ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี กับดัชนีความสามารถในการแข่งขันโลกของไทย ไปด้วยกันได้ไหม

  • ทศพล ชัยสัมฤทธิ์ผล
  • ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย

ศาสตราจารย์ อาร์ทูโร บริส เดินทางมาประเทศไทยครั้งแรกปี 2557 ช่วงหลังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ที่นำโดยพลเอก ประยุทธิ์ จันทร์โอชา ทำรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้ไม่นาน

เขายอมรับว่า ตอนนั้น “เกิดความรู้สึกเชิงบวกอยู่มากในสังคม” และ “ผู้นำภาคธุรกิจหลายคนก็ให้การสนับสนุนรัฐบาล” เพราะมองว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ดี ยุติความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในไทย ผลพวงการคัดค้านร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม “สุดซอย-เหมาเข่ง” ที่ฝ่ายผู้คัดค้านมองว่า เพื่อแผ้วทางให้ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีได้กลับไทย

แต่ทุกวันนี้ “ความรู้สึกด้านบวกเหล่านั้น มันหายไปหมดแล้ว เหล่าผู้บริหารต่างบอกในผลสำรวจว่า พวกเขามีทัศนคติด้านลบต่อรัฐบาล และนโยบายต่าง ๆ ที่รัฐบาลไทยดำเนินการ”

ถ้าเป็นคนทั่วไปพูด อาจดูเป็นคำกล่าวที่ไม่สลักสำคัญอะไร แต่ ศ.บริส เป็นผู้อำนวยการศูนย์ความสามารถในการแข่งขันโลก สถาบันการศึกษาด้านการบริหารธุรกิจ (IMD World Competitiveness Center) ที่จัดทำรายงานการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขัน หรือ IMD World Competitiveness Ranking ซึ่งถือเป็นหนึ่งในดัชนีชี้วัดสำคัญของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

ไทยตก 2 อันดับ…ไม่น่าห่วงเท่าร่วงเกือบทุกดัชนี

รายงานการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันฉบับล่าสุด เปิดเผยออกมาเมื่อ 15 มิ.ย. 2565 พบว่าประเทศไทยตกลงไป 2 อันดับ อยู่ที่อันดับ 33 จาก 63 ประเทศทั่วโลก ตามหลังมาเลเซียที่อยู่อันดับ 32 และสิงคโปร์ที่อยู่อันดับ 3 ของโลก

ADVERTISMENT
.

ที่มาของภาพ, .

ADVERTISMENT

สิ่งที่ ศ.บริส กังวลมากกว่าอันดับที่ปรับตัวลงของไทย คือปัจจัยชี้วัดส่วนใหญ่ที่ร่วงลงมาจากจุดที่ค่อนข้างดี มาถึงอันดับกลางตาราง เมื่อย้อนดู 5 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปีแรกที่ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ประกาศลงในเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา

  • สมรรถนะทางเศรษฐกิจ (Economic Performance) – ภาพรวมอันดับลดลงจากปี 2564 ถึง 13 อันดับ มาอยู่ที่อันดับ 34 ในปี 2565 สาเหตุหลักจากปัจจัยการค้าระหว่างประเทศที่ไทยขาดดุลบัญชีเดินสะพัด ในปี 2564 ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในรอบ 16 ปี จากผลกระทบของการระบาดของไวรัสโควิด 19 จนมีผลสืบเนื่องไปถึงภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศ
  • ประสิทธิภาพของภาครัฐ (Government Efficiency) – ภาพรวมอันดับลดลงจากปี 2564 ถึง
  • ประสิทธิภาพภาคธุรกิจ (Business Efficiency) – เคยอยู่อันดับดีที่สุด คือ 21 ในปี 2564 แต่ก็ปรับลดลงมาอยู่อันดับ 30 ในปี 2565 สาเหตุหลักจากปัจจัยผลิตภาพและประสิทธิภาพ
  • โครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) – ปรับขึ้นลงเล็กน้อยทุกปี แม้ปี 2565 อันดับจะดีขึ้นมาอยู่ที่ 44 เมื่อเทียบกับอันดับ 48 ในปี 2561 แต่ก็ยังถือว่าอยู่ค่อนไปทางท้ายตาราง

ผอ.ศูนย์ความสามารถในการแข่งขันโลก ยอมรับว่า วิกฤตโควิด-19 และสงครามรัสเซีย-ยูเครน สร้างความผันผวนต่อการจัดอันดับอย่างมีนัยยะสำคัญ แต่วิกฤตก็สอนให้เหล่าผู้บริหารประเทศและธุรกิจเล็งเห็นว่า “เราวางแผนระยะยาวไม่ได้แล้ว”

เขายกตัวอย่างประเทศที่ไต่อันดับขึ้นต่อเนื่องอย่างเดนมาร์ก จากอันดับ 6 ในปี 2561 มาสู่อันดับ 1 ในปี 2565 รวมถึงสิงคโปร์ที่เคยตกลงจากอันดับ 1 ไปอันดับ 5 ในปี 2564 แล้วไต่อันดับกลับมาสู่อันดับ 3 ในปี 2565 โดย ศ.บริส อธิบายว่า สิ่งที่ประเทศที่ทำผลงานได้ดีเหล่านี้มีเหมือนกัน คือ “ภาวะผู้นำ” ที่ปรับยุทธศาสตร์ถี่ ๆ จนนำประเทศก้าวผ่านวิกฤตไปได้ โดยเฉพาะวิกฤตที่คาดไม่ถึงอย่างโรคระบาดและสงคราม

ในบรรยายต่อสมาคมธุรกิจในกรุงเทพฯ เมื่อต้น ก.ค. ศ.บริสบอกว่าทักษะที่รัฐบาลไทยยังขาดนั้น อาทิ

  • ศักยภาพที่จะตอบสนองอย่างรวดเร็ว
  • การสร้างวัฒนธรรมของความเร่งด่วน เพื่อรับมือวิกฤต
  • ความกล้าเดิมพันครั้งใหญ่
  • มีพันธกิจ วิสัยทัศน์ คุณค่า ที่จะเป็นกุญแจสำคัญในภาวะวิกฤต
  • เข้าใจถึงความจำเป็นและพร้อมรับมือสถานการณ์แบบระยะสั้น
"ไทยแค่ต้องเปลี่ยนทัศนคติผู้นำ" ศาสตราจารย์อาทูโร บริส

ที่มาของภาพ, TOSSAPOL CHAISAMRITPOL / BBC Thai

จากการเทียบเคียงเนื้อหาในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เราไม่พบเรื่องเหล่านี้

ยุทธศาสตร์ชาติ 2 ทศวรรษ

แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (2561-2580) ประกาศเมื่อ 8 ต.ค. 2561 ถือเป็นยุทธศาสตร์ชาติฉบับแรกของไทย ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติเพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์ คือ “ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง”

ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ความหนา 74 หน้า ที่ร่างขึ้นโดยคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานคณะกรรมการฯ โดยตำแหน่ง ประกอบด้วยยุทธศาสตร์ 6 ด้าน

  • ความมั่นคง
  • การสร้างความสามารถในการแข่งขัน
  • การพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์
  • การสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม
  • การสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
  • การปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ

แม้จะบังคับใช้นาน 2 ทศวรรษ แต่ พ.ร.บ. การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2560 เปิดช่องการแก้ไขยุทธศาสตร์ โดยกำหนดว่าต้องทบทวนยุทธศาสตร์ชาติทุก 5 ปี หรือในกรณีสถานการณ์ของโลกหรือของประเทศไทยเปลี่ยนแปลงไป จนดำเนินการตามยุทธศาสตร์ที่ตั้งไว้ไม่ได้

"เราวางแผนระยะยาวไม่ได้แล้ว"

ที่มาของภาพ, SOE ZEYA TUN / Reuters

ยุทธศาสตร์ชาติด้านที่ตรงกับเศรษฐกิจมากที่สุด คือ ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งตั้งอยู่บนแนวคิด 3 ประการ คือ “ต่อยอดอดีต ปรับปัจจุบัน และสร้างคุณค่าใหม่ในอนาคต”แต่เมื่อเทียบกับผลการดำเนินงานที่ผ่านมา ตัวเลขจริงหลายตัวก็ดูไม่สอดคล้องกับเป้าที่ตั้ง

เป้าหมายที่ 1 นำประเทศไทยสู่ประเทศพัฒนาแล้ว

การชี้วัด: การเป็นประเทศพัฒนาแล้วต้องมีรายได้ต่อหัวประชากรกว่า 15,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ 467,000 บาทต่อคนต่อปี ภายในปี 2579

สถานการณ์ปัจจุบัน: ข้อมูลสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. ประมาณการรายได้ต่อหัวคนไทยล่าสุดในปี 2565 อยู่ที่ 248,468 บาทต่อคนต่อปี หรือคิดเป็น 7,351 ดอลลาร์สหรัฐฯ ยังเหลืออีก 14 ปีที่ไทยต้องไปให้ถึงเป้า

เป้าหมายที่ 2 จีดีพีขยายตัวเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า5% ต่อปี

สถานการณ์: สศช. ประเมินเศรษฐกิจไทยปี 2565 ว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ จีดีพี จะขยายตัวในช่วง 2.5 – 3.5% แม้จะดีกว่าการขยายตัวในปี 2564 ที่เพิ่มขึ้น 1.6% แต่ยังถือว่าไม่ตามเป้าหมาย 5% ต่อปี (การเติบโตของจีดีพี 2561 – 4.2% / 2562 – 2.2% / 2563 – 6.2% / 2564 – 1.6%)

เป้าหมายที่ 3 ผลิตภาพการผลิตรวมเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 3%ต่อปี

การชี้วัด: ผลิตภาพการผลิตรวม” (Total Factor Productivity: TFP) หรือการเพิ่มขึ้นของผลผลิตที่ไม่ได้มาจากการเพิ่มขึ้นของปัจจัยการผลิต (ปัจจัยแรงงาน ที่ดิน และทุน) แต่อาจเป็นผลมาจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี คาดหวังว่า ผลิตภาพการผลิตรวมเฉลี่ยของประเทศไทยจะต้องไม่ต่ำกว่า 3% ต่อปี

สถานการณ์ปัจจุบัน: ช่วงปี 2560-2563 โตเฉลี่ย 1.45% ถือว่ายังไม่ตามเป้า

เป้าหมายที่ 4 อยู่ในอันดับ 1 ใน 20 ของการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขัน

การชี้วัด: ประเทศไทยต้องขึ้นไปอยู่ในอันดับ 1 ใน 20 ของการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขัน ของ International Institute for Management Development (IMD) ซึ่งเป็นสถาบันจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศที่เน้นปัจจัยด้านเศรษฐกิจมหภาค

สถานการณ์ปัจจุบัน: ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 33 จาก 63 ประเทศทั่วโลก ด้วยปัจจัยชี้วัดที่ถดถอยลงอย่างมีนัยยะสำคัญ

ผ่านไปเกือบ 5 ปี ยุทธศาสตร์ชาติยังไม่เกิดผล

ที่มาของภาพ, Getty Images

ทฤษฎี หงส์ดำ-แรดสีเทา-ความฝันของหมีพูห์

ศาสราจารย์บริสอธิบายเรื่องของทัศนคติการเตรียมรับมือปัญหา เปรียบเทียบกับสัตว์และตัวการ์ตูนว่า

หงส์ดำ – อธิบายถึงสิ่งที่คนไม่คาดคิดว่าจะเกิดขึ้น เป็นสถานการณ์คล้ายกับวิกฤตเศรษฐกิจปี 2551 ในสหรัฐฯ หรือวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์

แรดสีเทา – คือความแปลกที่เป็นเรื่องใหญ่ ทุกคนเห็นอย่างชัดเจน แต่กลับไม่ทำอะไรเลย เหมือนกับที่เรารู้ว่าโลกกำลังจะเปลี่ยน แต่เรากลับไม่ทำอะไร

เฮฟฟาลัมป์และวูเซิล – เป็นสัตว์คล้ายช้าง และตัววีเซิล ที่วินนี่ เดอะ พูห์ ฝันถึงว่า พวกมันจะมาขโมยน้ำผึ้งของหมีพูห์ เปรียบได้กับสิ่งที่เราฝันถึงว่าจะเกิดขึ้น แต่เราไม่คาดคิดว่าจะเกิดขึ้นในโลกความเป็นจริง แต่มันกลับเกิดขึ้น โดย ศ.บริส เปรียบ เฮฟฟาลัมป์คือโควิด-19 และวูเซิลคือสงครามรัสเซีย-ยูเครน นั่นเอง

เฮฟฟาลัมป์และวูเซิล - จากความฝันสู่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง

ที่มาของภาพ, Disney.Fandom

“โดนัลด์ ทรัมป์ อาจชนะเลือกตั้งปี 2024 ลิงอาจจะครองโลก…ทุกอย่างเป็นไปได้ เราจึงต้องคิดระยะสั้น ไม่คิดระยะยาว” ศาสตราจารย์บริส กล่าว และสิ่งสำคัญที่ผู้นำต้องทำในสภาวะที่วิกฤตเกินคาดเดาอาจเกิดขึ้นได้เสมอ คือ “เราต้องทำให้ประเทศอยู่ในจุดที่เมื่อเกิดวิกฤตเราจะปรับตัวรับมือได้”

แต่ ผอ. ศูนย์ความสามารถในการแข่งขันโลก ยอมรับว่า ประเทศไทยกำหนดเป้าหมายได้ชัดเจน ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี แต่ต้องแก้ไขเรื่องการวางยุทธศาสตร์ ทำสิ่งที่ต่างออกไปจากเดิม เพื่อบรรลุเป้าหมายเดิม

ผู้นำอยู่ยาว…ดีหรือไม่ดี

สิงคโปร์ปกครองด้วยรัฐบาลพรรคเดียวมาโดยตลอด ด้วยแรงสนับสนุนจากประชาชนที่ยังสูง ขณะที่จีนมีพรรคคอมมิวนิสต์กำหนดและดำเนินยุทธศาสตร์ได้อย่างเบ็ดเสร็จและเด็ดขาด ซึ่งสองประเทศนี้อยู่ในอันดับท๊อป 20 ของการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขัน (สิงคโปร์อันดับ 3 / จีนอันดับ 17)

บีบีซีไทยจึงถามศาสตราจารย์บริสว่า แล้วทำไมประเทศไทยที่มีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีมายาวนาน ทั้งจากการยึดอำนาจ และจากการถูกเสนอชื่อโดยผู้แทนราษฎรจากการเลือกตั้ง และวุฒิสมาชิกที่มาจากการแต่งตั้ง รวมกว่า 8 ปี ทำไมความไร้รอยต่อ และไม่มีการเปลี่ยนผู้นำมานานของไทย จึงมีความสามารถในการแข่งขันที่ลดลงต่อเนื่อง

ศ.บริส ตอบว่า “นับแต่รัฐประหารปี 2014 ประเทศไทยก็มีผู้นำคนเดิมหน้าเดิมมาตลอด…แต่มันกลับกลายเป็นความชะล่าใจ” ขณะที่ทัศนคติผู้นำที่จำเป็นต่อเศรษฐกิจไทย คือต้อง “ผสานวิสัยทัศน์ระยะยาวที่มาจากฉันทามติของประชาชน หรือสิ่งที่เราอยากให้ประเทศเป็น เข้ากับความคล่องตัวระยะสั้น และทำได้เร็ว”

พล.อ.ประยุทธ์ พูดในที่สาธารณะหลายครั้งว่า เขาพยายามทำหน้าที่ไม่ให้บกพร่อง คำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่ มอบหมายให้ผู้เกี่ยวข้องทำงานด้วยความรวดเร็ว ยกหลายเรื่องเป็นวาระแห่งชาติในการแก้ปัญหา

ทั้งนี้ ถ้าเทียบกับชาติอื่นในอาเซียน อาทิ ฟิลิปปินส์ (อันดับ 48) อินโดนีเซีย (อันดับ 44) และเวียดนาม (ไม่ได้ติดอันดับ) ศ.บริส มองว่า ประเทศไทย ยังถือเป็นความหวังของอาเซียน ที่จะไต่เต้าไปสู่อันดับที่ดีขึ้นได้ รวมถึง 20 อันดับแรก ตามเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

แต่ถ้าให้เทียบความสำคัญของ “ผู้นำ” สู่การเพิ่มความสามารถการแข่งขันนั้น ศ.บริส ทิ้งท้ายว่า

“ไม่จำเป็นต้องทุ่มเงินลงทุนหลายหมื่นล้านบาท ไทยแค่ต้องเปลี่ยนทัศนคติผู้นำว่า ต้องวิ่งให้เร็ว ปรับตัวเร็ว และประกาศชัดว่า จะทำให้ไทยเป็นเศรษฐกิจที่มีศักยภาพ และทำมันอย่างมีประสิทธิภาพ”

สรุปแล้วผู้นำอยู่นาน ดีหรือไม่

ที่มาของภาพ, POOL

รัฐบาลไทยชี้แจงอย่างไร

“หากได้เข้าใจการบริหารราชการของประเทศไทย ก็อาจจะไม่วิจารณ์เช่นนี้” ดร. รัชดา ธนาดิลก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวกับบีบีซีไทย หลังรับทราบประเด็นต่าง ๆ ที่ถูกวิจารณ์ แล้วชี้แจงว่า

แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เป็นแนวทางอย่างกว้างในการขับเคลื่อนประเทศ แต่ไทยยังมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติระยะ 5 ปี ที่ใช้มาแล้ว 12 ฉบับ ซึ่งแผนการทำงานของหน่วยงานราชการ และภาคเอกชนจะต้องคำนึงถึงความสอดคล้องกับแผนนี้

แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 จะเริ่มใช้ ต.ค. 2566 จนถึง ก.ย. 2570 มี 5 เป้าหมายหลัก 4 มิติ และ 13 หมุดหมายการพัฒนา ดังนี้

5 เป้าหมายหลัก คือ

  • การปรับโครงสร้างการผลิตสู่เศรษฐกิจฐานนวัตกรรม
  • การพัฒนาคนสำหรับโลกยุคใหม่
  • การมุ่งสู่สังคมแห่งโอกาสและความเป็นธรรม
  • การเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืน
  • การเสริมสร้างความสามารถของประเทศในการรับมือกับความเสี่ยงและการเปลี่ยนแปลง ภายใต้บริบทโลกใหม่

4 มิติ และ 13 หมุดหมายการพัฒนา คือ

1. มิติภาคการผลิตและบริการเป้าหมาย ประกอบด้วย

หมุดหมายที่ 1 ไทยเป็นประเทศชั้นนำด้านสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปมูลค่าสูง

หมุดหมายที่ 2 ไทยเป็นจุดหมายของการท่องเที่ยวที่เน้นคุณภาพและความยั่งยืน

หมุดหมายที่ 3 ไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญของโลก

หมุดหมายที่ 4 ไทยเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์และสุขภาพมูลค่าสูง

หมุดหมายที่ 5 ไทยเป็นประตูการค้าการลงทุนและยุทธศาสตร์ทางโลจิสติกส์ที่สำคัญของภูมิภาค

หมุดหมายที่ 6 ไทยเป็นศูนย์กลางด้านดิจิทัลและอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะของอาเซียน

2. มิติโอกาสและความเสมอภาคทางเศรษฐกิจและสังคม ประกอบด้วย

หมุดหมายที่ 7 ไทยมีวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่เข้มแข็ง มีศักยภาพสูง และสามารถแข่งขันได้

หมุดหมายที่ 8 ไทยมีพื้นที่และเมืองอัจฉริยะที่น่าอยู่ ปลอดภัย เติบโตได้อย่างยั่งยืน

หมุดหมายที่ 9 ไทยมีความยากจนข้ามรุ่นลดลง และคนไทยทุกคนมีความคุ้มครองทางสังคมที่เพียงพอ เหมาะสม

3. มิติความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วย

หมุดหมายที่ 10 ไทยมีเศรษฐกิจหมุนเวียนและสังคมคาร์บอนต่ำ

หมุดหมายที่ 11 ไทยสามารถลดความเสี่ยงและผลกระทบจากภัยธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

4. มิติปัจจัยผลักดันการพลิกโฉมประเทศ ประกอบด้วย

หมุดหมายที่ 12 ไทยมีกำลังคนสมรรถนะสูง มุ่งเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ตอบโจทย์การพัฒนาแห่งอนาคต

หมุดหมายที่ 13 ไทยมีภาครัฐที่ทันสมัย มีประสิทธิภาพ และตอบโจทย์ประชาชน

ส่วนข้อวิจารณ์ว่าประเทศไทยขาดในเรื่องขีดความสามารถนั้น ดร. รัชดา อธิบายว่าการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศได้ถูกวางไว้ในแผนพัฒนาฯ 13 แล้ว

เรื่องเร่งด่วน คือ การพัฒนาคนให้มีคุณภาพและทักษะสอดคล้องกับความต้องการของตลาด รวมทั้งมีความสามารถที่จะรองรับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตโดยในระยะต่อไปไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในอัตราเร่ง ทำให้จำนวนแรงงานลดลง และแรงงานบางส่วนนั้นต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศเพื่อทดแทนจำนวนแรงงานที่ลดลง

ในแผนพัฒนาฯ 13 จึงกำหนดให้การพัฒนาคนไว้ในหมุดหมายที่ 12 ให้คนไทยมีกำลังคนสมรรถนะสูง มุ่งเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ตอบโจทย์การพัฒนาแห่งอนาคต ซึ่งเน้นที่การพัฒนาคนสำหรับโลกยุคใหม่ โดยพัฒนาให้คนไทยมีทักษะและคุณลักษณะที่เหมาะสมกับโลกยุคใหม่

ขีดความสามารถในการแข่งขันที่สำคัญอีกเรื่อง คือ การเร่งรัดการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ รวมทั้งการเข้าสู่การเจรจาพหุภาคีกับกลุ่มประเทศต่าง ๆ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งในการดึงดูดการค้า และการลงทุนในปัจจุบันเพราะจะทำให้ประเทศไทยสามารถขยายตลาดการค้าการส่งออกไปยังต่างประเทศ รวมทั้งขยายตลาดการส่งออกไปยังตลาดใหม่ได้เพิ่มขึ้นในอนาคต รวมทั้งสามารถที่จะดึงประเทศอื่นๆเข้ามาลงทุนในประเทศไทยได้เพิ่มขึ้นด้วย

…………

ข่าว BBCไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว