วิเคราะห์ : ผลเลือกตั้ง 2566 ปิดฉาก “ระบอบประยุทธ์” ?

“ประชาชนภาคเหนือ อีสาน ตะวันออก ตะวันตกทั้งหมด เราต้องมี ส.ส. ให้มากที่สุด ถ้าท่านไม่เลือก ส.ส. เขต ลุงตู่ไม่ได้มายืนตรงนี้อีกแล้ว แล้วเราจะคิดถึงกันได้ไหมละ ผมไม่อยู่แล้วจะคิดถึงไหม” พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) กล่าวบนเวทีปราศรัยปิดเมื่อ 12 พ.ค. ซึ่งกลายเป็นคำปราศรัยสุดท้ายในสนามเลือกตั้งของเขา

ผลการนับคะแนนเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ ณ 99% พบว่า พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) มีโอกาสชนะเลือกตั้งเพียง 36 ที่นั่ง

พล.อ. ประยุทธ์ เดินออกจากพรรค รทสช. ช่วงค่ำวันที่ 14 พ.ค. อย่างเงียบ ๆ โดยกล่าวกับสื่อมวลชนสั้น ๆ ว่า “ผมพยายามทำเพื่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ตลอดชีวิตของผม และอุดมการณ์ของพรรคก็เช่นเดียวกัน ขอให้บ้านเมืองสงบเรียบร้อย มีความเจริญก้าวหน้า ผมเคารพในวิถีประชาธิปไตย และการเลือกตั้ง ขอบคุณครับ”

พล.อ. ประยุทธ์ ขึ้นสู่อำนาจทางการเมืองด้วยการก่อรัฐประหาร 22 พ.ค. 2557 และดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาแล้ว 2 สมัย รวมระยะเวลา 9 ปี

แม้รัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดห้ามนายกฯ ดำรงตำแหน่งรวมกันเกิน 8 ปี แต่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเมื่อ 30 ก.ย. 2565 ว่า ความเป็นรัฐมนตรีของ พล.อ. ประยุทธ์ ยังไม่สิ้นสุดลง เพราะให้เริ่มนับวาระดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 6 เม.ย. 2560 อันเป็นวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับที่ 20

นั่นทำให้ “นายกฯ หน้าเดิม” เดินเข้าสู่สนามเลือกตั้ง 2566 ลงชิงเก้าอี้นายกฯ สมัยที่ 3 ได้ โดยมีระยะเวลาดำรงตำแหน่งเหลือราว 2 ปี

ลุงตู่

กองโฆษก พรรครวมไทยสร้างชาติ

 

แม้ที่นั่งในสภาของพรรค รทสช. ผ่านผ่านเกณฑ์ขั้นต่ำตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งกำหนดให้ชื่อแคนดิเดตนายกฯ ที่จะนำมาพิจารณากลางสภาผู้แทนราษฎรได้ ต้องมาจากพรรคที่ได้ ส.ส. ไม่น้อยกว่า 5% ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ หรือมี ส.ส. 25 คนขึ้นไป แต่ก็ตกที่นั่งพรรคอันดับ 5 ของสภา

พล.อ. ประยุทธ์ ผู้รอดจาก “ดาบศาลรัฐธรรมนูญ” ในคดี “นายกฯ 8 ปี” จึงจำต้องยุติวาระแห่งอำนาจด้วยเสียงชี้ขาดจากประชาชน

ผลการเลือกตั้ง 2566 จึงน่าจะนำไปสู่การปิดฉาก “ระบอบประยุทธ์”

“ถ้าผลเลือกตั้งออกมาเช่นนี้ ก็ถือได้ว่าเป็นความพ่ายแพ้ของฝ่ายอนุรักษนิยม” ดร. สติธร ธนานิธิโชติ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า ให้ความเห็นกับสถานีโทรทัศน์ช่อง 33

สอดคล้องกับ รศ.ดร. ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ชี้ว่า เป็นความ “พ่ายแพ้แบบยับเยิน” ของขั้วรัฐบาลเดิม และถือเป็น “มติมหาชนที่ดังมาก” พร้อมดักคอสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) 250 คนที่มาจากการแต่งตั้งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ไม่ให้ขวางเสียงของประชาชนนับสิบล้านคนที่โหวตออกมาเช่นนี้

