รัสเซีย ยูเครน : 1 ปี แห่งสงคราม ความแหลกลาญที่ยังไม่จบ

 

A little girl makes hearth shape with her hands as civilians are being evacuated along humanitarian corridors from the Ukrainian city of Mariupol under the control of Russian military and pro-Russian separatists, on March 24, 2022

Getty Images
สหประชาชาติเรียกสถานการณ์นี้ว่า “การเคลื่อนย้ายประชากรโดยไม่จำยอมที่เร็วที่สุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2”

ผ่านไปแล้วเกือบ 1 ปีนับตั้งแต่รัสเซียเริ่มรุกรานยูเครน

สำหรับคนจำนวนมาก 24 ก.พ. 2022 คือวันที่จะอยู่ในความทรงจำตลอดไป

ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย กล่าวผ่านการถ่ายทอดทางโทรทัศน์ ประกาศเริ่ม “ปฏิบัติการพิเศษทางทหาร” ในภูมิภาคดอนบาสของยูเครน ขณะเดียวกันคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติก็ได้เรียกร้องให้เขายุติ

สัญญาณเตือนการจู่โจมทางอากาศดังไปทั่วกรุงเคียฟ เมืองหลวงของยูเครน

ประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกี ของยูเครนได้เตือนว่า “ถ้าใครพยายามจะพรากแผ่นดินของเรา เสรีภาพของเรา ชีวิตของเรา…เราจะปกป้องตัวเอง”

1 ปีผ่านไป ยังไม่เห็นวี่แววว่า การสู้รบจะยุติลง เรามาดูกันถึงผลกระทบของสงครามในยูเครนผ่านกราฟิกต่าง ๆ นับตั้งแต่การเดินหน้าบุกของรัสเซียไปจนถึงจำนวนคนพลัดถิ่นฐานและอาวุธที่ใช้เปลี่ยนแปลงไปอย่างไร

แผนที่ของยูเครนก่อนการบุกของรัสเซีย

กราฟิก

BBC

ก่อนการบุกเมื่อ 1 ปีก่อน กลุ่มแบ่งแยกดินแดนที่รัสเซียหนุนหลังได้ยึดดินแดนขนาดใหญ่ในดอนบาสทางตะวันออกของยูเครน

เมื่อ 21 ก.พ. 2022 ประธานาธิบดีปูตินประกาศว่า รัสเซียยอมรับเอกราชของภูมิภาค 2 แห่งที่แยกตัวออกจากยูเครนซึ่งได้ประกาศตัวว่าเป็นสาธารณรัฐประชาชนโดเนตสก์และสาธารณรัฐประชาชนลูฮันสก์

ยูเครน นาโต และชาติตะวันตก ประณามท่าทีนี้ ซึ่งต่อมารัสเซียได้ส่งทหารเข้าไปในภูมิภาคทั้งสองแห่ง

รัสเซียผนวกรวมไครเมียแล้วในปี 2014 แม้ว่าประเทศส่วนใหญ่ยังคงยอมรับว่า คาบสมุทรไครเมียเป็นส่วนหนึ่งของยูเครน

พื้นที่ที่ถูกควบคุมในยูเครนเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรในช่วง 1 ปี

กราฟิก

BBC

1 ปีหลังการรุกราน พื้นที่ที่รัสเซียยึดครองอยู่ แทบไม่ต่างจากตอนช่วงเริ่มต้นของสงครามนี้ ที่มีการเร่งยกทัพไปยังกรุงเคียฟ แต่รัสเซียยังคงยึดครองพื้นที่ที่สำคัญหลายแห่งทางตะวันออกและทางใต้ของยูเครน

หลังจากล้มเหลวในการเดินหน้าบุกเมืองหลวงของยูเครน กองทัพรัสเซียได้มุ่งเน้นไปที่การเชื่อมดินแดนที่ยึดครองอยู่ทางตะวันออกบริเวณลูฮันสก์และโดเนตสก์เข้ากับพื้นที่ใกล้กับไครเมีย

ในเดือน พ.ค. รัสเซียประสบความสำเร็จ เมื่อยูเครนได้อพยพทหารที่เหลืออยู่ออกจากโรงงานเหล็กอะซอฟสตาลในเมืองมาริอูโปล หลังจากที่มีการปิดล้อมและโจมตีอย่างดุเดือดมาเป็นเวลานาน ทำให้รัสเซียได้สะพานทางบกที่สำคัญในการเชื่อมพื้นที่ที่ยึดครองทางใต้และทางตะวันออกเข้าด้วยกัน รวมถึงการควบคุมแนวชายฝั่งทางตะวันออกเฉียงใต้ของยูเครนและทะเลอะซอฟ (Sea of Azov) ด้วย

