พอแล้วดี The Creator สร้างแบรนด์ยั่งยืนด้วยศาสตร์พระราชา

ก้าวเข้าสู่ปีที่ 7 สำหรับโครงการพอแล้วดี The Creator ซึ่งเป็นโครงการพัฒนานักธุรกิจไทยภายใต้ “ความพอดี” ทั้งกำไรทางธุรกิจ เกื้อกูลชุมชน เกื้อกูลโลก ตามแนวคิดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง หรือศาสตร์พระราชา อันนำไปสู่ความเข้มแข็งของธุรกิจ สังคม และโลกในอนาคตอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน

สำหรับปีนี้ได้รับการสนับสนุนจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.), ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.), ธนาคารกสิกรไทย และบริษัท สมาร์ท คอส จำกัด ซึ่งผู้สนับสนุนทั้งหมดต่างเชื่อมั่นว่าการดำเนินธุรกิจแบบพอแล้วดีตามแนวคิดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสามารถสร้างสรรค์ ขับเคลื่อน และพัฒนาธุรกิจ สังคม และโลกให้เติบโตไปด้วยกันอย่างแน่นอน โดยเฉพาะในสภาวะสภาพเศรษฐกิจปัจจุบันที่โรคระบาดกำลังสร้างความเดือดร้อนให้กับทุกคนบนโลก

ดร.ศิริกุล เลากัยกุล
ดร.ศิริกุล เลากัยกุล

“ดร.ศิริกุล เลากัยกุล” ผู้อำนวยการ โครงการพอแล้วดี The Creator กล่าวถึงรายละเอียดโครงการว่า มาจากแนวคิดว่า ทุกคนมีโอกาสที่จะเป็นนักธุรกิจที่เกื้อกูลคนอื่นได้ และยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งโดยทั่วไปคนมักจะคิดว่าหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงคือการทำไร่ ทำนา ทำสวน นึกถึงแต่เรื่องการทำเกษตร แต่ในความเป็นจริงที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงสอนไว้นั้น สามารถนำไปปรับใช้ได้กับทุกรูปแบบของชีวิต

โดยเฉพาะการสร้างแบรนด์ สร้างธุรกิจ ซึ่งถือเป็นหลักการขั้นพื้นฐานก็ว่าได้ เนื่องจากการที่เราจะทำให้ธุรกิจยั่งยืนได้ ต้องเริ่มจากความพอเพียงก่อน ซึ่งความพอเพียงมีหลักอยู่ 3 ประการ ประกอบไปด้วย

หนึ่ง การรู้จักประมาณตน รู้ว่าสิ่งที่ตนเองทำนั้นทำเพื่ออะไร ? เป้าหมายสำคัญคืออะไร ?

สอง การมีเหตุผล จะทำธุรกิจต้องรู้จักมีเหตุ และมีผลในการตัดสินใจ

สาม การมีภูมิคุ้มกัน ต้องรู้จักบริหารความเสี่ยง วางแผนการจัดการให้ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เราต้องทำแต่สิ่งดี ๆ เพื่อสังคมด้วย หรือทำให้คนรัก คนศรัทธา เชื่อมั่นในแบรนด์ หรือธุรกิจของเรา เพราะนี่คือภูมิคุ้มกัน เพราะถ้าวันหนึ่ง ธุรกิจเกิดความขัดสน อย่างน้อยเรายังมีภูมิคุ้มกันที่ดีมีคนรัก และเชื่อมั่น

“เมื่อดำเนินงานตามหลักการทั้ง 3 ภายใต้องค์ความรู้ที่ดี และการบริหารอย่างมีธรรมาภิบาล แบรนด์ที่ยั่งยืนจะถือกำเนิดขึ้น นอกจากจะนำไปสู่การสร้างชื่อเสียงของแบรนด์ในระยะยาวแล้ว ยังส่งผลให้พนักงานในองค์กรรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของแบรนด์ และทำให้แบรนด์ได้รับการยอมรับจากสังคมด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ ดิฉันมองว่าตัวชี้วัดสำคัญที่สุดในการทำแบรนด์ ไม่ใช่อัตราการเติบโตแบบก้าวกระโดด แต่เป็นการที่มีคนยอมรับและรักในตัวแบรนด์”

“ดร.ศิริกุล” กล่าวอีกว่า ทุกวันนี้ปัญหาสภาพแวดล้อมทั่วโลกทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น และผู้บริโภคสมัยใหม่เริ่มตั้งคำถาม และมองหาคุณค่าจากตัวผลิตภัณฑ์มากกว่าสมัยก่อน การสร้างแบรนด์แบบทั่ว ๆ ไป จึงยังไม่เพียงพอ sustainable brand หรือแบรนด์ที่ยั่งยืนจึงเป็นแนวทางใหม่สำหรับการยืนหยัดบนโลกธุรกิจ สอดรับกับสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป

ขณะเดียวกัน การทำแบรนด์ หรือทำธุรกิจต้องปกป้องทรัพยากรไว้สำหรับคนรุ่นต่อ ๆ ไปด้วย อีกทั้งยังต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคม สร้างคุณค่า หรือประโยชน์ต่อคนในชุมชน สังคมอย่างไรบ้าง

ทั้งหมดที่กล่าวมาเป็นแนวคิดของการจัดโครงการ และเป็นเนื้อหาที่จะส่งมอบต่อผู้สนใจสมัครเข้าร่วมในโครงการเพื่อเป็นผู้นำการสร้างการเปลี่ยนแปลงในโลกธุรกิจ สำหรับโครงการดังกล่าว ทำการอบรมมาแล้ว 6 รุ่น ส่งเสริมนักธุรกิจรุ่นใหม่กว่า 120 แบรนด์

อาทิ ไร่สุขพ่วง, นทรโภชนา, บ้านไร่ไออรุณ, The Yard Hostel, HOM Hostel & Cooking Club, Hug Organic และอีกมากมาย และในปีนี้เพิ่งรับสมัครรุ่นที่ 7 คัดเลือกเพียง 15 แบรนด์เข้าอบรม

นอกจากนี้ ยังต่อยอดการสร้างนักธุรกิจรุ่นใหม่หัวใจเกื้อกูลให้ขยายผลออกไปในวงกว้างมากยิ่งขึ้น โดยวางแผนจัดพอแล้วดี สัญจร ขึ้นในเมืองหลักทางธุรกิจใน 4 ภูมิภาคของไทย อาทิ เชียงราย, ตรัง, สุโขทัย, บึงกาฬ หรือขอนแก่น โดยจะจัดภายในเดือนกันยายน-ตุลาคม

คาดว่าเริ่มเปิดรับสมัครผู้สนใจเข้าฟังการอบรม ระยะเวลา 2 วันเต็ม ประมาณต้นเดือนสิงหาคม รับครั้งละไม่เกิน 25-30 แบรนด์ ซึ่งใน 2 วันของการอบรม จะเป็นการเรียนรู้ และฝึกปฏิบัติการจริงในเรื่องการสร้างแบรนด์ โดยผ่านแบรนด์ โมเดล และการเข้าใจถึงหลักการสำคัญในการทำ business model canvas (BMC) จากวิทยากรระดับประเทศ

“จิตรานุช ภูมิรัตน์” เจ้าของแบรนด์ Boo Chocolate ผู้สมัครรุ่นที่ 7 กล่าวว่า Boo Chocolate เป็นแบรนด์ช็อกโกแลตที่ทำขึ้นเอง โดยเริ่มจากแนวคิดที่ว่าเราอยากทำไร่ทำสวนที่สามารถสร้างงานสร้างรายได้ให้เราตลอดทั้งปี เนื่องจากเรามีพื้นที่ที่สามารถทำได้

เพราะพื้นฐานเดิมครอบครัวมีการทำไร่สตรอว์เบอรี่ที่ตำบลแม่คำ อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย แต่สตรอว์เบอรี่จะออกผลผลิตแค่ช่วงฤดูหนาว ฉะนั้น ในช่วงที่สตรอว์เบอรี่ยังไม่ออกผลเราก็ต้องหางานอื่นทำ จึงเป็นเหตุผลที่ต้องเริ่มศึกษาการปลูกต้นโกโก้ เพื่อนำมาแปรรูปเป็นช็อกโกแลต

ดังนั้น ถ้าย้อนกลับไป 6-7 ปีก่อน เรานำต้นโกโก้มาจากกรมวิชาการเกษตรชุมพร ซึ่งเป็นแหล่งที่เขาสนับสนุนคนปลูกโกโก้ เราใช้เวลาปลูกกว่า 4 ปี ถึงจะออกผลผลิตให้เก็บเกี่ยว จากนั้นเราจ้างคนในชุมชนมาช่วยเก็บผลโกโก้แล้วนำไปแปรรูปเป็นเมล็ดแห้ง และหมักเป็นช็อกโกแลต สร้างแบรนด์ของตนเอง ช่วงหลังแบรนด์เริ่มเป็นที่รู้จัก จึงต่อยอดทำสบู่ โลชั่น ขยายการแปรรูปไปเรื่อย ๆ เพื่อให้เกิดความหลากหลาย

“ตอนนี้มีโกโก้ทั้งหมด 2,000 ต้น บนพื้นที่ 20 ไร่ สามารถสร้างรายได้ให้กับครอบครัวต่อเนื่อง เพราะเราสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ทุก ๆ 3-4 เดือน แต่สุดท้ายตั้งคำถามกับตนเองว่า เราสามารถสร้างแบรนด์ช็อกโกแลตสัญชาติไทยได้ แต่จะไปต่ออย่างยั่งยืนได้จริงหรือไม่ แล้วเราจะเติบโอยู่คนเดียวหรือ จึงมาเข้าร่วมโครงการ เพื่อนำแนวคิดไปต่อยอด และหวังว่าจะนำเอาความรู้ขยายไปสู่ชุมชนที่ทำเกษตรเหมือนกับตนเอง”

ขณะที่ “ฐิตาภา ตันสกุล” เจ้าของแบรนด์ Stories of Silver & Silk/Silvertales Jewelry ผู้สมัครรุ่น 7 บอกว่า แบรนด์ของตนเองทำสินค้าเครื่องประดับ โดยทำงานร่วมกับหมู่บ้านพระบาทห้วยต้ม อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน มากว่า 12 ปี ซึ่งเป็นชุมชนที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นมีศูนย์ส่งเสริมงานหัตถกรรม และวัฒนธรรมกะเหรี่ยงโบราณ

ศูนย์วิจัยมีสินค้าผลิตภัณฑ์มากมายไม่ว่าจะเป็นเครื่องเงิน ผลิตภัณฑ์จากการจักสาน ผ้าทอกะเหรี่ยงลายโบราณ ซึ่งดิฉันทำงานด้านออกแบบอยู่แล้ว จึงเข้าไปทำงานร่วมกับช่างในชุมชน ช่วยดีไซน์ออกแบบสินค้าชุมชนให้มีความทันสมัยมากขึ้น

“แต่ทั้งนั้นดิฉันมองว่าสิ่งที่ทำอยู่ยังขาดอะไรหลายอย่าง ยังไม่สามารถทำให้เกิดการสร้างงานสร้างรายได้ที่ยั่งยืนกับชุมชนมากพอ อีกทั้งยังเห็นว่าปัจจุบันเด็กรุ่นใหม่ที่กลับมาสืบสานศิลปวัฒนธรรมชุมชนน้อยมาก ดิฉันจึงอยากให้มีผลกระทบเชิงบวกต่อชุมชนมากกว่านี้ ตรงนี้จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ดิฉันเข้าร่วมโครงการ เพื่อนำองค์ความรู้ที่เกิดขึ้นไปต่อยอดช่วยชุมชนต่อไป”