เปิดสถิติเลิกจ้าง เกินหมื่นถูกลอยแพ ภาคกลางแชมป์ลงทะเบียนว่างงาน

ภาพจากมติชน

เปิดข้อมูลผู้ลงทะเบียนว่างงาน หลังเหตุการณ์โรงงานหลายแห่งเลิกจ้างพนักงานอื้อ มกราคม 2565 พบมีผู้ถูกเลิกจ้างกว่าหมื่นคน ภาคกลางคว้าแชมป์ลงทะเบียนว่างงานมากสุด 

วันที่ 7 เมษายน 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีที่โลกออนไลน์เผยแพร่คลิปบันทึกเหตุการณ์การปลดพนักงานจำนวนกว่า 400 คนในโรงงานแถบนิคมอุตสาหกรรมอมตะ ซิตี้ ระยอง ซึ่งมีการแชร์ในแอปพลิเคชั่น ติ๊กต๊อกอย่างแพร่หลาย

และในเวลาต่อมา นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานได้สั่งให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เข้าตรวจสอบหาข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าวทันที

จึงได้รับทราบข้อเท็จจริงว่า เหตุการณ์ที่มีการแชร์กันนั้นเกิดขึ้นที่บริษัท ทรินา โซลาร์ ไซเอนซ์ แอนด์ เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด

เบื้องต้นพบว่า ยังไม่มีการเลิกจ้างใครทั้งนั้น เพียงแต่กลุ่มพนักงานส่วนหนึ่งที่เป็นลูกจ้างรับเหมาค่าแรง (ซับคอนแทร็กต์) จำนวน 319 คน ได้มีการส่งคืนให้กับบริษัทรับเหมาค่าแรง จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ บริษัท เจ.เค.จี ซับคอนแทรด เซอร์วิส จำกัด บริษัท เอชอาร์ ไดเจสท์ จำกัด และบริษัทซีคเกอร์ เซอร์วิส อินเตอร์กรุ๊ป จำกัด ซึ่งขณะนี้บริษัทรับเหมาค่าแรงดังกล่าวยังไม่ได้มีการเลิกจ้างลูกจ้างของบริษัท

ซึ่งนายสุชาติให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด หากพบมีการเลิกจ้างก็จะดำเนินการช่วยเหลือให้ลูกจ้างได้รับสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายทันที

ทั้งนี้ การเลิกจ้างของโรงงานต่าง ๆ ในประเทศไทย จะเป็นประเด็นบนหน้าสื่อเป็นระยะ ๆ

อย่างก่อนหน้านี้ มีกรณีที่บริษัทขนส่งแห่งหนึ่งในพื้นที่ จ.สมุทรปราการ ปิดกิจการกะทันหัน ทำให้พนักงานกว่า 400 คน ตกงานทันที ซึ่งการเลิกจ้างแบบลอตใหญ่ ๆ นี้ มีสาเหตุมาจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่สารพัดมาตรการคุมโรค

โดยรัฐพยายามทำทุกวิถีทาง เพื่อให้การระบาดเกิดขึ้นน้อยสุด แต่ด้านหนึ่งก็ทำเอาเศรษฐกิจโดยรวมหยุดชะงักแทบทุกเซ็กเตอร์

จากผลกระทบของมาตรการดังกล่าว “ประชาชาติธุรกิจ” พลิกข้อมูลกระทรวงแรงงาน พาไปเปิดเผยสถิติการเลิกจ้างและว่างงานล่าสุด ตลอดจนถึงสถานการณ์แรงงานโดยรวมในช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2564

ม.ค. 2565 เลิกจ้างหลักหมื่น

จากข้อมูลของกองบริหารข้อมูลตลาดแรงงาน กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน เปิดข้อมูลล่าสุดการขึ้นทะเบียนตนเป็นผู้ว่างงานตามระเบียบของสำนักงานประกันสังคม เมื่อเดือนมกราคม 2565 พบว่า มีผู้ขึ้นทะเบียนรวม 88,119 คน เป็นเพศชาย 39,312 คน (44.61%) และเพศหญิง 48,807 คน (55.39%)

โดยสาเหตุการออกจากงานมากที่สุด คือ ต้องการเปลี่ยนงานใหม่ รองลงมา คือ ประกอบอาชีพอิสระ และต้องการพักผ่อน

หากจำแนกลึกลงไปอีก จะพบว่าในจำนวน 88,119 คน แยกสาเหตุการขึ้นทะเบียนว่างงานได้ 2 แบบ มาจากการลาออก 77,143 คน (87.54%) ส่วนการถูกเลิกจ้างมีจำนวน 10,976 คน

หากโฟกัสเฉพาะการถูกเลิกจ้าง มีการแบ่งสาเหตุของการถูกเลิกจ้างลึกลงไปอีก ซึ่งมีทั้งสิ้น 3 สาเหตุหลัก ๆ ดังนี้

  1. ถูกลดจำนวนพนักงาน 5,144 คน
  2. ถูกนายจ้างยกเลิกสัญญาจ้าง 3,577 คน
  3. บริษัทที่ทำงานปิดกิจการ 2,255 คน
จำนวนคนขึ้นทะเบียนว่างงาน ม.ค. 65 ที่มา : ระบบศูนย์ข้อมูลกลาง กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน
สาเหตุการลาออกและเลิกจ้าง เดือน ม.ค. 65 ที่มา : ระบบศูนย์ข้อมูลกลาง กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน

ภาคกลาง แชมป์ลงทะเบียนว่างงานสูงสุด

เมื่อจำแนกเป็นรายภาคพบว่า ภูมิภาคที่มีอัตราลงทะเบียนคนว่างงานมากที่สุดคือ

  • ภาคกลาง ลงทะเบียนว่างงานทั้งหมด 40,854 คน แบ่งเป็นลาออกเอง 34,855 คน และถูกเลิกจ้าง 5,999 คน
  • ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ลงทะเบียนว่างงานทั้งหมด 14,038 คน แบ่งเป็นลาออกเอง 13,040 คน และถูกเลิกจ้าง 998 คน
  • ภาคตะวันออก ลงทะเบียนว่างงานทั้งหมด 10,439 คน แบ่งเป็นลาออกเอง 8,799 คน และถูกเลิกจ้าง 1,640 คน
  • ภาคเหนือ ลงทะเบียนว่างงานทั้งหมด 9,497 คน แบ่งเป็นลาออกเอง 8,697 คน และถูกเลิกจ้าง 800 คน
  • ภาคใต้ ลงทะเบียนว่างงานทั้งหมด 6,834 คน แบ่งเป็นลาออกเอง 5,795 คน และถูกเลิกจ้าง 1,039 คน
  • ภาคตะวันตก ลงทะเบียนว่างงานทั้งหมด 6,457 คน แบ่งเป็นลาออกเอง 5,957 คน และถูกเลิกจ้าง 500 คน
ผู้ประกันตนกรณีว่างงาน จำแนกตามภาค เดือน ม.ค. 65 ที่มา : ระบบศูนย์ข้อมูลกลาง กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน

จากข้อมูลข้างต้น แม้ว่าสัดส่วนการลาออกเองของแรงงานจะมากกว่าการถูกเลิกจ้างอยู่มาก แต่หากโฟกัสตัวเลขแรงงานที่ถูกเลิกจ้างแล้ว ถือว่ายังอยู่ในระดับที่น่าเป็นห่วงอยู่ดี คงต้องจับตาดูว่าหน่วยงานรัฐทั้งหลายจะมีนโยบายบรรเทาสถานการณ์นี้อย่างไร ?