Fitch ลดอันดับเครดิตของสหรัฐส่งผลกระทบตลาดหุ้นไทยหรือไม่?

เขียนบทความ โดย ดร. บุญธรรม รจิตภิญโญเลิศ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจและการลงทุน

หากพิจารณาผลกระทบจากการลดอันดับเครดิตของสหรัฐ พบว่าส่วนใหญ่เกิดในยิลด์ของ US Treasury ซึ่งส่งผลกระทบต่อทุกประเทศ ส่วนผลกระทบต่อไทยโดยตรงมีไม่มากนัก ด้านตลาดหุ้นไทยในปี 2011 ที่ S&P ลดอันดับเครดิตสหรัฐนั้น พบว่าส่งผลให้ SET ลดลงเกือบ 4% ในเวลา 1 เดือนและจึงค่อยๆ หมดไป ด้านเซกเตอร์ที่ได้รับผลกระทบน้อย ได้แก่ Domestic Focus คือ เซกเตอร์พาณิชย์ เกษตรกรรม และ REIT ด้านเซกเตอร์ที่ได้รับผลกระทบมาก ได้แก่ ICT และท่องเที่ยว

ในทางทฤษฎี การลดอันดับเครดิตของสถาบันจัดอันดับเครดิตต่อประเทศสหรัฐ จะมีผลกระทบต่อสถานการณ์ทางการเงินและสถาบันการเงินโลก แบ่งออกได้เป็น 3 ประเด็น ดังนี้

  1. การกระจุกตัวของพันธบัตรจาก Lender of Last Resort: ทางการสหรัฐจะทำหน้าที่เป็นแหล่งสุดท้ายในการให้ความช่วยเหลือด้านสภาพคล่องทางการเงิน (Lender of Last Resort) ให้กับตลาดการเงิน จริงอยู่ที่ว่าตลาดพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐถือว่าเป็นตลาดที่มีสภาพคล่องสูงมาก หรือสูงที่สุดแห่งหนึ่งในโลก อย่างไรก็ดี การลดอันดับเครดิตของสหรัฐที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ อาจจะทำให้นักลงทุนในตลาดจะพากันถือครองพันธบัตรที่มีคุณภาพดี โดยขายพันธบัตรคุณภาพปานกลางทิ้งแล้วหันไปซื้อพันธบัตรที่มีคุณภาพดี จนเกิดปัญหาสภาพคล่องในตลาดบาง segment หรือบางจุด
  2. Panic ของตลาดพันธบัตร: รัฐบาลต้องเข้ามาดูแลกองทุนที่เกี่ยวข้องกับตราสารในตลาดเงิน (US money market funds) คล้ายกับกองทุน SFF ในบ้านเรา เนื่องจากที่ทราบกันว่า กองทุนที่นักลงทุนหรือประชาชนสามารถไถ่ถอนคืนได้ทุกวันเหล่านี้ถือพันธบัตรรัฐบาลไว้ปริมาณมาก เนื่องจากปลอดภัยและมีสภาพคล่องสูงมาก หากประชาชนตื่นตระหนกแห่กันไปไถ่ถอนตราสารดังกล่าวมากขึ้น จะคล้ายๆ กับ bank run ซึ่งรัฐบาลต้องให้สถาบันประกันเงินฝากมาคอยเป็น back up ให้ สิ่งที่น่ากังวล คือ อะไรที่เพิ่งเกิดเป็นครั้งแรกหลังโควิด จะคาดการณ์ปริมาณที่จะเกิดขึ้นจริงได้ยาก
  3. Non-Zero US Risk-Free Rate: การลดอันดับเครดิตของสหรัฐในครั้งนี้ ยังมีผลต่อสมมติฐานที่ตลาดการเงินและวงการธนาคารใช้ในการวิเคราะห์ อาทิ น้ำหนักความเสี่ยงของพันธบัตรสหรัฐ รวมถึงหลักประกันที่ใช้พันธบัตรดังกล่าว ว่ายังมีน้ำหนักเป็นศูนย์จริงหรือไม่ ที่สำคัญ อัตราดอกเบี้ยที่ปราศจากความเสี่ยง ยังจะใช้อัตราดอกเบี้ยของพันธบัตรสหรัฐต่อไปได้หรือไม่ คำถามที่จะเกิดตามมาคือ ในทางเทคนิคแล้ว การใช้อัตราดอกเบี้ยของพันธบัตรสหรัฐเป็นดัชนีอ้างอิงสำหรับการตั้งราคาตราสารการเงินต่างๆ ยังใช้ได้ต่อไปอีกหรือไม่และในระยะยาวแบบยั่งยืนอีกหรือไม่

สรุป Fitch คาดกระทบน้อย:  โดยแนวโน้มของระดับอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรสหรัฐหลังการลดอันดับเครดิตของ Fitch อยู่ในจุดที่สูงขึ้น เนื่องจากความเสี่ยงด้านเครดิตสหรัฐเหมือนจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อย อย่างไรก็ดี Fitch เป็นสถาบันจัดอันดับเครดิตที่ทรงอิทธิพลน้อยกว่า S&P และ Moody’s มาก ผลกระทบจึงจะมีไม่มากนัก หากพิจารณาจากการที่ S&P ลดอันดับเครดิตสหรัฐจาก AAA เหลือ AA+ เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2011 ปรากฎว่า หลังจากนั้น 1 เดือน ตลาดหุ้นไทยค่อนข้าง Sideway Down โดยอัตราผลตอบแทนลดลงเกือบ 4% ส่วนค่าเงินบาทอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์ราว 4%  ซึ่งถือว่าไม่ได้มีผลกระทบต่อการลงทุนมากนัก