ธ.ก.ส.คาดเดือน พ.ย. ข้าวหอมมะลิ ราคาพุ่ง 10,462 บาท/ตัน

ส่งออกข้าว

ธ.ก.ส.ชี้เปิดประเทศ-ปัญหาภัยธรรมชาติ ทำให้ราคาสินค้าเกษตรเดือน พ.ย. 2564 ได้แก่ ข้าวเปลือกหอมมะลิ มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน สุกร กุ้งขาวแวนนาไม และโคเนื้อ มีแนวโน้มราคาเพิ่มขึ้น ด้านข้าวเปลือกเจ้า ข้าวเปลือกเหนียว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ยางพาราแผ่นดิบ และน้ำตาลทรายดิบ มีแนวโน้มราคาปรับลดลง

วันที่ 4 พฤศจิกายน 2564 นายสมเกียรติ กิมาวหา รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรม ธ.ก.ส. คาดการณ์ราคาสินค้าเกษตรในเดือนพฤศจิกายน 2564 โดยสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มราคาปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ ข้าวเปลือกหอมมะลิ ราคาอยู่ที่ 10,237-10,462 บาท/ตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 5.02-7.32 เนื่องจากปัญหาอุทกภัยในแหล่งผลิตข้าวหอมมะลิที่สำคัญในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้ผลผลิตออกสู่ตลาดลดลง

สมเกียรติ กิมาวหา
สมเกียรติ กิมาวหา

อย่างไรก็ตาม ยังมีแรงกดดันจากปัญหาการขนส่งข้าวหอมมะลิและค่าระวางที่สูงขึ้นอย่างมากในการส่งออกไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา มันสำปะหลัง ราคาอยู่ที่ 2.17-2.22 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 4.85-7.25 เนื่องจากเป็นช่วงต้นฤดูกาลผลิตมันสำปะหลังปีการผลิต 2564/65 ทำให้มีผลผลิตออกสู่ตลาดไม่มาก ขณะที่ความต้องการใช้มันสำปะหลังเพื่อผลิตมันเส้นส่งออกเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะประเทศจีนที่มีความต้องการนำเข้าเพื่อไปใช้ในหลายอุตสาหกรรม อาทิ แอลกอฮอล์ เอทานอล และปศุสัตว์

ส่วนปาล์มน้ำมัน ราคาอยู่ที่ 7.62-7.72 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 1.24-2.30 เนื่องจากเศรษฐกิจทั่วโลกเริ่มฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันดิบเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ภาวะการค้าน้ำมันปาล์มภายในประเทศอาจชะลอตัวลงบางส่วน โดยเฉพาะการใช้พลังงานทดแทน เนื่องจากนโยบายรัฐที่ปรับลดการใช้น้ำมันดีเซลจาก B7 และ B10 เป็น B6 ในช่วงกลางเดือนตุลาคม 2564 ส่งผลให้ราคาปาล์มน้ำมันปรับตัวเพิ่มขึ้นไม่มากนัก

ขณะที่สุกร ราคาอยู่ที่ 67.67-68.14 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 1.09-2.53 เนื่องจากความต้องการบริโภคเพิ่มขึ้นจากการผ่อนคลาย มาตรการล็อกดาวน์ของภาครัฐในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน 2564 ทำให้ร้านอาหาร โรงเรียน และสถานประกอบการอื่น ๆ กลับมาเปิดให้บริการตามปกติ ประกอบกับนโยบายภาครัฐที่กระตุ้นเศรษฐกิจ อาทิ โครงการคนละครึ่งและโครงการไทยเที่ยวไทย เป็นปัจจัยสนับสนุนให้ความต้องการบริโภคเนื้อสุกรเพิ่มขึ้น

ด้านกุ้งขาวแวนนาไม ราคาอยู่ที่ 128.27-129.78 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 1.80-3.00 เนื่องจากการทยอยผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์มากขึ้น ประกอบกับการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ จะเป็นปัจจัยหนุนให้ความต้องการบริโภคกุ้งในประเทศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามแรงกระตุ้นการท่องเที่ยวในช่วงปลายปี

ขณะที่ปริมาณผลผลิตบางส่วนได้รับความเสียหายจากปัญหาอุทกภัยในช่วงกำลังจะจับกุ้งออกจำหน่าย ส่งผลให้ปริมาณกุ้งขาวแวนนาไมลดลง โคเนื้อ ราคาอยู่ที่ 95.40-95.62 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 0.11-0.34 จากการทยอยผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์มากขึ้น และการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ เฟส 1 รวมถึงการท่องเที่ยวในประเทศในช่วงปลายปีที่เป็นฤดูกาลท่องเที่ยว จะเป็นปัจจัยบวกที่ทำให้ความต้องการบริโภคเนื้อโคปรับเพิ่มขึ้น ขณะที่ปริมาณเนื้อโคที่ออกสู่ตลาดลดลงจากการที่มีโคเนื้อบางส่วนยังติดเชื้อโรคลัมปิสกิน

นายสมเกียรติกล่าวว่า ด้านสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มราคาปรับตัวลดลง ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ราคาอยู่ที่ 7,485-7,503 บาท/ตัน ลดลงจากเดือนก่อนร้อยละ 0.82-1.06 เนื่องจากเป็นช่วงที่ผลผลิตข้าวเจ้านาปีออกสู่ตลาดจำนวนมาก ประมาณร้อยละ 60 ของผลผลิตข้าวนาปีทั้งปี 2564 ประกอบกับประเทศเวียดนาม เริ่มกลับมาส่งออกอีกครั้งหลังจากก่อนหน้านี้มีการบังคับใช้มาตรการป้องกันโควิดอย่างเข้มงวด ส่งผลให้ส่วนแบ่งตลาดข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ของไทยลดลง กระทบต่อความต้องการข้าวไทยในตลาดโลกลดลงตามไปด้วย

ส่วนข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาว ราคาอยู่ที่ 7,564-7,695 บาท/ตัน ลดลงจากเดือนก่อนร้อยละ 1.09-2.81 เนื่องจากเป็นช่วงที่ผลผลิตข้าวเปลือกเหนียวนาปีออกสู่ตลาดจำนวนมากประกอบกับสต๊อกข้าวเหนียวของโรงสียังคงมีอยู่จำนวนมาก ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ความชื้นไม่เกิน 14.5% ราคาอยู่ที่ 8.29-8.38 บาท/กก. ลดลงจากเดือนก่อนร้อยละ 0.50-1.50 เนื่องจากเป็นช่วงเดือนที่มีผลผลิตออกสู่ตลาดสูงที่สุดในปีการผลิต 2564/65 คาดว่าจะมีผลผลิตประมาณ 1.31 ล้านตัน คิดเป็นร้อยละ 27.34 ของปริมาณผลผลิตทั้งหมด

ขณะที่ความต้องการใช้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในเดือนนี้คาดว่าจะลดลงเล็กน้อยจากสัญญานำเข้าข้าวโพดและข้าวสาลีที่ส่งมอบในเดือนธันวาคม 2564 ที่ปรับตัวลดลง ร้อยละ 0.47 และร้อยละ 0.03 อาจกระตุ้นให้ผู้ประกอบการวางแผนนำเข้าวัตถุดิบข้าวโพดและข้าวสาลีจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น เพื่อบริหารจัดการสต๊อกวัตถุดิบผลิตอาหารสัตว์

ด้านยางพาราแผ่นดิบชั้น 3 ราคาอยู่ที่ 46.57-49.22 บาท/กก. ลดลงจากเดือนก่อน ร้อยละ 0.10-4.80 เนื่องจากเป็นช่วงฤดูกาลที่ปริมาณผลผลิตยางพาราของประเทศไทยออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 10.51 ของปริมาณผลผลิตทั้งปี 2564 รวมทั้งยังคงมีปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ในการขนส่งยางพารา และปัญหาการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ทั่วโลก ซึ่งส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมยางรถยนต์ และทำให้ความต้องการใช้ยางเพื่อผลิตล้อยางรถยนต์ลดลง

ทั้งนี้ ในส่วนของน้ำตาลทรายดิบตลาดนิวยอร์ก ราคาอยู่ที่ 18.61-18.76 เซนต์/ปอนด์ (13.69-13.80 บาท/กก.) ลดลงจากเดือนก่อน ร้อยละ 0.60-1.40 จากสัญญาณการผลิตน้ำตาลที่เพิ่มขึ้นในบราซิล ประกอบกับประเทศจีนชะลอการนำเข้าน้ำตาลทราย โดยคาดว่าจะนำเข้าลดลงในช่วง 3 เดือนต่อจากนี้ เป็นผลจากราคาน้ำตาลตลาดโลกที่สูงขึ้น และต้นทุนการขนส่งทางเรือที่อยู่ในระดับสูง ทำให้ต้นทุนการนำเข้าของประเทศผู้ซื้อเพิ่มขึ้นมาก