ลูกจ้างรัฐวิสาหกิจได้สิทธิเพิ่ม อนุมัติแล้ว รักษาโควิด-เงินช่วยเหลือบุตร

ผู้ป่วยโควิด
แฟ้มภาพ

กฎหมายใหม่มีผลบังคับใช้แล้ว เพิ่มสิทธิประโยชน์ให้ลูกจ้างรัฐวิสาหกิจ ได้ค่าใช้จ่ายในโรงพยาบาลเอกชน ค่ารักษาโควิด และเงินช่วยเหลือบุตรเพิ่มขึ้น

วันที่ 9 สิงหาคม 2564 กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน สังกัดกระทรวงแรงงาน เผยประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เกี่ยวกับมาตรฐานขั้นต่ำของสภาพการจ้างในรัฐวิสาหกิจ 4 ฉบับ เพื่อให้สอดคล้องมาตรฐานขั้นต่ําของสภาพการจ้างในรัฐวิสาหกิจและสภาวการณ์ปัจจุบัน มีผลบังคับใช้แล้ว ลงนามโดย นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2564 และราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศดังกล่าวเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2564

โสภา เกียรตินิรชา

นางโสภา เกียรตินิรชา รองอธิบดีและโฆษกกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เปิดเผยว่า นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มีความประสงค์ที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับพนักงานรัฐวิสาหกิจ จึงได้มอบหมายให้คณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พิจารณาปรับปรุงและกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำของสภาพการจ้างในรัฐวิสาหกิจ รวมทั้งให้เพิ่มสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ

โดยออกเป็นประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ รวม 4 ฉบับ ได้แก่

ฉบันที่ 1 ยกเลิกประกาศหลักเกณฑ์การจ่ายค่ารักษาพยาบาลกรณีประสบอันตราย หรือเจ็บป่วย ค่าทำศพกรณีตาย อันมิใช่เนื่องจากการทำงาน ค่าช่วยเหลือบุตร และค่าช่วยเหลือการศึกษาของบุตร

ฉบับที่ 2 หลักเกณฑ์การจ่ายค่ารักษาพยาบาลกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ค่าทำศพกรณีตายอันมิใช่เนื่องจากการทำงาน

ฉบับที่ 3 หลักเกณฑ์การจ่ายค่าช่วยเหลือบุตรและค่าช่วยเหลือการศึกษาของบุตร

ฉบับที่ 4 หลักเกณฑ์และอัตราค่ารักษาพยาบาลกรณีผู้ป่วยฉุกเฉินโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19

ซึ่งทำให้ลูกจ้างได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้น แบ่งเป็นคร่าว ๆ ดังนี้

  • สิทธิในการได้รับค่าใช้จ่ายเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ และการป้องกันโรค ได้ค่าใช้จ่ายเพื่อการตรวจสุขภาพ ปรับสิทธิในการได้รับค่ารักษาพยาบาลในสถานพยาบาลเอกชน ประเภทผู้ป่วยในให้สูงขึ้น และให้ลูกจ้างเบิกค่ารักษาพยาบาลโดยใช้ระบบการเบิกจ่ายตรง
  • ค่าทำศพ ได้รับในอัตรา 3 เท่าของค่าจ้างรายเดือนเดือนสุดท้าย แต่ต้องไม่น้อยกว่า 40,000 บาท
  • เงินช่วยเหลือบุตรและครอบครัว ปรับจากเดือนละ 50 บาท เป็นเดือนละ 200 บาท เพิ่มสิทธิการเบิกค่าช่วยเหลือการศึกษาบุตร รวมถึงการศึกษาในระดับปริญญาตรี และสิทธิได้รับค่าใช้จ่ายจากการตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อยืนยันโรค สิทธิได้รับค่าใช้จ่ายจากการรักษาสำหรับตนเอง คู่สมรส หรือบุตรตามแนวทางที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด และให้รัฐวิสาหกิจเป็นผู้จ่ายค่าใช้จ่ายให้แก่สถานพยาบาลภายใน 15 วัน รวมถึงกรณีรัฐวิสาหกิจใดมีข้อกำหนดให้สิทธิการรักษาพยาบาลแก่บิดา มารดา ก็ให้มีสิทธิตามประกาศนี้ด้วย

นางโสภา กล่าวเพิ่มเติมว่า ประกาศในราชกิจจานุเบกษาจำนวน 3 ฉบับ มีผลใช้บังคับนับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศ (วันที่ 7 ส.ค.2564 เป็นต้นไป) ส่วนในเรื่องของหลักเกณฑ์และค่ารักษา กรณีติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 มีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 5 มีนาคม 2563


ซึ่งจะส่งผลให้พนักงานรัฐวิสาหกิจรวม 306,887 คน ได้รับการคุ้มครองในเรื่องของการดำเนินการกรณีผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตเพื่อรองรับการจ่ายเงินคืนแก่สถานพยาบาลได้โดยเร็ว โดยมีเงินค่ารักษาพยาบาลที่ค้างจ่ายต่อสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และโรงพยาบาลเอกชน รวมกว่า 32 ล้านบาท