“ส.ว. ถ้ามาขวาง จะกลายเป็นแพะรับบาป แทนที่จะปล่อยให้ พล.อ. ประยุทธ์ ยอมรับความพ่ายแพ้ เกษียณอายุทางการเมืองไป ถ้า ส.ว. มาอุ้ม พล.อ. ประยุทธ์ กลายเป็นว่า ส.ว. มาสร้างวิกฤตในบ้านเมือง มันชัดเจนว่า พล.อ. ประยุทธ์ จะเป็นนายกฯ เสียงข้างน้อยที่ได้คะแนนน้อยมาก ไม่มีเสียงของประชาชนสนับสนุนเลย” รศ.ดร. ประจักษ์กล่าวกับมติชนทีวี

ผลการนับคะแนนเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ ณ 99% ชี้ว่า พรรค รทสช. ได้คะแนนมหาชนจากบัตร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ จำนวน 4.6 ล้านเสียง ตามหลังพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ที่ได้คะแนนสูงสุด 14 ล้านเสียง และพรรคเพื่อไทย (พท.) 10 ล้านเสียง

เสียงที่หายไป

พล.อ. ประยุทธ์ตอบรับเทียบเชิญเป็นแคนดิเดตนายกฯ ในบัญชีของพรรค รทสช. เมื่อ 23 ธ.ค. 2565 และเดินหน้าหาเสียงเลือกตั้งในทุกพื้นที่ตลอดระยะเวลา 142 วัน

ในวันแรกที่ได้ พล.อ. ประยุทธ์เข้าไปเป็นผู้นำทัพสู้ศึกเลือกตั้ง 2566 พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรค รทสช. ลั่นวาจาว่า “คนดี ๆ อย่างท่าน หนึ่งวันก็อยู่ได้” เพื่อยืนยันว่าการเป็นนายกฯ ได้เพียงครึ่งเทอมของ พล.อ. ประยุทธ์ ไม่ใช่ปัญหา

ในวันสุดท้ายที่เสียงส่วนใหญ่ของประชาชนประจักษ์อยู่ตรงหน้า พีระพันธุ์บอกว่า “ท่านเป็นคนให้กำลังใจผม”

“ผมประทับใจท่านมาก เพราะไม่เคยคิดว่าเมื่อท่านเข้าสู่สนามการเมือง ท่านจะสามารถทนกับความร้อน ความเหนื่อย ทนกับการไม่ได้ทานอาหาร และหลาย ๆ อย่างได้ถึงขนาดนี้ และสามารถร่วมเป็นร่วมตายกับพวกเราในสนามเลือกตั้งได้เกือบทุกวัน เหมือนนักการเมืองอาชีพ” หัวหน้าพรรค รทสช. กล่าวถึงแคนดิเดตนายกฯ หมายเลข 1 ของพรรค ในระหว่างเปิดแถลงข่าวเมื่อ 14 พ.ค.

pm

EPA /

บีบีซีไทยวิเคราะห์ว่า คะแนนเสียงที่หายไปของ พล.อ. ประยุทธ์ เกิดจากสารพัดเหตุ-ปัจจัย สรุปได้ ดังนี้

หนึ่ง ปรากฏการณ์ “แยกกันเดิน” ของพี่น้อง 2 ป. – พล.อ. ประยุทธ์ ประธานกรรมกำหนดแนวทางและยุทธศาสตร์พรรค รทสช. กับ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) – ทำให้เกิด “พรรค(อดีต)ทหาร” 2 พรรคพร้อมกัน ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่พบเห็นบ่อยนักในการเมืองไทย และส่งผลให้เกิดการตัดกันเองทั้งสรรพกำลังและฐานเสียง จากพรรค พปชร. เคยได้ 116 ที่นั่งในการเลือกตั้ง 2562 เมื่อแตกเป็น 2 พรรค รวมกันแล้วเหลือเพียง 76 ที่นั่งเท่านั้น (พปชน. 40 ที่นั่ง และ รทสช. 36 ที่นั่ง) ขณะที่คะแนนมหาชนก็หายไปครึ่งหนึ่ง จากพรรค พปชร. เคยได้ 8.4 ล้านเสียง ก็เหลือเพียง 5.1 ล้านเสียง (รทสช. 4.6 ล้านเสียง และ พปชร. 5.2 แสนเสียง)

สอง กติกาใหม่ที่กลับไปใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ไม่เอื้อต่อพรรคเกิดใหม่ แม้ประชาชนบางส่วนสนับสนุน พล.อ. ประยุทธ์ และลงคะแนนเลือกพรรค รทสช. ในบัตรปาร์ตี้ลิสต์ แต่กับ ส.ส.เขต ก็ยังเลือกผู้สมัครที่คุ้นชินในพื้นที่ ซึ่งอาจมาจากพรรคการเมืองอื่น เช่น พรรคภูมิใจไทย (ภท.) พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) รวมถึงพรรค พปชร.

สาม การอยู่ในตำแหน่งยาวนานของ พล.อ. ประยุทธ์ ทำให้เกิดความเบื่อหน่ายของผู้คนในสังคม และกลายเป็น “แนวร่วมมุมกลับ” ที่ไปเพิ่มคะแนนให้กับพรรคที่นำเสนอแนวทางโหวตเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง

สี่ พรรคคู่แข่งขันในขั้วตรงข้ามที่ครองกระแสสูงได้สร้างวาทกรรมโจมตี-บั่นทอนคะแนนนนิยมของ พล.อ. ประยุทธ์ อย่างต่อเนื่อง สะท้อนผ่านคำขวัญ “มีลุงไม่มีเรา” ของพรรคก้าวไกล (ก.ก.) และ “ปิดสวิตช์ 3 ป.” ของพรรคเพื่อไทย (พท.)

จึงไม่แปลกหากผลการเลือกตั้งครั้งนี้ จะถูกพิจารณาว่าเป็นเสมือนลงประชามติเพื่อ “เอาทหารออกจากการเมือง”

“จุดยืนที่ชัดอยู่คือ ‘มีลุงไม่มีเรา มีเราไม่มีลุง’ ดังนั้นพรรคร่วมรัฐบาลที่เป็นพรรคทหารจำแลงทั้งสองพรรค ไม่ว่าใครจะเป็นหัวหน้าพรรค คือไม่ได้อยู่ใน ครม. ของเรา” พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค ก.ก. กล่าวถึงแนวทางการจัดตั้งรัฐบาล ภายหลังทราบว่าพรรคสีส้มมีคะแนนเป็นอันดับ 1 ช่วงค่ำ 14 พ.ค.

ทิม

Thai News Pix/บรรยากาศในการปราศรัยปิดของพรรคก้าวไกลเมื่อ 12 พ.ค.

เสียงที่เหนียวแน่น

หากพิจารณาคะแนนเสียงที่ยังเหนียวแน่นอยู่กับ พล.อ. ประยุทธ์ คาดว่ามาจากฝ่ายอนุรักษนิยมเข้มข้นเป็นหลัก

ในการเลือกตั้ง 2562 มีประชาชน 8.8 ล้านเสียง ลงคะแนนเลือกพรรค พปชร. และพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช. – ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นพรรครวมพลัง) ซึ่งทั้ง 2 พรรคประกาศสนับสนุน พล.อ. ประยุทธ์ เป็นนายกฯ สมัยที่ 2 มาถึงการเลือกตั้ง 2566 พรรค รทสช. ได้คะแนนมหาชน 4.6 ล้านเสียง หายไปครึ่งหนึ่งจากเมื่อ 4 ปีก่อน

ตั้งแต่วันแรกที่ พล.อ. ประยุทธ์ ตัดสินใจสมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรค รทสช. บรรดาแกนนำพรรคต่างชูจุดขายเรื่อง “คนดี” และตอกย้ำวาทกรรมนี้อย่างต่อเนื่อง กระทั่งวันท้าย ๆ ในการรณรงค์หาเสียง โดยเชิญชวนประชาชนร่วมกัน “เลือกคนดีให้ปกครองบ้านเมือง” และ “อย่าให้ลุงตู่สู้คนเดียว ขอเชิญช้างศึกออกมาช่วยกันรักษาบ้านเมือง รวมทุกหัวใจ รวมไทยสร้างชาติ”

พรรค รทสช. กำหนดให้พรรค ก.ก. เป็น “คู่ต่อสู้หลัก” ในสนามเลือกตั้ง และประกาศชื่อพรรคสีส้มออกมาอย่างไม่ปิดบัง สะท้อนว่า “ภัยคุกคาม” ในสายตาของชนชั้นนำฝ่ายอนุรักษนิยม คือความคิด “เปลี่ยนประเทศ” อย่างชาวอนาคตใหม่/ก้าวไกล โดยมี พล.อ. ประยุทธ์ เป็นผู้พิทักษ์ความเป็นไทยและสถาบันหลักของชาติ

แม้ก่อนหน้านี้มีสารพัดคำถาม-สารพันข้อสงสัยว่า สัญญาณ “นายกฯ ที่ถูกเลือก” เปลี่ยนแปลงไปแล้วหรือไม่

ทว่าคำอธิบายที่ สุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตแกนนำ กปปส. กล่าวกับบีบีซีไทยก่อนหน้านี้คือ “คนอาจจะพยายามที่จะสร้างภาพให้คนเข้าใจผิด ๆ นะ แต่ผมคิดว่า ‘นายกฯ ที่ถูกเลือก’ คือนายกฯ ที่ประชาชนเลือก ไม่ใช่เรื่องอื่น”

อย่างไรก็ตามมีคำอธิบายอีกชุดจากแกนนำพรรคการเมืองขั้วรัฐบาลเดิมอย่างน้อย 2 พรรคที่ยืนยันบีบีซีไทยว่า ไม่มีสัญญาณใด ๆ ตามที่มีผู้พยายามกล่าวอ้าง แต่คิดว่าโดยสัญชาตญาณความเป็นทหารเก่าของ พล.อ. ประยุทธ์ หากไม่มี ‘ข้อมูลใหม่’ ย่อมไม่อาจยกเลิกภารกิจเดิม หรือเดินออกจากสนามรบไม่ได้ จนกว่าจะประสบชัยชนะ หรือความพ่ายแพ้

โอกาสหวนคืนอำนาจ ?

ถึงนาทีนี้ คะแนนเสียงของ 2 พรรคใหญ่ในขั้วฝ่ายค้านเดิม เพื่อไทย+ก้าวไกล รวมกันได้ 292 ที่นั่ง

เบื้องต้น ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรค ก.ก. เปิดสูตรจัดตั้งรัฐบาลผสมอย่างน้อย 5 พรรค ประกอบด้วย ก้าวไกล (151) เพื่อไทย (141) ประชาชาติ (9) ไทยสร้างไทย (6) เสรีรวมไทย (1) รวม 308 เสียง ยังขาดเสียงสนับสนุนอีก 68 เสียงถึงจะชนะโหวตกลางรัฐสภา ได้ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกฯ คนที่ 30

ขณะที่พรรค ภท. เป็นพรรคอันดับ 1 ในขั้วรัฐบาลเดิมด้วย 70 ที่นั่ง

ส่วนพี่น้อง “2 ป.” ได้คะแนนเสียงรวมกัน 76 ที่นั่ง จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่ พล.อ. ประยุทธ์ จะเบียดทั้งนักการเมืองต่างขั้ว และนักการเมืองต่างค่าย-ร่วมขั้ว ขึ้นเป็นนายกฯ อีกสมัย

แต่ถึงกระนั้น ยังไม่อาจฟันธงได้ว่า “นายกฯ หน้าเดิม” จะไม่หวนกลับมาใหม่ และพรรค ก.ก. จะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ เนื่องจาก ส.ว. 250 คนที่มาจากกระบวนการคัดสรรของ คสช. ยังมีบทบาทสำคัญในการลงมติเลือกนายกฯ

นายกฯ

WASAWAT LUKHARANG/BBC THAI/ ที่ประชุมรัฐสภามีมติเมื่อ 5 มิ.ย. 2562 เห็นชอบให้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ดำรงตำแหน่งนายกฯ ด้วยคะแนนเสียง 500 ต่อ 244 งดออกเสียง 3

 

ย้อนกลับไปเมื่อ 5 มิ.ย. 2562 พล.อ. ประยุทธ์ แคนดิเดตนายกฯ ในบัญชีพรรค พปชร. ชนะโหวตกลางรัฐสภา ได้เป็นนายกฯ สมัยที่ 2 ด้วยคะแนนสนับสนุนจากสมาชิกรัฐสภา 500 เสียง ขณะที่นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งได้รับแรงสนับสนุนจาก 7 พรรคร่วมฝ่ายค้าน ได้เสียงสนับสนุน 244 เสียง

ใน 500 เสียงของนายกฯ ประยุทธ์ มาจาก ส.ส. 251 เสียง (งดออกเสียง 2) และมติเอกฉันท์จาก ส.ว. 249 เสียง (งดออกเสียง 1)

ภายใต้เงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญ 2560 ไม่ได้กำหนดว่า การเลือกนายกฯ ต้องจบภายในเมื่อไร หากยังตกลง-ต่อรองกันไม่ลงตัว ก็มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดการโหวตเลือกนายกฯ หลายรอบ

รอบแรก ส.ว. อาจชิง “ปิดสวิตช์ตัวเอง” ด้วยการงดออกเสียง ซึ่งจะทำให้พรรค ก.ก. ตั้งรัฐบาลไม่ได้ เพราะมีเสียงไม่ถึงกึ่งหนึ่งของรัฐสภา และส่งผลให้ พล.อ. ประยุทธ์ ต้องนั่งรักษาการนายกฯ ไปเรื่อย ๆ

ในระหว่างนั้น ก็ต้องมีการเจรจานอกรอบ และอาจเกิด “เงื่อนไขใหม่” ที่ไปหักมติมหาชน เพื่อให้ตั้งรัฐบาลกันได้

หมายเหตุ : ข่าว บีบีซีไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว