“ถ้าวันไหนที่หนูคิดฆ่าตัวตาย วันนั้นถึงจะยอมรับว่าเป็นโรคซึมเศร้า”

ครึ่งปีแรกของปี 2565 ข่าวการจบชีวิตตัวเองของของคนอายุน้อยในกลุ่มนักศึกษาไปจนถึงนักเรียนมัธยม กลายเป็นตัวเลขความสูญเสียรายวันที่ปรากฏขึ้นอย่างน้อย 5 รายแล้ว

ความเครียดจากการเรียนจนกลายเป็นซึมเศร้า ความรู้สึกแปลกแยกจากสังคมในโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย แรงกดดันจากครอบครัว ภาวะความเจ็บป่วยทางใจในกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่พูดกันมาในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งได้กลายมาเป็นตัวเลขสถิติของคนที่ฆ่าตัวตายสำเร็จ

คงกล่าวไม่ได้ว่า เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องส่วนบุคคล เพราะมันอาจจะเกิดกับคนรอบตัวเรา เพื่อนพี่น้องที่มหาวิทยาลัย เพื่อนในโรงเรียน ที่ทำงาน หรือกระทั่งคนในบ้าน แต่แล้วเหตุใดช่วงวัยของผู้คนที่มีแนวโน้มฆ่าตัวตายสำเร็จ จึงลดลงเรื่อย ๆ มาสู่กลุ่มวัยคนรุ่นใหม่

ตัวเลขสถิติจากกรมสุขภาพจิต ชี้ถึงปัญหาการฆ่าตัวตายในช่วงปี 2560-2564 ว่ากลุ่มวัยเรียนและวัยทำงานตอนต้น มีแนวโน้มการฆ่าตัวตายสูงกว่าคนวัยทำงานถึง 4 เท่า ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ข้อมูลจากศูนย์ป้องกันการฆ่าตัวตายแห่งชาติ ระบุว่าเฉพาะปี 2564 มีกลุ่มวัยเรียน อายุ 15-24 ปี ฆ่าตัวตายสำเร็จถึง 439 คน

กานต์ (นามสมมติ) หญิงสาววัย 26 ปี ย้อนเรื่องราวระหว่างที่เธอกำลังเรียนด้านสถาปัตยกรรมชั้นปีที่ 3 ที่มหาวิทยาลัยเอกชนแห่งหนึ่งเมื่อ 5 ปีที่แล้วให้บีบีซีไทยฟัง เวลานั้นเป็นช่วงที่เธอเริ่มคิดว่าตัวเองมีอาการซึมเศร้า

“ช่วงทำโปรเจกต์หนัก ๆ เริ่มต้นตอนนั้น เราเครียดเรื่องงานที่ต้องทำส่งมาก เพื่อนที่เรียนด้วยกันมาเริ่มย้ายไปเรียนสาขาอื่น ทำให้เราเหมือนโดนทิ้ง”

กานต์ เล่าว่าเมื่อเริ่มขึ้นปี 4 ที่ต้องทำทีสิส ระหว่างนั้นเพื่อนคนหนึ่งรู้ตัวว่าป่วยซึมเศร้าและดรอปเรียนไป แต่กานต์ก็ยังพยายามจัดการกับความยากลำบากกับการเรียน ทั้งยังเจอการปฏิบัติจากอาจารย์ผู้สอนที่วิจารณ์เรื่องส่วนตัว รู้สึกถูกลำดับชนชั้น และถูกเลือกปฏิบัติเพราะรูปลักษณ์ภายนอกจากอาจารย์ผู้ชาย เธอเริ่มรู้สึกอดทนได้น้อยลงเรื่อย ๆ การเรียนที่เคยมีความสุขกลับไม่มีอีกต่อไป กานต์จึงตัดสินใจดรอปเรียนตั้งใจพักไว้ 1 ปี

ตอนนั้น กานต์บอกกับตัวเองว่า เธอคงไม่ได้ป่วยเป็นซึมเศร้า กระทั่งเมื่อกลับมาเรียนชั้นปีที่ 5 อีกครั้ง อารมณ์สวิง รู้สึกดาวน์ ไม่อยากทำอะไร ก็เริ่มหนักขึ้นเรื่อย ๆ ไม่เข้าเรียน ขลุกตัวอยู่แต่ที่หอพัก และไม่กล้าที่จะบอกที่บ้านว่าตัวเองไม่สามารถกลับไปเรียนได้แล้ว จนในที่สุดวันหนึ่ง เธอก็ตัดสินใจฆ่าตัวตาย

“เรามีธงในใจว่า ฉันไม่เป็นหรอก (โรคซึมเศร้า) หนูตั้งไว้ว่า ถ้าวันไหนที่หนูคิดฆ่าตัวตาย วันนั้นถึงจะยอมรับว่าเป็นโรคซึมเศร้า”

“เสี้ยววินาทีที่จะกระโดด ก็นึกถึงแม่ว่าถ้าฉันทำแม่จะเสียใจขนาดไหน มันก็เลยยังสามารถรั้งหนูไว้ได้ในตอนนั้น”

ในวันขึ้นปีใหม่ช่วงนั้น ขณะที่อยู่คนเดียวไม่กลับบ้าน กานต์ก็ยอมรับกับที่บ้าน แต่ก็เป็นภาวะที่ต้องสู้กับเสียงของตัวเองว่าจะจบชีวิตตัวเองอีกครั้งหรือจะกลับบ้านที่ จ.สระบุรี เพื่อบอกกับแม่ว่าเธอเรียนต่อไม่ไหวแล้ว

เมื่อกลับไปอยู่ที่บ้านต่างจังหวัด แม่ของกานต์สนับสนุนให้เธอเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลรัฐแห่งหนึ่ง เธอได้รับวินิจฉัยว่าเป็นซึมเศร้า และโรคอารมณ์สองขั้ว กานต์ได้รับยาต้านเศร้าอย่างต่อเนื่อง แต่อาการซึมเศร้า มีทั้งช่วงดีขึ้นและแย่ลง สลับกับความพยายามฆ่าตัวตาย ที่ยังคงมีอยู่

getty

ที่มาของภาพ, Getty Images

“คิดว่าตัวเองคงไม่ดีพอที่จะให้พ่อรักและภูมิใจ”

กว่า 6 ปีที่แล้ว “เพลง” (นามสมมติ) เด็กสาวชาว จ.อุดรธานี ที่กำลังเรียนชั้น ม.1 เริ่มทำร้ายตัวเองด้วยการจิก และข่วนตัวเองจนเป็นแผล

ตอนนั้น เพลงไม่ได้คิดว่าตัวเองเป็นซึมเศร้า จนกระทั่งอาการเริ่มหนักขึ้นในปีต่อมา อารมณ์เริ่มดิ่งชนิดที่ควบคุมไม่ได้ ทำร้ายตัวเองหนักขึ้น เพื่อนของเธอแนะนำให้ไปพบจิตแพทย์ ก่อนได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นซึมเศร้า

เพลงรักษาตัวมาเรื่อย ๆ ทว่าการป่วยในปีที่ 3 หรือเมื่ออายุ 16 ปี เป็นช่วงที่เพลงคิดฆ่าตัวตายครั้งแรก เธอกินยาพาราเซตามอลกับยานอนหลับมากเกินขนาด ครั้งนั้น ที่บ้านนำตัวส่งโรงพยาบาลได้ทัน แต่นั่นก็ทำให้หมอวินิจฉัยว่าเพลงเป็นโรคไบโพลาร์ หรืออารมณ์สองขั้ว เพิ่มเติมเข้ามา

หลังจากนั้นความคิดฆ่าตัวตายเกิดถี่ขึ้นในช่วงเรียนชั้น ม.5 ซึ่งเป็นช่วงเรียนที่หนักมาก และมีปัญหากับเพื่อนที่โรงเรียน ทำให้เธอพยายามจบชีวิตตัวเองอีก 2 ครั้ง ครั้งนั้นเป็นจุดที่เพลงต้องหยุดการเรียนเอาไว้ชั่วคราว แม้ผลการเรียนช่วงนั้นจะอยู่ในระดับที่ดีมาก

สำหรับเพลงในวัย 19 ปี ขณะนี้ เมื่อมองย้อนกลับไปถึงชีวิตตัวเอง เธอคิดว่าความกดดันเรื่องการเรียนจากพ่อตั้งแต่ยังเป็นเด็กเล็ก เป็นเรื่องที่นำมาสู่ความเจ็บป่วยทางใจของเพลงเรื่อยมาจนถึงวัยรุ่น

“โดนส่งเรียนพิเศษตั้งแต่เช้ายันเย็นตั้งแต่ 7 ขวบ พออายุ 12 ก็โดนบังคับให้สอบเข้าห้องโครงการพิเศษของโรงเรียนประจำจังหวัด โดนบังคับให้อ่านหนังสือจนดึกดื่น และต้องตื่นเช้าขึ้นมาอ่านอีก จนสอบเข้าได้แล้ว พ่อก็ยังคงกดดันเรื่องเรียน ต้องสอบผ่านทุกวิชา เกรดเฉลี่ยต้อง 4.00 ซึ่งพอหนูทำไม่ได้ก็จะโดนดุด่าแรงมาก” เพลงเล่า

“เขาก็ไม่เคยชมอะไรหนูเลย ไม่เคยพูดว่ารัก ไม่เคยแสดงความอ่อนโยน มันทำให้เรื่องพวกนี้หล่อหลอมหนูมาตั้งแต่เล็กจนโต และคิดว่าตัวเองคงไม่ดีพอที่จะให้พ่อรักและภูมิใจ”

โฆษกกรมสุขภาพจิต : “เป็นยุคที่ใช้ชีวิตที่ยากที่สุดตั้งแต่เคยมีมาของกลุ่มวัยรุ่น”

นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ โฆษกกรมสุขภาพจิต กล่าวกับบีบีซีไทยว่า อัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จในปัจจุบันยังสูงสุดอยู่ที่กลุ่มอายุ 50 ปี และช่วงตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป ทว่าในกลุ่มเด็กและวัยรุ่นนั้น เมื่อเทียบกับปีก่อนพบว่ามีอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จเพิ่มขึ้นประมาณ 2 เท่า

อย่างไรก็ตาม ตัวเลขที่ชี้ให้เห็นถึงปัญหาสุขภาพจิตที่ดีกว่านั้น คือ ความเสี่ยงในการฆ่าตัวตาย ซึ่งพบว่า กลุ่มวัยรุ่นและวัยทำงานตอนต้น มีความเสี่ยงการฆ่าตัวตายสูงกว่ากลุ่มอื่น

ข้อมูลจากแพลตฟอร์มที่กรมสุขภาพจิตเก็บข้อมูลปัญหาสุขภาพจิต ซึ่งมีผู้เข้ามาให้ข้อมูลจำนวน 3.56 ล้านคน พบว่า ในกลุ่มคนช่วงอายุทั่ว ๆ ไป ความเสี่ยงในการฆ่าตัวตายในช่วงเกือบ 3 ปีที่ผ่านมา หรือช่วงเริ่มต้นของการระบาดของโควิด-19 ทุกกลุ่มอายุรวมกันอยู่ที่ 4.7% แต่เมื่อดูกลุ่มวัยทำงานตอนต้น อายุตั้งแต่ 20-29 ปี ความเสี่ยงฆ่าตัวตายนั้นอยู่ที่ 14.7% ขณะที่กลุ่มที่อายุน้อยกว่า 20 ปี พบว่ามีความเสี่ยงสูงถึง 20%

“มันเป็นตัวบอกที่ชัดเจนเลยว่า กลุ่มคนอายุน้อย ๆ มีความเครียด เสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพจิตสูงมาก” นพ.วรตม์ กล่าว

โฆษกกรมสุขภาพจิต ชี้ว่าเหตุที่เป็นเช่นนี้ เพราะกลุ่มเด็กและวัยรุ่น ต่างได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โรคระบาดไม่แพ้กลุ่มผู้ใหญ่ การต้องห่างจากการเรียนในโรงเรียนไปกว่า 2 ปี เมื่อกลับมาสู่ภาวะหลังโรคระบาด พวกเขาต้องจัดการกับทักษะการเข้าสังคมที่หายไปช่วงโควิด ปรับตัวทั้งเรื่องเพื่อน ส่วนการเรียน วิธีการเรียนก็แตกต่างออกไปจากช่วงสองปี ยังไม่นับรวมความเครียดของพ่อแม่ผู้ปกครองที่ส่งต่อมายังลูกในบ้านอีก

ขณะที่วัยทำงานตอนต้น ก็เผชิญกับความไม่แน่นอนเรื่องชีวิตการทำงาน คนที่ยังไม่ได้งานทำตั้งแต่โควิด ก็ยังค้างอยู่ในระบบ เรียนจบมา แต่ยังไม่รู้ว่ามีงานทำหรือเปล่า

“น่าจะเป็นยุคที่ใช้ชีวิตที่ยากที่สุดตั้งแต่เคยมีมาของกลุ่มเด็ก วัยรุ่น และวัยทำงานตอนต้น” นพ. วรตม์ กล่าว พร้อมชี้ว่า “กลุ่มเด็กและวัยรุ่น เป็นกลุ่มเด็กที่ประสบปัญหา แต่มักถูกมองข้ามจากผู้ใหญ่ เพราะคิดว่าปรับตัวได้”

bbc

โรคซึมเศร้า กับการบำบัดความคิดและพฤติกรรม

การทำจิตบำบัดความคิดและพฤติกรรม (Cognitive Behavior Therapy : CBT) คือ หนึ่งในวิธีการบำบัดรักษาผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่เพิ่งมีคนรู้จักอย่างกว้างขวางในประเทศไทยในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นแขนงหนึ่งของการบำบัดจิต นอกเหนือไปจากวิธีการรักษาด้วยการปรับเคมีในสมองผ่านการใช้ยา และการจัดการทางสังคม

ผศ.นพ. ณัทธร พิทยรัตน์เสถียร จิตแพทย์และอาจารย์ประจำภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวกับบีบีซีไทยว่า จากการรวิจัยเชิงการบำบัดด้วยกระบวนการทำจิตบำบัดความคิดและพฤติกรรม  (CBT) สำหรับภาวะซึมเศร้าในนิสิตนักศึกษาเมื่อสองปีที่แล้วพบว่า นิสิตนักศึกษามีความรู้และตื่นตัวกับปัญหาสุขภาพจิต อีกทั้งยอมรับมากขึ้นว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่จะมีปัญหาสุขภาพจิตได้ ทว่าหลาย ๆ คนบอกว่า พ่อแม่ยังไม่ค่อยยอมรับการที่ลูกของตัวเองมีปัญหาสุขภาพจิต ซึ่ง นพ.ณัทธร ระบุว่า ปัญหาเหล่านี้เป็นอีกข้อจำกัดในการเข้าถึงการรักษา

“หลาย ๆ คนก็ไม่กล้าบอกพ่อแม่ว่ามีปัญหานี้ หรือเคยบอกแล้ว พ่อแม่บอกว่าไม่เห็นเป็นอะไร อาจจะเป็นความยังไม่เข้าใจปัญหาสุขภาพจิต เป็นคนละเจเนเรชั่น พ่อแม่จะรู้สึกว่า เวลามีปัญหาสุขภาพจิตจนต้องไปพบจิตแพทย์คือต้องเป็นอาการหนักแล้ว”

ผศ.นพ. ณัทธร พิทยรัตน์เสถียร

ที่มาของภาพ, ผศ.นพ. ณัทธร พิทยรัตน์เสถียร

หลักการพื้นฐานของการทำ CBT ในผู้ที่มีภาวะซึมเศร้า มีหลักการว่า อาการซึมเศร้าอาจเกิดจากวิธีคิด วิธีมองโลกอาจจะเป็นลบมากเกินไป เช่น มองว่าตัวเองแย่ ตัวเองไม่ดี ตัวเองเลวร้ายมาก ๆ หรือมองโลกรอบตัวในทางลบมาก ๆ

การบำบัดจึงชวนให้ปรับกระบวนการคิดและชวนมาปรับพฤติกรรม การบำบัดเป็นลักษณะที่ผู้รับการบำบัดต้องพบกับนักบำบัดกันทุกสัปดาห์ สัปดาห์ละ 1 ชม. ต่อเนื่องกันไป ประมาณ 12 ครั้ง ผู้บำบัดจะชวนให้ คนไข้หัดสังเกตอารมณ์ ความรู้สึกของตัวเอง มีการให้ “การบ้าน” กลับไปติดตามว่าเศร้าตอนไหนบ้าง หรือมีเรื่องอะไรที่กระตุ้นให้รู้สึกเศร้า

“วันนี้มาบำบัด ก็มารู้จักการจัดการอารมณ์ของตัวเองว่า ถ้าเศร้า รู้สึกแย่ ต้องทำยังไง ต้องคิดยังไง จัดการตนเองยังไง ซึ่งทักษะจะค่อย ๆ เพิ่มขึ้นจนรับมือกับอารมณ์ในทางลบได้ และหลังจากนั้นก็สามารถนำไปใช้ต่อในระยะยาวได้ ไม่ได้สิ้นสุดแค่ในการบำบัด หวังว่าหลังจากนั้นจะเป็นทักษะติดตัวไป และป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำได้ด้วย” ผศ.นพ. ณัทธร กล่าว

แล้วในประเทศไทย การเข้ารับการรักษาความเจ็บป่วยเรื่องสุขภาพจิตเป็นอย่างไร ผศ.นพ. ณัทธร ระบุว่า การรักษาปัญหาสุขภาพจิตโดยทั่วไปแล้วมักจะเริ่มต้นด้วยการกินยาผ่านการรักษากับจิตแพทย์ ส่วนการทำจิตบำบัดนั้นต้องใช้ทรัพยากรจำนวนมาก ซึ่งแพทย์ในระบบนั้นมีภาระการรับคนไข้วันละจำนวนมาก ขณะที่นักบำบัดด้วยวิธี CBT ที่เรียนมาเฉพาะทางด้านนี้ในไทยนั้นมีเพียง 100 กว่าคน

อย่างไรก็ดี การทำจิตบำบัดกับผู้มีปัญหาสุขภาพจิต เป็นวิธีที่ต่างประเทศทำมานานแล้วและถือเป็นการรักษาหลักของคนที่มีอาการซึมเศร้า ซึ่งหลัก ๆ แล้วจะใช้วิธีการ CBT ยกตัวอย่างที่สหราชอาณาจักร มีโครงการที่ชื่อว่า Increasing Access to Psychological Therapies (IAPT)  หรือโครงการเพิ่มการเข้าถึงการบำบัดทางจิต ภายใต้ระบบสาธารณสุขแห่งชาติ (NHS) ที่ทำมาเกือบ 10 ปี โครงการนี้ได้ใช้หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ยืนยันผลการบำบัดด้วยวิธีการ CBT ไปให้บริการแก่คนทั่วประเทศ ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก

“ทำให้เขาเข้าถึงได้ ถ้าเรารู้ตั้งแต่เขายังมีปัญหาไม่ได้เยอะมาก เราก็ช่วยให้เขาไม่ขยับไปเป็นผู้ป่วยที่อาการรุนแรงได้” ผศ.นพ. ณัทธร กล่าว

ทำอย่างไรเมื่อเผชิญภาวะวิกฤต

นพ.วรตม์  โฆษกกรมสุขภาพจิต อธิบายสอดคล้องกับผลวิจัยเรื่องการทำจิตบำบัดด้วยวิธี CBT ของจุฬาฯ ว่า ปัจจุบันกลุ่มเด็ก วัยรุ่น และวัยทำงานตอนต้น มีความรู้เรื่องปัญหาสุขภาพจิตมากกว่าเดิมอย่างมาก แต่จะมีความรีบร้อน ให้เวลากับตัวเองน้อย และไม่ทันสังเกตตัวเองว่ากำลังประสบกับปัญหาสุขภาพจิต

“พอเช็คดู ความรู้แน่นมาก แต่เขาบอกว่า ณ เวลานั้น ๆ ที่มันกำลังวิกฤตมาก ๆ เรื่องราวมันเต็มไปหมดเลย เขาไม่มีสติ ไม่มีความตระหนักว่า เขากำลังเปลี่ยนไป เลยดึงความรู้มาใช้ไม่ได้” นพ.วรตม์ เล่าถึงประสบการณ์การรักษาผู้ป่วยวัยรุ่น

นพ.วรตม์ แนะว่าควรจะใช้เวลากับตัวเองให้มากขึ้น ลดการเปรียบเทียบตัวเองบนโซเชียล ข้อความดรามาต่าง ๆ หากมีความเครียดก็ออกมา แล้วใช้เวลาอย่างอื่นกับตัวเอง กับคนที่เราสนิทและเข้าใจ

 “ให้มีความเชื่อว่า ‘เรา’ วัยรุ่นยุคนี้ มีศักยภาพที่จะผ่านปัญหาต่าง ๆ และปัญหาสุขภาพจิตไปได้”

สำหรับคนรอบข้าง ที่ไม่เฉพาะครอบครัวเท่านั้น แต่อาจจะเป็นเพื่อนร่วมห้องเรียน หรือที่ทำงาน คำแนะนำคือ การใช้เวลาคุณภาพร่วมกัน และฟังอย่างไม่เอาประสบการณ์ตัวเองมาตัดสิน

“เมื่อตั้งใจฟัง สิ่งที่ได้คือ คนที่เล่าก็เคารพในความเป็นตัวตนของคนที่รับฟัง เมื่อได้ความเคารพ พอเขาเจอปัญหาจริง ๆ และต้องช่วยเขาไปหาจิตแพทย์ เขาจะฟังและจะเชื่อ และพร้อมรับฟังความช่วยเหลือจากเรา” นพ.วรตม์ ทิ้งท้าย

……

ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว