“เวียดนาม” ลับมีดปรับ 2 นโยบายเด่น ชูส่งออกข้าวมูลค่าสูง-ฟื้นโปรเจ็กต์ถ่านหิน

นักวิเคราะห์ทั่วโลกขานรับ “เวียดนาม” ในฐานะประเทศที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงในระดับเดียวกับ “อินเดีย และบังกลาเทศ” ขณะที่เวิลด์แบงก์ระบุในรายงาน “The World in 2050” ประเมินว่า เวียดนามจะเติบโตเฉลี่ย 5% ต่อปีจนถึงปี 2050 จากนโยบายการบริหารประเทศที่ต่อเนื่อง

ทั้งนี้ เวียดนาม คาดว่าจะเป็นประเทศได้รับการเลื่อนลำดับชั้นของขนาดเศรษฐกิจเร็วที่สุด คือจากอันดับที่ 32 ของเศรษฐกิจโลก ปี 2016 เป็นอันดับที่ 29 ในปี 2030 และอันดับที่ 20 ในปี 2050

ล่าสุด รัฐบาลเวียดนามประกาศแผนการปฏิรูปการผลิตข้าว “ระยะยาว”เป็นยุทธศาสตร์การพัฒนาตลาดส่งออกข้าวเวียดนาม ปี 2017-2020 ซึ่งจะเป็นการวางวิสัยทัศน์ไปจนถึงปี 2030 “เวียดนามเน็ต” รายงานว่า รัฐบาลปรับปรุงแผนการส่งออกข้าว จากเดิมที่เน้นที่ “ปริมาณ” การส่งออกข้าวปรับเป็นเน้นการสร้าง “มูลค่าเพิ่มข้าว” เป็นสิ่งสำคัญ เพราะ “ข้าว” ถือเป็นสินค้าเกษตรที่สร้างรายได้ให้กับประเทศเป็นอันดับหนึ่ง

แผนการปฏิรูปคุณภาพมุ่งสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับข้าวเวียดนาม เพื่อทำให้เวียดนามกลายเป็นผู้เล่นในตลาดข้าวเบอร์ต้น ๆ ของโลก ตามเป้าหมายในปี 2020 เวียดนามจะส่งออกข้าวรายปีอยู่ที่ 4.5-5 ล้านตัน และจะสร้างรายได้ให้กับประเทศอยู่ที่ราว 2,200-2,300 ล้านดอลลาร์ต่อปี และตั้งแต่ปี 2021-2030 ปริมาณการส่งออกข้าวรายปีจะลดลงเหลือ 4 ล้านตัน แต่จะสร้างรายได้ให้กับเวียดนาม เพิ่มขึ้นเป็น 2,300-2,500 ล้านดอลลาร์ต่อปี

ขณะเดียวกัน รัฐบาลยังปรับเปลี่ยนโครงสร้างผลิตภัณฑ์ข้าวเพื่อการส่งออก โดยจะเน้นส่งออก “ข้าวหอมพันธุ์พิเศษ” และ “ข้าวจาปอนิกา” คิดเป็นสัดส่วน 40% มากที่สุดของปริมาณการส่งออกข้าวทั้งหมด ตามด้วย “ข้าวเหนียว และข้าวขาว” สัดส่วน 25% และข้าวคุณภาพสูง ข้าวออร์แกนิก และผลิตภัณฑ์ที่ทำจากข้าว สัดส่วน 10%

นายเจิ่น กง ถาง รองผู้อำนวยการสถาบันนโยบายและยุทธศาสตร์ด้านเกษตรและการพัฒนาชนบท กล่าวว่า ที่ผ่านมารัฐบาลกลางยังไม่มีแผนการพัฒนาข้าวแห่งชาติเพื่อการส่งออก ขณะที่หลายจังหวัดได้พัฒนาข้าวคุณภาพสูงจำนวนมาก โดยมีการนำเทคโนโลยีขั้นสูงมาปรับใช้ในการผลิต ดังนั้น รัฐบาลจึงนำผลิตภัณฑ์ข้าวท้องถิ่นมาบรรจุให้เป็นวาระแห่งชาติ

ปัจจุบันแบรนด์ข้าวท้องถิ่นจำนวนมากอยู่ใต้การคุ้มครองจากภาครัฐ เช่น ข้าวเหนียวคิญมอน, ข้าวเหนียวด่งเจือ และข้าวหอม เป็นต้น

“บรรดาผู้ส่งออกข้าวเวียดนามพยายามเจาะตลาดข้าวคุณภาพสูง แต่ต้องเพิ่มห่วงโซ่อาหารมากขึ้น โดยที่ผ่านมาพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง มีแบรนด์ข้าวคุณภาพเกิดขึ้นถึง 12 แบรนด์ เช่น หง็อก เจ่ย และหง็อก ด่ง”

พร้อมกันนี้ รัฐบาลประกาศเพิ่มบทบาทข้าวคุณภาพสูงในตลาดส่งออกแห่งใหม่ เช่น ประเทศแอฟริกา โดยประเมินว่าสัดส่วนการครองตลาดข้าวเวียดนามในแอฟริกายังต่ำ

นอกจากนี้เพียงไม่กี่สัปดาห์หลังจากประกาศแผนพัฒนาข้าว นายกรัฐมนตรี “เหวียน ซวน ฟุก” ได้อนุมัติแผนปรับปรุงโครงการพัฒนาถ่านหินในเวียดนาม เป็นยุทธศาสตร์ปี 2020 โดยระบุว่า “จากที่รัฐบาลเวียดนามชุดก่อนได้พับแผนการพัฒนาถ่านหินไป เนื่องจากประชาชนบางส่วนไม่มั่นใจถึงความปลอดภัย และถูกต่อต้านจากกลุ่ม NGO แต่เราเชื่อมั่นว่าการศึกษาและการวางแผนในระยะยาวเพื่อสร้างความเข้าใจ จะช่วยปลดล็อกอุปสรรคนี้ได้”

โดยก่อนหน้านี้ เวียดนามนำเข้าถ่านหินจากออสเตรเลียเป็นสัดส่วนมากที่สุด และปีที่ผ่านมานำเข้าถ่านหินเพิ่มขึ้น 357.9% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ดังนั้นการที่จะลดการนำเข้าถ่านหินได้ เวียดนามจำเป็นต้องเดินหน้าลงทุนโครงการเหมืองถ่านหินในประเทศ

สำหรับโครงการพัฒนาถ่านหินฉบับใหม่ รัฐบาลจะลงทุนสร้างโรงงานคัดแยกถ่านหิน คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2020 จำนวน 4 แห่ง ได้แก่ Vang Dang 2, Khe Than, Khe Cham และ Lep My ด้วยกำลังการผลิต 2 ล้านตันต่อปี, 2.5 ล้านตัน, 7 ล้านตัน และ 4 ล้านตันต่อปี ตามลำดับ

“วีจีพี นิวส์” หนังสือพิมพ์ของรัฐบาลเวียดนามรายงานว่า จุดประสงค์หลักเพื่อเป็นแหล่งพลังงานที่ใช้ภายในประเทศ โดยเฉพาะพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ และย่านธุรกิจที่กระจุกตัว

นอกจากนี้ รัฐบาลมีเป้าหมายจะจัดตั้งศูนย์ประมวลผลถ่านหินและคลังสินค้ากลาง ซึ่งจะตั้งอยู่ในเขตฮอนไก เนื่องจากมีท่าเรือฮอนไก ซึ่งเป็นท่าเรือสำคัญและเป็นจุดยุทธศาสตร์ในการขนถ่ายสินค้าของเวียดนาม โดยคาดว่าอินโดนีเซียจะเข้ามาช่วยเหลือด้านการออกแบบ ตลอดจนความร่วมมือในการสำรวจแหล่งพื้นที่ถ่านหินเพิ่มเติม

นักวิเคราะห์มองว่า หากแผนยุทธศาสตร์การสร้างมูลค่าเพิ่ม “ข้าว” และโครงการพัฒนาเหมืองถ่านหินประสบความสำเร็จ หมายความว่าเวียดนามจะกลายเป็นประเทศที่มีบทบาททางเศรษฐกิจโลกอย่างมีนัยสำคัญ ขณะเดียวกันก็กลายเป็นตลาดที่มีเม็ดเงินลงทุนเข้ามามากที่สุดด้วย