เปิดวิธีคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ เลือกตั้ง 66 พรรคไหนจะได้เท่าไร

วิธีคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคไหน ได้เท่าไร

ถอดรหัสรัฐธรรมนูญ วิธีการคำนวณคะแนน ส.ส.บัญชีรายชื่อใหม่ ในการเลือกตั้ง 2566 พรรคไหน จะได้เท่าไร คำนวณอย่างไร

การเลือกตั้งวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 เป็นการเปลี่ยนกติกาในรัฐธรรมนูญ สำหรับการนับคะแนน และวิธีการเลือกตั้ง ที่เปลี่ยนจากการเลือกตั้งปี 2562 ซึ่งกติกาเลือกตั้งปี 2566 เปลี่ยนมาเป็นบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ แบ่งเป็น บัตร ส.ส.เขต และ บัตร ส.ส.บัญชีรายชื่อ ต่างจากกติกาเลือกตั้งปี 2562 ที่มีบัตรใบเดียว กาครั้งเดียวได้ทั้ง ส.ส.เขตและ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ซึ่งจะทำให้การคำนวณคะแนน ส.ส.ทั้ง 2 ระบบต่างไปจากเดิมด้วย

วิธีคำนวณคะแนน ส.ส.บัญชีรายชื่อ

การคำนวณคะแนน ส.ส.บัญชีรายชื่อ : บัญญัติไว้ใน มาตรา 128 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2566 ไว้ว่า เมื่อ กกต.ได้รับรายงานผลรวมคะแนนแบบบัญชีรายชื่อจาก ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดแล้ว ให้ดำเนินการคำนวณสัดส่วนเพื่อหาผู้ได้รับเลือกตั้งเป็น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ ดังต่อไปนี้

ข้อ 1.ให้รวมผลคะแนนบัญชีรายชื่อทั้งหมดที่ทุกพรรคการเมืองได้รับจากการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อทั้งประเทศ

ข้อ 2.ให้นำคะแนนรวมจากทุกพรรคตามข้อ 1 หารด้วย 100 ผลลัพธ์ที่ได้ให้ถือเป็นคะแนนเฉลี่ยต่อ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ 1 คน

ยกตัวอย่าง : ถ้ามีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง กาบัตรบัญชีรายชื่อทั้งหมด 35 ล้านคะแนน ก็จะนำ 35 คะแนนมาหารด้วย 100 ซึ่งเป็นจำนวนของ “ส.ส.บัญชีรายชื่อ” ในสภาทั้งหมด ผลลัพธ์ที่ได้คือ 350,000 คะแนน

ข้อ 3.จากนั้น ในการคำนวณว่า แต่ละพรรคการเมืองจะได้ จำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อกี่คน ให้นำคะแนนรวมจากการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อที่แต่ละพรรคการเมืองได้รับ “หารด้วย” คะแนนเฉลี่ยตามข้อ 2 ผลลัพธ์ที่ได้เฉพาะส่วนที่เป็นจำนวนเต็มคือจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองนั้นได้รับ

ยกตัวอย่าง : กรณี พรรค ก.ได้คะแนน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 700,000 คะแนน (นับเฉพาะจำนวนเต็ม) นำมาหารกับคะแนนเฉลี่ย 350,000 ซึ่งเป็นผลลัพธ์ตาม ข้อ 2 เท่ากับ พรรค ก.จะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 2 คน

ข้อ 4.ในกรณีที่จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองได้รับรวมกัน ทุกพรรคการเมืองมีจำนวนไม่ครบ 100 คน ให้พรรคการเมืองที่มีผลลัพธ์ที่เป็นเศษโดยไม่มีจำนวนเต็ม และพรรคการเมืองที่มีเศษหลังจากการคำนวณตามข้อ 3

พรรคใดเป็นหรือมีเศษจำนวนมากที่สุด ให้ได้รับจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่ออีก 1 คนเรียงตามลำดับ จนกว่าจะมีจำนวน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองทั้งหมดได้รับรวมกันครบจำนวนหนึ่งร้อยคน

กล่าวคือ หากคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อครบทุกพรรคแล้ว จำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อในสภายังไม่ครบ 100 คน ให้ย้อนกลับไปดูผลคะแนนของแต่ละพรรคที่มีคะแนนเศษ จากนั้นเรียงลำดับพรรคที่ได้เศษมากที่สุด จะได้ ส.ส.เพิ่มอีก 1 คน โดยเรียงเศษลงมาจนกว่าจะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อในสภาครบ 100 คน

ข้อ 5.ในการดำเนินการตามข้อ 4 ถ้าในลำดับใดมีเศษเท่ากันและจะทำให้จำนวน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อเกินจำนวน 100 คน ให้ตัวแทนของพรรคการเมืองที่มีเศษ เท่ากันจับสลากตามวันและเวลาที่ กกต.กำหนด เพื่อให้ได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อครบจำนวน