แต่นับจากนั้น ชัยชนะส่วนใหญ่ในสงครามนี้ก็เป็นของยูเครน

ในการบุกโต้กลับซึ่งเริ่มในเดือน ก.ย. กองทัพยูเครนยึดคืนพื้นที่ส่วนใหญ่ในภูมิภาคคาร์คิฟกลับคืนมาได้ ต่อมาได้ยึดคืนเมืองลีมานและพื้นที่อื่น ๆ ในภูมิภาคโดเนตสก์และภูมิภาคลูฮันสก์ได้

ในเดือน พ.ย. การเดินหน้าลงไปทางใต้ของฝ่ายยูเครนทำให้ทหารรัสเซียต้องถอนกำลังออกจากเมืองแคร์ซอนไปทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำนีเปอร์ แต่รัฐบาลรัสเซียยังคงควบคุมพื้นที่บริเวณฝั่งตะวันตกของแม่น้ำอยู่

รัสเซียได้เพิ่มการโจมตีโรงไฟฟ้าต่าง ๆ ของยูเครน

กราฟิก

BBC

รัสเซียตอบโต้ด้วยการปล่อยขีปนาวุธและโดรนหลายระลอกโจมตีโรงไฟฟ้าและเมืองต่าง ๆ ของยูเครน ซึ่งตอนแรกเป็นการตอบโต้ที่ยูเครนโจมตีสะพานสำคัญที่เชื่อมระหว่างไครเมียกับรัสเซียในเดือน ต.ค.

ส่วนทางตะวันออกของยูเครน กองทัพรัสเซียได้เข้าร่วมการสู้รบที่โหดร้ายและนองเลือด เพื่อพยายามยึดเมืองบักห์มูต ซึ่งอยู่ห่างจากเมืองโดเนตสก์ไปทางเหนือราว 60 กม. มาให้ได้

แต่การบุกนี้ก็ส่อให้เห็นถึงความแตกแยกของฝ่ายรัสเซียระหว่างกองทัพรัสเซียและกลุ่มแวกเนอร์ (Wagner Group) ซึ่งเป็นองค์กรทหารรับจ้างเอกชน โดยทั้งสองกลุ่มขัดแย้งกันอย่างเปิดเผยเกี่ยวกับการอ้างผลงานในการยึดเมืองโซเลดาร์ที่อยู่ใกล้กับเมืองบักห์มูตให้กับฝ่ายรัสเซีย

“ยุโรปกำลังเผชิญกับวิกฤตผู้ลี้ภัยที่ใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2”

กราฟิก

BBC

สงครามนี้มีผู้เสียชีวิตแล้วหลายพันคน แต่ทั้งสองฝ่ายยังไม่ยอมเปิดเผยตัวเลขทางการทหารอย่างเป็นทางการ ข้อมูลของสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Office of the United Nations High Commissioner for Human Rights–OHCHR) จนถึงวันที่ 13 ก.พ. 2023 ระบุว่า มีจำนวนพลเรือนเสียชีวิตในยูเครนแล้ว 7,199 คน และได้รับบาดเจ็บอีก 11,756 คน

อย่างไรก็ตาม OHCHR ระบุว่า “เชื่อว่าจำนวนที่แท้จริงสูงกว่านี้มาก เพราะกำลังมีการรับข้อมูลจากสถานที่หลายแห่งซึ่งมีการปะทะกันอย่างดุเดือดเข้ามา และมีรายงานหลายแห่งว่า กำลังมีการตรวจสอบยืนยันอยู่”

นับตั้งแต่รัสเซียรุกรานยูเครน สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (Office of the United Nations High Commissioner for Refugees–UNHCR) มีสถิติการอพยพของผู้ลี้ภัยราว 7.7 ล้านคนออกจากยูเครนไปอยู่ตามประเทศต่าง ๆ ทั่วยุโรป รวมถึงรัสเซีย และในจำนวนประชากรราว 44 ล้านคนของยูเครน มีผู้ต้องพลัดถิ่นฐานภายในประเทศเกือบ 7 ล้านคน

นอกจากรัสเซีย จำนวนผู้ลี้ภัยส่วนใหญ่ได้อพยพไปยังโปแลนด์ เยอรมนี และสาธารณรัฐเช็ก

สหประชาชาติเรียกสถานการณ์นี้ว่า “การเคลื่อนย้ายประชากรโดยไม่จำยอมที่เร็วที่สุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2”

แม้ว่าคนจำนวนมากได้เดินทางกลับไปยังเมืองต่าง ๆ เช่น กรุงเคียฟแล้ว หลังจากที่ฝ่ายยูเครนบุกโต้กลับ แต่รัฐบาลยูเครนได้ขอให้ผู้ลี้ภัยอย่างเพิ่งกลับเข้ามาจนกว่าจะถึงฤดูใบไม้ผลิ พวกเขาหวังว่า อากาศที่อบอุ่นขึ้นจะทำให้มีแรงกดดันที่ลดลงต่อการใช้ไฟฟ้า ซึ่งสายส่งไฟฟ้าได้ถูกโจมตีอย่างหนักด้วยโดรนและขีปนาวุธ

ผู้ลี้ภัยชาวยูเครนจำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงและเด็ก ได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากประเทศต่าง ๆ ทั่วยุโรป แต่ขณะที่สงครามยังดำเนินต่อไป และวิกฤตค่าครองชีพทั่วโลกได้เริ่มส่งผล เจ้าหน้าที่ทางการในเยอรมนีและอีกหลายประเทศได้ตั้งคำถามว่า พวกเขาจะดูแลผู้ลี้ภัยจากยูเครนได้อีกนานแค่ไหน

มาร์ตินา ชไวน์สเบิร์ก สมาชิกสภาเขตจากเมืองทูรินเจียในเยอรมนีกล่าวว่า ในตอนแรก พื้นที่ของเธอพึ่งพาเจ้าของที่ดินเอกชนในการให้ที่อยู่อาศัยแก่ชาวยูเครน แต่ตอนนี้พวกเขาไม่เต็มใจที่จะทำเช่นนั้นแล้ว

การเปลี่ยนโรงยิมของโรงเรียนให้เป็นที่พักฉุกเฉินก็เป็นเรื่องที่หลายภาคส่วนของประชาชนไม่ชื่นชอบเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ

“ขีดความสามารถของเรากำลังลดลง” เธอกล่าว “หลังของเราชิดกำแพงแล้ว”

เมื่อออกจากพื้นที่สงครามแล้ว ผู้ลี้ภัยจำนวนมากต้องต่อสู้ พยายามที่จะมีชีวิตใหม่ในอีกประเทศหนึ่ง แม้ว่าจะยังคงหวาดผวากับความขัดแย้งและการคิดถึงคนที่ทิ้งไว้เบื้องหลัง

“ผู้ลี้ภัยจากยูเครนกำลังกระตือรือร้นที่จะทำงานในประเทศที่ดูแลพวกเขา แต่จำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือเพิ่มเติม และให้ความมั่นใจว่า จะเข้ากันกับชุมชนที่พวกเขาอาศัยอยู่ได้” UNHCR เตือนในเดือน ก.ย.

ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติได้แสดงความกังวลหลายอย่างในเดือน ต.ค. โดยระบุว่า “ผู้หญิง เด็ก คนชรา และผู้พิการ ตกอยู่ในสถานการณ์ที่เสี่ยงภัยอย่างยิ่ง”

จนถึงปัจจุบันนี้ มาร์ติน กริฟฟิธส์ รองเลขาธิการสหประชาชาติด้านกิจการมนุษยธรรม และเจ้าหน้าที่ประสานงานการบรรเทาทุกข์ฉุกเฉิน ระบุในแถลงการณ์ว่า “เกือบ 1 ปีผ่านไป สงครามนี้ยังคงทำให้มีผู้เสียชีวิต ความสูญเสีย และการพลัดถิ่นฐานต่อเนื่องทุกวัน และในระดับที่น่าตกใจ”

ฟิลิปโป กรานดี ข้าหลวงใหญ่เพื่อผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ เรียกร้องบรรดาผู้นำสหภาพยุโรปในเดือน ก.พ. 2023 ให้ “ยืนยันความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันและสนับสนุนผู้ลี้ภัยทุกคน”

การเปลี่ยนแปลงด้านอาวุธที่ใช้ในสงคราม และประเทศที่สนับสนุนอาวุธเหล่านี้

Tanks and vehicles over map of Ukraine

BBC

หนึ่งในการเปลี่ยนแปลงที่มากที่สุดนับตั้งแต่เริ่มสงครามนี้คือ อาวุธที่ใช้ในสงครามและผู้ที่สนับสนุนอาวุธเหล่านี้ให้แก่ยูเครน

รัสเซียเป็นประเทศที่ส่งออกอาวุธมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก และช่วงเริ่มต้นสงคราม จากเอกสารกองทัพรัสเซียดูเหมือนจะมีอาวุธมากกว่าของยูเครนมหาศาล

