บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ: ตำนานเกมแก้จน ยุค คสช.

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีทดลองใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐบนรถเมล์ ขสมก. เมื่อวันที่ 17 ต.ค.2560 ภาพจากข่าวสดออนไลน์

ย้อนอดีตนวัตกรรม “บัตรคนจน” หรือ “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” เกมแก้จนยุค คสช. ต่อยอดจากผลศึกษาสภาพัฒน์ สู่ ไอเดียปราบจนเรื้อรัง หลัง ครม.อนุมัติหลักเกณฑ์ลงทะเบียนรอบใหม่อีก 20 ล้านคน

วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบหลักเกณฑ์คุณสมบัติของผู้ลงทะเบียนตามโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ปี 2565 มีกลุ่มเป้าหมายคือผู้มีรายได้น้อย 20 ล้านคน

โดยเปลี่ยนเกณฑ์การลงทะเบียนจากเดิม ให้ลงทะเบียนรายบุคคล และตรวจสอบรายบุคคล เป็น ลงทะเบียนรายบุคคล และตรวจสอบรายบุคคล และครอบครัว (คู่สมรส และบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายอายุต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ ตามข้อมูลของกรมการปกครอง โดยตั้งเป้ายอดผู้ลงทะเบียนไว้ที่ 20 ล้านคน

ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่า นโยบายบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือ บัตรคนจน ถือเป็นผลงานสำคัญของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มีมาตั้งแต่ปลายยุครัฐบาล คสช. และอาจนับได้ว่าเป็นครั้งแรกที่มีการลงทะเบียน “คนจน” เพื่อกำหนดมาตรการช่วยเหลือให้ตรงจุด

ที่ทำการสภาพัฒน์ ภาพจากเว็บไซด์ https://www.nesdc.go.th/

สศช.เพิ่มโจทย์ “แก้จนเรื้อรัง”

จากวารสาร ไทยคู่ฟ้า ฉบับเดือนเมษายน – มิถุนายน 2561 จัดทำโดยสำนักโฆษก  สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เปิดเผยที่มาของนโยบายดังกล่าวว่า ตามรายงานสรุปสถานการณ์ความยากจนและความเหลื่อมล้ำในประเทศไทยปี 2559 ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ระบุว่า ปัญหาความยากจนโดยรวมในขณะนั้นมีแนวโน้มลดลงในทุกด้าน

แต่ปัญหาความยากจนที่เป็นความยากจนมากหรือความยากจนเรื้อรัง (Chronic Poverty) ในปี 2559 ยังเพิ่มขึ้น โดยเทียบกับปี 2558 แล้วมีจำนวนคนจนเรื้อรังเพิ่มถึง 2.24% หรือประมาณ 11.4 ล้านคนในเวลานั้น

สภาพัฒน์ จึงมองว่า ควรต้องค้นหากลุ่มเป้าหมายดังกล่าวให้ชัด และการจัดสวัสดิการทางสังคมอย่างเจาะจง (Targeting) ให้กับกลุ่มนี้ เพื่อให้ความยากจนหมดไปในอนาคต และนำมาสู่ “นโยบายประชารัฐสวัสดิการ” ในเวลาต่อมา ด้วยการให้มีการขึ้นทะเบียนกับกระทรวงการคลัง จากนั้นออกเป็นบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เพื่อช่วยในการลดค่าครองชีพ ทั้งการซื้อสินค้า และการเดินทาง

สำหรับเกณฑ์ที่กำหนดสำหรับผู้มีรายได้ในตอนนั้นคือ

  1. มีสัญชาติไทย มีอายุตั้งแต่ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป (เกิดก่อนวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2542)
  2. มีรายได้ไม่เกิน 100,000 บาท/ปี
  3. ไม่มีทรัพย์สินทางการเงิน ได้แก่ เงินฝากธนาคาร สลากออมสิน สลาก ธ.ก.ส. พันธบัตรรัฐบาล และตราสารหนี้
  4. แต่ถ้ามี ต้องมีรวมแล้วไม่เกิน 100,000 บาท
  5. มีที่ดินที่เป็นที่อยู่อาศัยไม่เกิน 1 ไร่
  6. มีที่ดินทำการเกษตรไม่เกิน 10 ไร่

ซึ่งในที่สุดก็มียอดคนลงทะเบียนที่ 14 ล้านคน

ทีมสมคิด: เกมแก้จน 2560

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ในสารสารดังกล่าวว่า รูปแบบของโครงการเบื้องต้นจะออกเป็นบัตรเพื่อสนับสนุนให้สามารถใช้บัตรดังกล่าวซื้อสินค้าที่จำเป็นต่อการครองชีพ ราคาถูกกว่าท้องตลาด15-20% จัดจำหน่ายผ่านร้านค้าธงฟ้าประชารัฐ ร้านค้าโชห่วย และร้านค้าชุมชน ซึ่งอยู่ในการส่งเสริมของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงการคลังจะเป็นผู้กำหนดวงเงินสด สำหรับใช้จ่ายผ่านบัตรเป็นรายเดือน โดยเริ่มดำเนินโครงการในเดือนตุลาคม 2560

สำหรับการช่วยเหลือผ่านบัตรสวัสดิการจะแบ่งเป็นการลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน โดยรัฐบาลจะใส่เงินไป
ในบัตรสวัสดิการให้ผู้ที่มีรายได้น้อยที่มาลงทะเบียน นำไปใช้ซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค โดยคนที่มีรายได้ต่ำกว่าปีละ 30,000 บาท จะได้เงินไปซื้อของใช้เดือนละ 300 บาท ส่วนคนที่มีรายได้ตั้งแต่ 30,000 บาทขึ้นไป แต่ไม่เกิน100,000 บาท ได้รับเงินเดือนละ 200 บาท และได้เงินส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้มคนละ 45 บาท ต่อ 3 เดือนครั้ง

ส่วนการลดค่าใช้จ่ายเดินทาง ถ้าเดินทางด้วยรถเมล์ รถไฟฟ้า จะได้รับเงินเดือนละ 500 บาท

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในเวลานั้น ให้สัมภาษณ์ในวารสารดังกล่าวเช่นกันว่า  มาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยที่มีรายได้ไม่ถึง 30,000 บาท/ปี รัฐบาลจะจ่ายเงินเพื่อให้สามารถดำรงชีพอยู่ได้ โดยรัฐบาลจะทยอยจ่ายให้เป็นงวดเพื่อนำไปใช้สำหรับการดำรงชีพ แต่จะไม่ใช้วิธีการจ่ายเป็นเงินก้อน เพราะเกรงว่าจะนำเงินที่ได้รับไปใช้จ่ายฟุ่มเฟือย โดยการจ่ายเงินมีเงื่อนไขว่าจะต้องแสดงรายได้ที่แท้จริง

เนื่องจากรัฐบาลจ่ายเงินให้ผู้มีรายได้น้อยแต่ละคนไม่เท่ากัน โดยจะมีเงื่อนไขที่สำคัญว่าผู้ที่ได้รับเงินไปแล้วต้องปรับปรุงประสิทธิภาพของตัวเอง พัฒนาความรู้ความสามารถ เพื่อหารายได้ให้มากขึ้น เพื่อที่ในอนาคตจะได้หลุดพ้นจากเส้นความยากจน

สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ (ซ้าย) และ อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ (ขวา) ทีมเศรษฐกิจยุคคสช.เจ้าไอเดียเกมแก้จน 2560 ภาพจากมติชนออนไลน์

วิพากษ์บัตรคนจน

หลังจากมีนโยบายนี้ออกมา แม้ในหลักการจะเป็นแนวคิดที่ดี แต่ก็ยังมีช่องโหว่และจุดบกพร่องที่ต้องแก้ไขอยู่มาก

ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง ทีดีอาร์ไอ ให้ทัศนะผ่านเว็บไซด์ของทีดีอาร์ไอเมื่อปี 2560 ว่า Concept ของการลงทะเบียนคนจนของรัฐบาล ซึ่งมียอดคนลงทะเบียน 14 ล้านคน หากยึดตามข้อมูลของสภาพัฒน์ถือว่า มีคนจนไม่จริงมาลงทะเบียนมากกว่าจำนวนคนที่จนจริงๆ

เพราะตามข้อมูลของสภาพัฒน์ มีคนจนประมาณ 8 %ของประชากร คิดเป็นประมาณ 4-5 ล้านคนเท่านั้น

