ภารกิจ ดีแทค เพื่อสังคม เปิด 3 โครงการพัฒนาศักยภาพผู้พิการ

“ดีแทค” เดินหน้าภารกิจลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ภายใต้แนวคิด “Go Beyond (Dis)abilities into possibilities together ต่อยอดศักยภาพผู้พิการให้ดีทั่วดีถึง ดีไปด้วยกันทุกคน” ด้วยการร่วมมือกับกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ และสมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทย ส่งเสริมผู้พิการในประเทศไทยเข้าถึงดิจิทัล มีอาชีพ มีรายได้ท่ามกลางสถานการณ์โควิด

เบื้องต้น “ชารัด เมห์โรทรา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กล่าวว่า ดีแทคดำเนินธุรกิจภายใต้การตระหนักถึงเรื่องสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะกลุ่มผู้เปราะบาง เพราะเรามีภารกิจส่งเสริม และยกระดับศักยภาพของกลุ่มคนเหล่านี้ให้มีโอกาสเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัล

ชารัด เมห์โรทรา

เนื่องจากตามหลักสิทธิมนุษยชน การเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลกลายเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่มนุษย์ทุกคนต้องได้รับ และเพื่อใช้ประโยชน์ในการดำเนินชีวิต ซึ่งถือเป็นความถนัดของดีแทคที่ต้องทำให้คนไทยทุกคนเข้าถึงดิจิทัลเพื่อการดำรงชีวิต ตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา

ดีแทคทำงานเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างสังคมดิจิทัลสำหรับทุกคน จากรายงานของสหประชาชาติเรื่อง Leveraging digital technologies for social inclusion 2021 ระบุว่า คนพิการเป็น 1 ใน 5 กลุ่มคนที่มีจำนวนมากของโลก ทั้งยังมีข้อจำกัดในการเข้าถึง และการใช้ประโยชน์สูงสุดจากเทคโนโลยีดิจิทัล กอปรกับข้อมูลจากกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการระบุว่า

ในจำนวนคนพิการที่ขึ้นทะเบียนทางราชการไว้รวมทั้งสิ้นกว่า 2 ล้านคน ของจำนวนประชากรทั้งหมดในประเทศ ประมาณครึ่งหนึ่งเป็นคนในช่วงอายุ 60 ปีขึ้นไป และจำนวนมากถึง 81.45% ที่สำเร็จการศึกษาในระดับประถมศึกษา โดยบางส่วนเข้าไม่ถึงการใช้ดิจิทัล ซึ่งชี้ให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นในกลุ่มผู้เปราะบาง

ดังนั้น ดีแทคจึงเดินหน้าสานต่อภารกิจเพื่อสังคม ภายใต้แนวคิด “Go Beyond (Dis)abilities into possibilities together” ด้วยการต่อยอดศักยภาพผู้พิการผ่าน 3 โครงการ คือ

หนึ่ง จัดทำแพ็กเกจ “ดีทั่ว ดีถึง” เพื่อคนพิการ และผู้ดูแลคนพิการ ซึ่งเป็นแพ็กเกจอินเทอร์เน็ตราคาถูก ตั้งแต่ราคา 99 บาท ถึง 249 บาท พร้อมกันนี้ยังให้ข้อเสนอความคุ้มครองจากประกันภัยทุกประเภทจากดีแทค ด้วยส่วนลดถึง 15%

สอง โครงการเน็ตทำกิน เพิ่มทักษะดิจิทัลให้ผู้พิการ โดยดีแทคร่วมกับกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ จัดการเรียนการสอนเน็ตทำกิน ในลักษณะการอบรมเฉพาะกลุ่ม ในรูปแบบของการลงพื้นที่ในชุมชนที่ครอบคลุมทุกกลุ่มคนพิการ ตั้งแต่กลุ่มผู้พิการทางสายตา, กลุ่มผู้พิการทางการได้ยิน และผู้พิการด้านร่างกายอื่น ๆ โดยจะเริ่มอบรม 21 กลุ่มอาชีพในศูนย์พัฒนาศักยภาพและอาชีพคนพิการ ที่ทางกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการดูแล

“นอกจากกลุ่มอาชีพดังกล่าวแล้ว ในโครงการดีแทคเน็ตทำกินจะจัดอบรมเพิ่มทักษะดิจิทัลให้ศูนย์พัฒนาศักยภาพและอาชีพคนพิการ ซึ่งผมคาดหวังว่าผู้รับการฝึกทักษะดิจิทัลจะสามารถสร้างรายได้เพิ่มขึ้น 15% และมีคุณภาพชีวิตและความสามารถในการเข้าถึงโอกาสในชีวิตที่ดีขึ้น”

สาม เปิด ดีแทค คอลเซ็นเตอร์ภาษามือ เพื่อคนพิการทางการได้ยินผ่านการใช้ภาษามือ โดยบริการดังกล่าวจะทำหน้าที่ในการให้คำแนะนำการใช้งานบริการของดีแทคเอง รวมไปถึงการเปิดรับลูกค้าคนพิการทางการได้ยินจากทุกเครือข่าย ที่ต้องการคำแนะนำ และความช่วยเหลือในการใช้งานแอปพลิเคชั่น และฟังก์ชั่นการใช้งานมือถือ

ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างดีแทค และสมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทยที่จะฝึกอบรมคนพิการทางการได้ยินให้มีความพร้อมทำหน้าที่ในการเป็นเจ้าหน้าที่คอลเซ็นเตอร์ของดีแทค และมีการติดตั้งระบบการจัดการคอลเซ็นเตอร์เต็มรูปแบบ

ที่สำคัญ คอลเซ็นเตอร์ยังให้บริการประชาสัมพันธ์ ข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์กับเพื่อนผู้พิการที่ใช้มือถือกับทุกโอเปอเรเตอร์ เช่น เบอร์ โทรฉุกเฉิน ข้อมูลสายด่วนบริการต่าง ๆ และในอนาคตดีแทคจะขยายการให้บริการให้ครอบคลุม เพื่อช่วยเติมเต็มให้ผู้พิการได้ใช้ดิจิทัลมาช่วยให้ชีวิตได้รับความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น

สราญภัทร อนุมัติราชกิจ

“สราญภัทร อนุมัติราชกิจ” อธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวเสริมว่า ปัจจุบันคนพิการในประเทศไทยที่ออกบัตรประจำตัวคนพิการ กับกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ มีอยู่จำนวน 2,107,005 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565) คิดเป็น 3.18% ของประชากรทั่วประเทศ โดยในจำนวนนี้แบ่งประเภทความพิการออกเป็นหลายประเภทด้วยกัน

สำหรับประเภทความพิการมากที่สุดคือทางการเคลื่อนไหว หรือทางร่างกาย จำนวน 1,054,786 คน คิดเป็น 50.17% ลำดับรองลงมาคือทางการได้ยิน หรือสื่อความหมาย จำนวน 393,027 คน คิดเป็น 18.69% และทางการมองเห็น จำนวน 187,546 คน คิดเป็น 8.92% ตามลำดับ

นอกจากนี้ เมื่อมาดูตามช่วงอายุจะพบว่ามีคนพิการที่อยู่ในช่วงวัยแรงงาน (อายุ 15-59 ปี) จำนวน 855,816 คน และเป็นคนพิการที่เป็นผู้สูงอายุ อีกจำนวนกว่า 1,168,165 คน

“ดิฉันมองว่าคนพิการเป็นกลุ่มคนที่จะช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศ เพราะถ้าหากว่าเขามีงานทำ มีรายได้ จะทำให้เศรษฐกิจของประเทศดีขึ้น ปี 2565 นี้ รัฐบาลตั้งเป้าที่จะปฏิรูปสังคมในการช่วยเหลือกลุ่มคนเปราะบาง คนยากจน รวมถึงผู้พิการด้วย

ซึ่งกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) ในฐานะหน่วยงานหลักที่ดูแลคนพิการทั่วประเทศ ทั้งยังมีภารกิจหลักในการขับเคลื่อนงานด้านการส่งเสริมสิทธิ และสวัสดิการของคนพิการในการสร้างโอกาส และความเสมอภาคแก่คนพิการ”

โดยกำหนดว่า คนพิการจะต้องมีสิทธิเข้าถึงอาชีพ มีรายได้ โดยที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุน หรือแหล่งอื่น ๆ เพราะมีกองทุนเพื่อคนพิการ ซึ่งสามารถกู้ยืมไปประกอบอาชีพได้ ตั้งแต่ 6 หมื่น จนถึง 1 แสนกว่าบาท โดยไม่เสียค่าดอกเบี้ย

ขณะเดียวกันยังมีศูนย์ฝึกอาชีพเพื่อผู้พิการ ซึ่งมีหลักสูตรมากมาย เพียงแต่บางหลักสูตรยังไม่เปิดกว้างมากนัก ดังนั้น การร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ จะทำให้คนพิการได้พัฒนาศักยภาพมากยิ่งขึ้น

“ยิ่งเฉพาะช่วงนี้ เรากำลังเผชิญกับสถานการณ์โควิด-19 จึงทำให้เกิดอาชีพใหม่ ๆ ตามมาที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีดิจิทัล โดยเฉพาะการทำธุรกิจค้าขายออนไลน์ คือทำอย่างไรให้เขาเข้าถึงลูกค้า และตลาดโดยตรง ทั้งยังสะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้น

ฉะนั้น การร่วมมือกับดีแทคจึงเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนพิการเกิดการพัฒนาทักษะตนเอง มีอาชีพ มีรายได้ และสามารถใช้ชีวิตเหมือนคนปกติ รวมทั้งยังส่งผลให้สามารถดำเนินชีวิตร่วมกับครอบครัวอย่างยั่งยืน และปกติสุขด้วย”

วิทยุต บุนนาค

“วิทยุต บุนนาค” นายกสมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การให้ความสำคัญด้านการพัฒนาทักษะดิจิทัลในการค้าขายออนไลน์ รวมถึงการจัดตั้งคอลเซ็นเตอร์ ขณะนี้ สมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทยประกาศรับสมัคร คัดเลือกพนักงานคนพิการทางการได้ยิน พร้อมกับเตรียมอำนวยความสะดวกสถานที่ภายในสมาคม และล่ามภาษามือสำหรับการอบรมพนักงานคอลเซ็นเตอร์

“ผมมองว่ามีประโยชน์มากที่ช่วยให้คนพิการทางการได้ยินทำงานที่มีคุณค่า ทั้งยังเปิดโอกาสและสนับสนุนคนพิการทางการได้ยินให้พวกเขาเกิดความมั่นใจ และภาคภูมิใจในความสามารถของตนเองที่สามารถพึ่งพาตนเองได้ ที่สำคัญ พวกเขายังช่วยเหลือองค์กร และสังคมไปพร้อม ๆ กันด้วย ดังนั้น คอลเซ็นเตอร์แห่งนี้ตอนนี้จัดตั้งสำนักงานอยู่ที่สมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทย และพร้อมเปิดให้บริการกับลูกค้าดีแทคแล้ว”

นับว่าน่าสนใจอย่างยิ่ง