แรงงานไทยในสวีเดนร้อง เก็บเบอร์รี่ไม่ได้เงินตอบแทน ขณะบริษัทนายหน้าบอกทำทุกอย่างตามเงื่อนไข

ไม่ได้รับเงินเดือน และได้หนี้สินติดตัวกลับบ้าน คือปัญหาที่แรงงานไทยหลายสิบคนในประเทศสวีเดนเผชิญ หลังจากมาทำงานเก็บเบอร์รี่ตั้งแต่เดือน ก.ค. อย่างไรก็ดี บริษัทนายหน้าหางานของแรงงานกลุ่มนี้ย้ำ ทำทุกอย่างตามเงื่อนไข

ล่าสุด ทางสหภาพแรงงานในสวีเดนได้พูดคุยกับบริษัทนายจ้างแล้ว โดยอยู่ระหว่างการตรวจสอบรายละเอียด และแรงงานไทยที่เห็นว่าตนไม่ได้รับค่าจ้างตามเงื่อนไขสามารถร้องเรียนกรมจัดหางานได้

กรณีพิพาท

ในเบื้องต้น แรงงานกลุ่มนี้ติดต่อขอความช่วยเหลือไปที่ จิตรา คชเดช นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิแรงงาน และผู้ประสานงานกลุ่มสหกรณ์คนงาน TRY ARM ซึ่งอาศัยอยู่ในสวีเดน จิตราเล่าให้บีบีซีไทยฟังว่าแรงงานหลายสิบคน มีกำหนดเดินทางกลับไทยวันที่ 28 ก.ย. นี้แล้ว แต่ยังไม่ได้รับความชัดเจนเรื่องค่าตอบแทนจากนายจ้างแต่อย่างใด

จิตรา เล่าว่าตามสัญญาจ้าง แรงงานกลุ่มนี้ต้องได้รับเงินเดือนเดือนละ 23,183 โครนา หรือกว่า 77,600 บาท ไม่เกินวันที่ 25 ของแต่ละเดือน แต่จนถึง 27 ก.ย. พวกเขายังไม่ได้รับเงินเดือนเลยสักเดือน

บริษัท สตาร์ โรยัล เซอร์วิสเซส จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทจัดหางานให้แรงงานกลุ่มนี้ ชี้แจงกับบีบีซีไทยต่อข้อกล่าวหาจากจิตราและคนงาน ว่า ทางบริษัทได้ทำทุกอย่างตามเงื่อนไข และให้แรงงานกลุ่มนี้สามารถติดต่อไปยังกรมจัดหางาน กระทรวงแรงงาน เพื่อนัดพบและชี้แจงรายละเอียดทุกอย่าง

“ถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งกล่าวหามา มันจะยุติไม่ได้ ต้องมีฝ่ายกลางคือกระทรวงแรงงาน เพราะว่า (ขั้นตอน) ทุกอย่างผ่านกระทรวงแรงงาน” ตัวแทนบริษัท สตาร์ โรยัล เซอร์วิสเซส ที่ไม่ยอมเปิดเผยชื่อบอกกับบีบีซีไทยผ่านทางโทรศัพท์ เมื่อ 27 ก.ย.

เมื่อ 26 ก.ย. จิตราบอกกับบีบีซีไทยว่า สตาร์ โรยัล เซอร์วิสเซส ซึ่งเป็นบริษัทนายหน้าหางาน สำรองจ่ายแรงงานกลุ่มนี้คนละราว 130,000 บาท ก่อนเดินทางไปสวีเดน ซึ่งเป็นค่าจัดการต่าง ๆ เช่น ค่าตั๋วเครื่องบิน ค่าอาหาร ที่พัก ค่าเช่ารถ และค่าน้ำมันรถไปเก็บเบอร์รี่

เธอบอกว่าแรงงานหวังว่าจากการทำงาน 2 เดือนเศษ เงินเดือนที่พวกเขาจะได้ อยู่ที่ราว 160,000 บาท และเมื่อหักเงินที่บริษัทออกไปให้ก่อน 130,000 บาท ในตอนแรก เงินที่เหลือก็จะได้เป็นกำไรกลับบ้าน แต่เมื่อโดนหักภาษีเข้าไปอีก พวกเขาแทบจะไม่เหลืออะไรเลยหรือถึงขั้นเป็นหนี้บริษัทนายหน้าหางานเลยด้วยซ้ำ

เก็บเบอร์รี่

ที่มาของภาพ, .

