ยุทธศาสตร์ชาติต้องสร้างโอกาสประเทศ

บทบรรณาธิการ

 

ยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. 2561-2580) ภายใต้พระราชบัญญัติการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2560 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา และมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2561 ที่ผ่านมา

ถือเป็นยุทธศาสตร์ 20 ปีฉบับแรก ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่มีการวางเป้าหมายให้การพัฒนาประเทศเป็นไปอย่างยั่งยืนตามหลักธรรมาภิบาล และจะเป็นกรอบในการจัดทำแผนต่าง ๆ ให้สอดคล้องและบูรณาการกัน เพื่อเป็นพลังผลักดันไปสู่เป้าหมายดังกล่าว

โดยกำหนดวิสัยทัศน์ “ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” พร้อมคติพจน์ประจำชาติ “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” สนองตอบผลประโยชน์แห่งชาติ คือ การมีเอกราช อธิปไตย การดำรงอยู่อย่างมั่นคงและยั่งยืน

สาระสำคัญมี 6 ด้านหลัก ได้แก่ 1.ยุทธศาสตร์ชาติด้านความมั่นคง เป้าหมายสำคัญ คือ ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข เน้นการบริหารจัดการสภาวะแวดล้อมของประเทศให้มีความมั่นคง ปลอดภัย เอกราช อธิปไตย ฯลฯ

2.ยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน มีเป้าหมายพัฒนายกระดับศักยภาพประเทศ 3.ยุทธศาสตร์ชาติด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ มีเป้าหมายการพัฒนาคนให้เป็นคนดี เก่ง และมีคุณภาพ

4.ยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม 5.ยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 6.ยุทธศาสตร์ชาติด้านการปรับสมดุลการพัฒนาระบบบริหารจัดการภาครัฐ ตอบสนองความต้องการประชาชนได้สะดวก รวดเร็ว โปร่งใส ปลอดทุจริตคอร์รัปชั่น ให้หน่วยงานภาครัฐมีโครงสร้างและภารกิจที่เหมาะสม ฯลฯ

ทั้ง 6 ยุทธศาสตร์คือกรอบทิศทางที่ต้องนำไปสู่การปฏิบัติ เพื่อให้ประเทศบรรลุวิสัยทัศน์ โดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีหน้าที่บริหารจัดการและกำกับดูแลให้หน่วยงานรัฐดำเนินการ แม้ยังมีมุมมองที่แตกต่างนำมาซึ่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในหลากหลายประเด็น

โดยเฉพาะเงื่อนเวลาบังคับใช้ซึ่งยาวนานถึง 20 ปี อำนาจของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติในลักษณะซูเปอร์บอร์ดมีอำนาจล้นมือ ความไม่ชัดเจนและเป็นนามธรรมต้องตีความ ความไม่ยืดหยุ่นทำให้การปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ให้สอดรับกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงเป็นไปได้ยาก เป็นต้น

โจทย์ใหญ่จึงอยู่ที่ทำอย่างไรให้ทั้ง 6 ยุทธศาสตร์เอื้อต่อการพัฒนาและแก้ปัญหาประเทศได้ตรงจุด มิฉะนั้น แทนที่ยุทธศาสตร์จะสร้างโอกาสก็อาจเป็นอุปสรรคในการนำพาประเทศไปสู่เป้าหมายที่วางไว้