เทรนด์คราฟต์เบียร์โตแรง “สิงห์”โผล่ถือหุ้น”ชาละวัน” จับตาเจ้าใหญ่บุกชิงเค้ก

แฟ้มภาพ

คราฟต์เบียร์น้องใหม่มาแรง โตพุ่งสวนกระแสตลาดเบียร์ที่ชะลอตัวแบรนด์ใหม่โผล่ขึ้นเชลฟ์ไม่หยุด พร้อมกระจายผ่านช่องทางแมส คลุมสะดวกซื้อ-ซูเปอร์มาร์เก็ต-ไฮเปอร์-ค้าส่ง “ไลเกอร์” ส่งเบียร์ดำเข้าเซเว่นฯ ดีเดย์บนเชลฟ์ต้น ม.ค.นี้ ด้านพี่ใหญ่ “สิงห์” โผล่ถือหุ้น “ชาละวัน” จับตาเจ้าใหญ่บุกชิงเค้ก

แม้ตลาดเบียร์ในภาพรวมจะหดตัวลง จากปัญหากำลังซื้อและเศรษฐกิจ แต่เซ็กเมนต์ของเบียร์ซูเปอร์พรีเมี่ยม หรือคราฟต์เบียร์ และเบียร์อิมพอร์ต แม้จะมีสัดส่วนอยู่ไม่ถึง 1% ของตลาด 1.8 แสนล้านบาท ยังเป็นตลาดที่มีศักยภาพและยังมีการเติบโตอย่างน่าจับตา โดยภาพที่เห็นได้ชัดคือสินค้าในเซ็กเมนต์นี้เริ่มมีช่องทางการขายที่แพร่หลายมากขึ้น ทั้งในร้านค้าปลีก-ส่ง กระจายไปทั่วประเทศ ไม่เฉพาะแค่ร้านอาหาร ร้านคราฟต์เบียร์ หรือร้านในแหล่งท่องเที่ยวเพียงอย่างเดียว ตลอดจนภาพของพี่ใหญ่ในวงการทั้งสิงห์ และช้าง ที่ออกโปรดักต์ใหม่เพื่อมาแชร์ส่วนแบ่งในตลาดนี้กันอย่างคึกคัก

ยึดเชลฟ์ค้าปลีก-ส่ง

นายอาชิระวัสส์ วรรณศรีสวัสดิ์ กรรมการ บริษัท ไอเอสทีบี จำกัด ผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายเบียร์ไทย-ต่างประเทศ เจ้าของแบรนด์ไลเกอร์ และอัลเลมองท์ กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า คราฟต์เบียร์ยังคงเป็นตลาดที่คึกคัก แบรนด์ใหม่ ๆ เข้ามาในตลาดอยู่ตลอด ขณะเดียวกันก็มีบางแบรนด์ที่หยุดทำตลาดไปบ้าง แต่โดยรวมถือว่ามีการเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับช่องทางการจำหน่ายที่ปัจจุบันมีการกระจายไปยังหลายช่องทางมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นค้าปลีก เช่น ท็อปส์, กูร์เมต์ มาร์เก็ต, วิลล่า มาร์เก็ต, แฟมิลี่มาร์ท, เซเว่นอีเลฟเว่น ฯลฯ รวมถึงค้าส่งอย่างแม็คโคร ฯลฯ จากเดิมที่เน้นขายผ่านช่องทางร้านอาหาร ร้านคราฟต์เบียร์เป็นหลัก

“ปัจจุบันผู้บริโภคเอดูเคตกับโปรดักต์มากขึ้น กระแสจากคนที่ให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้ก็มีจำนวนมากขึ้นและลึกขึ้น เช่นเดียวกันกับฝั่งของร้านค้าที่มีช่วงเวลาขายและพื้นที่แช่ในตู้จำกัดก็ต้องเลือกสินค้าที่คุ้มค่าโอเปอเรชั่นมากกว่า ร้านค้าส่วนใหญ่จึงหันมาขายคราฟต์กันมากขึ้นด้วย เพราะกำไรต่อหน่วยค่อนข้างสูงกว่าเบียร์แมสพอสมควร”

นายอาชิระวัสส์ยังกล่าวด้วยว่า สำหรับไอเอสทีบีเองต้นเดือน ม.ค.ปีหน้า บริษัทเตรียมนำคราฟต์เบียร์แบรนด์ไลเกอร์ ประเภทเบียร์ดำ เข้าไปวางจำหน่ายผ่านช่องทางร้านสะดวกซื้อเซเว่นอีเลฟเว่น เพื่อสร้างความครอบคลุมในการขายมากขึ้น ในราคากระป๋องละ 89 บาท โดยช่วงแรกจะเน้นโลเกชั่นที่เป็นตลาดนักท่องเที่ยว ก่อนกระจายเข้าสู่โลเกชั่นแถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือในระยะต่อไป ควบคู่กันนี้ยังมีแผนจะเร่งกระจายสินค้าผ่านช่องทางใหม่ ๆ มากขึ้น เช่น บิ๊กซี เป็นต้น จากก่อนหน้าที่นำเข้าไปจำหน่ายผ่านช่องทางออนพรีมิส และออฟพรีมิส ทั้งร้านอาหาร ร้านคราฟต์เบียร์ ท็อปส์ วิลล่า แฟมิลี่มาร์ท ฯลฯ แล้ว

สอดคล้องกับแหล่งข่าวจากวงการคราฟต์เบียร์อีกรายหนึ่งที่กล่าวว่า จากกระแสความนิยมของคราฟต์เบียร์ที่มีมากขึ้น ส่งผลให้มีผู้ประกอบการรายใหม่ให้ความสนใจและกระโดดเข้ามาในตลาดเป็นระยะ ๆ โดยรายที่มีเงินทุนไม่มากหรือเพิ่งเริ่มต้น ก็จะใช้วิธีไปต้มเบียร์แล้วบรรจุลงในถัง keg เพื่อนำมาจำหน่ายในรูปแบบของเบียร์สด หลังจากนั้นเมื่อโปรดักต์เริ่มติดตลาดก็อาจพัฒนาบรรจุลงขวด หรือกระป๋องต่อไป ขณะที่ผู้ประกอบการรายเดิมที่มีตลาดและแบรนด์ที่แข็งแรงอยู่แล้ว ก็ส่งโปรดักต์ใหม่เข้ามาเพิ่มทางเลือกมากขึ้น และพยายามกระจายสินค้าและเพิ่มช่องทางจำหน่าย

“สิงห์” โผล่ถือหุ้นชาละวัน

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า หลังจากที่ประชาชาติธุรกิจได้นำเสนอกระแสข่าวว่า กลุ่มบริษัทบุญรอดฯมีความสนใจและอยู่ระหว่างการเจรจากับแบรนด์ “ชาละวัน” คราฟต์เบียร์ของคนไทย ที่บริหารภายใต้บริษัท ฟูลมูน บรูเวิร์ค จำกัด เข้ามาอยู่ในพอร์ต เมื่อช่วงกลางปีที่ผ่านมา ล่าสุดพบว่า บริษัท สิงห์ คอร์เปอเรชั่น จำกัด ได้เข้าไปถือหุ้นในบริษัทดังกล่าวแล้ว ในสัดส่วน 30% เป็นอันดับที่ 3 รองจากสัดส่วนของ 2 ผู้ก่อตั้งอย่าง นายกมลาศ พัฒนาไพศาล และนายสุกิจ ทีปฏิมา ถือหุ้นกันคนละ 31.4074%

โดยปัจจุบันทุนจดทะเบียนของบริษัทดังกล่าวอยู่ที่ 13.5 ล้านบาท มีรายได้ 3 ปีย้อนหลังอยู่ที่ 2.5 ล้านบาท ในปี 2558 มีรายได้ 21 ล้านบาท ในปี 2559 และมีรายได้ 52 ล้านบาท ในปี 2560 มีโปรดักต์ อาทิ เบียร์ชาละวัน เพลเอล, เบียร์ชาตรี ไอพีเอ และเบียร์บุษบา เอ็กซ์ไวส์

ก่อนหน้านี้ นายภูริต ภิรมย์ภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บุญรอดเทรดดิ้ง จำกัด ระบุเอาไว้ว่า ตลาดเบียร์มูลค่ากว่า 1.8 -2 แสนล้านบาท ค่อนข้างนิ่ง มีการขยายตัวไม่มากในแต่ละปี ทำให้บริษัทต้องมีการบาลานซ์พอร์ตรายได้จากกลุ่มสินค้าใหม่ ๆ จากเดิมที่พึ่งยอดขายเบียร์เป็นหลักถึง 80% โดยคราฟต์เบียร์ และเบียร์ซูเปอร์พรีเมี่ยม ถือเป็นหนึ่งในตลาดที่สิงห์ให้ความสนใจ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากความเคลื่อนไหวของค่ายคราฟต์เบียร์ดังกล่าวแล้ว เมื่อเร็ว ๆ นี้ เบียร์ 2 ค่ายใหญ่ต่างก็ทยอยส่งเบียร์ตัวใหม่ลงตลาดหลายแบรนด์ เช่น ค่ายเบียร์ช้าง ที่ส่ง ฮันทส์เมน (wheat beer) และแบล็คดรากอน (red beer) การเปิดตัวแบรนด์ใหม่ของค่ายสิงห์ เช่น มายเบียร์ (lager beer) และการปรับรสชาติใหม่ของบ้านนอกเบียร์ เพื่อนำเข้ามาจำหน่ายอีกครั้งในเซเว่นอีเลฟเว่น เป็นต้น

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat
.
หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!