จิตราบอกว่า ยังมีการออกหนังสือเตือนไปยังแรงงานบางคนด้วยว่า พวกเขาเก็บเบอร์รี่ไม่ได้ครบ 60-65 กิโลกรัมต่อสัปดาห์ และกล่าวหาว่า “ยอดเก็บผลไม้ของท่านต่ำกว่ามาตรฐาน จึงเป็นที่น่าสังเกตว่าท่านอาจไม่มีเจตนาจะเก็บผลไม้ หรือ ท่านที่เก็บผลไม้ได้ก็อาจนำไปขายให้แก่ผู้รับซื้อรายอื่นขณะที่อยู่ในป่า การกระทำทั้งสองกรณีนี้ ถือว่าท่านได้กระทำความผิดร้ายแรง เสมือนเป็นการฉ้อโกงผลไม้ของบริษัทฯ…”

จิตราบอกว่า เรื่องปริมาณเบอร์รี่ขั้นต่ำที่แรงงานต้องเก็บได้ในแต่ละวันไม่ได้ปรากฏอยู่ในสัญญาจ้าง ส่วนเรื่องขายให้ผู้รับซื้อรายอื่นก็เป็นไปไม่ได้ ” (สถานที่เก็บเบอร์รี่) มันอยู่กลางป่า แล้วคนงานเพิ่งมา(สวีเดน) พูดภาษาก็ไม่ได้”

“แรงจูงใจที่บริษัทให้คือ ถ้าเก็บ (เบอร์รี่) ได้เยอะ ได้เกิน130,000 บาท ก็จะเป็นเงินของคนงาน…” จิตรา กล่าว “ในความเป็นจริงแล้ว ถ้าจะเก็บได้ดี ธรรมชาติ ป่า มันต้องเอื้อด้วย แต่ด้วยความที่เป็นป่าธรรมชาติ เราไม่รู้ว่าปีไหนจะมีเยอะ ปีไหนจะมีน้อย คนงานก็เลยจะต้องไปทำงานเสาร์อาทิตย์ด้วยเพื่อที่จะเก็บเบอร์รี่ได้มากที่สุด”

แต่ถึงจะเก็บเบอร์รี่ไม่ได้มาก จิตราบอกว่า ตามสัญญาแล้วพวกเขาควรจะได้เงินเดือนขั้นต่ำซึ่งอยู่ที่ 23,183 โครนา หรือกว่า 77,600 บาท แต่กลับกลายเป็นว่ามีแรงงานหลายสิบคนที่ได้รับแจ้งว่าเป็นหนี้บริษัท โดยคนที่ยอดหนี้เยอะที่สุดเป็นหนี้อยู่ถึง 50,000 บาท

“สิ่งที่อยากจะสะท้อนคือกระทรวงแรงงานกับสถานทูตต้องรู้เท่าทันสิ่งเหล่านี้ คุณปล่อยให้คนมาโดยไม่ได้เงินกลับไปสักบาทไม่ได้” จิตรา กล่าว

เก็บมากได้มาก เก็บน้อยก็ได้น้อย

อย่างไรก็ดี ผู้แทนของสตาร์ โรยัล เซอร์วิสเซส บอกกับบีบีซีไทยว่า แรงงาน “ต้องรับสภาพ” ตามที่มีการชี้แจงตั้งแต่แรกและมีการเซ็นรับทราบแล้ว บริษัทต้องใช้ทุนในการสำรองจ่ายเรื่องค่าจัดการต่าง ๆ และเมื่อมีรายได้เข้ามา บริษัทก็ต้องหักเงินคืนไป

บริษัท สตาร์ โรยัล เซอร์วิสเซส ระบุอีกว่า สัญญาที่ทำกับแรงงานกลุ่มนี้ไม่ได้เป็นการประกันเงินเดือน ก่อนที่พวกเขาจะเดินทางไปสวีเดน ได้มีการผ่านการอบรมแล้วว่า “เก็บมากได้มาก เก็บน้อยก็ได้น้อย ผลไม้ที่เก็บได้เป็นของเขาหมด แล้วเขาขายให้คนที่ออกวีซ่าให้ ถ้าคุณจะเอาผลไม้มาให้บริษัท แล้วเอาเป็นเงินเดือน ก็จะเป็นอีกเงื่อนไขหนึ่ง”

บีบีซีไทยได้เห็นสัญญาจ้างของแรงงานรายหนึ่งซึ่งจิตราบอกว่าเป็นของหนึ่งในแรงงาน 61 คน สัญญาฉบับดังกล่าวระบุว่า “ลูกจ้างจะต้องได้รับค่าจ้างขั้นต่ำ จำนวน 23,183 โครนาสวีเดนต่อเดือน” อย่างไรก็ดี บีบีซีไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าสัญญาของแรงงานรายอื่น ๆ มีรายละเอียดเหมือนหรือแตกต่างกันหรือไม่

กาญจนา ภัทรโชค เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงสตอร์กโฮล์ม ชี้แจงกับบีบีซีไทยในเรื่องนี้ว่า สถานทูตรับทราบและได้ประสานทางสหภาพแรงงานในพื้นที่เก็บเบอรี่ให้เข้าไปดูแลแล้ว โดยสหภาพได้คุยกับนายจ้างไปเมื่อ 27 ก.ย. และได้รับแจ้งว่าจะเข้าไปคุยกับนายจ้างและลูกจ้างที่ค่ายในช่วงบ่าย

นอกจากนี้ นางกาญจนาระบุอีกว่า ได้แจ้งให้กรมการจัดหางานทราบแล้วด้วย โดยกรมการจัดหางานระบุว่าพร้อมจะช่วยเหลือลูกจ้างต่อไป

บีบีซีไทยสอบถามไปยังกรมการจัดหางาน โดยได้รับคำตอบว่า หากลูกจ้างไม่ได้รับความเป็นธรรมตามสัญญาจ้างสามารถร้องเรียนที่กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานได้ ทั้งนี้กรม ได้ประสานบริษัทให้แก้ไขปัญหาก่อนคนงานเดินทางกลับประเทศแล้ว

ผลการเจรจาระหว่างสหภาพและบริษัท

ล่าสุดเมื่อ 27 ก.ย. จิตรา บอกกับบีบีซีไทยว่าได้ข้อสรุปจากการเจรจาระหว่างสหภาพแรงงานกับทางบริษัทนายจ้างว่า

1.เรื่องเงินประกันขั้นต่ำ เนื่องจากแรงงานมีหนี้กับบริษัทที่ไทย บริษัทจึงเก็บเงินประกันเพื่อหักลบหนี้ หลังจากกลับไทย จะสรุปยอดแล้วจ่ายเงินส่วนที่เหลือให้แรงงาน สำหรับแรงงานที่ทำยอดได้เพิ่ม ก็จะได้รับเงินเพิ่มตามสัดส่วน

2.ในกรณีที่คนงานเห็นว่าตนไม่ได้รับค่าจ้างตามเงื่อนไข สามารถร้องเรียนกรมการจัดหางานให้ตรวจสอบได้

3.อยู่ระหว่างตรวจสอบให้ว่าเงินประกันขั้นต่ำจะถูกหักภาษีและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ อย่างไรบ้างเพื่อเป็นข้อมูลเบื้องต้นว่าแรงงานจะได้รับเงินประกันประมาณเท่าไรและเมื่อหักหนี้ที่มีจะได้รับเงินประมาณเท่าไร

จิตรา บอกว่า เท่ากับว่าคนงานจะไม่มีหนี้ ถ้าเป็นไปตามข้อตกลงที่บริษัทคุยกับสหภาพแรงงานและคนงานจะมีเงินเหลือนิดหน่อยถ้าไม่มีการหักภาษีที่สวีเดน แต่ถ้าหักภาษีก็จะไม่มีเงินเหลือ

กระทรวงแรงงาน และคณะเดินทางไปตรวจเยี่ยมคนงานไทยในสวีเดนและฟินแลนด์ เมื่อปี 2560 ในภาพเป็นการตรวจเยี่ยมคนงานไทยในสวีเดน

ที่มาของภาพ, ฝ่ายประชาสัมพันธ์ กรมการจัดหางาน

ไม่ใช่เรื่องใหม่

กรณีที่เกิดขึ้นไม่ใช่ครั้งแรกที่มีการตั้งคำถามต่อการปฏิบัติของบริษัทนายหน้าหรือบริษัทนายจ้างต่อแรงงานชาวไทย

ย้อนไปเมื่อปี 2559 กลุ่มแรงงานคนไทย 26 คน ที่เดินทางไปเก็บลูกเบอร์รี่ที่ฟินแลนด์ ยื่นฟ้องร้องนายจ้าง โดยในที่สุด เจ้าของบริษัทเบอร์รี่ในฟินแลนด์ถูกศาลตัดสินลงโทษในข้อหาค้ามนุษย์ต่อแรงงานเก็บเบอร์รี่และเห็ดจากประเทศไทยกลุ่มนี้ และให้ชดใช้แก่เหยื่อทั้งหมดเป็นเงิน 2 แสนยูโร (7.4 ล้านบาท)

เว็บข่าวเฮลซิงกิไทมส์ รายงานเมื่อ 28 ม.ค. ว่า ศาลฎีกาของฟินแลนด์ พิพากษาลงโทษจำคุกเจ้าของธุรกิจรายนี้เป็นเวลา 1 ปี 10 เดือน เมื่อ 26 ม.ค. เป็นการเพิ่มโทษขึ้นจากศาลชั้นอุทธรณ์ที่ลงโทษ 1 ปี 4 เดือน

แต่ละปีมีแรงงานชาวไทยเดินทางไป เก็บเบอร์รี่ป่าและผลไม้อื่น ๆ ตามฤดูกาล ในฟินแลนด์และสวีเดน ราว 5,000-8,000 คน ผ่านช่องทางที่นายจ้างบริษัทผลไม้ติดต่อเอง นายหน้า และโครงการระหว่างรัฐบาล จากข้อมูลของกระทรวงแรงงาน คนไทยที่เดินทางไปเก็บผลไม้ฤดูกาลปี 2563 ระหว่าง ก.ค.-ก.ย. แบ่งเป็นสวีเดน 3,200 คน และฟินแลนด์ 2,014 คน ส่งเงินกลับประเทศกว่า 618 ล้านบาท ส่วนปี 2564 มีคนไทยเดินทางผ่านกระทรวงแรงงานราว 8,200 คน

จิตราเล่าว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเหมือนการซื้อหวย ที่อาจจะไม่ถูกแต่ก็มีความหวัง

“คนไทยได้ยินว่ามีการถูกหลอก แต่เชื่อว่าอาจจะไม่ใช่ฉัน ฉันอาจจะเก็บได้เยอะกว่าคนอื่น ฉันอาจจะโชคดีที่เจอป่าที่มีเบอร์รี่สมบูรณ์ ความหวังแบบนี้มันทำให้คนยังเดินทางมาเรื่อย ๆ เพราะอยู่ไทยมันขาดความหวัง อย่างน้อยก็เหมือนซื้อลอตเตอรี่”

จิตราบอกว่า สิ่งที่กระทรวงแรงงานต้องทำคือต้องส่งแรงงานมาเองเพื่อลดค่าใช้จ่ายในส่วนของบริษัทนายหน้า เธอมองว่าสิ่งที่กระทรวงแรงงานต้องทำโดยทันทีคือปลดหนี้ให้กลุ่มแรงงานเหล่านี้ และสถานทูตต้องมีรายชื่อนายจ้างในมือ “เมื่อเกิดปัญหาสถานทูตจะต้องติดต่อนายจ้างได้ทันทีเลย คนไทยเหยียบแผ่นดินต้องรู้แล้วว่านายจ้างคือใคร”

……

ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว