เงินเฟ้อ : นักเศรษฐศาสตร์ TDRI ไขปม ของแพง-บาทอ่อน-ขึ้นดอกเบี้ย

 

แรงงานเขียงหมู

ที่มาของภาพ, Getty Images

ตัวเลขเงินเฟ้อล่าสุดของไทยประจำเดือน มิ.ย. 2565 อยู่ที่ 7.66% ทว่าสิ่งนี้หมายความว่าอย่างไรและสะท้อนออกมาเป็นผลกระทบต่อกระเป๋าเงินคนไทยมากแค่ไหน

ดร.กิริฎา เภาพิจิตร ผู้อำนวยการวิจัย นโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศและการพัฒนา และผู้อำนวยการโครงการวิเคราะห์เศรษฐกิจเชิงลึก จากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ชี้ว่าภาวะของแพงที่เกิดขึ้นในปัจจุบันมีสาเหตุมาจากทั้งฝั่งความต้องการซื้อ (ดีมานด์) และความต้องการขาย (ซัพพลาย)

ดร.กิริฎา เภาพิจิตร

ที่มาของภาพ, TDRI

สำหรับกรณีของประเทศไทยข้าวของที่แพงขึ้นส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจากราคาพลังงานของโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น เธออธิบายว่าจริงอยู่ที่สาเหตุหลักเป็นเพราะสงครามในยูเครน ทว่าเทรนด์ราคาพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้นเกิดมาตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมาแล้ว

ในการให้สัมภาษณ์กับบีบีซีไทยเมื่อ 13 ก.ค. ดร.กิริฎาชี้ว่า เศรษฐกิจในหลายประเทศทั่วโลกโดยเฉพาะในฝั่งสหรัฐอเมริกาและทวีปยุโรปฟื้นตัวอย่างชัดเจนมาตั้งแต่ปลายปี 2021 ซึ่งทำให้สินค้าหลายประเภทผลิตออกมาไม่เพียงพอความต้องการ

ในขณะเดียวกัน ขณะที่ความต้องการของผู้บริโภคปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ผู้ผลิตในหลายอุตสาหกรรมยังปรับตัวไม่ทันและจำนวนพนักงานไม่เพียงพอให้การผลิตสินค้าจนนำไปสู่ภาวะคอขวดในหลายธุรกิจ

เมื่อผสานรวมทั้งสองประเด็นเข้าด้วยกัน เทรนด์ราคาสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้นจึงเห็นได้ตั้งแต่ก่อนเกิดสงครามแล้ว

เมื่อประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ตัดสินใจบุกเข้ายูเครน ผลกระทบจึงกระจายไปในวงกว้าง

บีบีซีไทยรวบรวมสถิติสินค้าอุปโภคบริโภคที่รัสเซียและยูเครนเป็นผู้ผลิตสำคัญ โดยอ้างอิงข้อมูลจากองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (โออีซีดี) โดยพบว่า

เมื่อรวมกำลังผลิตจากทั้งสองประเทศ ในปี 2020 รัสเซียและยูเครนมีสัดส่วนการผลิตแร่แพลเลเดียมซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์หลายชนิดสูงถึง 43.3% ของกำลังการผลิตทั่วโลก

ขณะที่ก๊าซธรรมชาติและข้าวสาลี ตามมาในสัดส่วน 18.48% และ 14.09% ตามลำดับ

นอกจากนี้สินค้าอื่น ๆ ที่ได้รับผลกระทบชัดเจนจากสงครามยังรวมไปถึง แพลทินัม, น้ำมัน, นิกเกิล และทองคำ

ดัชนีราคาผู้บริโภค

ขณะที่เงินเฟ้อเป็นคำที่ประชาชนทั่วไปใช้พูดกัน เวลากระทรวงพาณิชย์ออกแถลงการณ์ประจำเดือนผู้คนจะได้ยินคำว่า “ดัชนี้ราคาผู้บริโภค” แทน

ดร.กิริฎาอธิบายว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคคือระดับราคา ส่วนคำว่าเงินเฟ้อคือ “ระดับราคาในเดือนนั้น ๆ เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า”

ขณะที่วิธีคิดดัชนีราคาผู้บริโภคจะมีความคล้ายคลึงกันทั่วโลกคือคิดบนพื้นฐานของสินค้าที่คนในประเทศใช้เป็นประจำ โดยมีกระทรวงพาณิชย์รับหน้าที่เป็นเจ้าภาพในการรวบรวมราคาสินค้าเหล่านั้น

แรงงานเขียงหมู

ที่มาของภาพ, Getty Images

สำหรับประเทศไทย ดร.กิริฎาอธิบายว่า กระทรวงพาณิชย์คำนวณดัชนีราคาผู้บริโภคมาจากสินค้าราว 400 ชนิด ที่คนไทยใช้เป็นประจำทุกเดือน โดยจะมีการนำมาหาค่าเฉลี่ยผ่านการถ่วงน้ำหนัก ซึ่งหมายความว่า ไม่ได้นำราคาสินค้าทั้งหมดมาแล้วหารด้วยจำนวนสินค้าทั้งหมด แต่จะต้องดูสัดส่วนน้ำหนักด้วย

ยกตัวอย่างเช่น คนไทยมีค่าใช้จ่ายอาหารสดอยู่ที่ราว 20% ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด ขณะที่มีค่าใช้จ่ายด้านพลังงานอยู่ราว 12% เพราะฉะนั้นสองตัวนี้ก็จะได้น้ำหนักตามความสำคัญของตัวเอง

ส่วนสาเหตุที่ประชาชนมองว่าสินค้าบางประเภทมีราคาสูงกว่าสัดส่วนที่ภาครัฐประกาศออกมานั้น ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์มหภาคชี้ว่า นั่นเป็นเพราะแม้จะมีการถ่วงน้ำหนักโดยดูจากสัดส่วนความสำคัญแล้ว แต่ก็ยังเป็นการหาค่าเฉลี่ยอยู่ดี

อีกทั้งสุดท้ายแล้ว ประชาชนยังต้องกลับมาดูด้วยว่าระดับรายได้ของตนเองเพิ่มขึ้นหรือไม่ เพราะขณะที่อัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น แต่รายได้เท่าเดิม ก็เท่ากับว่าประชาชนมีรายรับลดลง

ขึ้นดอกเบี้ยสกัดเงินเฟ้อ

ดร.กิริฎาอธิบายว่า ที่คนจำนวนไม่น้อยมองว่าเมื่อไทยมีระดับเงินเฟ้อสูงขึ้น แปลว่าธนาคารแห่งประเทศไทยในฐานะธนาคารกลางต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อสกัดกั้นภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งเป็นแนวคิดเดียวกับธนาคารกลางของสหรัฐ หรือเฟด

เธอแจกแจงต่อว่าระดับเงินเฟ้อสหรัฐ [ซึ่งสูงแตะ 9.1% ในเดือน มิ.ย.] เพิ่มขึ้นเพราะความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้น เพราะในช่วงที่โควิด-19 ระบาดหนัก ประชาชนไม่ค่อยได้ใช้เงินและรัฐบาลก็มีการชดเชยรายได้ในตัวเลขที่สูง ด้วยเหตุนี้เฟดจึงมองว่าหากปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะเป็นการจูงใจให้ประชาชนนำเงินมาฝากเพื่อกินดอกเบี้ย แทนการใช้จ่าย

“ขึ้นดอกเบี้ยเพื่อลดดีมานด์ ถ้าดอกเบี้ยสูง เราเอาเงินไปฝากแบงก์ดีกว่า”

ธนบัตร 100 บาท

ที่มาของภาพ, Getty Images

ขณะเดียวกันก็มีคำถามว่า ถ้าขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายแปลว่าดอกเบี้ยเงินกู้จะเพิ่มขึ้นด้วย แบบนี้จะไม่ถือว่าไปเร่งต้นทุนการผลิตแล้วยิ่งทำให้ราคาสินค้าแพงขึ้นไปอีกเหรอ

ดร.กิริฎาอธิบายว่า เมื่อสามารถลดความต้องการของผู้บริโภคลงได้แล้ว ผู้ผลิตก็ไม่จำเป็นต้องกู้เงินมาเพิ่มกำลังการผลิตของตนเอง จึงไม่นับว่าจะเป็นปัญหามากนัก

อย่างไรก็ดี เธอย้ำว่าที่อธิบายมาทั้งหมดนั้นเป็นสถานการณ์ของสหรัฐ ที่ราคาสินค้าเพิ่มสูงขึ้นเพราะมีความต้องการมากขึ้น หรือที่ภาษาทางเศรษฐศาสตร์เรียกว่า deamnd-pull inflation หรือแปลเป็นไทยว่า ภาวะเงินเฟ้อที่เกิดจากความต้องการซื้อสินค้าและบริการ

เมื่อกลับมาดูสถานการณ์ในประเทศไทย อย่างที่กล่าวไปตั้งแต่ต้นว่าราคาสินค้าของเราเพิ่มขึ้นจากต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะต้นทุนพลังงาน ซึ่งรัฐบาลไทยควบคุมไม่ได้ ดังนั้นการแก้ปัญหาตรงนี้ “จะไปพึ่งดอกเบี้ยอย่างเดียวไม่ได้” เพราะอย่างไร ต้นทุนจากต่างประเทศก็ไม่ลดลงอยู่ดี

ซ้ำร้าย “ถ้าเราขึ้นดอกเบี้ยมากเกินไป มันจะกระทบดีมานด์เราอีก” แต่ถ้าไทยไม่ขึ้นดอกเบี้ยเลย แล้วเฟดขึ้นเยอะไปกว่าเดิม ประเทศก็จะเจอปัญหาค่าเงินบาทมาให้ปวดหัวแทน

เพื่อทำความเข้าใจย่อหน้าก่อนหน้า ต้องเข้าใจก่อนว่าอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นของไทยตอนนี้เกิดจากภาวะต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น หรือที่เรียกว่า cost-push ด้วยเหตุนี้การขึ้นดอกเบี้ยซึ่งจะทำให้ความต้องการในประเทศลดลงจึงไม่ใช่เรื่องที่ดีเท่าไหร่หนัก เนื่องจากดีมานด์เป็นตัวกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ

ผู้บริโภค

ที่มาของภาพ, Getty Images

แต่หากไม่ขึ้นอัตราดอกเบี้ย ปัญหาที่ต้องเจออีกฝั่งคือเราจะเจอภาวะเงินไหลออก ดร.กิริฎาเล่าว่า ขณะนี้มีการประเมินจากสถาบันการเงินจำนวนมากว่า ปลายปีนี้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐอาจไปหยุดอยู่ที่ 3.5% ขณะที่ของไทยปัจจุบันอยู่ที่ 0.5%

ความห่างดังกล่าวจะทำให้นักลงทุนที่ปัจจุบันลงทุนอยู่ในประเทศไทยขนเงินออกไปกินดอกเบี้ยที่สหรัฐฯ แทน การสูญเสียเม็ดเงินเหล่านี้จะส่งผลกระทบโดยตรงกับค่าเงินบาทของประเทศซึ่งล่าสุดก็อ่อนลงมามากแล้ว

กลางเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ / 32.1 บาท ปัจจุบันตัวเลขขึ้นมาเป็น 1 ดอลลาร์สหรัฐ/36.3 บาท ณ วันที่ 13 ก.ค.

หากเงินบาทอ่อนตัวลง จะส่งให้ราคาของที่ไทยนำเข้าแพงขึ้น “เพราะฉะนั้นถ้าเราปล่อยดอกเบี้ยห่างมาก ๆ ราคาของในประเทศเราจะแพงขึ้นไปอีก”

ดร.กิริฎาชี้ว่า โจทย์ที่ผู้กำหนดนโยบายต้องแก้ตอนนี้คือการสร้างสมดุลให้กับทุกฝ่าย “ให้บาทไม่อ่อนมากเกินไป และไม่ทำให้ประชาชนมีภาระเช่นกัน”

สำหรับสถานการณฺ์ปัจจุบัน ดร.กิริฎาชี้ว่าทีดีอาร์ไอมองว่าแบงก์ชาติน่าจะต้องมีการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นสองครั้ง ครั้งละ 0.25% ภายในสิ้นปีนี้ ส่วนค่าเงินบาททั้งปีอาจเฉลี่ยที่ 34.50 – 35.00 บาท โดยเงินบาทอาจได้ปัจจัยบวก จากประมาณการระดับโลกที่มองว่าราคาพลังงานจะปรับตัวลดลงในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ เนื่องจากกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันมีการตกลงเพื่อเพิ่มระดับการผลิตแล้ว

ดอกเบี้ยนโยบาย ดอกเบี้ยเงินกู้ ดอกเบี้ยเงินฝาก

เมื่อมีข่าวการขึ้นดอกเบี้ยออกมาจากฝั่งธนาคารแห่งประเทศไทย สิ่งที่สื่อสารออกไปคือ “ดอกเบี้ยนโยบาย” ไม่ใช่ดอกเบี้ยเงินกู้/ฝาก ของธนาคารพาณิชย์

ทั้งนี้ ดอกเบี้ยทั้งหมดมีความเชื่อมโยงกัน

นักเศรษฐศาสตร์หญิงจากทีดีอาร์ไออธิบายว่า ดอกเบี้ยนโยบายคือดอกเบี้ยที่ธนาคารกลางเก็บหรือจ่ายให้กับธนาคารพาณิชย์ที่มาฝากเงินหรือมากู้เงินกับธนาคารกลาง ด้วยเหตุนี้ดอกเบี้ยนโยบายจึงทำหน้าที่เป็นตัวบ่งชี้ต้นทุนของธนาคารพาณิชย์

หากธนาคารกลางขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายก็มีแนวโน้มที่ธนาคารพาณิชย์จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของพวกเขาเช่นเดียวกัน

ทว่าไม่มีความจำเป็นที่ธนาคารพาณิชย์จะต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของพวกเขาในระดับเดียวกับธนาคารกลาง

ไทยจะเป็นแบบศรีลังกาไหม

ประชาชนจำนวนไม่น้อยที่ได้ดูข่าวที่เกี่ยวข้องกับประเทศศรีลังกาซึ่งประสบปัญหาทางเศรษฐกิจอย่างหนักตั้งข้อสังเกตว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่ไทยจะเป็นเช่นนั้น เพราะประเทศมีระดับหนี้สาธารณะที่เพิ่มสูงขึ้น

ดร.กิริฎาอธิบายว่า สถานะทางการคลังของไทยมีความแข็งแรงอยู่มาก ขณะที่ศรีลังกาไม่มีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศเพียงพอที่จะซื้อแม้กระทั่งพลังงาน ไทยมีเงินสำรองมากถึง 2.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ติดท็อป 15 ของโลก

อีกทั้งเมื่อประเมินความยั่งยืนของหนี้สาธารณะกับระดับการเติบโตของประเทศเพื่อตอบคำถามว่า “ไทยจะมีปัญญาจ่ายหนี้ไหม” นักเศรษฐศาสตร์พบว่า หากเศรษฐกิจเติบโตในระดับ 3%-4% ต่อปี โดยระดับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้อยู่ที่ตัวเลขเดียวกัน “หรือแม้แต่หนี้สาธารณะขึ้นไปเป็น 70% ต่อจีดีพี (ไทย) ก็ยังมีปัญญาจ่ายหนี้อยู่”

ทว่า ดร.กิริฎาย้ำว่า สิ่งที่ตนเองอยากให้ภาครัฐทำตอนนี้คือเมื่อเศรษฐกิจไม่ดีก็ควรจะใช้เงินเพื่อกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ “เวลานี้ ถ้ารัฐต้องกู้เงิน ก็ควรกู้มาช่วยประชาชน”

……..

ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว