ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภค ส.ค. 2565 ฟื้นระดับ 43.7 ปรับขึ้นต่อเนื่องเดือนที่ 3

หอการค้าชี้ ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ส.ค. 2565 ปรับขึ้นต่อเนื่องเดือนที่ 3 สูงสุดรอบ 8 เดือน ชี้สัญญาณเศรษฐกิจฟื้น นักท่องเที่ยวเข้ามามากขึ้น คาดปัญหาน้ำท่วมสร้างความเสียหายเศรษฐกิจราว 10,000 ล้านบาท

วันที่ 13 กันยายน 2565 นายธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ และอธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนสิงหาคม 2565 ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 และเป็นระดับที่สูงสุดในรอบ 8 เดือน นับตั้งแต่กุมภาพันธ์ 2565

นายธนวรรธน์ พลวิชัย

เนื่องจากผู้บริโภครู้สึกว่าเศรษฐกิจเริ่มปรับตัวดีขึ้น หลังจากที่สถานการณ์โควิดในประเทศเริ่มปรับตัวมีการผ่อนคลายกฎระเบียบต่าง ๆ ให้ธุรกิจเริ่มเปิดดำเนินการได้เป็นปกติ ตลอดจนการผ่อนคลายให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศได้สะดวกมากขึ้น ประกอบกับราคาน้ำมันเบนซินปรับตัวลดลงอย่างมาก

อย่างไรก็ตาม หากความเชื่อมั่นยังคงฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะเริ่มฟื้นตัวชัดเจนมากขึ้นในไตรมาส 4 ของปีนี้ โดยผู้บริโภคจะกลับมาบริโภคสินค้าและบริการโดดเด่นขึ้นในปลายไตรมาส 3 ของปีนี้เป็นต้นไป

ทั้งนี้ ยังเห็นว่าในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ แนวโน้มที่ดีจากการขยายตัวของทั้งภาคการส่งออก การท่องเที่ยว และการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งจะช่วยทำให้เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4 สามารถขยายตัวได้ที่ระดับ 3.5-4% โดยมองว่าทั้งการส่งออกและการท่องเที่ยวจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

ในส่วนของการท่องเที่ยวนั้น จากการเปิดประเทศการผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ และการอนุญาตเปิดสถานบันเทิง เชื่อว่าจะทำให้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยถึงเดือนละ 1.5-2 ล้านคน/เดือนในช่วงไตรมาส 4 นี้ ส่งผลให้ทั้งปี 2565 ยอดนักท่องเที่ยวต่างชาติ มีโอกาสขึ้นไปที่ระดับ 10-12 ล้านคน

ส่วนสถานการณ์น้ำท่วมในขณะนี้ คาดว่าจะส่งผลต่อความเสียหายทางเศรษฐกิจราว 5,000-10,000 ล้านบาท แต่อย่างไรก็ดี ผลกระทบดังกล่าวเชื่อว่าจะสามารถชดเชยได้จากรายได้นักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเข้ามาไทยมากขึ้นในช่วงไตรมาส 4 นี้ ซึ่งหากมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยอย่างน้อย 1 ล้านคน/เดือน ก็จะทำรายได้ราว 50,000 ล้านบาท

นายธนวรรธน์กล่าวอีกว่า เศรษฐกิจไทยในปีนี้ ยังมี 5 ปัจจัยที่ต้องติดตาม ได้แก่ 1. สงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน 2.ปัญหาความขัดแย้งระหว่างจีน-สหรัฐ 3.สถานการณ์น้ำท่วม 4.การชุมนุมทางการเมืองในประเทศ 5.การระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่เมื่อพิจารณาในภาพรวมแล้ว ทั้ง 4-5 ปัจจัยดังกล่าว ยังไม่เห็นสัญญาณรุนแรงที่จะเกิดขึ้นจนส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภค

ความเชื่อมั่นฟื้น ระดับ 43.7 แรงหนุนเปิดประเทศ

นายวาทิตร รักษ์ธรรม ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือนสิงหาคม 2565 ปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 43.7 จากระดับ 42.4 ในเดือนกรกฎาคม 2565 ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม อยู่ที่ 37.8, ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสการหางานทำ อยู่ที่ 40.9 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ที่ 52.3

วาทิตร รักษ์ธรรม
วาทิตร รักษ์ธรรม ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

สำหรับปัจจัยบวกที่หนุนดัชนีปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ผ่อนคลายมาตรการในการเดินทางระหว่างประเทศ ยกเลิกระบบ Thailand Pass, ปรับระดับพื้นที่โควิดเป็นสีเขียวทั่วประเทศ และการผ่อนคลายเรื่องการสวมหน้ากากอนามัยให้เป็นตามความสมัครใจ การฉีดวัคซีนป้องกันโควิดในทั่วโลกที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น

คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมติมาตการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม เช่น คนละครึ่ง เฟส 5, โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้กับผู้ถือบัตรคนจน เป็นต้น สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ รายงานเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2/65 ขยายตัว 2.5% และทั้งปี’65 ยังเติบโตได้ 2.7-3.2%

การส่งออกเดือนกรกฎาคม ขยายตัวได้ 4.33% คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% ราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการปรับตัวเพิ่มขึ้น

ขณะที่ปัจจัยลบ ประกอบด้วย ผู้บริโภคมีความรู้สึกว่าเศรษฐกิจยังฟื้นตัวช้า ค่าครองชีพและราคาสินค้าทรงตัวในระดับสูง ทำให้รายได้ไม่สอดคล้องกับค่าใช้จ่าย ความกังวลต่อสถานการณ์ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ยังเกิดขึ้นทั่วประเทศ


ความกังวลต่อภาวะสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ที่ส่งผลต่อราคาน้ำมันในตลาดโลกให้มีแนวโน้มสูงขึ้น ซึ่งจะมีผลต่อต้นทุนสินค้าให้ปรับเพิ่มขึ้นตาม และอาจมีผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก รวมทั้งเศรษฐกิจไทย ความกังวลต่อสถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ ซึ่งกระทบต่อเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวในพื้นที่