‘รถดมไว’ พาสุนัขบุกคลัสเตอร์เสี่ยง ดมกลิ่นหาผู้ติดเชื้อโควิด แม่นยำ 96%

‘รถดมไว’ พาสุนัขบุกคลัสเตอร์เสี่ยง ปฏิบัติการดมกลิ่นหาผู้ติดเชื้อโควิด แม่นยำ 96% พร้อมช่วยกรมควบคุมโรคตรวจคัดกรองผู้ติดเชื้อวันละกว่า 1 พันคน

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ บริษัทเชฟรอนประเทศไทย สำรวจและผลิต จำกัด และบริษัทพีคิวเอ แอสโซซิเอส จำกัด เปิดตัว “รถดมไว” (Dog Olfactory Mobile Vehicle for Viral Inspection (DOM VVI) วันที่ 17 มิ.ย. 2564 เพื่อปฏิบัติการสุนัขดมกลิ่นคัดกรองผู้ติดเชื้อโควิด-19 (COVID-19) ภาคสนาม โดยมีความแม่นยำ 96% และพร้อมช่วยกรมควบคุมโรคตรวจคัดกรองผู้ติดเชื้อในคลัสเตอร์เสี่ยง

คัดกรองผู้ติดเชื้อแม่นยำ 96%

ศ.สพ.ญ.ดร.เกวลี ฉัตรดรงค์ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม คณะสัตวแพทยศาสตร์ กล่าวว่า จุฬาฯ ร่วมกับพันธมิตร ในการฝึกสุนัขพันธุ์ลาบราดอร์ รีทรีฟเวอร์ 6 ตัว เพื่อดมกลิ่นหาเชื้อโควิด-19 จากเหงื่อของมนุษย์ และเริ่มวิจัยอย่างเป็นทางการมาตั้งแต่เดือน ก.ย. 2563 โดยได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากเชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต ในเดือน มี.ค. 2564

“สุนัขดมกลิ่นหาเชื้อโควิด-19 ผ่านการทดสอบการใช้จริงแล้วกับพนักงานบริษัทเชฟรอนฯ จ.สงขลา กว่า 500 ราย ซึ่งพบว่ามีความแม่นยำ 96% เมื่อสถานการณ์โควิด-19 มีการแพร่ระบาดมากขึ้นในพื้นที่กรุงเทพ สุนัขดมกลิ่นจึงได้เดินทางจาก จ.สงขลา มาตั้งจุดตรวจที่คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ เพื่อให้บริการตรวจคัดกรองแก่บุคลากรจุฬาฯ ผู้ป่วยติดเตียง (โดยความร่วมมือกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์) โดยมีอาสา พม. ลงพื้นที่เก็บตัวอย่างเหงื่อมาส่งตรวจแล้วจำนวนทั้งสิ้นกว่า 1,500 ราย”

“และเพื่อป้องกันการปนเปื้อนของเชื้อไวรัสจากสิ่งแวดล้อมไปบนตัวสุนัขในระหว่างลงพื้นที่คลัสเตอร์ต่าง ๆ จึงได้เกิดไอเดียออกแบบห้องปฏิบัติงานเคลื่อนที่ หรือ รถดมไว พร้อมอุปกรณ์มาตรฐานตามข้อกำหนดของกรมควบคุมโรค ไปช่วยกรมควบคุมโรคตรวจคัดกรองผู้ติดเชื้อในชุมชน ซึ่งมีความเหมาะสมกับการใช้ในพื้นที่เสี่ยง”

รถดมไวถูกออกแบบให้มีห้องปฏิบัติการเคลื่อนที่ อุปกรณ์การดม และอุปกรณ์ฆ่าเชื้อต่าง ๆ เพื่อให้การปฏิบัติงานร่วมกับกรมควบคุมโรคเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ บนพื้นที่ใช้สอยประมาณ 16.8 ตารางเมตร (7 เมตร x 2.4 เมตร) ภายในแบ่งเป็น 4 ห้อง ได้แก่

  1. ห้องอเนกประสงค์ เป็นห้องสำหรับวางตู้ล็อกเกอร์เก็บสัมภาระผู้ปฏิบัติงานบนรถ และอุปกรณ์ความปลอดภัยพื้นฐานต่างๆ รวมทั้งอุปกรณ์ทำความสะอาดรถ
  2. ห้องพักสุนัข สำหรับให้สุนัขพักในช่วงเวลาที่ไม่ได้ปฏิบัติงาน
  3. ห้องเตรียมตัวอย่าง เป็นห้องสำหรับรับตัวอย่างที่เก็บจากภายนอกตัวรถ เข้ามาเตรียมเปลี่ยนถ่ายภาชนะ
  4. ห้องปฏิบัติงาน เป็นพื้นที่สำหรับให้สุนัขดมกลิ่นตรวจหาเชื้อโควิด-19 จากตัวอย่างที่วางบนแท่นวางตัวอย่างจำนวนรอบละ 12 แท่น