แต่เวลาผ่านไป 1 ปี มีประเทศที่มอบอาวุธยุทโธปกรณ์ให้แก่ยูเครนแล้วมากกว่า 30 ประเทศ

“วลาดิเมียร์ ปูติน คาดหวังว่า ยูเครนเป็นฝ่ายรอทำตามเพื่อนบ้านของยูเครนที่มีอำนาจมากกว่า โดยไม่ต้องการให้ประเทศอื่นมาเกี่ยวข้องกับสงคราม การคาดคะเนที่ผิดพลาดอย่างใหญ่หลวงนี้ ทำความขัดแย้งยืดเยื้อ และดูเหมือนจะยังไม่เห็นจุดจบ” ดร. บาร์บารา ซานเชตตา จากแผนกสงครามศึกษาที่คิงส์คอลเลจ มหาวิทยาลัยลอนดอน กล่าวกับบีบีซี

กราฟิก

BBC

มีการส่งจรวดต่อสู้รถถังน้ำหนักเบา (NLAW) ซึ่งเป็นอาวุธประทับบ่าที่ได้รับการออกแบบมาเพื่อยิงทำลายรถถัง ให้กับยูเครนหลายพันลูก ในช่วงที่มีความตึงเครียดกับรัสเซียเพิ่มสูงขึ้น อาวุธชนิดนี้ถูกมองว่า เป็นกุญแจสำคัญในการหยุดยั้งการเดินหน้าบุกกรุงเคียฟของฝ่ายรัสเซียในช่วงเริ่มต้นของการรุกราน

นับจากนั้น การสู้รบในสงครามนี้ส่วนใหญ่ก็เกิดขึ้นทางตะวันออกของยูเครน ซึ่งยูเครนก็คว้าชัยได้หลายครั้ง จากการใช้อาวุธพิสัยไกลหลายชนิด

สหรัฐฯ สหราชอาณาจักร แคนาดา และออสเตรเลีย ได้ส่งปืนใหญ่วิถีโค้ง (Howitzer) รุ่นเอ็ม777 (M777) และระบบจรวดที่ทรงพลังอย่างไฮมาร์ส เอ็ม142 (M142 Himars) ให้ยูเครน

กราฟิก

BBC

จากรายงานของเจ้าหน้าที่ทางการของสหรัฐฯ (ซึ่งรัฐบาลรัสเซียและรัฐบาลเกาหลีเหนือปฏิเสธ) ระบุว่า รัสเซียจำเป็นต้องพึ่งพาอาวุธจากประเทศต่าง ๆ อย่างเกาหลีเหนือ โดยมีการซื้อจรวดและลูกปืนใหญ่หลายล้านลูกเพื่อนำมาใช้ในสงครามนี้ ขณะที่การคว่ำบาตรจากชาติตะวันตกเริ่มส่งผลกระทบ

การเข้าถึงอาวุธพิสัยไกลที่มีความแม่นยำถูกมองว่า เป็นกุญแจสำคัญต่อการเดินหน้าบุกโต้กลับที่ประสบความสำเร็จของฝ่ายยูเครนในพื้นที่ทางตะวันออกและทางใต้ ระบบอาวุธที่ทันสมัยของชาติตะวันตกทำให้การตั้งรับของฝ่ายยูเครนต่อต้านการโจมตีทางอากาศของฝ่ายรัสเซียแข็งแกร่งขึ้น

นับตั้งแต่ความขัดแย้งเริ่มขึ้น ยูเครนได้ใช้ขีปนาวุธจากภาคพื้นดินสู่อากาศที่ผลิตขึ้นในสมัยโซเวียตอย่าง เอส-300 (S-300) มาโดยตลอด แต่ได้มีการใช้อาวุธหลายชนิดจากชาติตะวันตกเพิ่มเข้ามารวมถึงระบบขีปนาวุธภาคพื้นสู่อากาศขั้นสูงแห่งชาติ (National Advanced Surface-to-Air Missile System—NASAMS) หรือ เนแซมส์ จากสหรัฐฯ และระบบขีปนาวุธพิสัยไกลติดตั้งบนเรือไอริส-ที (IRIS-T SLMs) จากเยอรมนี รวมถึงระบบขีปนาวุธประทับบ่าอย่างสตาร์สตรีก (Starstreak) จากสหราชอาณาจักร

ในเดือน ธ.ค. รัฐบาลสหรัฐฯ ประกาศว่า จะส่งระบบขีปนาวุธแพทริออต (Patriot) ที่ล้ำสมัยให้ด้วย โดยเยอรมนีและเนเธอร์แลนด์ก็ได้ประกาศตามมาว่า จะส่งระบบขีปนาวุธนี้ให้เช่นกัน โดยมีพิสัยการโจมตีไกลถึง 100 กม. ขึ้นอยู่กับชนิดของขีปนาวุธที่นำมาใช้

กราฟิก

BBC

แต่มีอาวุธหลายชนิดที่ยูเครนรู้สึกว่า การส่งมอบล่าช้า

แม้ว่ายูเครนได้รับยานรบทหารราบอย่างสไตรเกอร์ (Stryker) และแบรดลีย์ (Bradley) ตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นสงคราม แต่พันธมิตรและผู้สนับสนุนของยูเครนมีความล่าช้าอย่างมากกว่าที่ตกลงว่า จะส่งรถถังให้ยูเครน โดยมีหลายประเทศเพิ่งมีการตกลงในเดือน ม.ค. ที่ผ่านมาว่า จะส่งรถถังให้ โดยสหราชอาณาจักรได้เป็นฝ่ายรับปากก่อนว่า จะส่งรถถังแชลเลนเจอร์ 2 (Challenger 2) ให้ยูเครน จากนั้นสหรัฐฯ บอกว่า จะส่งรถถังเอ็ม1 เอบรามส์ (M1 Abrams) และเยอรมนีจะส่งรถถังเล็ปเพิร์ด 2 (Leopard 2) การตัดสินใจของรัฐบาลเยอรมนีอาจเป็นกุญแจสำคัญ เพราะได้มีการอนุญาตให้ประเทศต่าง ๆ ที่ใช้งานรถถังเล็ปเพิร์ด 2 ที่เยอรมนีผลิตอย่างโปแลนด์ ส่งรถถังนี้ให้ยูเครนได้เช่นกัน

เบน บาร์รี นักวิจัยอาวุโสที่สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการศึกษาเชิงกลยุทธ์ (International Institute for Strategic Studies–ISS) กล่าวกับบีบีซีว่า รถถังของชาติตะวันตกจะทำให้เกิดความแตกต่าง แต่อดีตพลจัตวากองทัพบกอังกฤษผู้นี้เตือนว่า คำสัญญาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจนถึงขณะนี้ ยังไม่น่าจะชี้ขาดผลของสงครามนี้ได้ และระบุเพิ่มเติมว่า ประวัติศาสตร์ได้เผยให้เห็นแล้วว่า รถถังเพียงอย่างเดียวชนะการสู้รบไม่ได้

ขณะที่นายดมิทรี เปสคอฟ โฆษกรัฐบาลรัสเซียเตือนว่า การมอบอาวุธยุทโธปกรณ์จากชาติตะวันตกเพิ่มขึ้น “จะนำไปสู่การยกระดับครั้งสำคัญ” และประเทศต่าง ๆ “จะกลายมาเป็นการเข้าร่วมความขัดแย้งนี้โดยตรง” ความกังวลว่า ความตึงเครียดจะสูงขึ้นนี้เองทำให้พันธมิตรและชาติที่สนับสนุนยูเครนยังไม่ยอมมอบเครื่องบินขับไล่ให้ยูเครน แม้ว่ายูเครนจะเอ่ยปากขอหลายครั้ง

โดรนก็ได้มีบทบาทที่สำคัญในความขัดแย้งนี้ โดยมีการใช้โดรนจำนวนมากตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นของสงครามทั้งในการสอดแนมและมองหาเป้าหมาย นับตั้งแต่ความขัดแย้งนี้เริ่มขึ้น เบย์การ์ (Baykar) บริษัทผลิตอาวุธของตุรกีได้ขายและถึงขนาดบริจาคโดรนทีบี2 (TB2) ที่เป็นที่รู้จักของทางบริษัท ให้ยูเครนนำมาใช้งานแทนโดรนที่สูญเสียไปในการต่อสู้

ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา รัสเซียได้ใช้โดรน “กามิกาเซ่” จำนวนมาก (ควบคู่กับขีปนาวุธร่อน) ในการโจมตีเมืองต่าง ๆ และโรงไฟฟ้าของยูเครน

แม้ว่าอิหร่านระบุว่า ได้มอบโดรนให้รัฐบาลรัสเซียก่อนที่จะเริ่มสงคราม แต่เชื่อว่า อิหร่านได้แอบส่งมอบโดรนอีกหลายร้อยลำให้รัสเซียระหว่างที่เกิดความขัดแย้งนี้ด้วย

ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว