
รวมมงกุฎมิสยูนิเวิร์สทั้งหมด 12 รุ่น จากการประกวดตั้งแต่ปี 1952-2022 รวม 70 ปี พร้อมยลโฉมความงดงาม เลอค่า และความหมายของมงกุฎที่สะท้อนบทบาทของสตรีทั่วโลก
วันที่ 20 ธันวาคม 2565 หลังจากที่องค์กรนางงามจักรวาล The Miss Universe Organization เปิดตัว มงกุฎลำดับที่ 12 “Force for Good” มูลค่าประมาณ 200 ล้านบาท โดยโมอาว็าด แบรนด์จิวเวลรี่ชั้นนำระดับโลกไปเมื่อวานนี้ (19 ธ.ค. 2565)
“ประชาชาติธุรกิจ” จึงได้รวบรวมมงกุฎมิสยูนิเวิร์สที่ผู้หญิงหลายคนใฝ่ฝันที่จะได้สวมใส่มาให้ได้ยลโฉมทั้งหมด 12 รุ่น ดังนี้
1. Romanov Imperial nuptial crown
Romanov Imperial nuptial crown เป็นมงกุฏแรกของมิสยูนิเวิร์สในปี 1952 ประกอบไปด้วยเพชรทั้งหมด 1529 เม็ด รวมทั้งสิ้น 300 กะรัต ซึ่งมงกุฎนี้มีความเกี่ยวเนื่องกับกษัตริย์ซาร์ แห่งราชวงศ์โรมานอฟที่ล่มสลาย ซึ่งเตรียมไว้ให้กับหญิงสาวที่กำลังจะมาแต่งงานกับราชวงศ์ แต่สุดท้ายผู้ที่ได้สวมมงกุฎนี้กลับเป็น Armi Kuusela นางงามจักรวาลคนแรก จากประเทศฟินแลนด์

2. The Christiane Martel Crown
The Christiane Martel Crown เป็นมงกุฎในปี 1953 การออกแบบคล้ายกับแผ่นโลหะสีบรอนซ์ ทำขึ้นมาจากทองสัมฤทธิ์ โดยไม่มีการประดับอัญมณี ทำให้มงกุฎมีรูปทรงแปลกตาเป็นเอกลักษณ์ ซึ่งนางงามจักรวาลที่ได้ครองมงกุฎนี้คือ Christiane Martel นางงามจากประเทศฝรั่งเศส

3. Star of the Universe
Star of the Universe เป็นมงกุฎที่ใช้ในปี 1954-1960 ด้านบนสุดของมงกุฎเป็นรูปดาว ส่วนอัญมณีที่ใช้ประดับคือไข่มุกประมาณ 1,000 เม็ด รวมทั้งทองคำและแพลทินัม มีน้ำหนักเพียง 1.25 ปอนด์

4. Lady Rhinestone
Lady Rhinestone เป็นมงกุฎที่ทำขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองในวาระครบรอบ 10 ปีของการประกวดมิสยูนิเวิร์ส จึงมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า The 10th Anniversary Crown โดยทำจากทองคำขาวบริสุทธิ์ และประดับด้วนไรน์สโตน หรือพลอยเทียม พร้อมทั้งดวงดาว 5 แฉกบนยอดมงกุฎ ซึ่งสร้างความฮือฮาให้กับแฟนนางงามเป็นอย่างมาก โดยมองกุฎนี้ใช้ในปี 1961-1962

5. The sarah Coventry Crown
The Sarah Coventry Crown จุดเด่นของมงกุฎนี้คือรูปร่างของหญิงสาวที่กำลังถือคฑาประดับอยู่ที่กลางมงกุฎ ซึ่งเป็นรูปร่างของหญิงสาวเดียวกันกับตราสัญลักษณ์ในการประกวดมิสยูนิเวิร์ส ถูกใช้งานตั้งแต่ปี 1963-1973 หนึ่งในนั้นคือสาวไทย อาภัสรา หงสกุล มิสยูนิเวิร์สคนแรกของประเทศไทย ในปี 1965

6. The Sarah Coventry Crown
The Sarah Coventry Crown ด้วยความงามอย่างคลาสสิกที่ดัดแปลงมากจากมงกุฎรุ่นก่อนหน้า โดยเปลี่ยนลวดลายรอบมงกุฎ รุ่นนี้ใช้งานตั้งแต่ปี 1974-2001 หนึ่งในนั้นคือ ปุ๋ย ภรณ์ทิพย์ นาคหิรัญกนก มิสยูนิเวิร์สคนที่สองของประเทศไทย ในปี 1988
7. The Mikimoto Crown
มงกุฎที่ได้รับการกล่าวขานเป็นอย่างมากถึงความงาม อลังการและหรูหรา คู่ควรกับความงามระดับจักรวาล คือ The Mikimoto Crown ออกแบบโดย โทโมฮิโระ ยามาจิ ดีไซเนอร์ชาวญี่ปุ่นจากแบรนด์ไข่มุกชื่อดัง Mikimoto อันได้รับแรงบันดาลใจมาจากขนนกฟินิกซ์
มงกุฎทำด้วยทองคำขาวบริสุทธิ์ประดับเพชรทั้งหมด 800 เม็ด รวม 18 กะรัต และไข่มุกอีก 120 เม็ด โดยมงกุฎนี้ใช้เริ่มใช้ในปี 2002 ต่อเนื่องมาจนถึงปี 2007 และกลับมาใช้อีกครั้งในปี 2017-2018

8. CAO Fine Jewelry
มงกุฎจากสปอนเซอร์ CAO Fine Jewelry ซึ่งเป็นบริษัทเกี่ยวกับอัญมณีในประเทศเวียดนาม ที่ทำขึ้นจากทองคำขาว และทองเหลืองผสมกันทั้งหมด 18 กะรัต ประดับด้วยเพชรใสทั้งสิ้น 30 กะรัต โดยนางงามจักรวาลที่ได้ครองมงกุฎนี้เพียงผู้เดียว คือ Dayana Mendoza จากประเทศเวเนซุเอลา เมื่อปี 2008

9. Peace Crown by Diamond Nexus Labs
มงกุฎ Peace Crown by Diamond Nexus Labs ประดับด้วยเม็ดหินสังเคราะห์ที่ไม่ทำลายธรรมชาติเกือบ 1400 เม็ด และทับทิมสีแดง เพื่อเป็นการสื่อถึงการรณรงค์ป้องกันการติดเชื้อ HIV อีกด้วย โดยมงกุฎนี้ใช้งานในปี 2009-2013

10. The DIC Crown
เป็นมงกุฎที่จัดทำโดย Diamond International Corporation (DIC) ที่มีความโดดเด่นอยู่ที่แท่งเหลี่ยมไล่ระดับที่สื่อถึงเหล่าตึกสูงในมหานครนิวยอร์ก สถานที่ตั้งขององค์กรการประกวด และสีน้ำเงินที่ได้จากการประดับด้วยแซฟไฟร์สีน้ำเงินที่แปลกตาไปจากมงกุฎที่เคยมีมา โดยมงกุฎนี้ใช้ในปี 2014-2016 รวมถึงปี 2015 ที่เกิดปัญหาพิธีประกาศผิดตัวด้วย


11. Mouawad Power of Unity Crown
ได้รับการออกแบบเพื่อสะท้อนปรัชญาของการประกวดมิสยูนิเวิร์สที่ว่า “ความเข้มแข็ง การส่งเสริมบทบาทสตรี และความผูกพันสามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียว” มงกุฎนี้ทำด้วยทองคำ 18 กะรัต เป็นลวดลายดอกไม้ฝังเพชรสีขาวระยิบระยับซับซ้อน เพื่อสื่อถึงสัมพันธภาพอันดีงามของสตรีทั่วโลก
รวมถึงเพชรคานารีสีทองตรงกลาง 62.83 กะรัต ผ่านการเจียระไนแบบมิกซ์คัต สะท้อนถึงความเข้มแข็งในตัวสตรี และพลังอันยิ่งใหญ่ของความสามัคคี ซึ่งงมงกุฎนี้ใช้ในปี 2019-2021

12. Force for Good
ล่าสุด มงกุฎลำดับที่ 12 Force for Good ประกอบด้วยมือทั้งหมดโดยใช้อัญมณีจำนวน 993 เม็ด เป็นไพลินสีน้ำเงินน้ำหนักรวม 110.83 กะรัต และเพชรสีขาวรวม 48.24 กะรัต ตรงยอดมงกุฎเป็นไพลินน้ำเงินรูปทรงหยดน้ำขนาด 45.14 กะรัต สะท้อนความเข้มลึกของสีซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของคุณงามความดีที่เป็นผลจากความมุ่งมั่น และความหวังต่ออนาคตอันสดใสเรืองรอง

ทั้งนี้ มาร่วมลุ้นและให้กำลังใจนางงามที่จะได้ครองมงกุฎ Force for Good มูลค่าประมาณ 200 ล้านบาท ได้ในวันที่ 14 มกราคม 2566
- เปิดตัว มงกุฎมิสยูนิเวิร์สลำดับที่ 12 “Force for Good”
- JKN เจ้าของใหม่มิสยูนิเวิร์สฯ ทุ่ม 800 ล้าน ซื้อธุรกิจรวมสิทธิ์
- เส้นทางนางงาม นิโคลีน พิชาภา สวย-เก่ง พ้นรองมิสยูนิเวิร์ส ไทยแลนด์
……….