
การบุกค้น “ผับจินหลิง” ในเขตสาทร ของกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 26 ต.ค. 2565 เป็นปฏิบัติการที่เปิดม่านมหากาพย์คดีสอบสวนเครือข่ายทุนจีนสีเทา ครั้งใหญ่ที่สุดของประเทศไทย ที่ข้ามปีผ่านมาจนถึงวันที่ 13 ม.ค. ในที่สุด ตำรวจได้ปิดการสอบสวน และส่งสำนวนคดีให้อัยการสูงสุด ดำเนินการพิจารณาฟ้องร้องเป็นที่เรียบร้อย
เจ้าหน้าที่ตำรวจนำหมายเข้าตรวจค้นอาคารจินหลิง หลังได้รับแจ้งว่าเปิดสถานบริการโดยไม่ได้รับอนุญาต อีกทั้งยังมั่วสุมเสพยาเสพติด และลักลอบการพนัน โดยเมื่อบุกเข้าตรวจค้น พบว่า เป็นผับลับที่เต็มไปด้วยชาวจีนที่มั่วสุมกันทำกิจกรรมผิดกฎหมาย
- เช็กเงินช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1,000 บาท เข้าบัญชีวันนี้ 5 จังหวัด
- EV จีนทุบราคาเลือดสาด ฉางอานท้ารบ-BYD เกทับลดอีกแสน
- วิธีเช็กเงินช่วยเหลือชาวนา ไร่ละ 1,000 บาท chongkho.inbaac.com

ตำรวจนำสำนวนคดีกว่า 2 หมื่นหน้า ส่งมอบสำนักงานอัยการสูงสุด
ในวันที่ 26 ต.ค. 2565 เจ้าหน้าที่พบผู้ใช้บริการกว่า 237 คน เป็นชายจีน 111 คน และหญิงสัญญาติจีน 126 คน ส่วนพนักงานนั้นเป็นชาวไทยและกัมพูชา 29 คน ซึ่งภายหลัง ตรวจปัสสาวะพบว่ามีสีม่วง 104 คน
ผับลับของชาวจีนแห่งนี้ จึงได้สมญานามในแวดวงสื่อว่า “ผับจินหลิง” และเกิดคำว่า “ทุนจีนสีเทา” ขึ้น เมื่อตรวจสอบพบว่าเจ้าของผับเป็นชายชื่อ ชัยณัฐร์ กรณ์ชายานันท์ หรือ “ตู้ห่าว” ซึ่งเป็นนายทุนชาวจีนทรงอิทธิพลในประเทศไทย
- ทุนจีน : เปิดเครือข่ายทุนจีนสีเทาภาคต่อ หลัง “ตู้ห่าว” เจ้าของผับจินหลิงเข้ามอบตัว
- เปิดหมู่บ้านหรูและคอนโดมีเนียม 100 ล้านบาทของทุนจีนสีเทาในเครือข่าย “ตู้ห่าว”
- ทุนจีนสีเทา : ดีเอสไอรับเป็นคดีพิเศษ เป้าหมายยึดทรัพย์ 4,400 ล้าน ขบวนการตู้ห่าว
ตลอด 79 วันที่ผ่านมา เกิดพัฒนาการขึ้นมากมาย ตั้งแต่ ผับศูนย์เหรียญ, ทุนจีนสีเทา, 5 มังกรจีนเทา และเครือข่ายตู้ห่าว ด้วยตัวละครนำผู้ตั้งสมญานามและวาทกรรมเหล่านี้ คือ นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ อดีตหัวหน้าพรรครักประเทศไทย จวบจนวันนี้ที่ตำรวจได้สรุปสำนวนส่งให้อัยการสูงสุด เพื่อเข้าสู่กระบวนการฟ้องร้องผู้ต้องสงสัย ในฐานะคดีอาชญากรรมข้ามชาติ
วันนี้ (13 ม.ค.) พล.ต.อ. ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ หรือ ผบ.ตร. ในฐานะหัวหน้าพนักงานสืบสวนสอบสวน “สำนวนคดีนายชัยณัฐร์ หรือตู้ห่าว กับพวก” ได้เดินทางไปส่งสำนวนคดีให้อัยการสูงสุด ณ สำนักอัยการสูงสุด

“คดีนี้สืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 26 ต.ค.65 ที่ บช.น. นำกำลังเข้าตรวจค้นผับจินหลิง พบและยึดยาเสพติด พร้อมอุปกรณ์การเสพหลายรายการเป็นของกลางพร้อมจับกุมตัวผู้ต้องหาที่มั่วสุมเสพยา และจำหน่ายยาเสพติด นำส่ง พงส. สน.ยานนาวา ดำเนินคดีตามกฎหมาย” ผบ.ตร. แถลง
ต่อมาศาลได้ออกหมายจับนายตู้ห่าวกับพวก ในข้อหาร่วมกันจำหน่ายยาเสพติดและสมคบ และแจ้งข้อหาเพิ่มเติมในข้อหาร่วมกันฟอกเงิน และมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ พร้อมทั้งขยายผลสืบสวนจับกุมบุคคลผู้เกี่ยวข้อง โดยจนถึงปัจจุบัน ได้สอบสวนพยานบุคคลไปแล้ว 444 ปาก สืบพยานล่วงหน้า 20 ปาก ตรวจยึดทรัพย์สินแล้ว 5,345 ล้านบาท
ส่วนสำนวนคดีที่นำส่งสำนักอัยการสูงสุดนั้น ประกอบด้วย พยานเอกสาร พยานนิติวิทยาศาสตร์ และอื่น ๆ กว่า 67 แฟ้ม รวม 26,892 หน้ากระดาษ จากการสอบสวนผู้ต้องหาทั้งหมด 43 คน แบ่งเป็นบุคคล 38 คน และนิติบุคคล 5 ราย

“ในส่วนของบุคคลธรรมดา 38 คน จับกุมดำเนินคดีแล้ว 20 คน ยังหลบหนี 18 คน ได้สั่งการให้เร่งรัดติดตามจับกุมตัวมาดำเนินคดีให้ได้โดยเร็ว ส่วนผู้ต้องหาที่เป็นนิติบุคคลอีกจำนวน 5 บริษัทแจ้งข้อหาดำเนินคดีแล้วเช่นกัน” พล.ต.อ. ดำรงศักดิ์ ให้รายละเอียดกับสื่อมวลชน
“พวกเราทำงานโดยไม่มีวันหยุด ทำงานร่วมกันมาตลอด… ในฐานะที่ผมเป็นพนักงานสอบสวน ผมก็มั่นใจว่าจะเอาผิดได้” ผบ.ตร. แสดงความเชื่อมั่น แต่ย้ำว่า ไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลเชิงลึกได้ เพราะเกรงว่าจะเป็นประโยชน์ต่อฝ่ายที่ตั้งใจจะต่อสู้คดีในทางกฎหมาย
บีบีซีไทยรวบรวมประเด็นน่าสนใจต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นตลอดมหากาพย์คดี “ทุนจีนสีเทา” ที่ครองพื้นที่สื่อมาตลอดเกือบ 3 เดือนที่ผ่านมา โดยมีไทม์ไลน์ ดังนี้
- 26 ต.ค. 2565 – ตำรวจบุกค้นผับจินหลิง แขวงยานนาวา เขตสาทร กทม.
- 22 พ.ย. 2565 – ตำรวจออกหมายจับนายชัยณัฐร์ กรณ์ชายานันท์ หรือนายตู้ห่าว เจ้าของผับจินหลิง
- 23 พ.ย. 2565 – นายตู้ห่าว เข้ามอบตัวกับตำรวจ อ้างเป็นผู้บริสุทธิ์
- 29 พ.ย. 2565 – บุกตรวจค้นหมู่บ้านหรู และคอนโดมีเนียม ที่มีเจ้าของเป็นคนจีนในเครือข่ายตู้ห่าว
- 15 ธ.ค. 2565 – ดีเอสไอรับคดีตู้ห่าว เป็นคดีสอบสวนพิเศษ
- 13 ม.ค. 2566 – ตำรวจสรุปสำนวนส่งอัยการสูงสุด เพื่อสั่งฟ้อง

จนถึงวันที่ 13 ม.ค. 2566 ตำรวจพบว่ามูลค่าทรัพย์สินของเครือข่ายตู้ห่าวในไทย มีมากถึง 8,560 ล้านบาท โดยยึดอายัดแล้ว 5,344 ล้านบาท ไม่ว่าจะเป็น กระเป๋าหนังจระเข้ รถยนต์ ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง เงินฝากธนาคาร เงินสด เครื่องบิน กิจการบริษัท และกองทุนต่าง ๆ
จากผับจินหลิงสู่ “5 มังกรจีนเทา”
ภายหลังการบุกค้นผับจินหลิง เมื่อวันที่ 26 ต.ค. 2565 และทราบตัวเจ้าของผับว่าคือ ตู้ห่าว นักธุรกิจชาวจีนที่โอนสัญชาติเป็นคนไทย โดยวันที่ 23 พ.ย. 2565 นายตู้ห่าว ได้เข้ามอบตัวกับเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อต่อสู้คดีในฐานะผู้บริสุทธิ์
นั่นคือครั้งแรกที่สังคมได้เห็นโฉมหน้าของนายตู้ห่าว เพราะถูกนำตัวฝากขัง รอการแจ้งข้อกล่าวหาและพิจารณาคดี ก่อนที่ต่อมา ตำรวจ

พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ แถลงเมื่อวันที่ 24 พ.ย. 2565 ว่า นายตู้ห่าว คือ คนจีนที่โอนสัญชาติเป็นสัญชาติไทย ตกเป็นผู้ต้องหาตามหมายจับในฐานความผิดร่วมกันจำหน่ายยาเสพติดให้โทษ ร่วมกันจำหน่ายวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทประเภท 2 อันเป็นการมีไว้เพื่อการค้า อันเป็นการกระทบต่อความมั่นคงของรัฐหรือความปลอดภัยของประชาชน และสมคบกันกระทำความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติดและสนับสนุนหรือช่วยเหลือผู้กระทำความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติด
“การสืบสวนเรามีความเชื่อมโยงได้ว่า ตู้ห่าว อยู่ในสถานที่นั้นในวันเกิดเหตุ และตู้ห่าวเป็นเจ้าของสถานที่นั้นโดยเป็นคนเช่า แล้วอยู่ในสถานที่นั้นเป็นประจำ อันนี้เป็นข้อมูลในการสืบสวนที่ทำให้เราเชื่อมโยงได้ว่า ทั้งยาเสพติด และคนที่อยู่ในสถานบริการนั้นรู้ว่าตู้ห่าวมีการเข้าออกอยู่ตลอด และมีการสั่งการอยู่ตลอด” พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ กล่าว
ตำรวจได้ขยายผลจากการจับกุมนายตู้ห่าว พบว่า เขาเป็นหนึ่งใน “5 มังกรจีนสีเทา” หรือกลุ่มนายทุนจีนที่ประกอบธุรกิจสถานบันเทิงในไทยพร้อมแฝงธุรกิจผิดกฎหมายในพื้นที่กรุงเทพฯ และชลบุรี โดยจนถึงวันที่ 24 พ.ย. ตำรวจจับกุมไปแล้ว 3 กลุ่ม โดยทั้ง 5 กลุ่ม มีความสัมพันธ์รู้จักกัน โดยทั้ง 5 กลุ่ม มีดังนี้

- กลุ่มตู้ห่าว หรือชัยณัฐร์ กรณ์ชายานันท์ ดูแลผับจินหลิง มีการตรวจสอบพบว่า ตู้ห่าวเป็นเจ้าของสถานบันเทิง มีรายชื่อเป็นผู้เช่าสถานที่และจ่ายค่าเช่า ทั้งมีพฤติกรรมที่แสดงความเป็นเจ้าของ คือมีการเข้าออกสถานที่ดังกล่าวเป็นประจำ และในวันเกิดเหตุ เจ้าตัวก็อยู่ด้วย จึงได้ออกหมายจับ
- กลุ่มเดวิด หรือสุ่ย ไท่ เหว่ย ดูแลผับเบบี้เฟซ พื้นที่ สน.ทองหล่อ มีนอมินีคนไทยคือแม่ยาย โดยตำรวจได้ขอหมายค้นบ้าน พบรถยนต์หรู 3 คัน สุรานอก 28 ลัง ปืน 2 กระบอก เงินสด 19 ล้านบาท
- กลุ่มโทนี ยิป หรือ เฉิน เจ้าฮุ้ย ดูแลผับสเปซพลัส เป็นหุ้นส่วน และเป็นผู้รวบรวมเงินทุนจากคนจีนเข้ามาลงทุน มีนอมินีเป็นคนไทย
- กลุ่มหยู่ ฉาง เฟ่ย ดูแลคลับวัน ที่เมืองพัทยา มีนอมินีเป็นชาวจีน 4 คน ถือบัตรประชาชนไทย ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้มีการตรวจสอบดีเอ็นเอพ่อแม่ของเจ้าของบัตรประชาชนเดิม ปรากฏว่า ไม่มีความเกี่ยวข้องทางเครือญาติ
- กลุ่มหมิง ดูแลผับท็อปวัน พื้นที่ สน.สุทธิสาร เคยมีนักท่องเที่ยวจีนเสพยาเกินขนาดและเสียชีวิต รวมทั้งมีการลักทรัพย์สินของผู้เสียชีวิตไปเผาเพื่อทำลายหลักฐาน
ตู้ห่าว สามี พ.ต.อ.หญิง หลานอดีตรัฐมนตรี
พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ เปิดเผยว่า นายตู้ห่าว แต่งงานกับหลานสาว พล.ต.อ. ประชา พรหมนอก อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ช่วงปี 2541-2543 และอดีตรองนายกฯ ในสมัย น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โดยตัวภรรยามียศเป็น พ.ต.อ. หญิง
“ในส่วนของตู้ห่าว รู้จักกับตำรวจเยอะ และรู้จักกับอดีตรัฐมนตรี อันนี้ต้องพูดเรื่องจริงกัน ส่วนใครเกี่ยวข้อง ใครร่วมกระทำความผิด ต้องเอาทั้งหมดมากองรวมกัน ถ้าถึงใครก็ต้องว่ากันไปตามกระบวนการทางกฎหมาย แต่เราต้องดำเนินการอย่างตรงไปตรงมา” รอง ผบ.ตร. กล่าว

นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรครักประเทศไทย ผู้แจ้งเบาะแสคดีทุนจีนสีเทามาโดยตลอด เปิดเผยว่า มีบุคคลที่จะพา นายตู้ห่าว “เข้าไปกราบบุคคล ๆ หนึ่งที่ชอบสะสมนาฬิกา” และพบด้วยว่า มีการบริจาคเงิน 3 ล้านให้พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.)
“การทำงานแบบนี้ เรากำลังสู้อยู่กับคนรวย กำลังสู้อยู่กับกลุ่มทุนที่มีทุนมหาศาล การจะเอาคนเหล่านี้ให้อยู่หมัดต้องรวบรวมพยานหลักฐานให้รอบคอบชัดเจน รัดกุม และต้องรวดเร็วด้วย”
อาณาจักรทุนจีนสีเทา
วันที่ 29 พ.ย. พล.ต.อ. ต่อศักดิ์ สุขวิมล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และ พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ ได้สนธิกำลังตำรวจ บช.สอท. รวมถึงตำรวจคอมมานโด ตำรวจท่องเที่ยว และตำรวจตรวจคนเข้าเมือง เข้าปิดล้อมตรวจค้นหมู่บ้านหรู ย่านซอยลาซาล หลังสืบพบว่า กลุ่มทุนจีนใช้หมู่บ้านดังกล่าวเป็นที่พักอาศัย
หมู่บ้านที่กำลังตำรวจนำหมายศาลเข้าตรวจค้น คือ หมู่บ้านแกรนด์ บางกอก บูเลอวาร์ด สุขุมวิท ซอยแบริ่ง-ลาซาล อ.เมือง สมุทรปราการ ซึ่งเป็นโครงการบ้านหรู ราคาหลังละกว่า 50 ล้านบาท ทั้งหมู่บ้านมีบ้านทั้งหมด 66 หลัง เฉลี่ยราคาหลังละ 35-60 ล้านบาท
ตำรวจพบว่า คนจีนใช้เงินสดซื้อบ้านหรูถึง 50 หลัง ที่เหลือ 16 หลัง มีเจ้าของเป็นคนไทย แต่ก็ทยอยขายบ้านที่อยู่ติดกับชาวจีนเหล่านี้ เพราะทนพฤติกรรมของเจ้าของบ้านชาวจีนที่ดำเนินมาตั้งแต่ปี 2563 ไม่ไหว

สรุปจุดตรวจค้นทั้งหมดของปฏิบัติการ จนถึงวันที่ 29 พ.ย. มีดังนี้
- บ้านหรู 4 หลัง ในหมู่บ้านแกรนด์ บางกอก บูเลอวาร์ด สุขุมวิท ซอยแบริ่ง-ลาซาล
- บ้านหรู 2 หลัง ในหมู่บ้านทูแกรนด์ โมนาโก ซอยกาญจนาภิเษก 50 แขวงดอกไม้
- บ้านหรู 1 หลัง หมู่บ้านบุราสิริ วัชรพล ถนนสุขาภิบาล 5 แขวงออเงิน เขตสายไหม
- บ้านหรู 3 หลัง ในหมู่บ้านลดาวัลย์ ราชพฤกษ์-ปิ่นเกล้า
- ห้องชุดหรู ชั้น 69 ของคอนโดมีเนียมแมกโนเลีย เรสซิเดนซ์ ย่านเจริญนคร
ต่อมา วันที่ 1 ธ.ค. พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ เปิดเผยความคืบหน้าว่าได้ตรวจยึดเครื่องบินของ นายตู้ห่าว ซึ่งอยู่ที่สนามบินบ่อฝ้าย อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เพื่อตรวจสอบหาดีเอ็นเอ และสารเสพติด ทั้งนี้ได้ยื่นให้ ป.ป.ส. ทำการยึดอายัดทรัพย์ทั้งหมดไปแล้วมูลค่ากว่า 5 พันล้านบาทนับตั้งแต่การตรวจค้นเป็นต้นมา
“วันนี้ในการสืบสวนมาถึง 90% แล้ว เฉพาะในกลุ่มคนจีน ซึ่งได้จับกุมหมดแล้ว ล่าสุดคือได้จับกุม นายโทนี่ ยิป เจ้าของสเปชพลัส ผับ จนถึงวันนี้จับผู้ต้องหาทั้งหมดแล้ว 102 คน สิ่งที่จะต้องขยายต่อไปคือเรื่องทรัพย์และเงินสด คนที่เก็บเงินสดไว้คือใคร”
วันที่ 9 ธ.ค. กระทรวงยุติธรรม แถลงผลการยึดทรัพย์เครือข่ายทุนจีนสีเทา “ตู้ห่าว” เพิ่มเติมอีกกว่า 3,020 ล้านบาท เป็นที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของโรงแรมดีวาลักซ์รีสอร์ทแอนด์สปาใน จ.สมุทรปราการ และรถยนต์หรูอีก 5 คัน
นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม แถลงความคืบหน้าดังกล่าว พร้อมแจกแจงรายการทรัพย์สินของเครือข่าย “ตู้ห่าว” ในส่วนของ ดีวาลักซ์รีสอร์ทแอนด์สปา ว่ามีโฉนดที่ดินจำนวน 5 แปลง อาคารโรงแรม 9 อาคาร
ชูวิทย์หวั่น “มวยล้มต้มคนดู” สู่ดีเอสไอรับเป็นคดีพิเศษ
นายชูวิทย์ กมลวิศิษฏ์ เรียกร้องให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดำเนินการให้คดีของนายตู้ห่าว เป็นคดีนอกราชอาณาจักร เนื่องจากปรากฏว่ามียาเสพติดนำเข้ามาจากจีน มีตราประทับเป็นภาษาจีน ดังนั้น จึงเข้าข่ายเป็นอาชญากรรมข้ามชาติ จากการนำยาเสพติดเข้ามาในประเทศไทย
นายชูวิทย์ ชี้ว่า คดีเช่นนี้อัยการสูงสุดจะเข้ามาทำหน้าที่หัวหน้าพนักงานสอบสวน โดยเห็นว่าการทำให้เป็นคดีข้ามชาติจะทำให้การดำเนินคดีรัดกุมกว่าพนักงานสอบสวนของสถานีตำรวจนครบาลยานนาวา เพราะเคยเกิดกรณีที่คืนรถยนต์ของกลางที่อายัดไว้ให้ผู้ต้องหา
“ตู้ห่าวสนิทกับใครอย่าให้ผมเปิด ผมมีไม้ตายอยู่นะครับ… ถ้าใครคิดจะทำไม่จริง ข้ามศพผมไปก่อน”

ต่อมา วันที่ 15 ธ.ค. อธิบดีดีเอสไอได้รับเป็นคดีพิเศษ เลขที่ 314/2565 ซึ่งเข้าหลักเกณฑ์ตามประกาศท้ายบัญชีของพระราชบัญญัติคดีพิเศษ
“เนื่องจากมีลักษณะเป็นคดีที่มีทรัพย์สินจำนวนมาก และจะต้องทำแบบลึกซึ้ง ปกติคดีธรรมดา หน่วยงานอื่นคงจะไปได้ไม่ถึงเท่ากับดีเอสไอถนัด” นายสมศักดิ์ รมว.ยุติธรรม ระบุ
ชูวิทย์ประกาศ ทำหน้าที่พลเมืองดีต่อไป
ตั้งแต่วันแรกจนถึงวันส่งสำนวนคดีให้อัยการสูงสุด นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ เป็นผู้มีบทบาทสำคัญ ทั้งการตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่ การแจ้งเบาะแส และการสร้างวาทกรรมต่าง ๆ เกี่ยวกับทุนจีนสีเทา
ในวันที่ 13 ม.ค. 2566 ที่ตำรวจส่งสำนวนคดีกว่า 2 หมื่นหน้าให้สำนักอัยการสูงสุด นายชูวิทย์ ได้เดินทางมาด้วย เพื่อ “ให้กำลังใจ”
“ผมหมดหน้าแล้ว พร้อมกับขั้นตอนการสอบสวน ทางตำรวจและอัยการก็ดำเนินการมาสู่จุดที่สิ้นสุด สู่กระบวนการของศาล” นายชูวิทย์ กล่าว
“ประชาชนอย่างผมก็คงยังไม่ยอมแพ้ เพราะคดีนี้ ผมคาดว่าคงไปถึงศาลฏีกา”

ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว