Sustainability Store ยกระดับธุรกิจไทยสู่ความยั่งยืน

นับตั้งแต่สถาบันไทยพัฒน์ มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2544 ซึ่งเป็นการรวมตัวของกลุ่มบุคคลในแวดวงธุรกิจ เอกชน จำนวนหนึ่งที่ต้องการหาวิธีในการดำเนินธุรกิจ โดยไม่อิงแอบกับเงื่อนไขของระบบเศรษฐกิจทุนนิยม ที่มีเป้าหมายในการแสวงหาผลกำไรสูงสุด

เนื่องจากในอดีตผ่านมาสะท้อนให้เห็นว่าการมุ่งแสวงหาแต่ผลกำไรสูงสุดขององค์กรธุรกิจ เอกชน โดยไม่สนใจ และไม่คำนึงถึงสภาพสังคม ผู้คน ประชากร ตลอดจนระบบนิเวศ ทรัพยากรธรรมชาติ กระทั่งสิ่งแวดล้อม ก่อให้เกิดหายนะอันใหญ่หลวงตามมาในหลากหลายประเด็น

ตลอดระยะเวลากว่า 17 ปีที่ผ่านมา สถาบันไทยพัฒน์มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมความยั่งยืนของกิจการ และการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรธุรกิจ ผ่านการวิจัย (research) การฝึกอบรม (training) และการให้คำปรึกษา (consulting) แก่ภาคเอกชน ภายใต้บริบทของการพัฒนาที่ยั่งยืน

ทั้งนี้ สถาบันไทยพัฒน์ยังได้รับการรับรองจากองค์การแห่งความริเริ่มว่าด้วยการรายงานสากล (Global Reporting Initiative : GRI) ให้เป็น GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี 2556 ทั้งยังเข้าเป็น GRI Data Partner ในปี 2559

อีกทั้งยังพัฒนางานบริการให้ความเชื่อมั่น (Assurance Service) ต่อรายงานแห่งความยั่งยืน ตามมาตรฐาน AA1000AS (Assurance Standard) และ AA1000APS (Accountability Principles Standard) โดยได้รับการรับรองจากหน่วยงานผู้กำหนดมาตรฐาน Accountability ให้เป็นผู้ให้บริการงานให้ความเชื่อมั่นรับอนุญาต (Licensed Assurance Provider) ในประเทศไทย

ไม่เพียงเท่านี้ สถาบันไทยพัฒน์ยังได้พัฒนาทีมที่ปรึกษา ซึ่งผ่านการอบรมและได้รับการรับรองให้เป็น Certified Shared Value Consultant จาก Shared Value Initiative สำหรับรองรับความต้องการขององค์กรที่ประสงค์จะนำแนวคิด CSV (Creating Shared Value) มาพัฒนาเป็นกลยุทธ์ธุรกิจเพื่อตอบโจทย์ทางสังคม โดยดึงศักยภาพและความเชี่ยวชาญขององค์กรมาใช้สร้างคุณค่าเชิงเศรษฐกิจและสังคมไปพร้อมกัน

อย่างไรก็ดี ด้วยสภาวะความเปลี่ยนแปลง และความเป็นไปของบริบทโลก โดยเฉพาะการที่ที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยสามัญ ครั้งที่ 70 วันที่ 25 กันยายน 2558 ที่มีผู้แทนระดับผู้นำประเทศ ประมุขของรัฐ หัวหน้าคณะรัฐบาล และเจ้าหน้าที่ระดับสูง จากชาติสมาชิก 193 ประเทศ ได้รับรองวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ปี ค.ศ.2030 (2030 Agenda for Sustainable Development) และมีการกำหนดเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ใน 17 เป้าหมาย (goals) 169 เป้าประสงค์ (targets) เพื่อใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาโลก ในอีก 15 ปี ข้างหน้า (2559-2573)

สำหรับการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนนั้น จะต้องสร้างความสมดุลให้เกิดขึ้นทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยเป็นการพัฒนาใน 3 มิติที่เอื้อต่อกัน และแบ่งแยกมิได้ ทำให้บริบทของการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือแม้กระทั่งการทำซีเอสอาร์ขององค์กรธุรกิจ เอกชน เปลี่ยนแปลงไป

รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีดิจิทัลที่มีความรวดเร็ว และหลากหลายของข้อมูล ทำให้พฤติกรรมของผู้คนเปลี่ยนแปลงไป ส่งผลต่อรูปแบบของสินค้า และบริการ ขณะเดียวกัน บริบทสังคม สิ่งแวดล้อม ทั้งปัญหาโลกร้อน การเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็วของประชากร ทรัพยากรกำลังจะหมดลง การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ การขาดแคลนแรงงาน และอื่น ๆ ถือเป็นปัจจัยที่สำคัญที่ทำให้ภาคธุรกิจ เอกชน ต่างต้องปรับตัวเพื่อปิดจุดอ่อน หรือลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้น เพื่อให้หลุดพ้นจากการถูก disrupt จากธุรกิจใหม่ ๆ

ด้วยปัจจัยและบริบทความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น สถาบันไทยพัฒน์จึงมีการเปิดตัว “ร้านค้าความยั่งยืน (Sustainability Store)” ที่เป็นการรวบรวมเอาเครื่องมือ และประสบการณ์ที่ได้มีส่วนในการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน และซีเอสอาร์ ร่วมกับภาคเอกชน มาช่วยยกระดับองค์กรธุรกิจไทยให้ก้าวสู่ความยั่งยืน

“วรณัฐ เพียรธรรม” ผู้อำนวยการสถาบันไทยพัฒน์ กล่าวว่า การเปิดตัวร้านค้าความยั่งยืน (Sustainability Store) ครั้งนี้ เป็นการนำประสบการณ์ ความรู้ ความเชี่ยวชาญที่สั่งสมมา มารวบรวมไว้เพื่อเป็นแนวทางการพัฒนาบทบาททางธุรกิจ บริษัทจดทะเบียน ให้ตอบสนองต่อความคาดหวังของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และการยอมรับจากสังคมอย่างยั่งยืน

สำหรับบริการใหม่ที่เปิดตัวในชื่อร้านค้าความยั่งยืน ในครั้งนี้ประกอบด้วย 3 หมวดหลัก ๆ ได้แก่

หนึ่ง การจัดทำกรอบความยั่งยืน (S-Framework)

สอง การประเมินระดับความยั่งยืน (S-Score)

สาม การวางกระบวนการเพื่อให้ได้มาซึ่งรายงานความยั่งยืน (S-Report)

โดย S-Framework จะให้บริการในรูปแบบของการศึกษา และทบทวนข้อมูลสถานภาพด้านความยั่งยืนในปัจจุบันของกิจการ เพื่อค้นหาประเด็นความยั่งยืนที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานขององค์กร แนวการบริหารจัดการ และตัวบ่งชี้การดำเนินงานด้านความยั่งยืนที่สำคัญ เพื่อใช้ขับเคลื่อนองค์กรให้เข้าสู่วิถีการพัฒนาที่ยั่งยืน ตลอดจนใช้เป็นข้อมูลนำเข้าสำหรับการจัดทำยุทธศาสตร์องค์กรภายใต้บริบทความยั่งยืน

ส่วน S-Score เป็นบริการที่ช่วยตรวจทานสถานะความยั่งยืนของกิจการ โดยคำนึงถึงความเชื่อมโยงสัมพันธ์กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียแต่ละกลุ่มที่องค์กรเข้าไปเกี่ยวข้อง ที่มีความคาดหวัง และความสนใจในเรื่องที่กิจการดำเนินการแตกต่างกัน

รวมถึงการวิเคราะห์ในสิ่งที่ระบุถึงองค์กรควรดำเนินการ (Gap Analysis) ในแต่ละกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อให้เกิดเป็นผลการดำเนินงานที่นำไปสู่การยอมรับของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกลุ่มต่าง ๆ

สุดท้าย S-Report เป็นการวางกระบวนการรายงานที่ประกอบด้วยงาน 5 ระยะ คือ Prepare, Connect, Define, Monitor, Report ตามแนวทางขององค์การแห่งความริเริ่มว่าด้วยการรายงานสากล (GRI) ที่จะเน้นการบูรณาการความยั่งยืนให้เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์องค์กร เพื่อสร้างให้เกิดคุณค่าที่ตอบโจทย์ความยั่งยืนของกิจการจากกระบวนการรายงาน มิใช่เพื่อการมุ่งหวัง เพียงแค่เอกสารหรือเล่มรายงาน

“วรณัฐ” กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการสำรวจของสถาบันไทยพัฒน์ ในงานแถลงทิศทาง CSR ปี 2561 และการเสวนาเรื่องมณฑลแห่งความยั่งยืน (The Sphere of Sustainability) เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2561 เกี่ยวกับการนำ GRI standards มาใช้ในการจัดทำรายงานความยั่งยืนของกิจการ กับผู้ตอบแบบสอบถาม 87 ราย พบว่า ร้อยละ 67 จะนำมาตรฐาน GRI มาใช้ในรอบการดำเนินงานปี 2561 นี้ ร้อยละ 6 จะนำมาใช้ในรอบการดำเนินงานปี 2562 ร้อยละ 18 ต้องใช้เวลาเตรียมการอีกระยะหนึ่ง ร้อยละ 8 ยังไม่แน่ใจ และร้อยละ 1 ไม่มีแผนนำมาใช้

“ขณะที่ผลสำรวจเรื่องการสนองตอบต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ในการดำเนินงานขององค์กรพบว่า ร้อยละ 50 มีการบรรจุ SDGs ไว้เป็นวาระการดำเนินงานขององค์กรร้อยละ 34 มีการตอบสนองในรูปโครงการ กิจกรรมที่อยู่นอกกระบวนหลักทางธุรกิจ และร้อยละ 12 ได้เข้าร่วมในเครือข่ายธุรกิจที่เอื้อต่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG-Friendly Biz) ที่สถาบันไทยพัฒน์ริเริ่ม ส่วนอีกร้อยละ 4 ยังไม่มีแผนในการตอบสนอง โดยอยู่ระหว่างการพัฒนาเพื่อริเริ่มแนวทางการพัฒนาสู่ความยั่งยืน และอยู่ระหว่างการพิจารณาขององค์กร”

ถึงตรงนี้ “วรณัฐ”บอกอีกว่า ในการให้บริการทั้ง 3 หมวดหลักของร้านค้าความยั่งยืน องค์กรธุรกิจ เอกชน สามารถเลือกใช้ตามความเหมาะสมกับสถานะของกิจการ ไม่ว่าจะเป็นกิจการที่มีการขับเคลื่อนเรื่องความยั่งยืนมาระดับหนึ่งแล้ว แต่ไม่แน่ใจว่าองค์กรของตนทำได้ดีเพียงใด เมื่อเทียบกับบรรทัดฐานหรือองค์กรข้างเคียงอื่นที่อยู่ในอุตสาหกรรม

“ทั้งยังสามารถใช้ประโยชน์จาก S-Score เพื่อทบทวนเรื่องที่ดำเนินการว่ามีความครอบคลุมเพียงพอต่อการยอมรับของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้อง และสามารถนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายปลายทางที่เป็นความยั่งยืนของกิจการหรือไม่ เพียงใด ส่วนกิจการใดที่คิดว่ามีการขับเคลื่อนเรื่องความยั่งยืนได้เป็นที่น่าพอใจแล้ว อาจใช้ประโยชน์จาก S-Report เพื่อนำผลการดำเนินงานเหล่านั้นมาเปิดเผยตามมาตรฐาน ซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ทั้งยังเป็นการเพิ่มคุณค่าของการดำเนินงานไปสู่การรายงาน เพื่อให้เกิดการรับรู้ในวงกว้างทั้งในระดับประเทศและต่างประเทศ”

“หรือกิจการใดที่มีความสนใจจะริเริ่มการดำเนินงานเรื่องความยั่งยืนอย่างเป็นระบบ หรือเพิ่งเริ่มต้นดำเนินการ และต้องการทิศทางที่ถูกต้องเหมาะสมกับองค์กรตนเองตั้งแต่เริ่มแรก สามารถใช้ประโยชน์จาก S-Framework เพื่อระบุรายการประเด็นความยั่งยืนที่ควรดำเนินการ ตามความพร้อมขององค์กรและบริบททางธุรกิจได้”

นับเป็นอีกหนึ่งการบริการด้านความยั่งยืนและซีเอสอาร์ของสถาบันไทยพัฒน์ ในการมุ่งยกระดับองค์กรธุรกิจไทยให้ก้าวสู่ความยั่งยืน