90 ปี หลังปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 มีอะไรหายไปบ้าง

วันเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 เดินทางมาครบ 9 ทศวรรษ

เป็นความทรงจำของการปฏิวัติ เปลี่ยนแปลงการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาสู่การปกครองระบอบประชาธิปไตย

ตลอด 90 ปีที่ผ่านมา นอกเหนือจาก การเมืองไทยยังวนลูบ ลุ่มๆ ดอนๆ อยู่กับการรัฐประหาร 13 ครั้ง และร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มาแล้ว 20 ฉบับ มีรัฐบาลทหารครองอำนาจยาวนาน มากกว่ารัฐบาลพลเรือน

ยังมีหลายความทรงจำบนทางประวัติศาสตร์ ที่เกี่ยวข้องกับย่ำรุ่ง 24 มิถุนายน 2475 กำลังเลือนหายไปตามกาลเวลา

วันที่ 24 มิถุนายน ที่ปัจจุบันเป็นเพียงวันๆ หนึ่ง เช่นเดียวกับหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองก็ยังเป็นแค่ “วันธรรมดา”

แต่ต่อมาถูกยกให้เป็น “วันชาติ” โดยย้อนไปเมื่อ 18 กรกฎาคม พ.ศ.2481 พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา (ยศขณะนั้น) นายกรัฐมนตรี ออกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ประกาศให้วันดังกล่าวเป็น “วันชาติ” โดยระบุว่า “ด้วยคณะรัฐมนตรีประชุมปรึกษาและลงมติว่า วันที่ 24 มิถุนายน ย่อมถือว่าเป็นวันชาติ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป”

กระทั่ง 2 ทศวรรษให้หลัง ในรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้เปลี่ยนวันชาติจาก 24 มิถุนายน และให้ถือเอาวันพระราชสมภพของพระมหากษัตริย์เป็นวันชาติแทน โดยให้เหตุผลว่า เพื่อให้เป็นไปตามขนบประเพณีของประเทศที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

นอกจาก 24 มิถุนายน เคยเป็น “วันชาติ” ยังมีวันสำคัญต่างๆ ที่เกี่ยวกับการปฏิวัติ 2475 ซึ่งรัฐบาลในอดีตให้นับเป็น “วันหยุดราชการ”

เช่น 27 มิถุนายน วันรัฐธรรมนูญชั่วคราว หยุด 1 วัน วันรัฐธรรมนูญ ตั้งแต่วันที่ 9-11 ธันวาคม หยุด 3 วัน

ส่วน วันฉลองรัฐธรรมนูญ ที่เคยจัดเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่ และเป็นต้นกำเนิดของการประกวดนางสาวสยาม ต้นกำเนิดของการประกวดนางสาวไทย เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2477 ณ วังสราญรมย์ เพื่อใช้เวทีนางงามเป็นแม่เหล็กดึงดูดความสนใจให้คนเข้ามางานฉลองรัฐธรรมนูญ ก็ถูกลดความสำคัญลง หลังรัฐประหาร 2490 และ ปิดตำนานอย่างถาวรในยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์

ขณะเดียวกัน สถาปัตยกรรมที่เกี่ยวข้องกับ 24 มิถุนายน ก็ค่อยๆ ถูกเก็บ-ถูกรื้อถอน ซ่อนเข้าลิ้นชักความทรงจำ

เช่น “หมุดคณะราษฎร” ที่ฝังไว้บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า อันเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อ 24 มิถุนายน 2475 ซึ่งพันเอกพระยาพหลฯ ได้ทำพิธีฝังหมุดในวันที่ 10 ธันวาคม 2479 หรือ 4 ปีให้หลังวันพระราชทานรัฐธรรมนูญ ได้ถูกรื้อออกไปโดยไม่ทราบว่าไปอยู่ที่ไหน

ก่อนหน้านี้ก็มีมือที่มองไม่เห็นสับเปลี่ยนมาเป็น “หมุดปริศนา” แทน ผู้มีอำนาจทั้งรัฐบาล ตำรวจ ทหาร ต่างออกมาปฏิเสธไม่รู้ไม่เห็น ไม่เกี่ยวข้องกับหมุดที่หายไป

เช่นเดียวกับ สิ่งก่อสร้างที่เป็นศิลปะยุคคณะราษฎรที่ถยอยหายไปทีละชิ้น เช่น พานรัฐธรรมนูญจำลอง ที่ถือว่าเป็น “สิ่งศักดิ์สิทธิ์” ตั้งอยู่หน้าศาลากลางจังหวัดต่างๆ ช่วงที่คณะราษฎรมีอำนาจรุ่งเรืองสุดขีด ก่อนรัฐประหาร 2490 ก็ไม่มีให้เห็นอีกต่อไป

อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการปราบกบฏบวรเดช กลางแยกวงเวียนบางเขน ที่บรรจุอัฐิ 17 ทหารฝ่ายรัฐบาลที่เสียชีวิตกลางสมรภูมิทุ่งบางเขน ได้ถูกนำไปเก็บโดยไม่ทราบสถานที่ แม้มีการตามหาจากหลายฝ่ายที่สนใจเรื่องนี้แต่ก็ยังไม่แน่ชัดว่าถูกไปเก็บไว้ที่ใด

ทั้งนี้ ข้อมูลจากเว็บไซต์ สถาบันปรีดี พนมยงค์ ได้ลงคำให้สัมภาษณ์ของ “สถาพร เที่ยงธรรม” ผู้อำนวยการกองโบราณคดี ให้สัมภาษณ์เมื่อ 21 ตุลาคม 2563

ตามที่มีคลิปวิดีโอเผยแพร่เกี่ยวกับการย้ายอนุสาวรีย์เมื่อปี 2559 เป็นการเคลื่อนย้ายภายใต้การขออนุญาตโดย รฟม. ต่อเนื่องมาจากปี 2558 ส่วนการเคลื่อนย้ายครั้งล่าสุดไม่มีการขออนุญาต และไม่ทราบว่าอนุสาวรีย์ถูกย้ายไปที่ไหน

กลุ่มอนุรักษ์โบราณสถาน กรมศิลปากร เคยลงพื้นที่ตรวจสอบช่วงปลายเดือน ก.ย. 2563 และสอบถามทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจในป้อมตำรวจที่อยู่ใกล้ๆ และวินมอเตอร์ไซค์รับจ้างบริเวณดังกล่าว ทุกคนให้ข้อมูลว่าเคยเห็นอนุสาวรีย์ตั้งอยู่ที่วงเวียนหลักสี่ แต่ไม่ทราบว่าหายไปเมื่อใด

ให้ข้อมูลอีกว่า ปัจจุบันอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญเป็นโบราณสถาน ตามมาตรา 4 พ.ร.บ.โบราณสถานฯ แต่ยังไม่ได้รับการขึ้นทะเบียน ซึ่งหากอนุสาวรีย์ยังคงสูญหายจะกระทบต่อการขึ้นทะเบียนโบราณสถานของกรมศิลปากร

เว็บไซต์สถาบันปรีดี พนมยงค์ อ้างถึง สำนักข่าวประชาไท ที่ร้องเรียนไปยังคณะกรรมการข้อมูลข่าวสาร ขอให้ตรวจสอบการมีอยู่ของบันทึกประจำวันที่ศรัญญูและกาณฑ์อ้างถึงอีกครั้ง และได้ข้อสรุปจากคณะอนุกรรมการตรวจสอบข้อมูลข่าวสารของราชการเมื่อ 5 เม.ย. 2564 ว่า

“สน.บางเขน ยืนยันว่า ไม่มีหน่วยงานของรัฐหรือเอกชนแจ้งให้ สน.บางเขน ทราบเกี่ยวกับการเคลื่อนย้ายอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ ไม่ได้มอบหมายเจ้าหน้าที่ตำรวจไปควบคุม หรืออำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ และไม่มีการควบคุมตัวนายศรัญญู เทพสงเคราะห์ และนายกาณฑ์ พงษ์ประภาพันธ์ แต่อย่างใด กรณีน่าเชื่อว่า สน.บางเขน ไม่มีข้อมูลข่าวสารตามที่ร้องเรียนอยู่ในความครอบครอง”

และเชื่อหรือไม่ว่า อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย กลางถนนราชดำเนินอันเป็นสัญลักษณ์แห่งระบอบประชาธิปไตย เคยมีความพยายามที่จะรื้อถอนมาแล้ว

ในช่วงที่ จอมพล ป.เป็นนายกรัฐมนตรีครั้งที่ 2 หลังการรัฐประหาร 2490 มีความพยายามที่จะ “รื้อ” อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และสร้างอนุสาวรีย์ให้กับพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวแทน แต่ติดปัญหาตรงที่ขาดงบประมาณ ซึ่งจอมพล ป.เห็นว่า เมื่อไม่มีเงิน ก็ให้รอไปก่อน

กระทั่งเรื่องเงียบหายไป จนถึงยุค จอมพลถนอม กิตติขจร ได้มีการสร้างรัฐสภาแห่งใหม่บริเวณพระราชวังดุสิตขึ้น ต่อมา รัฐบาลสัญญา ธรรมศักดิ์ ได้อนุมัติให้สร้างพระบรมราชานุสาวรีย์พระปกเกล้าฯ ขึ้นที่หน้าอาคารรัฐสภา บริเวณพระราชวังดุสิต ซึ่งปัจจุบันได้ย้ายไปที่รัฐสภาแห่งใหม่ ถนนเกียกกาย

ร่องรอย 90 ปี การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ที่ปัจจุบันเป็นเพียงวันธรรมดาวันหนึ่งของคนหาเช้า-กินค่ำ ที่นับวันยิ่งเลือนลางไปตามกาลเวลา