ดังนั้นถ้าคุณยึดฐานข้อมูลนี้เป็นเรื่องตายตัว แล้วคนจนที่ไม่ได้มาหล่ะ เขาก็จนแท้จริงด้วย และคนที่ไม่มามักจะเป็นคนจนตัวจริง คือ จนสุดๆ คนกลุ่มนั้นถูกละเลยทันที ทำตรงนี้ได้ แต่อย่าลืมว่ามันมี error 2 แบบ แบบที่คนไม่จนมาจด และคนจนไม่มาจด

ถ้ามีมาตรการเสริม ว่าคนจนไม่มาจดนี่ควรทำไงกับเขา คุณต้องมีกระบวนการอื่นตามตัวเขามั้ย ซึ่งไม่มีการพูดถึงตรงนี้เลย นี่คือ ในแง่ของ policy design (การออกแบบนโยบาย) ที่น่าจะยังไม่ใช่ เรื่องความทั่วถึง ของบัตรคนจนจึงเรียกว่า ตั้งคำถามได้

ดังนั้น รัฐควรไปให้ถึงตัวคนที่จนจริง ๆ เลย เพื่อช่วยเสริมการกระจายงบประมาณ หรือความช่วยเหลือไปถึงคนจนได้จริง โดยมันต้องมีกลไกของการตามหาคนจน ซึ่งกลไกที่ว่าต้องเป็นระดับชุมชน คนที่น่าจะทำเรื่องนี้ได้คือ อสม. อาสามัครสาธารณสุข ของกระทรวงสาธารณสุข

นอกจากการลงทะเบียนแล้ว ดร.สมชัยยังกล่าวด้วยว่า รัฐบาลไม่ควรทำเหมือนว่าเป็นพ่อกับแม่แล้วมองคนจนเหมือนลูก เหมือนเด็กที่ไม่รู้เรื่อง จะต้องคิดแทน และคิดแล้วว่าต้องเป็นสินค้านู้นนี่ อย่างเรื่องคนจนจะเอาไปซื้อบุหรี่ กินเหล้านั้น หากวัดจริง ๆ สัดส่วนคนที่ไปใช้เงินผิดประเภท ซื้ออบายมุขต่างๆ มีเพียง 1-2% เท่านั้น

“รัฐอย่าหยุดปรับปรุง อย่าคิดว่า screening (การคัดกรอง) ที่ทำมาทั้งหมดนี่พอแล้ว ผมว่ายังไม่พอ และอยากให้ร่วมมือกับ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และสาธารณสุข ในเรื่องการให้ อสม. ช่วยเรื่องปรับปรุงฐานข้อมูล ส่วนเรื่องรั่วไหลไปคนไม่จน ไม่น่าซีเรียสเท่าไม่ถึงคนจนจริง แต่ก็ควร screen”

“ผมมองว่าบัตรคนจนเป็น step ของการเก็บข้อมูล แต่ข้อมูลที่ว่านี่มีการปรับปรุงให้ดีขึ้นเรื่อย ๆ นำเรื่อง big data เข้ามา และมีกฎหมาย เพื่อดึงข้อมูลต่าง ๆ เข้ามา ข้อมูลมันจะดีขึ้น เพื่อนำไปใช้เรื่องอื่น ๆ รวมทั้งเรื่องถ้าจะแจกเงินก็ใช้ฐานข้อมูลนี้ได้ อันนี้คือข้อดีของการมีพัฒนาการทางเครื่องมือ” ดร.สมชัยทิ้งท้าย

สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง ทีดีอาร์ไอ

ถึงวันนี้ โครงการลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ กำลังจะเริ่มขึ้นอีกรอบหลังมีมติ ครม. อนุมัติในวันนี้ จึงเป็นอีกครั้งที่จะพิสูจน์ระบบการจัดเก็บข้อมูลผู้มีรายได้น้อยของภาครัฐที่ดำเนินการมาไม่น้อยกว่า 3 ปี และระบบการเติมเงินเข้าไปในระบบผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เพื่อให้งบประมาณที่ลงไปมีประสิทธิภาพ ถูกคน ถูกตัว และยกระดับมาตรฐานชีวิตผู้มีรายได้น้อยได้อย่างแท้จริง