บลูมเบิร์กรายงานแบงก์กรุงเทพ-กรุงศรี สนซื้อธุรกิจรายย่อย ซิตี๊กรุ๊ป

ซิตี๊แบงก์

ธนาคารดีบีเอส, ยูโอบี และสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด แสดงความสนใจประมูลสินทรัพย์ “ธุรกิจลูกค้ารายย่อย” ของซิตี้กรุ๊ปตามแผนถอนกิจการลูกค้ารายย่อยใน 13 ประเทศ บลูมเบิร์กรายงานแบงก์กรุงเทพ-กรุงศรีฯ สนใจเข้าประมูล 22 ตุลาคมนี้

วันที่ 21 ตุลาคม 2564 บลูมเบิร์ก รายงานว่า ดีบีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (DBS Group Holdings) สถาบันการเงินสัญชาติสิงคโปร์, ธนาคารยูโอบี (UOB) รวมถึงธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (Standard Chartered) แสดงความสนใจประมูลสินทรัพย์ “ธุรกิจลูกค้ารายย่อย” ของ “ซิตี้กรุ๊ป” (Citigroup) สถาบันการเงินระดับโลก

โดยเมื่อช่วงเดือนเมษายน 2564 ที่ผ่านมา “ซิตี้กรุ๊ป” ประกาศปรับกลยุทธ์ขององค์กร ถอนกลุ่มธนกิจบุคคลระหว่างประเทศ (Global Consumer Banking) ในประเทศไทย พร้อมกับประเทศอื่น ๆ อีก 12 แห่งในภูมิภาคเอเชีย, ยุโรปตะวันออกกลางและแอฟริกา (EMEA)

ขณะที่ ธนาคารดีบีเอสวางแผนการซื้อธุรกิจซิตี้กรุ๊ปในประเทศอินโดนีเซียและไต้หวัน ซึ่งเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา “พียุช กุปตา” ซีอีโอธนาคารดีบีเอสกล่าวว่า ทางธนาคารมีเงินทุนมูลค่ามากพอ ที่จะซื้อสินทรัพย์เพิ่มโดยไม่ต้องเพิ่มทุน นอกจากนี้ ยังแสดงความสนใจในตลาดเอเชีย ในหลาย ๆ ประเทศ

เช่นเดียวกับ ธนาคารยูโอบี ที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ในสิงคโปร์ก็อยู่ระหว่างพิจารณาเจ้าร่วมประมูลในครั้งนี้ โดยอ้างถึงความกล่าวของวี อี้ เฉิง ซีอีโอ ยูโอบี ที่กล่าวเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาว่า ธนาคารก็ดูสินทรัพย์ก้อนนี้อยู่

ขณะเดียวกัน การเสนอราคาสำหรับธุรกิจลูกค้ารายย่อยของทางซิตี้กรุ๊ป ที่ประเทศอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ไต้หวัน รวมถึงประเทศไทย มีกำหนดการที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 22 ตุลาคมนี้ ขณะที่ธุรกิจดังกล่าวในประเทศอินเดีย มีกำหนดการเสนอราคาในสัปดาห์หน้า

ในรายงานดังกล่าวยังระบุว่า ในประเทศไทย มีธนาคารกรุงเทพวางแผนจะเสนอซื้อสินทรัพย์ของซิตี้กรุ๊ปในประเทศไทย ซึ่งคาดว่ามีมูลค่ามากกว่า 2 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 66,000 ล้านบาท เช่นเดียวกับธนาคารกรุงศรีอยุธยา ก็อยู่ระหว่างการพิจารณาเข้าร่วมประมูล

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2564 ที่ผ่านมา ซิตี้กรุ๊ปประกาศเปลี่ยนแปลงการดำเนินการเชิงกลยุทธ์ในกลุ่มธนกิจบุคคลระหว่างประเทศ (Global Consumer Banking) ที่ดำเนินการอยู่ในภูมิภาคเอเชีย ภูมิภาคยุโรป ตะวันออกกลาง และแอฟริกา (EMEA) รวมทั้งหมด 13 ประเทศ

ประกอบด้วย ออสเตรเลีย บาห์เรน จีน อินเดีย อินโดนีเซีย เกาหลี มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ โปแลนด์ รัสเซีย ไต้หวัน ไทยและเวียดนาม

โดยให้คงเหลือการดำเนินธุรกิจผ่าน Global Wealth Management Center ที่มีอยู่ 4 แห่ง ได้แก่ สิงคโปร์ ฮ่องกง สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และกรุงลอนดอนประเทศอังกฤษ

ทั้งนี้ ซิตี้ดำเนินธุรกิจอยู่ในภูมิภาคเอเชีย ภูมิภาคยุโรป ตะวันออกกลาง และแอฟริกา (EMEA) มานานกว่า 100 ปี ซึ่งการเปลี่ยนแปลงการดำเนินการในกลุ่มบุคคลธนกิจในทั้ง 13 ประเทศ ไม่ได้เปลี่ยนแปลงความมุ่งมั่นที่ซิตี้มีต่อตลาดเอเชียที่ให้ความสำคัญอย่างยิ่งทั้งในเชิงกลยุทธ์และการเติบโตในฐานะองค์กรระดับโลก