รัฐประหารเมียนมา: เหล่าทหารผู้ปฏิเสธเป็นศัตรูกับประชาชน

ANDRE MALERBA/BBC/ ทหารเมียนมาทำตัวเหมือน "ปีศาจ" น.ท.อ่อง กล่าว

 

กองทัพเมียนมากำลังเผชิญกับวิกฤตทหารหนีทัพ และเกณฑ์ทหารใหม่เข้ามาได้ยากลำบาก

บีบีซีได้สัมภาษณ์พิเศษทหารที่เพิ่งหนีทัพเมื่อไม่นานมานี้ พวกเขาเล่าว่า กองทัพเมียนมาที่ก่อรัฐประหารยึดอำนาจเมื่อ 2 ปีก่อน กำลังประสบปัญหาในการยับยั้งการลุกฮือของประชาชนที่ติดอาวุธสู้รบเพื่อทวงคืนประชาธิปไตย

“ไม่มีใครอยากเข้ากองทัพแล้ว ประชาชนเกลียดความทารุณและความไม่ยุติธรรม” เนย์ อ่อง กล่าว ก่อนเล่าต่อว่า ตอนที่เขาพยายามหนีทัพครั้งแรก เขาถูกทุบตีด้วยปืนไรเฟิล และถูกตีตราว่า “คนทรยศ”

เขาหนีทัพได้สำเร็จในความพยายามครั้งที่สอง และหนีข้ามพรมแดนมายังประเทศไทย ด้วยความช่วยเหลือของกลุ่มต่อต้านรัฐบาลทหาร

“เพื่อนของผมคนหนึ่งอยู่ในฝ่ายต่อต้าน” เขากล่าว “ผมโทรหาเขา แล้วเขาไปบอกคนที่อยู่ในไทยถึงเรื่องของผม ผมจึงเดินทางมาไทย ด้วยความช่วยเหลือของพวกเขา”

ตอนนี้ เขาอาศัยอยู่ใน “เซฟเฮาส์” พร้อมกับทหารหนีทัพใหม่ราว 100 คน พร้อมด้วยครอบครัวของพวกเขา ชายเหล่านี้ปฏิเสธที่จะสู้รบกับประชาชน และตอนนี้ต้องอยู่อย่างหลบซ่อน ไม่ใช้ชื่อจริง พำนักและได้รับการคุ้มครองจากฝ่ายต่อต้าน ที่กองทัพเมียนมาสั่งให้พวกเขาไปต่อสู้ด้วย

รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติเมียนมา (เอ็นยูจี) ซึ่งเป็นรัฐบาลเงาของฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหาร เปิดเผยว่า นับแต่กองทัพยึดอำนาจในการรัฐประหารเมื่อเดือน ก.พ. 2021 ทหารและตำรวจกว่า 13,000 คน ได้หนีทัพ-หนีราชการ ทางเอ็นยูจีเอง ได้เสนอเงินและการสนับสนุน เพื่อพยายามชักจูงทหารและตำรวจเมียนมาให้แปรพักตร์มากขึ้น

เมือง เซียน อายุ 19 ปี เป็นคนอายุน้อยที่สดในเซฟเฮาส์แห่งนี้ เขาเข้าร่วมกองทัพเมียนมาตอนอายุเพียง 15 ปีเท่านั้น

“ผมชื่นชมกองทัพ” เมือง เซียน กล่าว เขาต้องการทำให้ครอบครัวภูมิใจ แต่การกวาดล้างผู้ประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตย จนกลายเป็นเหตุนองเลือด ได้เปลี่ยนทัศนคติของชาวเมียนมาต่อเหล่าชายในเครื่องแบบจากหน้ามือเป็นหลังมือ

“ผู้คนในโลกออนไลน์เรียกพวกเราว่า ‘สุนัขรับใช้กองทัพ’” เขากล่าว ซึ่งคำกล่าวนี้ ถือเป็นหนึ่งในคำพูดหยามเกียรติที่สุดคำหนึ่งในเมียนมา “มันทำให้ผมเสียใจและเศร้า”

เมือง เซียน เล่าว่า ทหารชั้นผู้น้อยอย่างเขา “ขัดคำสั่งจากเบื้องบน” ที่ให้ “เข่นฆ่าพลเรือนและเผาหมู่บ้าน” ไม่ได้

แต่อีกเหตุผลที่เขาหนีทัพ เป็นเพราะคิดว่าตอนนี้กองทัพอยู่ในจุดที่เสียเปรียบ

กลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธบริเวณชายแดนติดกับประเทศไทย รวมถึงกลุ่มพลเรือนติดอาวุธ ที่เรียกตัวเองว่า กองกำลังพิทักษ์ประชาชน (พีดีเอฟ) มีแสนยานุภาพมากกว่าที่หลายคนคาดคิด และตอนนี้ กองทัพสูญเสียการควบคุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศไปแล้ว

ในภูมิภาคมะกเว และสะกาย ซึ่งเคยมีประชาชนจำนวนมากในภูมิภาคนี้ สมัครใจเข้าเกณฑ์ทหาร แต่มาวันนี้ คนรุ่นใหม่จำนวนมากกลับหันไปเข้าร่วมกับกองกำลังพิทักษ์ประชาชนแทน

Getty Images
Getty Images/ กลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ ร่วมมือกับกลุ่มติดอาวุธต่อต้านรัฐประหารทั่วประเทศ

ก่อนจะหนีทัพ หน่วยของเมือง เซียน ได้รับคำสั่งให้ “โจมตีและทำลาย” ค่ายฝึกของพีดีเอฟ

ปฏิบัติการนั้นไม่ราบรื่นนัก เพื่อนทหารของเขา 7 นายถูกสังหาร ก่อนจะได้รับคำสั่งให้ล่าถอย “พวกเขา (พีดีเอฟ) มียุทธศาสตร์ที่ดีกว่า” เขากล่าว “มันทำให้พวกเขาแข็งแกร่ง”

กองกำลังพิทักษ์ประชาชน ได้รับแรงสนับสนุนจากสาธารณชน และมีชาวบ้านจำนวนมากคอยป้อนข้อมูลข่าวกรองสำคัญถึงความเคลื่อนไหวของกองทัพ ชาวบ้านยังให้ที่หลบซ่อนแก่นักรบของพีดีเอฟด้วย

นาวาอากาศโท เซย์ ทู อ่อง ประจำการในกองทัพอากาศมา 18 ปี เขาแปรพักตร์เมื่อปีที่แล้ว หลังการรัฐประหารเดือน ก.พ. 2022

“กองทัพถูกโจมตีรอบทิศทางจากทุกประเทศ” เขากล่าวถึงสถานะของกองทัพเมียนมา “พวกเขาไม่มีไพร่พลพอจะโต้กลับ”

นั่นจึงเป็นเหตุผลที่กองทัพเปลี่ยนมาใช้การโจมตีทางอากาศมากขึ้น

ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา กองทัพเมียนมาได้ดำเนินการโจมตีทางอากาศอย่างรุนแรงทั่วประเทศ นับแต่เดือน ม.ค. 2023 มีรายงานการโจมตีทางอากาศมากกว่า 200 ครั้ง ครั้งรุนแรงที่สุด คือการทิ้งระเบิดหมู่บ้านปะซีจี้ ในภูมิภาคสะกาย เมื่อเดือน เม.ย. สังหารผู้คนไปกว่า 170 คน รวมถึงผู้หญิงและเด็กหลายคน

“หากไร้ซึ่งกองทัพอากาศ เป็นไปได้ว่ากองทัพจะปราชัย” นาวาอากาศโทอ่อง คาดการณ์

เช่นเดียวกับผู้แปรพักตร์คนอื่น ๆ ทุกคนในครอบครัวของเขาภูมิใจที่เขาได้เป็นนักเรียนนายร้อยทหารอากาศ ในสมัยนั้นการเป็นส่วนหนึ่งของกองทัพถือเป็นเกียรติต่อวงศ์ตระกูล แต่เมื่อเกิดการรัฐประหาร “เกียรติยศมันจมลงนรกไปเลย”

“เพื่อนทหารอากาศของผมส่วนใหญ่ไม่ใช่คนไม่ดีนะ แต่หลังรัฐประหาร พวกเขากลายเป็นปีศาจ”

เขาเป็นทหารอากาศคนเดียวในหน่วยที่แปรพักตร์ เพื่อนทหารส่วนใหญ่ของเขายัง “ต่อสู้กับประชาชน” อยู่

Getty Images
Getty Images/ การประท้วงปะทุขึ้นในหลายพื้นที่ของเมียนมา หลังรัฐประหาร

แม้กองทัพเมียนมาจะมีบทบาทสำคัญต่อกิจการต่าง ๆ ของประเทศ แต่ขนาดที่แท้จริงของกองทัพยังเป็นปริศนา ผู้สังเกตการณ์ส่วนใหญ่ประเมินว่า ในช่วงที่เกิดรัฐประหาร กองทัพมีทหารราว 3 แสนนาย และตอนนี้คงน้อยกว่านั้นมาก

กองกำลังฝ่ายต่อต้านได้ใช้เทคโนโลยีอย่างวิดีโอเกม พร้อมกับกลไกการระดมเงินบริจาคแบบ คราวด์ฟันดิง เพื่อสะสมเงินทุนสำหรับต่อสู้กับกองทัพ โดยเงินบริจาคส่วนใหญ่ มาจากการบริจาคส่วนบุคคลของประชาชนแต่ละคนเอง

กองกำลังฝ่ายต่อต้านรวบรวมเงินได้มหาศาล แต่ยังขาดช่องทางเข้าถึงอาวุธมาตรฐานกองทัพหรือเครื่องบินรบ

รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ เสนอเงินกว่า 17.3 ล้านบาท ให้กับนักบินหรือนาวิกโยธิน ที่แปรพักตร์มาพร้อมกับเครื่องบินรบหรือเรือรบ แต่จนถึงตอนนี้ยังไม่มีใครทำเช่นนั้น

ร้อยโท อ่อง ระบุว่า การจะหนีทัพมันยากมาก หลัง “ถูกปลูกฝังมานานหลายปี” ขนาดเขาเอง ก็กลัวถูกมองเป็นคนทรยศ

“มีคำกล่าวในกองทัพว่า คุณจะออกจากกองทัพได้ต่อเมื่อคุณตายแล้ว”

 

บทบาทของรัสเซีย

ก่อนจะแปรพักตร์ น.ท.อ่อง ทำงานอยู่ในฝ่ายปรับปรุงสนามบินกรุงเนปิดอว์ เพื่อเตรียมรับการเข้าประจำการของเครื่องบินรบซุคฮอย ซู-30 จากรัสเซีย

น.ท.อ่อง พาเราไปดูภาพถ่ายดาวเทียมเหนือสนามบินดังกล่าว เขาชี้ให้เห็นจุดที่เขาเคยอาศัย และช่วยสร้างโรงเก็บเครื่องบินรบ สำหรับประจำการเครื่องบินรบซุคฮอย ซู-30 จำนวน 6 ลำ ที่กองทัพเมียนมาสั่งซื้อมา

เครื่องบินรบเหล่านี้ถือเป็น “เครื่องบินรบที่ล้ำหน้าที่สุดของกองทัพเมียนมา” ลีโอน ฮาดาวิ จากองค์กรเมียนมา วิตเนสส์ กล่าว เขาทำหน้าที่สังเกตการณ์การใช้เครื่องบินรบของกองทัพเมียนมา

เขาระบุว่า ซุคฮอย ซู-30 เป็นเครื่องบินรบที่ใช้งานได้หลากหลาย โดยรุ่นที่รัสเซียเตรียมส่งให้เมียนมา มีศักยภาพการปฏิบัติการทั้งจากอากาศสู่อากาศ และโจมตีจากอากาศสู่พื้นดิน ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีศักยภาพบรรทุกอาวุธได้มากกว่าเครื่องบินรบรุ่น ยักค์ 130 (Yak-130) ที่กองทัพเมียนมาใช้ในการโจมตีทางอากาศช่วงไม่กี่เดือนมานี้ด้วย

น.ท.อ่อง ระบุว่า ตามข้อตกลงระหว่างกองทัพเมียนมากับรัสเซีย รัสเซียจะส่งนักบินทดสอบ 2 นาย พร้อมด้วยทีมซ่อมบำรุง 10 คน มาประจำการในเมียนมา “ในช่วง 1 ปีตามอายุประกันยุทโธปกรณ์” ซึ่งตัวเขาเองมีส่วนร่วมในการสร้างที่พำนักสำหรับบุคลากรรัสเซียเหล่านี้ด้วย

ไม่เพียงเท่านั้น กองทัพเมียนมาได้ส่งทหารไปยังรัสเซีย “จำนวน 50 นาย เพื่อเข้ารับการฝึกฝนการใช้งานเครื่องบินเหล่านี้”

ตอนนี้ เครื่องบินรบ 2 ลำจากทั้งหมด 6 ลำจากรัสเซีย ได้เดินทางถึงเมียนมาแล้ว และได้นำมาแสดงต่อสาธารณชน ระหว่างการสวนสนามของกองทัพด้วย อย่างไรก็ดี ยังไม่มีการพบเห็นเครื่องบินซุคฮอย ซู-30 ในสมรภูมิการสู้รบ

กองทัพเมียนมาในเวลานี้ กำลังโดดเดี่ยวมากขึ้นเรื่อย ๆ จากมาตรการคว่ำบาตรจากประชาคมโลก และเสียงประณามจากประเทศเพื่อนบ้าน ขณะที่รัฐบาลสหราชอาณาจักรได้อนุมัติมาตรการคว่ำบาตรเมียนมาชุดใหม่ เมื่อเดือน มี.ค. พุ่งเป้าไปที่การตัดช่องทางเข้าถึงเชื้อเพลิงของกองทัพเมียนมา

แต่รัสเซีย ซึ่งมีความสัมพันธ์มายาวนานกับกองทัพเมียนมา กลับยิ่งเพิ่มบทบาทในฐานะผู้สนับสนุนต่างชาติเข้มข้นมากขึ้น

Getty Images
Getty Images/ พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย พบกับประธานาธิบดีปูติน เมื่อปี 2022

เอกอัครราชทูตพิเศษสหประชาชาติประจำเมียนมา ทอม แอนดรูว์ ระบุว่า รัสเซียถือเป็นผู้จำหน่ายอาวุธให้เมียนมารายใหญ่ที่สุด ตามรายงานของเขาที่เผยแพร่เมื่อเดือน พ.ค. พบว่า รัสเซียได้จัดส่งอาวุธยุทโธปกรณ์ รวมมูลค่าเกือบ 14,000 ล้านบาทให้เมียนมา นับแต่การรัฐประหาร

บริษัทที่จัดส่งยุทโธปกรณ์เหล่านี้ให้กองทัพเมียนมา มีอยู่ 28 แห่ง รวมถึงที่รัฐบาลเป็นเจ้าของ โดยในรายงานยังระบุว่า ผู้จัดส่งอาวุธ 16 ราย ถูกบางประเทศคว่ำบาตร เพราะมีบทบาทในสงครามยูเครน และอาวุธของบริษัทเหล่านี้ ก็ถูกใช้เพื่อ “ก่อเหตุที่อาจเข้าข่ายอาชญากรรมสงคราม และอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ” ในเมียนมา

ขณะเดียวกัน กองกำลังฝ่ายต่อต้านก็พยายามตอบโต้กองทัพเมียนมาทางอากาศด้วยโดรน

ขิน เซียง วัย 25 ปี นำทีมนักบังคับโดรนหญิง ที่ดัดแปลงโดรนพลเรือน เป็นอากาศยานเพื่อทิ้งระเบิดใส่เป้าหมายทางทหาร

ขิน เซียง เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัย ที่เข้าร่วมการประท้วงต่อต้านการรัฐประหาร ก่อนจะจับอาวุธขึ้นต่อสู้กับกองทัพ

“เราไม่มีทรัพยากรแบบกองทัพ แต่เราไม่หยุดต่อสู้” เธอกล่าว จากค่ายในป่า

“เทียบกับเครื่องบินรบแล้ว โดรนของเรามันเหมือนเมล็ดงา แต่มันก็สร้างความเปลี่ยนแปลงได้ หากมีพวกมันมากพอ”

“ถ้าเราบินสูงพอ สัก 300 เมตรเหนือพื้นดิน ทหารจะไม่รู้ตัวเลย เราสามารถโจมตีพวกเขาได้อย่างมีประสิทธิภาพ พวกทหารกลัวโดรน”

ห่างออกไปบริเวณสถานที่หลบซ่อนตัว ข้ามพรมแดนเมียนมาไปยังประเทศไทย น.ท.อ่อง กำลังแบ่งปันข้อมูลข่าวกรองด้านกองทัพอากาศให้กับผู้คนที่กำลังต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย

“ถ้าเราฟังเสียงที่ดังยามค่ำคืน เราจะแยกเสียงเครื่องบินรบออกจากเสียงเครื่องบินพลเรือน ได้อย่างไร” เสียงของเขาแตกพร่า ระหว่างประชุมผ่านซูม จากบ้านของเขาในไทย

“เราแบ่งปันความรู้เท่าที่มีให้ได้มากที่สุด” น.ท.อ่อง กล่าว หลังเสร็จสิ้นการประชุม

แต่การทำเช่นนี้ เขาเองก็รู้สึกไม่ดีนัก “พี่ชายของผม เพื่อน ๆ และครูฝึก ที่ผมเคยอยู่ด้วย ผมไม่ได้เกลียดพวกเขาเป็นการส่วนตัว”

แต่การต่อสู้ครั้งนี้มันยิ่งใหญ่กว่าความรู้สึกนั้น “มันไม่ใช่แค่บุคคลใดบุคคลหนึ่ง เรากำลังต่อสู้กับสถาบัน”

และเขาเองก็มีความสุข เพราะ “ผมกำลังทำเพื่อประเทศชาติ ผมจะสนับสนุนการปฏิวัติไม่ว่าจะในรูปแบบใดก็ตามจนกว่ามันจะเสร็จสิ้น

หมายเหตุ : ข่าว บีบีซีไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว