รัสเซีย  : 70 ปี ของชายชื่อวลาดิเมียร์ ปูติน

Putin winks

ที่มาของภาพ, Getty Images

การเติบโตของนายวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย แทบจะเรียกได้ว่าเป็นผลผลิตของโลกในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็ว่าได้ เขาเป็นคนที่เติบโตมาในยุคสงครามเย็นที่โลกแบ่งเป็นสองขั้ว และได้เป็นประจักษณ์พยานต่อการล่มสลายของระบอบคอมมิวนิสต์และความยิ่งใหญ่ของสหภาพโซเวียต

โดยในปี 1945 หลังจากสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง สหรัฐฯ สหราชอาณาจักร และสหภาพโซเวียตก็หารือกันถึงแนวทางในการจัดการโลกใหม่ ซึ่งก็มีข้อตกลงออกมาร่วมกันหลายอย่าง หนึ่งในนั้นก็คือการแบ่งกันดูแลเยอรมนีซึ่งเป็นฝ่ายพ่ายแพ้สงคราม

เจ็ดปีหลังจากนั้น นายวลาดิเมียร์ ปูติน ก็ถือกำเนิดขึ้นในเมืองเลนินการ์ด หรือนครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กในปัจจุบัน เขาจบการศึกษาด้านกฎหมาย ในปี 1975 ก่อนจะไปทำงานเป็นสายลับของหน่วยสืบราชการลับรัสเซีย หรือเคจีบี ในเวลานั้นสหภาพโซเวียตได้แผ่อิทธิพลไปทั่วประเทศคอมมิวนิสต์ในยุโรปตะวันออก

ต่อมาในช่วงทศวรรษ 1980 นายปูตินถูกส่งตัวไปทำงานที่เมืองเดรสเดน ที่ตอนนั้นยังอยู่ในเขตเยอรมนีตะวันออก และในช่วงท้าย ๆ ของสงครามเย็นซึ่งเป็นช่วงที่นายปูตินเริ่มไต่เต้าปูทางสู่อำนาจ เขาก็ยังอยู่ในเยอรมนีตะวันออกและได้เห็นการเปลี่ยนแปลงสำคัญที่เกิดขึ้นในเยอรมนี นั่นก็คือการล่มสลายของกำแพงเบอร์ลินในปี 1989 ซึ่งนั่นก็หมายถึงการล่มสลายของระบอบคอมมิวนิสต์ด้วย และสองปีหลังจากนั้นสหภาพโซเวียตซึ่งถือได้ว่าเคยเป็นประเทศที่ทรงอำนาจที่สุดก็ล่มสลาย มีการก่อเกิดของรัฐเอกราชใหม่ 15 รัฐอย่างเป็นทางการ

Putin KGB

ที่มาของภาพ, Rex Features

สำหรับนายปูตินนั้น ประสบการณ์ในช่วงที่อยู่ในเยอรมนีที่ได้เห็นการล่มสลายของกำแพงเบอร์ลิน ทำให้เขากลัวการลุกฮือของประชาชนและรังเกียจภาวะสุญญากาศทางอำนาจ หรือช่วงที่ไม่มีฝ่ายใดครองอำนาจอย่างแท้จริงหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต ที่นายปูตินมองว่าเป็นหายนะทางภูมิศาสตร์การเมืองแห่งศตวรรษ

อย่างไรก็ตาม หลังกลับไปเมืองเลนินกราด นายปูตินได้เป็นมือขวาของนายกเทศมนตรีเมืองคนใหม่ และเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายกลุ่มคนที่มีโอกาสก้าวหน้าทั้งในเรื่องส่วนตัวและทางการเมืองในรัสเซียยุคใหม่

ต่อมา นายปูตินย้ายไปกรุงมอสโก หน้าที่การงานที่ทำในหน่วยความมั่นคงรัสเซีย หรือเอฟเอสบี ซึ่งมาแทนที่หน่วยเคจีบี ก็รุ่งเรือง และเขาก็ได้ร่วมรัฐบาลในที่สุด

Putin and Boris Yeltsin

ที่มาของภาพ, Getty Images

นายบอริส เยลต์ซิน ประธานาธิบดีคนแรกของรัสเซีย แต่งตั้งให้นายปูติน เป็นหัวหน้าหน่วยงานความมั่นคง ต่อมาก็ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีในปี 1999 แต่จู่ ๆ นายเยลต์ซิน ก็ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 31 ธ.ค. ปี 1999 นายปูติน ซึ่งมีกลุ่มชนชั้นนำรัสเซียหนุนหลัง ได้ดำรงตำแหน่งรักษาการประธานาธิบดี และได้รับชัยชนะอย่างเป็นทางการในการเลือกตั้งในปี 2000

 แต่เพียงไม่กี่เดือนหลังขึ้นสู่อำนาจ นายปูตินก็เข้าควบคุมสื่อในรัสเซียทั้งหมด ซึ่งเป็นสิ่งที่กลุ่มชนชั้นนำและกลุ่มอำนาจเก่าเองก็คาดไม่ถึง มีการสั่งปิดสถานีโทรทัศน์ บุกค้นสำนักข่าวหลายแห่ง และจากนั้นการรายงานข่าวก็ถูกตรวจสอบโดยรัฐบาล นี่ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการปกครองประเทศแบบใหม่สไตล์ปูติน ใครที่วิพากษ์วิจารณ์เขาจะต้องถูกกำจัด

และจากนั้นเป็นต้นมา ชาวรัสเซียในต่างจังหวัดก็ได้เห็น “ภาพ” ปูติน ในแบบที่เขาอยากให้เห็นเท่านั้น และเกือบทั้งหมดของช่องโทรทัศน์ราว 3,000 ช่องในรัสเซีย ไม่มีการนำเสนอข่าวบ้านการเมืองเลย หรือหากจะมีก็ต้องผ่านการตรวจสอบโดยรัฐก่อน

Putin

ที่มาของภาพ, AFP

นายปูติน มุ่งความสนใจไปที่การสร้างเสริมอำนาจและความมั่งคั่งของตัวเอง โดยในปี 2008 ตอนที่ครบวาระการดำรงตำแหน่งสองสมัย ไม่สามารถจะดำรงตำแหน่งสมัยที่สามได้แล้ว ก็มีการเลือกตั้งและคนที่มาดำรงแหน่งประธานาธิบดีต่อจากเขาคือนายดิมิทรี เมดวิเดฟ  ส่วนตัวนายปูตินเองเป็นนายกรัฐมนตรี  แต่ทุกคนรู้ว่าใครคือผู้นำตัวจริงในตอนนั้น และสี่ปีหลังจากนั้น นายปูตินก็กลับมาเป็นประธานาธิบดีอีกครั้ง ต่อมาก็มีการแก้รัฐธรรมนูญให้เขาสามารถลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีได้อีกเมื่อหมดวาระ และเขาก็ได้รับเลือกเข้ามาและจะอยู่ในตำแหน่งไปจนถึงปี 2024

จะว่าไปแล้วมุมมองทางประชาธิปไตยของนายปูติน ไม่ต่างจากมุมมองเรื่องอำนาจอธิปไตยเลย เพราะในปี 2008 รัสเซียรุกรานจอร์เจีย และให้การสนับสนุนกลุ่มกบฏที่นั่น พอมาปี 2014 ก็ผนวกดินแดนไครเมียของยูเครน มาเป็นของรัสเซีย และในปี 2018 อดีตสายลับคนหนึ่งของรัสเซียก็ไปถูกวางยาพิษในสหราชอาณาจักร ตอนนั้นสหราชอาณาจักรยืนยันเลยว่าเป็นฝีมือของสายลับรัสเซียที่เข้าไปปฏิบัติการในสหราชอาณาจักร

Putin plays with dogs in snow

ที่มาของภาพ, Reuters

ตลอดการเป็นผู้นำประเทศ นายปูตินพยายามควบคุมภาพลักษณ์ของตัวเอง ใครที่เห็นไม่ตรงกับเขา หรือก้าวขึ้นมาเป็นคู่แข่งก็จะถูกกำจัด หรือถูกเล่นงานทางการเมือง ยกตัวอย่างนายอเล็กเซ นาวาลนี ผู้นำฝ่ายค้านรัสเซีย ที่เปิดโปงเรื่องการทุจริต ต้องเจอกับการถูกวางยาพิษด้วยสารพิษทำลายประสาทโนวีชอกที่ผลิตในรัสเซีย แต่รอดตายมาได้อย่างหวุดหวิด เขาถูกนำตัวไปรักษาในเยอรมนี และตัดสินใจกลับประเทศหลังจากนั้น แต่ก็โดนจับทันที และถูกขังจนถึงตอนนี้

สำหรับนายปูตินแล้ว ภาพที่เขาต้องการให้คนเห็นคือการเป็นผู้ชายที่มีความแข็งแกร่ง และเขามองว่าเขาเองคือผู้กำหนดกฎเกณฑ์ต่าง ๆ และก็ไม่ได้รู้สึกว่าความคิดแบบนี้ไม่ถูกต้อง

Official photographs of President Putin

ที่มาของภาพ, AFP/Getty Images

“ผมหวังว่าจะไม่มีใครก้าวข้ามเส้นแดงของรัสเซีย และรัสเซียคือผู้กำหนดว่าเส้นแดงแต่ละเส้นจะอยู่ตรงไหน” นายปูตินเคยกล่าวไว้เช่นนั้น

ท่าทีดูหมิ่นดูแคลนเรื่องของความเป็นประชาธิปไตย และการไม่ไยดีในเรื่องสิทธิมนุษยชนนั้นเป็นสิ่งที่นายปูตินทำอย่างท้าทายและไม่แยแสชาติตะวันตก แต่ถึงอย่างนั้นในยุคหนึ่งผู้นำชาติตะวันตกบางคนก็ออกปากว่านายปูตินนั้นวางใจได้ รวมทั้งนายจอร์จ บุช อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ

“ผมพูดคุยกับเขาอย่างเปิดอก ผมเห็นว่าเขาเป็นคนตรงไปตรงมา ผมรู้สึกว่าเข้าใจว่าเขาคิดอะไร”

วลาดิเมียร์ ปูติน, Vladimir Putin

ที่มาของภาพ, Getty Images

ถ้ามองสิ่งที่เกิดขึ้นในยูเครนตอนนี้ คนทั่วโลกก็คงเข้าใจว่านายปูตินคิดอะไร ซึ่งนั่นก็สะท้อนให้เห็นได้จากคำพูดในอดีตของนายปูตินเอง ที่เคยพูดถึงชีวิตตอนเด็กเมื่อ 50 ปีที่แล้ว ตอนที่อยู่ในเมืองเลนินกราด เขาเรียนรู้ว่า หากการต่อสู้เป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ คุณก็จะต้องเป็นฝ่ายที่ปล่อยหมัดก่อน

แต่ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในยูเครนตอนนี้ ไม่มีอะไรที่เลี่ยงไม่ได้เลย และยูเครนก็โดนหมัดแรกของนายปูตินเข้าให้ นายปูตินอ้างว่าทำไปเพื่อประเทศชาติ แต่ดู ๆ แล้วน่าจะเพื่อตัวเขาเองเสียมากกว่า

หลายคนอาจจะมีคำถามว่านายปูตินรู้ไหมว่าตัวเองกำลังทำอะไรอยู่ ซึ่งถ้าเราประเมินจากพฤติกรรมในอดีตของนายปูติน เราก็จะรู้คำตอบละว่า นายปูตินนั้นรู้ว่าตัวเองกำลังทำอะไรอยู่ และไม่มีสิ่งไหนที่นายปูตินจะทำไม่ได้ หรือไม่มีวันลงมือทำอย่างเด็ดขาด

…..

ข่าว BBCไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว