ฟิลิปปินส์ เผชิญภาวะขาดแคลนหอม ราคาสูงกว่าหมู ไก่ วัว และค่าแรงขั้นต่ำ

ในหลายประเทศ หัวหอมเป็นวัตถุดิบสำหรับการประกอบอาหาร ที่หาได้ทั่วไป ขณะที่เนื้อสัตว์มีราคาแพงกว่า แต่ที่ฟิลิปปินส์ตอนนี้ ราคาหัวหอมพุ่งสูงกว่าเนื้อไก่และเนื้อวัวเสียอีก

ชาวฟิลิปปินส์ได้รับวัฒนธรรมการทำอาหารด้วยการนำกระเทียมและหัวหอมไปผัดมาจากตอนตกเป็นอาณานิคมของสเปนระหว่างปี 1521 ถึง 1898 และทุกวันนี้หัวหอมก็กลายเป็นส่วนประกอบสำคัญของอาหารในชาติไปแล้ว

สัปดาห์นี้ หอมใหญ่และหอมแดงกิโลกรัมหนึ่งมีราคาราว 11 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 360 บาท ขณะที่ไก่หนึ่งตัวราคาแค่ 4 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 130 บาท

ค่าแรงขั้นต่ำต่อวันของฟิลิปปินส์อยู่ที่ 9 ดอลลาร์สหรัฐกว่าๆ หรือประมาณ 295 บาท

ROLEX DELA PENA/EPA-EFE/REX/Shutterstock หอมใหญ่และหอมแดงกิโลกรัมหนึ่งมีราคาราว 11 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 360 บาท ขณะที่ค่าแรงขั้นต่ำต่อวันของฟิลิปปินส์อยู่ที่ 9 ดอลลาร์สหรัฐกว่าๆ หรือประมาณ 295 บาท

เมื่อราคาสูงขึ้นมากขนาดนี้ ทางการต้องถึงขั้นดักจับกุมคนที่ขนส่งหัวหอมแบบผิดกฎหมาย เมื่อต้น ม.ค. ทางการสามารถดักจับการลักลอบขนส่งหัวหอมมูลค่า 3.1 แสนดอลลาร์สหรัฐ ที่มาจากจีนได้ โดยผู้ลักลอบพยายามบอกว่าลังสินค้านั้นบรรจุเสื้อผ้าอยู่

https://twitter.com/_jvvillar/status/1610991013186740224

นี่ทำให้เกิดกระแสการพูดคุยมากมายในโซเชียลมีเดีย โดยชาวฟิลิปปินส์หลายคนที่เดินทางไปต่างประเทศเลือกที่จะซื้อหัวหอมกลับไปให้เพื่อนและครอบครัวเป็นของฝาก แทนที่จะเลือกของฝากอื่น ๆ เช่น ช็อกโกแลต

แมนนี่ นักข่าววัยเกษียณชาวฟิลิปปินส์มาทำธุระที่กรุงเทพฯ เมื่อ พ.ย. บอกกับบีบีซีไทยว่า ราคาหอมใหญ่ในไทยถูกกว่าในฟิลิปปินส์เกือบ 10 เท่า จนเขาซื้อกลับไปประเทศ 2 กก.

“หอมใหญ่ตอนนี้ มีค่าดั่งทองคำ…ผมโชคดีที่เจ้าหน้าที่ศุลกากรอนุญาตให้เอาเข้าประเทศได้” แมนนี่ บอก หลังหิ้วหอมใหญ่มูลค่า 100 บาท จากไทยเข้าฟิลิปปินส์

เขาจะต้องจ่ายถึง 700 เปโซ หรือ 430 บาท ต่อ กก. หากซื้อในกรุงมะนิลา

ทว่าไม่ใช่ทุกคนจะโชคดีแบบเขา สื่อท้องถิ่นรายงานว่า เมื่อ 10 ม.ค. พนักงานต้อนรับบนเครื่องของสายการบินฟิลิปปินส์แอร์ไลน์ 10 คน ถูกจับที่สนามบินในกรุงมะนิลาหลังลักลอบนำเข้าหอมหลายชนิดรวม 27 กิโลกรัม จากตะวันออกกลาง

นิโคลัส มาปา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสที่ธนาคาร ING ผู้อาศัยอยู่ที่กรุงมะนิลา บอกว่า ร้านอาหารบางร้านถึงขั้นยกเลิกเมนูที่มีหัวหอมเป็นส่วนประกอบ เจ้าของธุรกิจบางคนต้องหันไปหาทางเลือกอื่น

อย่างพ่อครัวชื่อ แจม เมลเคอร์ ผู้ก่อตั้งกลุ่มเคลื่อนไหวเพื่ออนุรักษ์มรดกด้านอาหารของฟิลิปปินส์ “Movement to Preserve the Culinary Heritage of the Philippines” หันไปใช้หัวหอมชนิดที่เป็นพันธุ์ประจำถิ่นชื่อ lasona แทน โดยมีรสชาติต่างไปและก็ขนาดเล็กเท่าลูกองุ่น

“ทั้งร้านอาหารและประชาชนทั่วไปต้องลำบากจากสถานการณ์นี้ ราคาของหัวหอมในปัจจุบันสูงเกินไป และเราพยายามจะใช้ประโยชน์จากทางเลือกที่เรามีให้มากที่สุด” นายเมลเคอร์บอกกับบีบีซี เขาบอกว่าหัวหอมสำคัญต่ออาหารพื้นถิ่นมากและอยู่ในอาหารทุกเมนูที่ชาวฟิลิปปินส์ทำ

 

View this post on Instagram

 

A post shared by Jam Melchor (@chefjamme)

ทำไมถึงแพง

นิโคลัส มาปา บอกว่ามี 2 ปัจจัยด้วยกัน กระทรวงเกษตรของฟิลิปปินส์คาดการณ์เมื่อเดือน ส.ค. ปีที่แล้วว่า ประเทศจะผลิตหัวหอมได้น้อยกว่าที่ต้องการใช้ นอกจากนั้น สถานการณ์ยังแย่ไปกว่านั้นอีกในฤดูเก็บเกี่ยว เพราะฟิลิปปินส์เจอกับพายุไต้ฝุ่นระหว่างเดือน ส.ค. ถึง ก.ย.

Getty Images
ในฟิลิปปินส์สัปดาห์นี้ หอมใหญ่และหอมแดงกิโลกรัมหนึ่งมีราคาราว 11 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 360 บาท ขณะที่ไก่หนึ่งตัวราคาแค่ 4 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 130 บาท

นักเศรษฐศาสตร์รายนี้อธิบายว่าโชคไม่ดีที่ฟิลิปปินส์เริ่มนำเข้าหัวหอมช้าไป ในสัปดาห์แรกของเดือน ม.ค. รัฐบาลฟิลิปปินส์อนุมัติการนำเข้าหัวหอม 22 ล้านตัน เพื่อควบคุมราคาในประเทศ ผู้เชี่ยวชาญอย่าง เฟอร์มิน อาดรีอาโน อดีตที่ปรึกษาของกระทรวงเกษตรบอกว่านี่เป็นความล้มเหลวของรัฐบาล ที่ควรจะเตรียมนำเข้าสินค้ามาให้พอกับความต้องการประชาชน

ROLEX DELA PENA/EPA-EFE/REX/Shutterstock
ชาวฟิลิปปินส์ได้รับวัฒนธรรมการทำอาหารด้วยการนำกระเทียมและหัวหอมไปผัดมาจากตอนตกเป็นอาณานิคมของสเปนระหว่างปี 1521 ถึง 1898

การบริหารของ “บองบอง”

บนโลกออนไลน์ ผู้ใช้โซเชียลมีเดียโยงวิกฤตครั้งนี้ว่าเป็นความผิดพลาดของประธานาธิบดี เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ หรือที่เป็นที่รู้จักกันในชื่อ “บองบอง” หลังจากเขาได้ขึ้นเป็นผู้นำของประเทศ นายมาร์กอส จูเนียร์ แต่งตั้งให้ตัวเองเป็นรัฐมนตรีกระทรวงการเกษตรด้วยแม้ว่าจะไม่มีประสบการณ์ทำงานในด้านนี้แต่อย่างใด

ROLEX DELA PENA/EPA-EFE/REX/Shutterstock
ฟิลิปปินส์มักนำเข้าหัวหอมจากอินเดีย จีน และเนเธอร์แลนด์

ผักปลูกมากที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลก

ซินดี ฟาน ริจส์วิค นักวิเคราะห์ด้านผักและผลไม้ที่ธนาคาร Rabobank บอกว่า ฟิลิปปินส์นับเป็นประเทศที่นำเข้าหัวหอม ซึ่งหมายถึงเป็นประเทศที่บริโภคมากกว่าที่สามารถผลิตเองได้

ความต้องการหัวหอมในประเทศขึ้นลงต่างกันไปในแต่ละปี จาก 5 ล้านกิโลกรัมในปี 2011 เป็น 132 ล้านกิโลกรัมในปี 2015 นักวิเคราะห์รายนี้บอกว่าฟิลิปปินส์มักนำเข้าหัวหอมจากอินเดีย จีน และเนเธอร์แลนด์

ริจส์วิค อธิบายว่า พวกเขาต้องพึ่งต่างประเทศเพราะไม่สามารถเก็บของไว้ได้นาน ต่างจากภูมิภาคอื่น ๆ อย่างในตอนเหนือของยุโรปและตอนเหนือของทวีปอเมริกา ที่เก็บหัวหอมไว้ได้เป็นปี

นักวิเคราะห์รายนี้บอกอีกว่า หัวหอมเป็นผักที่ปลูกมากที่สุดทั่วโลกเป็นอันดับ 3 รองจากมะเขือเทศและแตงกวา

ปัญหาในประเทศอื่นด้วย

แม้ว่าจะไม่ร้ายแรงเท่า มีประเทศอื่น ๆ ที่เผชิญปัญหาราคาหัวหอมขึ้นเหมือนกัน ตัวอย่างหนึ่งคือบราซิลที่ราคาเพิ่มสูงที่สุดในปี 2022 โดยถ้าดูจากตัวเลขทางการ ราคาสูงขึ้นถึง 130.14%

เหตุผลหนึ่งที่ราคาหัวหอมสูงขึ้นคือราคาต้นทุนในการทำไร่และการผลิตสูงขึ้น เพราะราคาของที่ต้องใช้อย่างปุ๋ยและยาฆ่าแมลงได้รับผลกระทบจากอัตราการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศและสงครามในยูเครน

ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว