เส้นขอบฟ้าการศึกษา มหาวิทยาลัยทักษิณ The University of Glocalization

การศึกษา

“ผมจะทำให้มหาวิทยาลัยทักษิณเป็นส่วนหนึ่ง และเป็นลมหายใจหนึ่งในสังคม ในความหมายคือมหาวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม เพราะหน้าที่ของผมคือสร้างองค์ความรู้ เพื่อเป็นแสงสว่างให้กับสังคม เราต้องนำเรื่องราวของสังคมที่เกิดขึ้นในท้องถิ่น มาสู่การรับรู้ของผู้คนที่ไกลออกไป ทั้งในระดับประเทศ และระดับสากลนั่นคือ The University of Glocalization เพราะนี่คือสิ่งที่ผมวาดหวัง”

คำกล่าวเบื้องต้นเป็นคำพูดของ “รศ.ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์” รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยทักษิณ ที่ไม่เพียงจะมีประวัติชีวิตที่น่าสนใจ หากยังมีมุมมองต่อเรื่องการบริหารการศึกษาอย่างน่าสนใจไม่แพ้กัน

ทั้งนั้นเพราะเขาเกิดและเติบโตจากพื้นที่อำเภอควนกาหลง จังหวัดสตูล โดยช่วงชีวิตวัยเด็ก เขาเรียนโรงเรียนใกล้บ้าน ซึ่งมีห้องสมุดเป็นคลังความรู้ ทั้งยังเคยได้รับรางวัลคนเข้าห้องสมุดสูงสุด และยืมหนังสือมากที่สุดของโรงเรียนอีกด้วย โดยวิชาที่เขาสนใจคือสังคมศึกษา เพราะอยากสนุกกับความรู้รอบโลกมากมาย

รศ.ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์
รศ.ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์

จากนั้น “รศ.ดร.ณฐพงศ์” ย้ายไปศึกษาต่อที่จังหวัดพัทลุง โดย “พ่อ” พาไปฝากกับเจ้าอาวาสวัดโคกคีรี ต.คูหาสวรรค์ อ.เมือง จ.พัทลุง เพื่อขอพักอาศัยในระหว่างศึกษาที่โรงเรียนพัทลุงจนสำเร็จชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6

“ตอนเป็นเด็กวัด ผมมีเวลาอ่านหนังสือมากมายในโรงธรรม เพราะนอกจากจะมีหนังสือธรรมะ ยังมีวรรณกรรม เรื่องสั้น นวนิยาย ท่านเจ้าอาวาสเห็นผมชอบอ่านหนังสือ จึงเรียกให้ผมไปอ่านหนังสือพิมพ์ให้ท่านฟังเกือบทุกวัน ผมต้องอ่านและสรุปประเด็นให้ฟัง ท่านจะคอยสอนว่า หนังสือพิมพ์มีพาดหัวหลัก พาดหัวรอง สรุปข่าว ผมได้ความรู้พวกนี้มาโดยไม่รู้ตัว นี่คือการปลูกฝังการอ่าน สร้างวัฒนธรรมการอ่านให้เกิดขึ้นในตัวบุคคล”

จนกระทั่งปี 2531-2532 มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ภาคใต้กำลังจะขยายวิทยาเขตมาที่พัทลุง โดยมีการเกณฑ์เด็กนักเรียนให้ไปยืนถือธง เพื่อจะบอกว่า คนพัทลุงต้องการมหาวิทยาลัย ผมเป็นคนหนึ่งที่ไปยืนโบกธงอยู่หน้าโรงเรียน ซึ่งใครจะเชื่อล่ะว่าเด็กคนนั้นจะกลับมาที่นี่อีกครั้งในฐานะนักการศึกษา เพียงแต่เปลี่ยนชื่อมาเป็นมหาวิทยาลัยทักษิณ

โลกของมหานครกรุงเทพคงเป็นสิ่งที่หอมหวานสำหรับ “คนปักษ์ใต้” ทุกคน เพราะเมืองหลวงนอกจากจะมีมหา’ลัยมากมาย หากยังช่วยเปิดโลกทัศน์ให้กับตัวเองด้วย “รศ.ดร.ณฐพงศ์” เองก็คิดเช่นนั้น จนที่สุดเขาก็กลายมาเป็นนักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

กล่าวกันว่าที่นี่ได้เปิดโลกแห่งการเรียนรู้มากมายให้กับเขา

“ตอนผมเรียนรามฯ ผมมีโอกาสเข้าชมรมศึกษาปัญหาแหล่งเสื่อมโทรม (ศ.ป.ส.) ก็ลงพื้นที่ไปตามชุมชนต่าง ๆ ที่อยู่ในแหล่งเสื่อมโทรมของกรุงเทพฯ บางครั้งก็ไปเป็นครูสลัม และบางครั้งก็ออกค่ายชนบทตามต่างจังหวัด ทั้งภาคเหนือ, อีสาน แต่มีอยู่เหตุการณ์หนึ่งผมจำแม่นเลย คือการเข้าร่วมเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ปี 2535 ตอนนั้นผมเข้าร่วมกิจกรรมที่สัมพันธ์กับทางสังคมและการเมืองด้วย เช่น การรณรงค์เรื่องประชาธิปไตย การแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2553 หรือการต่อสู้เรื่องโครงการจัดสรรที่ดินทำกินที่ภาคอีสาน”

“บางครั้งผมก็ลงพื้นที่เขื่อนปากมูล กิน-นอนที่เขื่อนปากมูลอยู่แรมเดือน พูดง่าย ๆ ว่าทั้งปีมีกิจกรรมค่ายที่ไหน ผมไปหมด ค่ายเล็ก-ค่ายใหญ่ก็ไป กิจกรรมน้อย-กิจกรรมใหญ่ไปหมด หรือการเป็นกรรมการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) จนทำให้ผมรับรู้ปัญหาของชาวบ้าน เรียนรู้การเมืองมิติเชิงโครงสร้าง การเรียนรู้นอกหลักสูตร จนทำให้ผมรู้จักเพื่อนหลายมหา’ลัยมาก”

“แม้จะทำกิจกรรมเยอะ แต่ผมก็เรียนจบสามปีครึ่ง สิ่งนี้ทำให้ผมเชื่อในเรื่องพื้นที่การเรียนรู้ ถ้าเราส่งเสริมการเรียนรู้ที่เหมาะสมจะทำให้คนเติบโตได้ โดยไม่จำเป็นต้องมีรูปแบบตายตัวด้วยซ้ำ ผมมีหนังสือเป็นเพื่อนเสมอ การอ่านวรรณกรรมทำให้เราเข้าใจมนุษย์ และเข้าถึงความเป็นมนุษย์ที่ลึกซึ้ง ผมอ่านหนังสือทุกประเภท ทั้งกวีนิพนธ์ เรื่องสั้น นวนิยายไทย วรรณกรรมคลาสสิก จีนกำลังภายใน”

หลังเรียนจบปริญญาตรี “รศ.ดร.ณฐพงศ์” จึงมุ่งหน้าเรียนต่อในระดับปริญญาโททันทีที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จนสำเร็จการศึกษา และได้ทำงานที่แรกในบทบาทอาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ สาขาวิชาการพัฒนาชุมชน มหาวิทยาลัยทักษิณ เรื่อยมา

“ผมมีความรู้สึกว่าการทำงานที่นี่สนุก และมีความสุขทุกครั้งกับการสอนหนังสือ นอกจากนั้นผมยังลงพื้นที่ในชุมชน คลุกคลีกับชาวบ้าน จนนำไปสู่การรู้จักและทำความเข้าใจมนุษย์และสังคมมากขึ้น โดยผ่านกระบวนการจัดการเรียนรู้ จนทำให้ผมได้รับการแต่งตั้งให้เป็นคณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ในเวลาต่อมา”

“ผมมีความรู้สึกว่ามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์คือความหลากหลาย ผมพยายามพูดถึงเรื่องความหลากหลายสู่ความเป็นหนึ่ง ถ้าเราเห็นเส้นขอบฟ้าเดียวกัน คุณจะเดินไปสู่เส้นทางนั้นในแบบไหน ภาษาไทยก็เดินในมุมของภาษา พัฒนาชุมชนก็เดินในมิติของการสร้างนักพัฒนาสังคม แต่คุณต้องเห็นเส้นขอบฟ้า ซึ่งแน่นอนว่าการที่จะทำให้คนเห็นเส้นขอบฟ้าเดียวกันต้องอาศัยเวลา”

“นอกจากนั้น ผมยังชื่อว่ามหา’ลัยเป็นพื้นที่แห่งการบ่มเพาะ และหล่อหลอมนิสิตนักศึกษา หลายคนได้มิตรภาพ น้ำตา ความเจ็บปวด การลองผิดลองถูก กล้าใช้ชีวิตในทางที่ตัวเองเลือก ผมคิดว่ามหา’ลัยควรเป็นพื้นที่แห่งการได้เรียน และรู้จริง ๆ”

กล่าวกันว่า สิ่งเหล่านี้ค่อย ๆ บ่มเพาะ “รศ.ดร.ณฐพงศ์” ให้กลายมาเป็น “นักการศึกษา” ที่เข้าใจคนหนุ่ม-สาว เพราะเมื่อเขาก้าวเข้ามาเป็นผู้บริหาร เขาพยายามผลักดันความคิดความฝันของนิสิต-นักศึกษา เพื่อสร้างสังคมที่ดีงาม ทั้งยังสร้างเมล็ดพันธุ์คนรุ่นใหม่ในมหา’ลัย ด้วยการส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ใหม่ ๆ รวมถึงการหาวิธีการเรียนรู้ที่จะทำให้นิสิต-นักศึกษารู้จักคิด วิเคราะห์ เพื่อเป็นพลเมืองไทย และพลเมืองโลกอย่างมีคุณภาพ

“ผมคิดว่าคนรุ่นใหม่ไม่จำเป็นต้องเสียเวลานาน เพราะทุกวันนี้ช่องทางการเรียนรู้มีมากมาย และผมเชื่อว่าคนหนุ่มสาวยังเป็นความหวังได้เสมอ”


ฉะนั้น จึงไม่แปลก เมื่อวันนี้ “รศ.ดร.ณฐพงศ์” ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุดในฐานะรักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยทักษิณ เขาก็ยังนำความเชื่อตั้งแต่สมัยเรียนประถม มัธยม และมหา’ลัยมาปรับใช้ในบทบาทของผู้นำองค์การการศึกษาที่พร้อมจะขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยทักษิณ จนก้าวไปสู่มหาวิทยาลัยแห่งอัตลักษณ์ท้องถิ่นร่วมสมัยในที่สุด