รักษ์โลกแบบ “สแกนเนียฯ” ทำตลาดรถขนส่งเซฟพลังงาน

Scania Citywide LE 4x2, gas bus. Akureyri, Iceland Photo: Dan Boman 2014

จำนวนรถยนต์ที่ใช้ฟอสซิลเป็นเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้นทั่วโลก ส่งผลให้เกิดควันและก๊าซเสียถูกปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศมากขึ้นตามไปด้วย แม้จะมีการตื่นตัวในเรื่องดังกล่าวพร้อมกันทั่วโลก จนเกิดข้อตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่มีเป้าหมายให้คาร์บอนไดออกไซด์ให้เป็นศูนย์ในปี 2050 ก็ตาม จนถึงขณะนี้ยังไม่สามารถไปถึงเป้าหมายดังกล่าวได้ แต่ก็มีสัญญาณที่ดีว่าทั่วโลกยังพร้อมใจกันขับเคลื่อนเป้าหมายต่อเนื่อง

บริษัท สแกนเนีย สยาม จำกัด ในฐานะผู้ให้บริการโซลูชั่นด้านการขนส่งประเภทรถบรรทุก รถบัส จากประเทศสวีเดน ได้ตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมดังกล่าวข้างต้น จึงต้องเร่งพัฒนาระบบการขนส่งที่ยั่งยืน ด้วยการใช้แนวทางประหยัดพลังงาน ใช้เชื้อเพลิงทางเลือก และทำธุรกิจไปพร้อม ๆ กับการรับผิดชอบต่อสังคม โดย “อีรีกา ซันเดลล์” หัวหน้าฝ่ายการพัฒนาอย่างยั่งยืน บริษัท สแกนเนียฯ เล่าว่า ได้ริเริ่มโครงการพัฒนายานพาหนะที่ใช้ “พลังงานทดแทน” และมีการทดลองการ “ใช้เชื้อเพลิง” ใหม่ ๆ ในยุโรปมาตั้งแต่สหประชาชาติมีข้อตกลงปารีสว่าด้วยการลดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

“อีรีกา ซันเดลล์” หัวหน้าฝ่ายการพัฒนาอย่างยั่งยืน บริษัท สแกนเนียฯ

“อีรีกา” ขยายความต่อถึงแนวทางเรื่องความยั่งยืนใน 2 แนวทางคือ

1) การขนส่งแบบยั่งยืน และ 2) การทำธุรกิจที่มีความรับผิดชอบกับสังคม เริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการผลิตรถบรรทุกที่จะต้องประหยัดพลังงาน สามารถใช้พลังงานทดแทนประเภทไบโอดีเซลหรือไฟฟ้า นอกจากนั้นเครื่องยนต์ของเรายังได้มาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม และอัตราการใช้น้ำมันของยุโรป หรือยูโร 6 ที่ช่วยลดมลพิษทางอากาศและลดต้นทุนด้านเชื้อเพลิงให้ลูกค้าในเวลาเดียวกัน ที่ต้องให้ความสำคัญตั้งแต่ขั้นตอนการผลิต ก็เพื่อให้สามารถใช้ทรัพยากรธรรมชาติได้อย่างคุ้มค่าที่สุด พร้อมทั้งให้ความสำคัญกับผลลัพธ์ด้านบวกและสังคมรอบข้างด้วย ที่สำคัญทั้ง 2 แนวทางสามารถนำไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ รวมไปจนถึงความสำเร็จในด้านผลประกอบการคือ ธุรกิจมีกำไร

“สแกนเนียฯมีประวัติมายาวนาน เพราะก่อตั้งในปี 1891 เรามาตั้งแต่ต้นว่าการพัฒนาอย่างยั่งยืนเป็นความรับผิดชอบของเรา และเป็นตัวแปรที่สำคัญสำหรับอนาคต เราคำนึงอยู่ตลอดเวลาในด้านคุณภาพและการกำจัดของเสียที่ปล่อยออกมาจากรถบรรทุก และการใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้เกิดประโยชน์สูงสุด”

นอกจากนี้ “อีรีกา” ยังอธิบายต่อว่า สแกนเนียฯมีการสนับสนุนสังคมโดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้ใช้ระบบการขนส่งแบบยั่งยืน โดยเลือกจำหน่ายรถบรรทุกที่ประหยัดพลังงาน และสามารถใช้พลังงานทดแทน ยกตัวอย่างในกรุงจาการ์ตา สแกนเนียฯจัดส่งรถบัสที่ผ่านมาตรฐานยูโร 6 จำนวน 300 คัน เพื่อใช้ในระบบขนส่งมวลชนแบบบีทีอาร์ (BTR bus) ทำให้คนในจาการ์ตาได้ใช้บริการขนส่งที่ดี ประหยัดพลังงาน และไม่สร้างมลพิษ

ทั้งนี้สำหรับก้าวต่อไปของบริษัทสแกนเนียฯคือ การนำเครื่องยนต์ยูโร 6 ที่สามารถใช้ก๊าซธรรมชาติและก๊าซชีวภาพ รวมไปถึงเครื่องยนต์ไฮบริด สำหรับตลาดในประเทศไทยด้วย เหตุผลที่เลือกเข้ามาทำตลาดในไทย เพราะนโยบายของภาครัฐที่มีความชัดเจนที่จะส่งเสริมให้มีการใช้พลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกอื่น ๆ ด้วย นอกจากนี้ยังมีแผนที่จะร่วมมือกับผู้ผลิตพลังงานทดแทนในไทยในการส่งเสริมระบบขนส่งที่ยั่งยืนอีกด้วย

“พันธมิตรคือปัจจัยสำคัญในการสร้างความยั่งยืน สแกนเนียฯจึงมองหาบริษัทคู่ค้าและพันธมิตรที่เดินไปสู่เป้าหมายเดียวกันในด้านระบบขนส่งแบบยั่งยืนอยู่ตลอดเวลา เราร่วมงานกับองค์กรต่าง ๆ ในลักษณะ PPPs (public-private-partnerships) เราทำงานกับสมาคมต่าง ๆ เช่น สมาคมไบโอดีเซล นอกจากนี้เรายังจัดงานให้ความรู้และส่งเสริมระบบการขนส่งที่ยั่งยืนกับพันธมิตรรายอื่น ๆ ด้วย”

สำหรับเป้าหมายของบริษัทสแกนเนียฯในช่วง 5-10 ปีข้างหน้า “อีรีกา” บอกว่า ต้องการกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของระบบการขนส่ง มุ่งหน้าพัฒนาเครื่องยนต์ที่มีระบบประหยัดพลังงานที่ชาญฉลาด ในขณะที่ธุรกิจของสแกนเนียฯจะขับเคลื่อนด้วยหน้าที่ความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งสแกนเนียฯมั่นใจว่าจะใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและสร้างผลดีต่อประชาชนและสังคม นอกจากในเชิงธุรกิจแล้ว บริษัทสแกนเนียฯยังมองถึงการส่งเสริมสังคมรอบข้างในด้านอื่น ๆ เช่น การฝึกอาชีพ การให้ความรู้กับพนักงานขับรถบรรทุก การสนับสนุนการศึกษากับสตรี และการปลูกป่า เพื่อให้ธุรกิจและสังคมเติบโตไปพร้อมกันอย่างยั่งยืน

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!