ครม.ขยายเวลาขึ้นทะเบียนต่างด้าว บรรเทาปัญหานายจ้างขาดแรงงาน

แรงงานต่างด้าว

ผู้ประกอบการยังมีความต้องการแรงงานต่างด้าวกว่า 120,000 คน ครม. เห็นชอบคน 3 สัญชาติ กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม ที่มีไม่มีใบอนุญาตทำงานขึ้นทะเบียนให้ถูกต้อง ส่วนแรงงานกลุ่มเก่าที่มีสถานะถูกต้อง สามารถยื่นเรื่องอยู่ทำงานต่อชั่วคราวได้ไม่เกิน 13 ก.พ. 68

วันที่ 7 กรกฎาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2565 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ เรื่องการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม เพื่อรองรับการฟื้นฟูประเทศภายหลังการผ่อนคลายมาตรการป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยมีรายละเอียด ดังนี้

1. เห็นชอบให้กลุ่มคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม ที่มีสถานะไม่ถูกต้อง ที่ประสงค์จะทำงานและมีนายจ้าง สามารถอยู่และทำงานเป็นการชั่วคราวได้ไม่เกินวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 และหากประสงค์จะทำงานต่อไป สามารถอยู่และทำงานเป็นการชั่วคราวได้ไม่เกินวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2568 โดยต้องดำเนินการตามประกาศกระทรวงมหาดไทยและประกาศกระทรวงแรงงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งกระทรวงแรงงานได้สำรวจข้อมูลจากนายจ้างสถานประกอบการพบว่ายังมีความต้องการแรงงานประมาณไม่น้อยกว่า 120,000 คน

2. เห็นชอบให้กลุ่มคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมา ที่มีสถานะถูกต้อง ที่ประสงค์จะทำงานต่อไป ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มมติ ครม. 29 ธันวาคม 2563, มติ ครม. 13 กรกฏาคม 2564, และมติ ครม. 28 กันยายน 2564 จำนวนประมาณ 1,690,000 คน อยู่และทำงานได้ไม่เกิน 13 กุมภาพันธ์ 2568

นายสุชาติกล่าวด้วยว่า การฟื้นฟูประเทศภายหลังการผ่อนคลายมาตรการป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จำเป็นต้องมีมาตรการสนับสนุนนายจ้าง/สถานประกอบการและภาคการผลิต ให้สามารถจ้างคนต่างด้าวซึ่งประสงค์จะทำงานให้สามารถอยู่ในราชอาณาจักรเพื่อการทำงานต่อไปได้

เพื่อให้ภาคธุรกิจและเศรษฐกิจของประเทศไทยขับเคลื่อนอย่างมีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้น ตามนโยบายของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน ที่ต้องการฟื้นฟูประเทศในมิติต่าง ๆ อย่างเร่งด่วน”

ด้านนายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า สำหรับการบริหารจัดการคนต่างด้าวที่มีสถานะไม่ถูกต้องตามกฎหมาย 4 สัญชาติ กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม มีขั้นตอนดังนี้

1. นายจ้างยื่นบัญชีรายชื่อแจ้งความต้องการจ้างแรงงานต่างด้าว (name list) ต่อกรมการจัดหางาน

2. จากนั้นต้องยื่นคำขออนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าวภายใน 60 วัน หลังยื่น name list และชำระค่าธรรมเนียมค่ายื่นคำขอฉบับละ 100 บาท และค่าธรรมเนียมใบอนุญาตทำงานฉบับละ 900 บาท ให้คนต่างด้าวใช้ใบรับคำขอดังกล่าวคู่กับใบเสร็จรับเงิน เพื่อเป็นหลักฐานแสดงว่าคนต่างด้าวได้รับการผ่อนผันให้ทำงานได้จนกว่าจะได้รับใบอนุญาตทำงานตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว

“ซึ่งหลังดำเนินการตามขั้นตอนเสร็จสิ้นจะทำงานและอยู่ได้ถึง 13 กุมภาพันธ์ 2566 หากต้องการทำงานต่อไป ให้ยื่นขอต่อใบอนุญาตทำงานและดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนด ก่อนใบอนุญาตเดิมสิ้นอายุ โดยนายทะเบียนจะอนุญาตให้ทำงานคราวละ 1 ปี รวม 2 ครั้ง ถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2568 เช่นเดียวกัน”

ในส่วนแนวทางการดำเนินการของกลุ่มคนต่างด้าวที่มีสถานะถูกต้อง หรือแรงงานต่างด้าวที่ใบอนุญาตทำงานหมดอายุวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 จะแบ่ง เป็น 2 กลุ่ม

1. กลุ่มที่รับการตรวจลงตราหรือตรวจอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรไทย ภายในวันที่ 1 สิงหาคม 2565 หากต้องการทำงานต่อไป ให้ยื่นขอต่อใบอนุญาตทำงานและดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนด ก่อนใบอนุญาตเดิมสิ้นอายุ เพื่อทำงานได้อีก 2 ปี (13 กุมภาพันธ์ 2568) โดย ครม.เห็นชอบให้ขยายระยะเวลาการตรวจลงตราจนถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 (จากเดิมวันที่ 1 สิงหาคม 2565)

2. กลุ่มที่รับการตรวจลงตราหรือตรวจอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรไทย ภายหลังวันที่ 1 สิงหาคม 2565 หากต้องการทำงานต่อไป ให้ยื่นขอต่อใบอนุญาตทำงานและดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนด ก่อนใบอนุญาตเดิมสิ้นอายุ โดยนายทะเบียน จะอนุญาตให้ทำงานคราวละ 1 ปี รวม 2 ครั้ง ถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2568

ทั้งนี้ การดำเนินการของคนทั้ง 2 กลุ่มจะสามารถเริ่มดำเนินการได้หลังจากประกาศกระทรวงมหาดไทยและประกาศกระทรวงแรงงานมีผลบังคับใช้แล้ว