แอปเปิลเดินตามบิ๊กเทค ปรับแผนรายจ่าย-จ้างงาน รับมือเศรษฐกิจถดถอย

แอปเปิล เทคโนโลยี
REUTERS/Dado Ruvic/Illustration/File Photo

บริษัทยักษ์ใหญ่เทคโนโลยีปรับแผนจ้างงาน การใช้จ่าย รับมือเศรษฐกิจถดถอย พบไตรมาสล่าสุดยอดขายซบเซา แอปเปิลเตรียมประกาศนโยบายกำลังคน แผนธุรกิจ 28 ก.ค.นี้

วันที่ 20 กรกฎาคม 2565 บลูมเบิร์ก รายงานว่า บริษัท เเอปเปิล อิงก์ หรือในชื่อเดิมคือ เเอปเปิลคอมพิวเตอร์ เป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ทางเทคโนโลยีแห่งล่าสุดที่กำกับรัดกุมการจ้างงานและแผนการใช้จ่าย จนเป็นหลักฐานว่า เเม้กระทั่งกลุ่มบริษัทที่มั่นคงเเข็งเเรงของซิลิคอนวัลเลย์ ก็ยังกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่อาจเกิดในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า

แม้ว่าจะยังไม่ได้บังคับใช้นโยบายทั่วทั้งบริษัท แต่ยักษ์ใหญ่ผู้ผลิตไอโฟนรายนี้กำลังวางแผนที่จะจำกัดค่าใช้จ่ายและการเพิ่มตำแหน่งงานในบางแผนก โดยท่าทีที่ระมัดระวังมากขึ้นนี้ คล้ายแนวทางของยักษ์ใหญ่ทางเทคโนโลยีรายอื่น ๆ ทั้งแอมะซอน (Amazon.com Inc.) อัลฟาเบต (Alphabet Inc.) ซึ่งเป็นบริษัทเเม่ของกูเกิล และไมโครซอฟท์ (Microsoft) ซึ่งได้ดำเนินการในทุกวิถีทางเพื่อชะลอการใช้จ่าย

ข่าวดังกล่าวส่งผลให้หุ้นร่วงลง พร้อมทั้งเพิ่มความกังวลใจในช่วงฤดูกอบโกยรายได้ของบริษัทเทคโนโลยีต่าง ๆ ซึ่งกำลังปั่นป่วนอย่างยิ่งในช่วงสัปดาห์นี้ และอาจเป็นการยากสำหรับบริษัทต่าง ๆ ในการสร้างความมั่นใจกับนักลงทุนที่กำลังกระวนกระวายใจอยู่ในปัจจุบัน

แม้กระทั่งผู้ผลิตเทคโนโลยีรายใหญ่อย่างไอบีเอ็ม ซึ่งได้ประกาศถึงการเติบโตของยอดขายที่สูงเกินกว่าที่คาดการณ์ไว้ ก็ต้องเผชิญกับสัดส่วนหุ้นบริษัทที่ร่วงลงในการซื้อขายล่าสุด

สำหรับตอนนี้ บริษัทยักษ์ใหญ่ทางเทคโนโลยีส่วนใหญ่ต่างยังไม่ได้พูดถึงการเลิกจ้างงาน เพียงเเต่กำลังลดจำนวนอัตราการจ้าง และการเติบโตของตัวเลขการจ้างงานโดยรวมของสหรัฐเอง ก็ยังไม่หยุดชะงัก โดยปริมาณการจ้างงานของสหรัฐอเมริกาได้เพิ่มขึ้นเป็น 372,000 คนในเดือนมิถุนายน สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ 265,000 ตำเเหน่ง ด้วยจำนวนการจ้างงานในภาคการผลิตที่ช่วยหนุนให้ตัวเลขสูงขึ้น

ทางการสหรัฐยังได้เพิ่มตัวเลขการจ้างงานด้านข้อมูลอีกกว่า 25,000 ตำเเหน่งในเดือนมิถุนายน ส่งผลให้การจ้างงานในหมวดหมู่นั้นเพิ่มสูงขึ้น 105,000 ตำแหน่ง มากกว่าช่วงก่อนวิกฤตการระบาด

แต่บริษัททางเทคโนโลยีบางแห่งนั้นกำลังไปไกลถึงขั้นลดจำนวนการจ้างงาน นั่นรวมถึงไมโครซอฟท์ที่ได้ประกาศในสัปดาห์ก่อนว่าบริษัทกำลังลดจำนวนงานในบางตำแหน่ง เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการปรับโครงสร้างองค์กร

การลดการจ้างงานครั้งนี้ส่งผลน้อยกว่า 1% เมื่อเทียบกับจำนวนพนักงานจ้างกว่า 180,000 คนขององค์กร และทางไมโครซอฟท์ก็ยังคาดว่าจะมีจำนวนพนักงานที่เพิ่มขึ้นภายในสิ้นปีนี้ แต่การตัดสินใจนี้เกิดขึ้นหลังจากความเคลื่อนไหวเมื่อเดือนพฤษภาคมที่จะชะลอการจ้างงานใน 3 แผนก ประกอบด้วย ไมโครซอฟท์ วินโดวส์ (Windows), ไมโครซอฟท์ ออฟฟิศ (Microsoft Office), และไมโครซอฟท์ ทีมส์ (Microsoft Teams) เนื่องจากไมโครซอฟท์ต้องเตรียมพร้อมสำหรับการจัดปีงบประมาณใหม่

อ้างอิงจากผู้เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์เมื่อเดือนที่เเล้ว เทสลาก็ได้เลิกจ้างแรงงานหลายร้อยคน และปิดโรงงานที่ใช้ทดลองเทคโนโลยีระบบควบคุมการขับรถยนต์อัตโนมัติ (Autopilot self-driving technology) ในรัฐแคลิฟอร์เนีย

นายอีลอน มัสก์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของเทสลา อิงก์ ได้กล่าวก่อนหน้านี้ว่าการเลิกจ้างงานนั้นเป็นเรื่องจำเป็นในสภาพแวดล้อมเศรษฐกิจที่ผันผวนมากยิ่งขึ้นในปัจจุบัน เขาชี้เเจงผ่านการสัมภาษณ์ครั้งถัดมากับบลูมเบิร์กว่า พนักงานกว่า 10% กำลังจะต้องออกจากงานในช่วง 3 เดือนที่จะถึงนี้ โดยจำนวนการเลิกจ้างโดยรวมในปีนั้นอาจสูงยิ่งขึ้นอีกด้วย

นอกจากนี้ บริษัทที่เคยประสบความสำเร็จอย่างสูงในช่วงก่อนการเเพร่ระบาดอย่างเน็ตฟลิกซ์ และเพโลตัน (Peloton Interactive Inc.) ก็ยังได้เลิกจ้างพนักงานในช่วงเดือนที่ผ่านมา โดยทางเน็ตฟลิกซ์ตัดยอดการจ้างงานกว่า 100 ตำเเหน่งในช่วงเดือนมิถุนายน และเพโลตันเพิ่งประกาศเเผนปิดภาคการผลิตภายในองค์กรเช่นเดียวกัน

บริษัทแม่ของเฟซบุ๊กอย่างเมต้า (Meta Platform Inc.) ก็ได้ลดภาระการใช้จ่ายและชะลอการจ้างงานระดับอาวุโสในบางตำเเหน่ง เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา บริษัทได้ประกาศแผนลดค่าใช้จ่ายเป็นจำนวน 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (109,710 ล้านบาท) ภายในปีนี้ แนวคิดนี้เป็นการดึงทีมการผลิตของเมต้าให้กลับมาให้ความสำคัญกับผลิตภัณฑ์หลัก เช่น เมต้าเวิร์ส เเละรีล ซึ่งได้เลียนแบบมาจากฟังก์ชั่นของเเอปชื่อดังอย่างติ๊กต๊อก (Tiktok)

ทางเมต้ายังได้หยุดการพัฒนาหนึ่งในต้นแบบของนาฬิกาอัจฉริยะ (สมาร์ทวอตช์) และปรับแต่ง “พอร์ทัล” หรือเครื่องเล่นวิดีโอภายในบ้าน เพื่อมาให้ความสนใจกับกลุ่มลูกค้านักธุรกิจแทนกลุ่มลูกค้าทั่วไปให้มากขึ้น

กูเกิลปรับเเผน

เมื่อสัปดาห์ที่เเล้ว นายศุนทัร ปิจไช ประธานบริหารของบริษัทกูเกิล กล่าวกับพนักงานว่า บริษัทมีแผนจะชะลอการจ้างงานในช่วงที่เหลือของปีนี้ ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวที่หาได้ยากสำหรับยักษ์ใหญ่ทางด้านอินเทอร์เน็ตที่มักจะเพิ่มจำนวนพนักงานเป็นหลักหมื่นคนต่อปี โดยทางกูเกิลจะจำกัดการจ้างงานในปีนี้เเละปีหน้าไว้เฉพาะด้านเทคนิคเเละ “บทบาทที่สำคัญอื่น ๆ” เท่านั้น

บริษัทอื่น ๆ ยังได้มองหาแนวทางในการลดเเผนการเติบโตนอกเหนือจากความจำเป็นต้องเลิกจ้างครั้งใหญ่ ในขณะที่ทางอเมซอนนั้นได้มีการเพิ่มพนักงานจำนวนมากไว้ในช่วงระหว่างการแพร่ระบาดเพื่อรองรับการเพิ่มจำนวนการใช้จ่ายด้านอีคอมเมิร์ซ (e-Commerce) ซึ่งทำให้ในปัจจุบันโรงงานและโกดังต่าง ๆ ของบริษัทมีจำนวนพนักงานที่ล้นมือ อย่างไรก็ตาม ทางบริษัทกล่าวว่ากำลังแก้ปัญหานี้ผ่านการลดจำนวนแรงงาน

นายแอนดี้ แจสซี่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของอเมซอนได้กล่าวว่า ทางบริษัทได้ตัดสินใจผิดพลาดไปในช่วงต้นของวิกฤตการระบาด โดยเลือกที่จะเพิ่มจำนวนโกดังสินค้าเเละพนักงานให้มากกว่าที่กำหนด แทนที่จะลดให้น้อยกว่ากำหนด

“ตอนนั้นเรารู้ว่ามันอาจหมายถึงการที่เราจะมีกำลังมากเกินกว่าที่กำหนดในระยะสั้น ๆ” เขากล่าว

คำถามสำคัญในช่วงฤดูทำรายได้ล่าสุด นั่นคือ “กำลังซื้อของผู้บริโภคนั้นได้อ่อนตัวลงแล้วหรือไม่” ทั้งนี้ แอปเปิลยังได้กล่าวเตือนเมื่อเดือนเมษายนว่าภาพรวมไตรมาสล่าสุด (เมษายน-มิถุนายน) อาจไม่ราบรื่นนัก และโดยส่วนมากจะเป็นผลมาจากความท้าทายในห่วงโซ่อุปทาน


ปัญหาเหล่านั้นได้รับการคาดการณ์ว่าจะลดรายได้ยอดขายของแอปเปิลสูงถึง 8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเทียบเท่ากับ 2.9 แสนล้านบาท โดยเหล่านักลงทุนน่าจะได้เห็นภาพของความเสียหายอย่างชัดเจน พร้อมกับคาดการณ์การเติบโตของเเอปเปิลสำหรับไม่กี่เดือนข้างหน้า เมื่อประกาศออกมาในวันที่ 28 กรกฎาคมนี้