ตรวจได้มากถึง 1 พันคน/วัน

ด้าน ผศ.ดร.จุฑามาศ รัตนวราภรณ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ผู้ออกแบบรถดมไว อธิบายขั้นตอนการทำงานการตรวจคัดกรองหาผู้ติดเชื้อว่า มีการใช้สำลีหนีบไว้ที่รักแร้ของผู้สัมผัสทั้งสองข้าง ข้างละ 5 นาที เพื่อเก็บเหงื่อ จากนั้นเข้าสู่ขั้นตอนการเตรียมการให้สุนัขดม

ซึ่งโดยสุนัขมีความสามารถรับกลิ่นเฉพาะของแต่ละคนได้ และมีความสามารถรับกลิ่นได้มากกว่ามนุษย์ 50 เท่า ขณะเดียวกันเชื้อไวรัสโควิด-19 ก็มีกลิ่นเฉพาะตัวเช่นกัน หากสุนัขดมกลิ่นเหงื่อแล้วไม่ได้กลิ่นก็จะเดินผ่าน แต่หากดมแล้วมีเชื้อโควิด-19 สุนัขจะนั่งลง เราก็จะนำบุคคลนั้นไปตรวจหาเชื้อโดยวิธีการ RT-PCR อีกครั้ง

“จากการทดสอบสุนัขดมกลิ่นมีความแม่นยำในการตรวจหาเชื้อถึง 96% วิธีการนี้จะช่วยให้เจ้าหน้าที่ตรวจเชิงรุกได้รวดเร็วขึ้น รวมทั้งลดภาระการสวอบ โดยแต่ละรอบสุนัขสามารถดมกลิ่นได้รอบละ 12 ตัวอย่างในภาพรวมสามารถตรวจได้วันละ 600 ถึง 1,000 ตัวอย่าง”

นพ.วิชาญ ปาวัน ผู้อำนวยการสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง กรมควบคุมโรค กล่าวว่า ทีมกรมควบคุมโรคจะคัดกรองโควิด-19 แบบแบ่งกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูงและเสี่ยงต่ำ จากนั้นจะให้สุนัขช่วยคัดกรองในกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำ

“ที่ผ่านมาจุฬาฯได้นำรถวิเคราะห์ผลด่วนพิเศษมาช่วยงานของกรมควบคุมโรค ซึ่งสามารถช่วยได้มาก และรถดมไวครั้งนี้จะช่วยหาผู้ติดเชื้อโควิด-19 มีความแม่นยำในระดับที่ใช้ได้ จะเป็นอีกนวัตกรรมหนึ่งที่จะช่วยในการป้องกันควบคุมโรคในพื้นที่ โดยจะนำไปใช้ควบคู่กับการตรวจผลเพื่อใช้ทำงานการตรวจเชิงรุกในชุมชนที่เกิดการระบาด”

โควิดทำระบบเผาผลาญเปลี่ยน

อ.ดร.ชฎิล กุลสิงห์ อาจารย์ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ หนึ่งในทีมวิจัย อธิบายเสริมว่า สารเคมีระเหยง่ายที่เก็บมาจากผิวหนังมนุษย์อาจมาจากแหล่งกำเนิดหลายแหล่ง ได้แก่ ต่อมใต้ผิวหนังชนิด Eccrine, Sebaceous และ Apocrine โดยต่อม Apocrine นี้จะเป็นต่อมสำคัญที่ผลิตสารระเหยง่าย เป็นกลิ่นตัวเฉพาะของมนุษย์ ส่วนต่อมอีกสองชนิดจะผลิตสารเคมีที่ไม่ระเหยง่ายเป็นส่วนใหญ่ซึ่งไม่มีผลต่อกลิ่นตัวโดยตรง อย่างไรก็ตามสารพวกนี้จะถูกนำไปใช้ต่อโดยแบคทีเรียที่อาศัยอยู่ใต้ผิวหนังมนุษย์ แล้วเปลี่ยนเป็นสารระเหยง่าย ให้กลิ่นไปปนอยู่กับกลิ่นตัวมนุษย์

“ดังนั้นกลิ่นโดยรวมของตัวอย่างเหงื่อที่ดูดซับโดยแท่งสำลี แล้วเก็บมาให้สุนัขดม จะมีคุณสมบัติแตกต่างกันขึ้นอยู่กับชนิดและปริมาณของต่อมในแต่ละอวัยวะ การที่ผู้ป่วยโควิด-19 มีกระบวนการเผาผลาญในร่างกายที่แตกต่างออกไปจากก่อนที่จะได้รับเชื้อ ทำให้มีสารเคมีจากต่อมทั้งสามชนิดเปลี่ยนแปลงไปทั้งชนิดและปริมาณ จึงถูกตรวจจับโดยสุนัขได้”