อุทยานมิตรผลด่านช้าง ต้นแบบโรงงาน Carbon Neutrality

กลุ่มมิตรผลจับมือกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และจังหวัดสุพรรณบุรีเปิดตัวโครงการ “สุพรรณบุรี Carbon Neutrality Model” ชูอุทยานมิตรผลด่านช้างสู่โมเดลโรงงานต้นแบบแห่งแรกด้านความเป็นกลางทางคาร์บอน พร้อมกับประกาศเป้าหมายเพื่อมุ่งสู่การเป็นองค์กรที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน (carbon neutrality) ภายในปี 2030

โดยตั้งเป้าปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (net zero) ภายในปี 2050 อันสอดรับกับแนวทางการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (climate change) ของประเทศไทยและนานาประเทศทั่วโลก

วราวุธ ศิลปอาชา
วราวุธ ศิลปอาชา

“วราวุธ ศิลปอาชา” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ประเทศไทยมีส่วนร่วมในการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากว่า 30 ปี ในฐานะภาคีสมาชิกภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) และภาคีความตกลงปารีส (Paris Agreement)

กอปรกับการประชุม COP26 เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2564 ที่ผ่านมาประเทศไทยประกาศเป้าหมายที่จะยกระดับการแก้ไขปัญหาภูมิอากาศเพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี ค.ศ. 2050 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้ในปี ค.ศ. 2065

“ถึงแม้ว่าเราจะมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกว่า 300-350 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ แต่หากเราทุกคนร่วมมือกันขับเคลื่อนตามนโยบายต่าง ๆ ก็จะช่วยให้ปริมาณก๊าซเรือนกระจกของประเทศลดลงได้”

ชูชีพ พงษ์ไชย
ชูชีพ พงษ์ไชย

“ชูชีพ พงษ์ไชย” รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี กล่าวเสริมว่า สุพรรณบุรีปล่อยก๊าซเรือนกระจกประมาณ 3.14 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ซึ่งเป็นฐานข้อมูลเมื่อปี 2561 โดยภาคเกษตรป่าไม้และการใช้ประโยชน์ที่ดินปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 43.25 ของปริมาณก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดของจังหวัด

ตามด้วยภาคพลังงาน ร้อยละ 31.26 ภาคขนส่ง ร้อยละ 20.07 และภาคการจัดการของเสีย ร้อยละ 5.02 โดยกิจกรรมที่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกสูงสุด คือ การปลูกข้าว ซึ่งมากถึงร้อยละ 32.61 ทั้งนี้ จังหวัดมีเป้าหมายจะลดก๊าซทั้งจังหวัดให้ได้อย่างน้อย 373,401 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ผ่านการดำเนินการ 9 ด้าน ดังต่อไปนี้

1) ส่งเสริมให้เกษตรกรร่วมโครงการไทย ไรซ์ นามา เปลี่ยนวิถีการทำนาแบบเดิมไปสู่การทำนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยใช้เทคโนโลยีใหม่ เช่น การปรับพื้นที่นาด้วยระบบเลเซอร์เพื่อช่วยให้พื้นที่ราบเรียบสม่ำเสมอ ตรงนี้จะช่วยลดการใช้พลังงาน ลดแมลงศัตรูพืช

รวมถึงทำนาแบบเปียกสลับแห้งเพื่อลดการใช้น้ำ, ลดการปล่อยก๊าซมีเทน และใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน สุดท้ายคือการแปรสภาพฟางข้าวและตอซังข้าวแบบปลอดการเผาในที่โล่ง โดยปรับเปลี่ยนเศษวัสดุเหลือใช้ในการเกษตรไปใช้เป็นพลังงานทดแทน

2) ลดการเผาไร่อ้อย โดยใช้มาตรการด้านเศรษฐกิจ สังคม

3) ส่งเสริมการทำเกษตรอินทรีย์ และเกษตรปลอดภัย ลดการใช้สารเคมีในด้านการเกษตร

4) เพิ่มพื้นที่สีเขียว และการปลูกไม้เศรษฐกิจบนพื้นที่ดินกรรมสิทธิ์ เพื่อดูดกลับคาร์บอนไดออกไซด์ และกักเก็บในรูปคาร์บอนในเนื้อไม้

5) สนับสนุนภาคเอกชน ร่วมดำเนินการกำจัดขยะโดยการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากขยะ และบำบัดมลพิษอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการเผา และก๊าซมีเทนจากขยะที่ย่อยสลายได้

6) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นบูรณาการร่วมกับฝ่ายปกครองท้องที่ เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลก และชุมชน โดยดำเนินกิจกรรมสร้างจิตสำนึก พร้อมกับให้ความรู้ความเข้าใจ สถานการณ์และมาตรการลดโลกร้อน อาทิ การเพิ่มพื้นที่สีเขียว การปลูกและฟื้นฟูป่า การจัดการป่าชุมชน การเพิ่มประสิทธิภาพและลดการใช้พลังงาน การเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการของเสีย การลดและคัดแยกขยะมูลฝอย ฯลฯ

7) ส่งเสริมการใช้พลังงานชีวภาพแทนพลังงานฟอสซิล เช่น การใช้ไบโอดีเซลแทนน้ำมันดีเซล และใช้เอทานอลผสมแก๊สโซฮอล์แทนน้ำมันเบนซิน

8) ลดใช้พลังงานในภาคอุตสาหกรรมและที่อยู่อาศัย

9) ขอความร่วมมือภาคอุตสาหกรรมในสุพรรณบุรี เพิ่มศักยภาพในการลดก๊าซโดยหันมาใช้พลังงานทดแทน การเพิ่มพื้นที่สีเขียวและการบริหารจัดการขยะ บำบัดน้ำเสียอย่างมีประสิทธิภาพ

บรรเทิง ว่องกุศลกิจ
บรรเทิง ว่องกุศลกิจ

“บรรเทิง ว่องกุศลกิจ” ประธานกรรมการบริษัทและประธานกรรมการบริหาร กลุ่มมิตรผล กล่าวว่า กลุ่มมิตรผลเป็นองค์กรในภาคเกษตรอุตสาหกรรมที่มีความเกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิตของผู้คนจำนวนมาก ตั้งแต่ชาวไร่ ชุมชน ลูกค้า คู่ค้า และผู้บริโภค

เราจึงให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อการเติบโตร่วมกัน อีกทั้งยังตระหนักถึงการปรับตัวของภาคอุตสาหกรรม เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ โดยใช้ศักยภาพด้านเทคโนโลยี นวัตกรรม และองค์ความรู้ต่าง ๆ

เพื่อมุ่งเน้นสร้างความยั่งยืนตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำด้วยการต่อยอดแนวคิด “From Waste to Value Creation” โดยใช้ทรัพยากรหมุนเวียนอย่างมีคุณค่า เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลผลิต และไม่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ตลอดจนเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจ

“ขณะนี้เราวางแผนและดำเนินงานอย่างจริงจังเพื่อผลักดันให้อุทยานมิตรผลด่านช้าง ก้าวสู่การเป็นโมเดลโรงงานต้นแบบด้านความเป็นกลางทางคาร์บอน จึงเปิดตัวสุพรรณบุรี Carbon Neutrality Model พร้อมกับตั้งเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อย่างน้อย 270,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ในปี ค.ศ. 2023

ด้วยการดำเนินงานที่ครอบคลุมทั้ง 6 ด้าน ซึ่งจะมีส่วนช่วยสนับสนุนเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และก้าวสู่เมืองคาร์บอนต่ำของจังหวัดสุพรรณบุรี อีกทั้งยังเป็นต้นแบบให้แก่โรงงานในเครือ และองค์กรอื่น ๆ ในภาคอุตสาหกรรมที่มีจุดยืนในการสร้างอนาคตที่ยั่งยืนเช่นเดียวกัน”

สำหรับแนวทางทั้ง 6 ด้านที่อุทยานมิตรผลด่านช้างได้นำมาดำเนินงาน ได้แก่

1) เลือกใช้พลังงานทดแทนในกระบวนการผลิต จากการบริหารจัดการและหมุนเวียนวัสดุเหลือใช้จากอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น นำชานอ้อย และใบอ้อย มาใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าชีวมวลเพื่อวนใช้ภายในโรงงาน พร้อมยกระดับกระบวนการผลิตเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดการสูญเสียพลังงาน ซึ่งช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกว่า 180,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

2) ส่งเสริมการตัดอ้อยสด ลดการเผา มุ่งสู่เกษตรสมัยใหม่อย่างยั่งยืนผ่านความร่วมมือกับชาวไร่ ชุมชน และภาครัฐ ในการสนับสนุนให้เกิดการซื้อ-ขายอ้อยสด เช่น การรับซื้อใบอ้อยจากเกษตรกรเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าชีวมวล,

การทำ MOU ร่วมกับ 7 โรงงานน้ำตาลในการรณรงค์ตัดอ้อยสด, การจัดทำแนวกันไฟในพื้นที่ไร่อ้อย หรือการจัดกิจกรรมเชิญชวนตัดอ้อยสดกับชาวไร่โดยตรง ซึ่งจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ประมาณ 15,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

3) การพัฒนาต่อยอดอ้อยและน้ำตาลสู่ธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพ (biobased product) เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตทางการเกษตร เช่น บรรจุภัณฑ์จากพลาสติกชีวภาพที่ย่อยสลายได้ กลุ่มผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพื่อสุขภาพ

4) การบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมด้วยระบบบำบัดน้ำเสียที่มีประสิทธิภาพ ควบคู่กับการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนตามหลัก 4Rs (resource-reduce-reuse-recycle) และการคัดแยกขยะภายในโรงงานอย่างเหมาะสม

5) ขยายพื้นที่ปลูกป่าและดูแลต้นน้ำภายใต้โครงการพลิกฟื้นผืนป่าสู่ธรรมชาติที่ยั่งยืนของกลุ่มมิตรผล จากความร่วมมือกับชาวไร่ ชุมชนรอบโรงงาน กรมป่าไม้ และมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวในการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์อย่างต่อเนื่อง ด้วยเป้าหมายการปลูกต้นไม้กว่า 700,000 ต้นในจังหวัดสุพรรณบุรี ทั้งยังริเริ่มโครงการ OASIS หรือการสร้างอ่างกักเก็บน้ำเพื่อการเกษตรขนาดใหญ่ เพื่อกักเก็บน้ำในช่วงฤดูน้ำหลากมาไว้สำหรับใช้ในฤดูแล้ง

6) ชดเชยคาร์บอนเครดิต (carbon credit offsetting) จากใบรับรองสิทธิในการเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน และคาร์บอนเครดิตที่กลุ่มมิตรผลสั่งสมจากการดำเนินงานเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม การขับเคลื่อนเพื่อผลักดันให้อุทยานมิตรผลด่านช้างมีความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2023 นับว่าเป็นก้าวที่สำคัญของกลุ่มมิตรผลบนเส้นทางที่จะมุ่งสู่เป้าหมายใหญ่ในการเป็นองค์กรที่จะมีความเป็นกลางทางคาร์บอน และมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในภายภาคหน้า