระหว่างประเทศได้มากพอ มีผลให้ดอลลาร์หมุนเวียนอยู่นอกสหรัฐมาก

แต่จีนทำตรงข้าม คือ ดำเนินนโยบายบัญชีเดินสะพัด “เกินดุล” อย่างมาก ซึ่งหมายถึงว่าจีนกลายเป็นผู้ซื้อสินทรัพย์เงินตราต่างประเทศสุทธิ ต่างชาติจึงไม่มีโอกาสสะสมเงินหยวนไว้ในทุนสำรอง

จีนใช้การส่งออกขับเคลื่อนเศรษฐกิจ จึงไม่อยากให้สกุลเงินของตัวเองกลายเป็นสกุลที่ชาติต่าง ๆ ถือเป็นทุนสำรองหลัก เพราะหมายถึงว่าจะทำให้เงินหยวนแข็งค่า ทำให้แข่งขันด้านส่งออกได้ยาก