พรรคไหนคาดการณ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อเท่าไร

ในช่วงที่ผ่านมา แกนนำพรรคขนาดใหญ่-กลาง และขนาดเล็ก ได้คาดการณ์จำนวน ส.ส.บัญขีรายชื่อ คำนวณจากฐานผู้มาใช้สิทธิเดิม 35 ล้านเสียง และคาดว่าพรรคตัวเองจะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่อยู่ในลำดับ “เซฟโซน” หรือลำดับที่คาดว่าจะได้เป็น ส.ส.ตามที่เคยให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน ไว้ดังนี้

  • พรรคเพื่อไทย คาดว่าลำดับที่จะได้เป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ จะอยู่ที่หมายเลย 1-50 คาดว่าจะต้องได้คะแนน 17.5 ล้านเสียง
  • พรรคพลังประชารัฐ คาดว่าลำดับที่จะได้เป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ คือ ลำดับที่ 1-20 ดังนั้นต้องมีคะแนน 7 ล้านเสียง
  • พรรครวมไทยสร้างชาติ นายธนกร วังบุญคงชนะ แกนนำพรรค ระบุว่าลำดับที่คาดว่าจะได้เป็น ส.ส.คือ ลำดับที่ 1-15 ซึ่งต้องใช้คะแนนความนิยมในตัว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และคะแนนพรรครวม 5.25 ล้านเสียง
  • พรรคประชาธิปัตย์ คาดว่าจะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อในลำดับที่ 1-12 คาดว่าจะต้องได้คะแนน 4.2 ล้านเสียง
  • พรรคภูมิใจไทย โดยนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรค เคยกล่าวถึงลำดับที่คาดว่าจะได้เป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อแน่นอนคือ ลำดับที่ 1-5 ดังนั้น จึงต้องมีคะแนน 1.75 ล้านเสียง
  • พรรคชาติพัฒนากล้า โดยนายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรค ระบุว่า ลำดับที่คาดว่าจะได้เป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อคือ ลำดับที่ 1-4 ซึ่งต้องมีคะแนน 1.4 ล้านเสียง
  • พรรคก้าวไกล ในการเลือกตั้งปี 2562 ได้คะแนนบัญชีรายชื่อ 6.3 ล้านเสียง หากคิดฐานเสียงเดิม ลำดับ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่ปลอดภัย ในการเลือกตั้งครั้งนี้ จะได้ ส.ส.ลำดับที่ 1-18

วิธีคำนวณคะแนน ส.ส.เขต

วิธีคำนวณคะแนน ส.ส.เขต :  ถ้าผู้สมัคร ส.ส.จากพรรคการเมืองใด ได้คะแนนมากที่สุดในเขตนั้นก็จะได้เป็น ส.ส.

โดยกระบวนการนับคะแนน ปรากฏอยู่ในมาตรา 116 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 โดยหลังจากปิดหีบให้คณะกรรมการประจําหน่วยเลือกตั้ง เปิดหีบบัตรเลือกตั้งต่อหน้าประชาชนที่อยู่ ณ ที่เลือกตั้ง แล้วดําเนินการนับคะแนน

มาตรา 117 การนับคะแนนให้กระทํา ณ ที่เลือกตั้งโดยเปิดเผย ติดต่อกันจนเสร็จสิ้น และห้ามมิให้เลื่อนหรือประวิงการนับคะแนน การนับคะแนนให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกําหนดซึ่งต้องกําหนดให้มี การนับคะแนนที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งทําเครื่องหมายในช่องทําเครื่องหมาย “ไม่เลือกผู้สมัครผู้ใด” ด้วย

มาตรา 118 ในการนับคะแนนหากปรากฏว่ามีบัตรเสีย ให้แยกบัตรเสียออกไว้ต่างหากและ ห้ามมิให้นับบัตรเสียเป็นคะแนนไม่ว่ากรณีใด

มาตรา 123 เมื่อรวบรวมผลการนับคะแนนทุกหน่วยเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้น รวมทั้ง คะแนนที่ได้จากการออกเสียงลงคะแนนก่อนวันเลือกตั้งและคะแนนที่ได้จากการลงคะแนนเลือกตั้ง นอกราชอาณาจักรแล้ว

ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประจําเขตเลือกตั้งประกาศผลการนับคะแนน ผู้สมัครแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง และคะแนนที่ไม่เลือกผู้สมัครผู้ใด แล้วรายงานผลการนับคะแนนต่อ ผู้อํานวยการการเลือกตั้งประจําจังหวัดและ กกต.โดยเร็ว

เหล่านี้คือความหวังและเป้าหมายของคะแนน ส.ส.ที่คาดว่าจะได้ ของบรรดาพรรคการเมือง ที่ปักธงเลือกตั้ง 2566 และเส้นชัยชนะสูงสุด คือการได้เป็นพรรคร่วมรัฐบาล จากฐานคะแนนผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั่วประเทศ 52 ล้านคน วันที่ 14 พฤษภาคม 2566 จะเป็นวันตัดสิน