จากหญิงสาวผู้สิ้นหวังกับระบบในไทย สู่ช่างภาพมืออาชีพที่สื่ออเมริกันวางใจ

  • นภสินธุ์ สามแก้วแจ่ม
  • ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย

“ถ้าเราไม่ผ่านจุดนั้นมา เราก็จะไม่รู้ว่าที่ที่เราอยู่ มันดีกว่าขนาดไหน” ปูเป้-จุฑารัตน์ ภิญโญดุลยเจต ช่างภาพหญิงไทยอนาคตไกล วัย 30 ปี พูดถึงชีวิตในมหานครนิวยอร์กในปัจจุบัน ภายหลังเดินจากประเทศไทยเพื่อมาหาอนาคตใหม่ที่ดีกว่า

ปูเป้ ขวนขวายหาโอกาส พิสูจน์ตัวเอง จนมีชื่อเสียง มีผลงานภาพถ่ายในสื่อระดับชาติ และนานาชาติในสหรัฐอเมริกา เช่น วอชิงตันโพสต์ นิวยอร์กไทมส์ วอลล์สตรีทเจอร์นัล และอีกหลายแห่ง

กว่าจะมาเป็นช่างภาพหญิงไทยในมหานครนิวยอร์กที่ต่างแก่งแย่งความฝันกันนั้น ปูเป้ต้องผ่านบททดสอบอยู่หลายด่าน กว่าจะมาเป็นเธอในวันนี้

ช่างภาพหญิงไทยในนิวยอร์ก

ที่มาของภาพ, Jutharat Pinyodoonyachet

ความใฝ่ฝันของเด็กสาวผู้หลงใหลการถ่ายภาพ

“ตั้งแต่เด็ก ๆ เราไม่เคยคิดจะไปเป็นช่างภาพเลย เพราะมันเป็นอาชีพที่ถูกมองว่าเป็นอาชีพที่ผู้ชายทำมากกว่า เพราะเราชอบมีภาพจำว่าต้องเป็นผู้ชาย ร่างกายกำยำ ถือกล้องเยอะ ๆ เราก็เลยไม่คิดว่าตัวเองจะทำอาชีพนี้ได้”

ปูเป้ เล่าให้บีบีซีไทยฟังว่าสมัยที่เพิ่งเรียนจบใหม่ ๆ เคยฝันอยากทำอาชีพนักตัดต่อภาพยนตร์ และในขณะเดียวกันก็ออกไปถ่ายรูปเป็นงานอดิเรกไปด้วย อาชีพระหว่างนักตัดต่อกับช่างภาพ มีความแตกต่างกันอยู่คือ นักตัดต่อ จะนั่งอยู่แต่หน้าจอคอมพิวเตอร์ อยู่ในห้องมืด ๆ ในขณะที่การถ่ายรูป เรียกร้องให้เราต้องออกไปข้างนอก เพื่อไปเก็บประสบการณ์และสร้างภาพใหม่ ๆ ขึ้นมา จนในที่สุดปูเป้ก็เริ่มค่อย ๆ พบว่า ตัวเองเริ่มสนใจการถ่ายรูปมากกว่าจะนั่งอยู่ในห้องตัดต่อทั้งวัน

ปูเป้บอกว่า เธอโชคดีที่ทางบ้านเก็บทุนเอาไว้ให้อยู่ก้อนหนึ่ง เพื่อให้เธอไปเรียนต่อ ด้วยความสนใจด้านภาพที่เพิ่มขึ้นในทุกวัน เธอจึงตัดสินใจบินลัดฟ้าเพื่อไปเรียนด้านการถ่ายภาพที่มหานครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นเวลา 1 ปีเต็ม

เด็กสาวตามความฝัน

ที่มาของภาพ, Jutharat Pinyodoonyachet

“ตอนที่เราไปเรียน เราก็โฟกัสที่การเรียนอย่างเดียวเลย เงินเราไม่ได้มีมากมายขนาดนั้น เลยพยายามประหยัดเอา ทำอาหารกินเอง แบ่งกินสองมื้อบ้าง เราทำงานไปด้วยไม่ได้เพราะกฎหมายอเมริกาไม่อนุญาต ก็เลยเรียนอย่างเดียว ตอนเรียนเราว่าไม่ค่อยมีอุปสรรคอะไรมาก แต่หลังเรียนจบนี่สิของจริง”

“พอหลังเรียนจบเราเคว้งเลย ชีวิตไม่รู้จะเอายังไงต่อ ยิ่งพอมาจากไทยไม่รู้จักใครเลย คอนเน็กชันเป็นศูนย์มันก็ยาก ซึ่งเพื่อนที่เรียนด้วยกันก็ลำบากเหมือนกัน ไม่ใช่ว่าพอเป็นฝรั่งแล้วจะหางานได้ง่าย ทุกคนก็ต้องเริ่มใหม่หมด”

หลังจากเรียนจบ ปูเป้ต้องสร้างผลงานของตัวเองขึ้นมาเพื่อที่จะใช้ในการยื่นขอวีซ่าประเภท O-1 เพื่อให้มีสิทธิ์หางานทำที่อเมริกาต่อได้ (วีซ่าประเภท O-1 เป็นวีซ่าหรับผู้ที่มีความรู้ความสามารถและความสำเร็จด้านวิทยาศาสตร์, ศิลปะ, การศึกษา, ธุรกิจ, กีฬา, หรือผู้ที่ประสบความสำเร็จด้านภาพยนตร์หรือรายการทีวีและได้รับการยอมรับในระดับชาติหรือนานาชาติ) เธอต้องถ่ายรูปส่งประกวด ส่งนิทรรศการ อยู่หลายชิ้นกว่าจะได้รับการยืนยันเพื่อให้ได้วีซ่านี้มา

แต่ใช่ว่าแม้จะได้วีซ่าทำงานมาแล้ว ชีวิตจะสบาย ปูเป้ต้องดิ้นรน หางานทำเพื่อให้ตัวเองอยู่รอดในมหานครนิวยอร์ก

“ตอนที่เราไม่มีจะกิน เราก็ต้องทำงาน งานอะไรก็ได้ เราทำหมดเลย สิ่งที่ทำให้เราอยู่ได้คือการถ่ายรูปนักท่องเที่ยว เพราะว่านิวยอร์กนักท่องเที่ยวเยอะ ใครที่มาก็ต้องอยากได้รูป เราเลยรับจ้างถ่ายรูปเป็นหัวรายชั่วโมงไป ตามจุดแลนด์มาร์กต่าง ๆ ของนิวยอร์ก”

ชีวิตต่างแดนไม่เคยง่าย

ที่มาของภาพ, Jutharat Pinyodoonyachet

“ถ้าถามว่าทำงานแบบนี้ไปมันอยู่ได้ไหม ก็อยู่ได้ แต่มันไม่ได้มาเติมเต็มเรา ใจจริงเราไม่ได้อยากถ่ายรูปนักท่องเที่ยวแบบนี้ไปเริ่อย ๆ เรามีประเด็นที่เราอยากเล่า เรามีงานที่เราอยากทำ แต่ว่าอยู่ที่นี่มันทำยาก เพราะคนมันมาตามหาความฝันกันเยอะ นั่นหมายความว่าเราก็ต้องมีคู่แข่งคนอื่น ๆ อีกเยอะแยะมากมาย”

ปูเป้ รับจ้างถ่ายรูปหลังเรียนจบได้เพียงไม่นาน ก็ตัดสินใจเดินทางกลับประเทศไทย

วงจรอุตสาหกรรมผลิตภาพยนตร์ในไทย

หลังกลับมาไทย ปูเป้เข้าไปทำงานเป็นช่างภาพเบื้องหลังในกองถ่ายซีรีส์ของไทย แต่ทว่ามันไม่ได้เป็นอย่างที่เธอหวังไว้

“เราก็สนุกนะ ได้กลับมาทำงานที่นี่ ได้เห็นวิธีการทำงานของผู้กำกับ ได้เห็นการออกกอง แต่ระบบที่นี่มันไม่ไหว การทำงานออกกองซีรีส์ 16 ชั่วโมง ที่ทุกคนมองว่ามันเป็นเรื่องปกติ แต่มันไม่ปกติสำหรับเรา เรารู้สึกว่าชั่วโมงการทำงานกับค่าแรงที่ไทยมันไม่ไปด้วยกัน และเราก็มองไม่เห็นตัวเองว่าเราจะสามารถทำงานแบบนี้ในระยะยาวได้จริง ๆ หรือ การออกกองมันเสียสุขภาพ และค่าแรงก็ไม่คุ้ม”

“วันที่เรารู้สึกว่าเราอยู่ที่นี่ไม่ได้แล้ว คือวันที่เราไปออกกอง แล้วกองมันเลิกเลท (สาย) จริง ๆ แล้วควรจะออกกองจบตั้งแต่เที่ยงคืน แต่ด้วยอะไรหลาย ๆ อย่างทำให้จำเป็นต้องต่อคิวไปเรื่อย ๆ จนมันทะลุ 24 ชั่วโมง แบบเริ่มตั้งแต่ 6 โมงเช้า จนไปจบ 6 โมงเช้าของอีกวัน พอเลิกกองเสร็จ เราก็กลับมาถึงบ้านตอน 7 โมงเช้า นั่งอยู่ปลายเตียง แล้วนั่งร้องไห้ แล้วถามตัวเองว่า ‘กูทำอะไรอยู่’”

“มันเป็นจุดที่เราจะไม่ลืม และเป็นจุดที่ทำให้เราตัดสินใจกลับอเมริกา มันทำให้เรารู้สึกว่าเราจะไม่กลับไปทำตรงนั้นอีกแล้ว มันแข็งแรงมาก ๆ เสียจน เรารู้สึกว่าต่อให้เรากำลังลำบากยังไงก็ตามตอนอยู่ที่อเมริกา แต่พอเรานึกถึงเหตุการณ์วันนั้นที่เรานั่งร้องไห้อยู่ปลายเตียงตอน 7 โมงเช้า เรารู้สึกว่าเราสามารถทนได้ทุกอย่างที่นี่ (อเมริกา)” ปูเป้ เล่าถึงประสบการณ์การทำงานในอุตสหากรรมโปรดักชันไทยที่เธอต้องเผชิญ

ผู้เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมผลิตภาพยนตร์ไทยบอกกับบีบีซีไทยว่า สภาพการทำงานในปัจจุบันไม่ต่างไปจากตอนที่ปูเป้ต้องเผชิญเมื่อหลายปีก่อน เรื่องการทำงานเกินเวลา ทำงานทะลุคิวชั่วโมง ยังคงมีอยู่ให้เห็นและถูกพูดถึงอยู่จนถึงปัจจุบัน ด้วยค่าแรงที่โดนกดกันเป็นทอด ๆ ตั้งแต่ผู้อยู่จุดสูงสุดจนถึงคนระดับล่าง ไม่มีงบประมาณเพียงพอที่จะจัดสรรสำหรับการออกกองเพื่อเพิ่มคิวถ่ายฉุกเฉินในวันอื่นต่อไป ทำให้กองถ่ายต่าง ๆ มักเลือกที่จะเพิ่มคิว เพื่มชั่วโมงการถ่ายทำไปเรื่อย ๆ จนกว่างานจะเสร็จ ยอมจ่ายค่าชั่วโมงการทำงานเพิ่มขึ้น แทนการยกกองแล้วไปถ่ายอีกทีวันอื่น เพราะนั่นหมายถึงงบประมาณที่ต้องจ่ายเพิ่มขึ้นไปอีกเท่าตัว นั่นจึงทำให้วังวนการทำงานเกินชั่วโมงที่ไม่สมกับค่าแรง และสุขภาพที่ต้องเสียไป ยังคงเกิดขึ้น

ชีวิตใหม่ในนิวยอร์ก

หลังจากผ่านเหตุการณ์นั้นมา ปูเป้ตัดสินใจซื้อตั๋วเครื่องบิน บินกลับมาเริ่มต้นใหม่อีกครั้งที่นิวยอร์กทันทีในช่วงปลายปี 2019 ซึ่งเป็นช่วงที่โรคโควิด-19 เพิ่งเริ่มระบาด

“ตอนนั้นเราตั้งใจมากว่าจะกลับมาทำงานส่วนตัวแล้วเสนอให้กับสื่อต่าง ๆ แต่ดันกลับมาเจอโควิด (หัวเราะ) ตอนที่เพิ่งเริ่มกลับมาตั้งตัว เราก็ทำงานทุกอย่างเลย ทั้งรับถ่ายรูปนักท่องเที่ยว ไปเป็นพนักงานพาร์ทไทม์ที่พิพิธภัณฑ์รูปถ่าย หวังจะได้เจอคนใหม่ ๆ ทำอยู่ได้ไม่ถึง 3 เดือน เมืองก็ชัตดาวน์ โดนโควิดถล่ม หลังจากนั้นเราก็เครียดเลย อยู่นิ่ง ๆ ไป 4 เดือน ทำอาหารกินเอง เลี้ยงแมวเพื่อน ปะทังขอเงินจากรัฐเอา”

ปูเป้ เผชิญกับภาวะโรคระบาดในอเมริกาอยู่หลายเดือน ด้วยกฎที่ห้ามไม่ให้คนออกจากบ้าน ด้วยสถานที่ต่าง ๆ ถูกปิด เธอจึงไม่สามารถทำงานได้

จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์การประท้วง ‘Black Lives Matter’ ขึ้น หลังจากเจ้าหน้าที่ตำรวจสหรัฐฯ ใช้เข่ากดที่คอของ จอร์จ ฟลอยด์ ในขณะจับกุมจนทำให้เขาเสียชีวิต ปูเป้จึงได้เริ่มออกมาเก็บภาพการประท้วงที่เกิดขึ้น และใช้เวลาในช่วงเดียวกันนี้เก็บภาพวิถีชีวิตของผู้คนท่ามกลางโรคระบาดไปด้วย

ชีวิตในนิวยอร์ก

ที่มาของภาพ, Jutharat Pinyodoonyachet

ชีวิตในนิวยอร์ก

ที่มาของภาพ, Jutharat Pinyodoonyachet

ปูเป้ ใช้ภาพเซ็ตเดียวกันนี้ทำเป็นโปรเจกต์ส่วนตัวเพื่อนำไปเสนอให้กับสื่อต่าง  ๆ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ นิวยอร์กไทมส์ โดยตอนแรกปูเป้ได้รับการตอบกลับมาว่าสนใจ แต่ว่ายังไม่ได้รับงานว่าจ้างให้ไปถ่ายอะไร เพราะทางนั้นยังไม่ได้รู้จักปูเป้ดีว่าเธอถนัดงานภาพแนวไหน จนกระทั่งปูเป้ได้งานแรกจาก นิวยอร์กไทมส์ หลังจากสามเดือนให้หลัง

โอกาสแรก

ที่มาของภาพ, Jutharat Pinyodoonyachet/The New York Times

โอกาสแรก

ที่มาของภาพ, Jutharat Pinyodoonyachet/The New York Times

ปูเป้ ได้รับโจทย์ให้ไปถ่ายร้านของฝากในนิวยอร์กที่ได้รับผลกระทบจากโควิดว่าเป็นอย่างไร ถือว่าเป็นผลงานแรกของเธอที่ได้ตีพิมพ์อยู่ใน นิวยอร์กไทมส์

หลังจากนั้นปูเป้ ก็ได้รับงานมาเรื่อย ๆ เริ่มมีสื่ออื่น ๆ มาติดต่อให้ไปถ่ายงานต่าง ๆ จนกระทั่งเธอได้รับการติดต่อจาก นิวยอร์กแม็กกาซีน ให้ไปถ่ายชีวิตของคนในนครนิวยอร์กหลังจากเมืองเริ่มเปิดให้คนได้กลับมาใช้ชีวิตหลังโรคระบาด และถือเป็นผลงานชิ้นใหญ่ชิ้นหนึ่งของเธอ เพราะรูปของเธอได้ถูกนำมาขึ้นปกของนิตยสารฉบับนั้น

ฝันที่มาไวกว่าที่คิด

ที่มาของภาพ, Jutharat Pinyodoonyachet/New York Magazine

“โห เราไม่เคยคิดเลยว่ารูปที่เราถ่ายจะได้ขึ้นปกนิตยสารในนิวยอร์ก มันถือเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่สำหรับเรามาก มันเป็นความฝันเป็นหมุดหมายในชีวิตของเรา แต่เราไม่คิดว่ามันจะมาไวขนาดนี้ ตื่นเต้น” ปูเป้ เล่าด้วยสายตาเป็นประกาย

การที่รูปได้ขึ้นปกนิตยสาร ทำให้คนได้รู้จักปูเป้มากขึ้น สื่ออื่น ๆ เริ่มคุ้นชื่อไทยยาว ๆ ของเธอได้จากผลงานนั้นผลงานนี้ ทำให้เธอได้รับการว่าจ้างจากสื่ออื่น ๆ เรื่อยมา และกลายเป็นช่างภาพสาวไทยที่น่าจับตามองคนหนึ่งในมหานครนิวยอร์ก

ปูเป้บอกว่า สื่อในอเมริกา เขาต้องการหาคนใหม่ ๆ มาร่วมงานอยู่เสมอ ฉะนั้นคนหน้าใหม่ไม่ว่าใครก็ตามหากมีผลงานที่โดดเด่น มีมุมมองที่แตกต่างจากคนอื่น และแข็งแรงพอ ก็มีโอกาสได้เข้ามาทำงานตรงนี้เฉกเช่นเดียวกันกับเธอ และกลับกันหากไม่พัฒนาฝีมือตัวเองเรื่อย ๆ เธอก็มิสิทธิ์ถูกเขี่ยทิ้งได้เสมอ ไม่ใช่ว่ามีผลงานเด่นแล้วจะอยู่เป็นดาวค้างฟ้าต่อไปได้เรื่อย ๆ เธอเองก็ต้องหมั่นพัฒนาฝีมือตัวเองต่อไป

นอกจากนี้ ผลงานของปูเป้ยังติดโผอยู่ในลิสต์ภาพ ‘The Year in Pictures’ ของ The New York Times ประจำปี 2021 ที่ผ่านมา เป็นลิสต์ภาพสรุปภาพรวมประจำปีในปีนั้น ๆ ว่าเกิดเหตุการณ์สำคัญอะไรขึ้นบ้างทั่วโลก โดยคัดเลือกจากหมื่น ๆ รูป และรูปของเธอได้ติดเป็นหนึ่งในนั้น

เกินฝัน

ที่มาของภาพ, Jutharat Pinyodoonyachet/The New York Times

“มันเป็นรูปที่เราได้ไปถ่าย (ละครเวที) บรอดเวย์ฮาเดสทาวน์ (Hadestown Broadway) กลับมาเปิดครั้งแรก หลังจากปิดไปจากตอนช่วงโควิด เพราะปกติบรอดเวย์ที่นี่แทบไม่เคยปิด บรอดเวย์ในนิวยอร์กเป็นสิ่งที่ทำให้เมืองมีสีสัน และคนดูบรอดเวย์กันเป็นเเรื่องปกติ โดยเฉพาะคนที่ชอบในศิลปะ เขาเลยถือว่าการที่บรอดเวย์ได้กลับมาเปิดอีกครั้งมันสำคัญ และรูปเราที่เราไปถ่ายก็ได้ไปติดโผอยู่ในนั้นหนึ่งรูป ก็รู้สึกดีใจ” ปูเป้เล่าไปยิ้มไป

“เราเป็นคนที่เคยคิดอยากจะพัฒนาประเทศ แต่เราก็หมดหวัง”

ชีวิตยังต้องเดินตามฝันต่อ

ที่มาของภาพ, Jutharat Pinyodoonyachet

กว่าปูเป้จะมาพาชีวิตตัวเองมาถึงตรงนี้ได้เธอบอกว่า “ต้องสู้ชีวิตผ่านอะไรมานักต่อนัก” และปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ‘การสิ้นหวังกับระบบในประเทศไทย’ เป็นแรงขับอันแรงกล้าที่พาเธอมาถึงตรงนี้

“เราเป็นคนที่เคยคิดอยากจะพัฒนาประเทศ แต่เราก็หมดหวัง เรารู้สึกว่าถ้าเราเปลี่ยนสังคมไม่ได้เราก็เปลี่ยนตัวเอง อยู่ไม่ได้ก็หนี”

“ถ้าถามว่าเราเสียใจไหมที่ต้องออกมาจากบ้านเกิดเมืองนอนของตัวเอง ก็รู้สึกเสียใจและเสียดาย เพราะเราเติบโตมา แต่การได้มาใช้ชีวิตอยู่ที่นี่ (อเมริกา) ชีวิตเราดีกว่าเยอะมากเลย จนเรานึกย้อนไปว่าเราผ่านจุดนั้นมาได้ยังไง”

“เรารู้สึกว่าประเทศไทยถ้าเราบ่นอะไรออกไป หรืออยากให้อะไรมันดีขึ้น เรารู้สึกว่ามันจะไม่เปลี่ยน หรือมันจะเปลี่ยนยาก แล้วเราก็รู้สึกว่า ถ้าเรามีตัวเลือกที่ดีกว่า และมันทำให้ชีวิตเราดีขึ้นได้เลย ทำไมเราถึงจะไม่เลือก เราก็เลยเป็นหนึ่งในคนที่ยอมแพ้”

ปัจจุบันปูเป้ ยังคงถ่ายภาพเป็นศิลปินอยู่ที่นิวยอร์กให้กับสื่อต่าง ๆ ในอเมริกาต่อไป ส่วนเป้าหมายต่อไปของเธอนั้น คือการเป็นช่างภาพที่ถ่ายงานโฆษณามากขึ้น เพราะ “เงินเยอะกว่าการถ่ายภาพข่าวมาก” ปูเป้ เน้นย้ำคำหลัง

….

ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว