ซีเอสอาร์ “กราน-มอนเต้” บ่มความใส่ใจสู่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

บนพื้นที่เกือบ 100 ไร่ บริเวณอโศกวัลเลย์ เขาใหญ่ ซึ่งอยู่ใกล้กับอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จ.นครราชสีมา มีที่ตั้งของไร่องุ่นกราน-มอนเต้ (Gran-Monte) ซึ่งได้ปลูกองุ่นคุณภาพเยี่ยมเพื่อการผลิตไวน์ โดยองุ่นที่อยู่ภายใต้พื้นที่เพาะปลูกของกราน-มอนเต้มีหลากหลายสายพันธุ์

อาทิ ซีร่าห์ (Syrah), คาร์แบร์เนต์ โซวีนยอง (Cabernet Souvignon), เกรนาช (Grenache), ดูรีฟ (Durif) ที่เป็นองุ่นสำหรับผลิตไวน์แดง และมีพันธุ์เชอแนง บลอง (Chenin Blanc), แวร์เดลโล (Verdelho), วีออนเยร์ (Viognier), เซมิลยอง (Semillon) สำหรับผลิตไวน์ขาว

กราน-มอนเต้ตั้งเป้าที่จะผลิตไวน์ที่มีคุณภาพดีที่สุด ไวน์ทุกขวดจะต้องผลิตจากองุ่นที่ดีและสดใหม่ที่ปลูกเองภายในไร่เท่านั้น ซึ่งมีการนำระบบไร่องุ่นอัจฉริยะ (smart vineyard) มาใช้ เพื่อติดตามการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ ความเร็วและทิศทางลม ปริมาณน้ำฝน และปัจจัยอื่น ๆ ภายในไร่ เพื่อช่วยเพิ่มคุณภาพ และผลผลิตองุ่นภายในไร่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ปัจจุบันไร่แห่งนี้สามารถผลิตไวน์ได้ 90,000 ขวดต่อปี ขณะที่กำลังการผลิตสูงสุดอยู่ที่ 1.2 แสนขวดต่อปี โดยภายในพื้นที่ของกราน-มอนเต้ ยังให้บริการอื่น ๆ อย่างร้านอาหาร VinCotto, กราน-มอนเต้ช็อป และเกสต์เฮาส์ โดยการจัดการภาพรวมอยู่ภายใต้การดูแลของ “วิสุทธิ์ โลหิตนาวี” ที่รั้งตำแหน่งประธานฝ่ายปฏิบัติการ และกรรมการผู้จัดการ กราน-มอนเต้

วิสุทธิ์ โลหิตนาวี

ถึงแม้กราน-มอนเต้จะเป็นธุรกิจครอบครัวที่เดินทางมา 20 กว่าปีแล้ว และมีพนักงานจำนวนไม่มากเพียง 50 คน แต่หากมองถึงประเด็นความรับผิดชอบต่อสังคมของกราน-มอนเต้นั้นถือว่าได้แทรกซึมไปอยู่ในทุกกระบวนการของการทำธุรกิจ

เพราะมีมุมมองต่อเรื่องซีเอสอาร์ว่าไม่ใช่การทำการกุศล หรือการบริจาคเงินจำนวนมาก แต่ความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมจะต้องถูกปลูกฝังไปใน operation ของบริษัท นั่นหมายถึงการรับผิดชอบต่อพนักงาน และกระบวนการผลิตสินค้า ก่อนขยายไปสู่ภายนอก หรือชุมชนที่อยู่บริเวณเดียวกับที่ทำธุรกิจ

“การจัดการไร่ของเราพยายามให้เป็นธรรมชาติมากที่สุด เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม อย่างการผลิตไวน์ก็แทบไม่มีของเสียเลย เพราะก้านองุ่น เปลือก รวมถึงเมล็ด สามารถนำไปทำเป็นปุ๋ยหมักได้ แล้วนำกลับมาใช้ที่ไร่ ขณะที่กระบวนการหมักไวน์จะมีการหมักในถังสเตนเลสสำหรับไวน์ขาว ซึ่งสามารถใช้งานได้นาน ส่วนไวน์แดงที่หมักในถังไม้โอ๊ก ส่วนใหญ่จะมีอายุการใช้งาน 4 ปีจึงหมดสภาพ หลังจากนั้นจะมีคนมารับซื้อเพื่อไปบ่มอย่างอื่น เช่น ทำไซเดอร์ รวมถึงเรานำไปปรับเป็นเฟอร์นิเจอร์ได้”

“วิสุทธิ์” ฉายภาพให้ฟังถึงการผลิตไวน์ พร้อมเล่าต่อว่า พนักงานครึ่งหนึ่งของกราน-มอนเต้ เป็นคนในพื้นที่ สัดส่วนที่เหลือเป็นคนต่างจังหวัด ดังนั้น จึงมีการอำนวยความสะดวกด้านที่พัก พร้อมอาหารมื้อกลางวัน-เย็น ขณะเดียวกันค่าตอบแทนของที่นี่ก็มากกว่าค่าแรงขั้นต่ำอีกด้วย

“เมื่อเราเข้ามาทำธุรกิจในเขาใหญ่ เราก็อยากส่งเสริมให้ชาวบ้านมีงานทำ และมีงานที่มั่นคง ซึ่งเราพยายามบอกลูกจ้างรายวันว่า ให้เขามาเป็นพนักงานประจำ เพราะจะมีสวัสดิการอื่นมากขึ้น อีกทั้งเราพยายามเติมเต็มสิ่งที่พนักงานต้องการ เพื่อตอบโจทย์คุณภาพชีวิตของพวกเขาได้มากที่สุด”

“อย่างเรื่องที่พักก็เพื่อให้พนักงานที่บ้านอยู่ไกลไม่ต้องขับรถไปกลับ เพราะอาจเกิดอันตรายระหว่างการเดินทางได้ และล่าสุดเรากำลังวางแผนจะทำที่เลี้ยงเด็กให้กับพนักงานที่มีลูกหลาน เพื่อเป็นสถานที่ให้เด็ก ๆ ได้เล่นและพักผ่อนระหว่างที่พ่อแม่กำลังทำงาน”


เพราะการปักธงทำธุรกิจที่เขาใหญ่ของ “วิสุทธิ์” ครั้งนี้เป็นแบบ lifelong investment การดำเนินงานต่าง ๆ จึงไม่ใช่การกอบโกยผลประโยชน์ แต่มองไปที่มิติที่ว่าจะทำอย่างไรเพื่ออยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างยั่งยืน ซึ่งหมุดหมายของเขาคือการตอบแทนชุมชนและสังคมในพื้นที่เขาใหญ่ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

นอกเหนือจากการจ้างงานคนในพื้นที่ แนวทางอื่น ๆ ที่กราน-มอนเต้ เดินหน้าอย่างต่อเนื่อง คือการร่วมดูแลโรงเรียนโดยรอบ ทั้งการปรับปรุงโครงสร้างโรงเรียน ให้ทุนอาหารกลางวัน และให้ทุนการศึกษากับนักเรียนที่ขาดโอกาส รวมถึงเข้าไปยกระดับชุมชน ตั้งแต่การส่งเสริมให้มีการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และสนับสนุนด้านอาชีพ ด้วยการจัดอบรมเกี่ยวกับไกด์ท่องเที่ยว ซึ่งช่วยเพิ่มรายได้ให้กับชุมชนอีกทางหนึ่ง

ขณะเดียวกัน ยังมองครอบคลุมไปถึงอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ที่ปัจจุบันต้องเผชิญปัญหาหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการลักลอบตัดไม้ หรือมีงบประมาณไม่เพียงพอต่อการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ซึ่งกราน-มอนเต้เป็นอีกหนึ่งองค์กรที่เข้าร่วมประชุมกับอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ และร่วมสอดส่องดูแลพื้นที่อย่างใกล้ชิด

“เราสนับสนุนทุนให้กับอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ในส่วนที่เขาขาด อย่างการซื้ออุปกรณ์ในการทำงาน เตียงภาคสนาม และอื่น ๆ ซึ่งเรามองว่าเป็นเรื่องสำคัญยิ่งที่ต้องเข้ามาเติมเต็มการทำงานของผู้พิทักษ์ป่า ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ลาดตระเวน หรือเจ้าหน้าที่ไฟป่า เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจ ส่งผลให้การทำงานของพวกเขานั้นราบรื่น และมีประสิทธิภาพมากขึ้น”


“วิสุทธิ์” เน้นย้ำว่า กราน-มอนเต้ พร้อมเป็นหนึ่งในองค์กรที่ร่วมสร้างสรรค์สังคมและสิ่งแวดล้อม ถึงแม้ว่าการดำเนินงานที่ผ่านมาอาจไม่ใช่กิจกรรมที่ใหญ่โต แต่เขาเชื่อว่าท้ายที่สุดแล้วจะสามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกให้กับสังคมและสิ่งแวดล้อมในระยะยาวได้อย่างแน่นอน