ลุย “อุทยานเเห่งชาติสีเขียว” ทั่วประเทศ “มจธ.-กกพ.-กรมอุทยานแห่งชาติ” พัฒนาพลังงานหมุนเวียน

เดินหน้าลุย “อุทยานเเห่งชาติสีเขียว” ทั่วประเทศ “มจธ.-กกพ.-กรมอุทยานแห่งชาติ” จัดทำเเผนเเม่บท ดันวิจัย-ใช้เทคโนโลยี พัฒนาพลังงานหมุนเวียน

เดิมพื้นที่อุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าในประเทศไทย ที่ไม่มีไฟฟ้าส่วนใหญ่กว่า 210 แห่ง จะใช้เครื่องปั่นไฟที่ใช้น้ำมันดีเซลเป็นเชื้อเพลิง ซึ่งจะก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศจากควันและเขม่า เสียงดัง คราบน้ำมัน แต่เมื่อก้าวสู่ยุคโลกเทคโนโลยีสมัยใหม่ การใช้ “พลังงานสะอาด” เริ่มแพร่หลายและเข้าถึงง่าย อีกทั้งยังมีประสิทธิภาพและลดค่าใช้จ่ายได้อย่างมากมาย

ล่าสุดมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ทำโครงการการศึกษารูปแบบการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานหมุนเวียนที่เหมาะสมในอุทยานแห่งชาติ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าของประเทศไทย เพื่อจัดทำแผนแม่บทในการพัฒนากลุ่มอุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าในภาคใต้ ครั้งที่ 1เพื่อศึกษารูปแบบการผลิตพลังงานหมุนเวียนที่เหมาะสมในอุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทั่วประเทศ

กับโครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการให้กับหัวหน้าอุทยานและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภาคใต้กว่า 54 หน่วยงาน พร้อมนำร่องสาธิตนวัตกรรมระบบผลิตไฟฟ้าใช้สำหรับพื้นที่ห่างไกล ณ เกาะห้อง อุทยานแห่งชาติธารโบกขรณี จังหวัดกระบี่

เป็นที่ทราบกันดีว่า อุทยานแห่งชาติครอบคลุมพื้นที่ทั้งทางบก และทางทะเลกระจายทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย หลายแห่งอยู่ในป่าลึก บนเขาสูง กลางทะเล การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ไฟฟ้า ประปา จึงทำได้ยากและไม่ทั่วถึง

โดยเฉพาะระบบไฟฟ้าจากแนวสายส่งของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคที่เข้าไม่ถึงเขตพื้นที่ป่าอนุรักษ์ หลายแห่งจึงต้องผลิตกระแสไฟฟ้าจากเครื่องปั่นไฟด้วย  “เครื่องยนต์ดีเซล” ทำให้เกิดปัญหาและผลกระทบด้านสภาพแวดล้อม ค่าใช้จ่ายน้ำมันเชื้อเพลิง การดูแลบำรุงรักษาเครื่องยนต์สูง โดยเฉพาะแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นที่นิยมทำให้ไฟฟ้าไม่เพียงพอต่อการปฏิบัติงานและอำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยว

นายสุพจน์ เพริศพริ้ง ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 5 (นครศรีธรรมราช) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวว่า หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติ และหน่วยพิทักษ์เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเห็นความสำคัญของพลังงานหมุนเวียนในการผลิตไฟฟ้า โดยเฉพาะพลังงานงานจากแสงอาทิตย์ ซึ่งได้รับความนิยมอันเนื่องจากความต้องการพลังงานไม่มากนัก ติดตั้งได้ง่าย ราคาไม่สูงนัก และในอดีตมีหน่วยงานเข้าให้การสนับสนุน เช่น กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน สามารถบรรเทาปัญหาได้บ้าง

อย่างไรก็ตาม การใช้งานระบบดังกล่าวมักปัญหาแบตเตอร์รี่ อุปกรณ์หลักพังเสียหาย เช่น อินเวอร์เตอร์ นอกจากนี้ยังเกิดความไม่เข้าใจระบบของเจ้าหน้าที่ ขาดการบำรุงรักษาอย่างถูกต้อง สภาพแวดล้อมที่มีความชื้นสูงเนื่องจากอยู่ในป่าเขา ปัญหาไอเค็มจากทะเล

“จากปัญหานี้ ทางกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้แก้ไขโดยร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ในการพัฒนาระบบผลิตไฟฟ้าที่เหมาะสม กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ความร่วมมือในการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ จะเป็นขั้นตอนหนึ่งในการศึกษา ที่จะได้มีแผนแม่บทและทิศทางในการพัฒนา (Roadmap) สามารถนำมาประยุกต์ใช้งานในการผลิตไฟฟ้าได้อย่างเหมาะสม มีการพัฒนาต่อเนื่องให้ดียิ่งขึ้น สามารถตอบสนองความต้องการของผู้ใช้งานในพื้นที่ ลดใช้งานระบบผลิตไฟฟ้าด้วยเครื่องยนต์ดีเซล และสอดคล้องกับแนวคิดการพัฒนาอุทยานแห่งชาติ 4.0 หรือ Smart National Park ทั่วประเทศ”

ด้าน นายวีระศักดิ์ ศรีสัจจัง หัวหน้าอุทยานแห่งชาติธารโบกขรณี จ.กระบี่ กล่าวว่า พื้นที่เกาะห้องเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ไม่อนุญาตให้พักค้างคืนเนื่องจากไม่มีไฟฟ้า มีเครื่องปั่นไฟไว้สำหรับเครื่องสูบน้ำทะเลขึ้นมาไว้บริการห้องน้ำให้นักท่องเที่ยว รวมทั้งน้ำใช้ในร้านสวัสดิการ และบ้านพักเจ้าหน้าที่อุทยานที่ประจำบนเกาะ ปัจจุบันใช้น้ำมันดีเซลประมาณ 15 ลิตรต่อวันคิดเป็นค่าใช้จ่าย 12,280 บาท/เดือน หรือ 148,000 บาทต่อปี (ราคา 27.29 บาท/ลิตร ณ วันที่ 9 เม.ย. 61) โดยกำหนดให้บ้านพักเจ้าหน้าอุทยานเปิดใช้ไฟฟ้าเพียงช่วงเวลาหกโมงเย็นจนถึงเที่ยงคืน เพื่อเป็นการประหยัดการใช้น้ำมันดีเซล

“เราหวังว่า อุทยานแห่งชาติธารโบกขรณี เกาะห้อง จะเป็นต้นแบบอุทยานสีเขียวให้กับอุทยานแห่งชาติอื่น ๆ และอนาคตจะเปิดบริการจุดชาร์จโทรศัพท์มือถือฟรีด้วยพลังงานสีเขียว รวมทั้งจะทำเป็นแหล่งเรียนรู้พลังงานทดแทนจากแสงอาทิตย์ให้บริการนักท่องเที่ยวอีกด้วย”

ขณะที่ ผศ.ดร.อุสาห์ บุญบำรุง นักวิจัย มจธ. กล่าวว่า ห้องปฏิบัติการวิจัยบูรณาการระบบพลังงานสะอาดได้ทำการศึกษาโจทย์วิจัยระบบผลิตไฟฟ้าในพื้นที่ห่างไกล เพื่อให้อัตราค่าไฟฟ้าที่ผลิตได้จากระบบต่ำที่สุด ขณะที่เสถียรภาพสูงสุด

ปัจจุบันใช้เทคโนโลยีระบบผลิตไฟฟ้าที่มีค่าใช้จ่ายเพียง 8 บาทต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง/วัน (ยูนิต) จากเดิม 20 บาทต่อยูนิต หากเป็นเครื่องปั่นไฟที่ใช้น้ำมันดีเซลค่าใช้จ่ายประมาณ 25 บาทต่อยูนิต โดยมีระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนกว่า 15 ระบบที่ติดตั้งใช้งานจริงในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และหมู่บ้านในชนบท เช่น อุทยานแห่งชาติตะรุเตา อุทยานแห่งชาติภูกระดึง อุทยานแห่งชาติคลองลาน อุทยานแห่งชาติตาดหมอก หมู่บ้านโป่งลึก-บางกลอย หมู่บ้านเกาะจิก หมู่บ้านคีรีวง เป็นต้น

สำหรับระบบจะพัฒนาตามเทคโนโลยีปัจจุบัน ตั้งแต่ระบบ Hybrid ระบบ Microgrid ระบบกังหันน้ำ การควบคุมระบบที่หลากหลาย ขนาดระบบมีความสะดวกในการขนส่ง เพื่อให้เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่จึงทำให้มีโมเดล ขนาดระบบผลิตไฟฟ้าที่มีความหลากหลายในการผลิตกำลังไฟฟ้าตรงกับความต้องการในการใช้ในแต่ละอุทยาน เช่น ปริมาณการใช้ไฟฟ้า 10 ยูนิต/วัน 30 ยูนิต/วัน 50 ยูนิต/วัน เป็นต้น และดำเนินการเก็บข้อมูลต่อเนื่องมากว่า 4 ปี

“มีการฝึกอบรม 3 วัน พร้อมชมการสาธิตนวัตกรรมระบบผลิตไฟฟ้าใช้สำหรับพื้นที่ห่างไกล โดยที่เกาะห้อง อุทยานแห่งชาติธารโบกขรณี จ.กระบี่ เป็นเทคโนโลยี ระบบผลิตไฟฟ้าแบบผสมผสานที่ใช้เทคนิคการควบคุมแบบทำนายล่วงหน้าโดยใช้ระบบพยากรณ์อากาศ ที่จะช่วยให้อัตราค่าไฟฟ้าที่ผลิตได้จากระบบต่ำลง นอกจากนี้ยังสามารถควบคุมและแสดงผลผ่านมือถือได้”

 

ด้าน รศ.ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน อธิการบดี มจธ. กล่าวว่า มจธ. เริ่มให้ความสำคัญกับ โจทย์วิจัยระบบผลิตไฟฟ้าในพื้นที่ห่างไกลมากว่า 25  ปี โดยเริ่มดำเนินโครงการในพื้นที่สถานีวิจัยรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฉะเชิงเทรา เพื่อพัฒนาระบบผลิตไฟฟ้าแบบผสมผสาน (Hybrid) ซึ่งเป็นระบบผลิตไฟฟ้าที่ก่อให้เกิดมลพิษต่ำและมีอัตราค่าไฟฟ้าที่ผลิตได้ต่ำกว่าระบบผลิตไฟฟ้าด้วยเครื่องยนต์ดีเซล ซึ่งเป็นระบบผลิตไฟฟ้าที่ใช้งานอย่างแพร่หลายในพื้นที่ห่างไกลในขณะนั้น

และในปี 2540 กรมป่าไม้ได้ขยายผลไปสู่อุทยานแห่งชาติภูกระดึง อุทยานแห่งชาติตะรุเตา และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ในระยะต่อมา เพื่อเป็นโครงการนำร่องในการนำระบบผลิตไฟฟ้าแบบผสมผสานและแบบอิสระมาใช้งานในอุทยานแห่งชาติทางบก อุทยานแห่งชาติทางทะเล และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า รวมทั้งเป็นต้นแบบที่นำไปประยุกต์ใช้กับพื้นที่ชุมชนที่ห่างไกลไม่มีไฟฟ้าใช้ ปัจจุบันห้องปฏิบัติการวิจัยบูรณาการระบบพลังงานสะอาด มจธ. ทำการวิจัยและศึกษาระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในพื้นที่ห่างไกลกว่า 15 ระบบที่ติดตั้งใช้งานจริงในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และหมู่บ้านในชนบท

ดังนั้นเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนจะทำให้เกิดประโยชน์หากนำไปใช้ในชุมชนที่ห่างไกล โรงเรียนที่สายไฟเข้าไม่ถึง พื้นที่ชายแดนทั่วประเทศ และสามารถใช้เป็นสถานที่เรียนรู้ของนักเรียนและชุมชน ซึ่งส่วนหนึ่งต้องทำให้ชุมชนตระหนักถึงประโยชน์การใช้พลังงานหมุนเวียน รวมทั้งนโยบายรัฐบาล การสนับสนุนจากหน่วยงานรัฐบาลที่ทำให้เกิดนวัตกรรมเหล่านี้

โดยทาง มจธ. มีความพร้อมสนับสนุนด้านบุคลากรที่เป็นนักวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีประสบการณ์และงานวิจัยที่จะพัฒนาอุปกรณ์ ระบบให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อนักศึกษาที่จะได้เข้าไปเรียนรู้งานวิจัย

ทั้งนี้ สำนักงาน กกพ. ได้ออกประกาศเปิดรับข้อเสนอโครงการ กองทุนพัฒนาไฟฟ้าเพื่อกิจการตามมาตรา 97(4) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 เพื่อส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนและเทคโนโลยีที่ใช้ในการประกอบกิจการไฟฟ้าที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย โดยมีกรอบการสนับสนุนหนึ่งเพื่อพัฒนาระบบผลิตและระบบไฟฟ้าระดับชุมชน ในพื้นที่ที่ไม่มีไฟฟ้าใช้ ซึ่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เป็นหนึ่งในผู้ได้รับจัดสรรเงินกองทุนฯ ให้ดำเนินโครงการการศึกษารูปแบบการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานหมุนเวียนที่เหมาะสมในอุทยานแห่งชาติ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าของประเทศไทย เพื่อจัดทำแผนแม่บทในการพัฒนากลุ่มอุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทั่วประเทศ

และในปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 สำนักงาน กกพ. ได้ออกประกาศเปิดรับข้อเสนอโครงการ กองทุนพัฒนาไฟฟ้าเพื่อกิจการตามมาตรา 97(4) เป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน โดยมีกรอบวงเงินไม่เกิน 1,050 ล้านบาท ซึ่งยังคงมีกรอบการสนับสนุนหนึ่ง เพื่อการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนรูปแบบต่าง ๆ ในชุมชนในพื้นที่ห่างไกลที่ไม่มีโครงข่ายและไม่สามารถเข้าถึงบริการไฟฟ้าได้อย่างทั่วถึง โดยมีรูปแบบการบริหารจัดการและมีการใช้เทคโนโลยีด้านการจัดการพลังงานที่มีประสิทธิภาพ ยั่งยืน และขยายผลได้