วันเช็งเม้ง ที่มา ความหมาย ของไหว้เสริมสิริมงคล และข้อห้ามในสุสาน

เช็งเม้ง
ภาพจาก นิตยสารศิลปวัฒนธรรม

เปิดที่มา ความหมาย วันเช็งเม้ง ความสัมพันธ์ระหว่างความเชื่อ บรรพบุรุษ ลูกหลาน และของไหว้เสริมสิริมงคล และข้อห้ามข้อควรระวังไม่ควรทำเมื่ออยู่ที่สุสาน 

สำนักงานราชบัณฑิตยสภา นิยามเช็งเม้งว่าเป็นเทศกาลที่คนจีนไปไหว้บรรพบุรุษยังที่ฝังศพ หรือฮวงซุ้ยในช่วงเดือน 3 ของจีน โดยคำว่า “เช็ง” แปลว่า สะอาดหรือบริสุทธิ์ “เม้ง” แปลว่า สว่าง

ดังนั้น เช็งเม้ง จึงหมายถึงช่วงเวลาแห่งความแจ่มใส ท้องฟ้าใสสว่าง โดยวันเช็งเม้งจะตรงกับวันที่ 5 เมษายนของทุกปี ซึ่งเทศกาลเริ่มตั้งแต่วันที่ 2-8 เมษายน รวม 7 วัน

ขณะที่ “คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง” กล่าวในผี-พราหมณ์-พุทธ ของ มติชนสุดสัปดาห์ ว่า เช็งเม้ง เป็นภาษาจีนสำเนียงแต้จิ๋ว ในภาษาจีนกลางเรียกว่า “ชิงหมิง” และภาษาจีนฮกเกี้ยนจะเรียกว่า “เฉ่งเบ๋ง”

ธรรมชาติ บรรพบุรุษ ความกตัญญู

การทำเช็งเม้ง มีความสัมพันธ์อย่างลึกซึ้งระหว่างโลกแห่งความตาย พลังแห่งธรรมชาติ และความกตัญญูของลูกหลานต่อบรรพบุรุษ กล่าวคือ เมื่อคนเราหมดพลังชีวิตและถึงแก่ความตาย ชาวจีนเชื่อว่าสถานที่ฝังศพมีความสำคัญเป็นอย่างมาก เพื่อให้ดวงวิญญาณได้รับพลังจากฟ้าดิน และนำพาไปสู่การก่อกำเนิดใหม่

ที่สำคัญ คนจีนยังเชื่อว่าพลังธรรมชาติจากทำเลที่ตั้งของสุสานยังสามารถส่งไปถึงลูกหลานให้มีความเจริญรุ่งเรืองได้เช่นกัน ดังนั้น สถานที่ตั้งหลุมศพของบรรพบุรุษที่เป็นที่นิยม คือ ทำเลด้านหน้าติดทะเล และด้านหลังเป็นภูเขา

ADVERTISMENT

จึงไม่น่าแปลกใจนัก ที่จังหวัดชลบุรีจะเต็มไปด้วยผู้คนในช่วงเทศกาลนี้ เพราะเป็นทำเลทองของการตั้งสุสาน ด้านหน้าติดทะเล ด้านหลังเป็นภูเขา ที่สำคัญยังไม่ไกลกรุงเทพฯมากนัก

ความเชื่อดังกล่าวกำเนิดมาจาก 2 ลัทธิ ได้แก่ “ขงจื๊อ” และ “เต๋า” กล่าวคือ ลัทธิขงจื๊อ เน้นเรื่องความกตัญญูต่อบรรพบุรุษ ชาวจีนจึงนิยมฝังศพแทนการเผา เพราะสามารถทำพิธีกรรมที่หลุมศพเพื่อระลึกถึงคุณงามความดีของบรรพบุรุษได้ทุกปี

ADVERTISMENT

ขณะที่ลัทธิเต๋าเน้นเรื่องธรรมชาติ ทำให้หลุมศพหรือฮวงจุ้ย ต้องมีทำเลที่ดีติดทะเลและภูเขาดังที่กล่าวไป เพื่อรับพลังและส่งต่อพลังนั้นมายังลูกหลานต่อไป

ทั้งนี้ ช่วงเวลานี้ในประเทศจีนเป็นฤดูใบไม้ผลิ ต้นไม้ใบหญ้าเขียวชอุ่ม และอากาศกำลังดี จึงเหมาะสำหรับการไปไหว้บรรพบุรุษยังที่ฝังศพ และอาจเป็นการพักผ่อนตากอากาศไปในตัว กลับกันเวลานี้ในประเทศไทยตรงกับเดือนเมษายน ซึ่งเป็นช่วงที่ร้อนที่สุดของปี

เช็งเม้ง
ภาพจาก มติชนสุดสัปดาห์

ขั้นตอนไหว้เช็งเม้ง ของไหว้ และข้อไม่ควรทำ

การทำเช็งเม้งอาจแบ่งได้เป็น 2 ส่วน เริ่มจากการไหว้บรรพบุรุษที่บ้าน และการไหว้ที่สุสาน ซึ่งจะมีทั้งส่วนพิธีกรรมและการทำความสะอาด ตลอดจนปรับปรุงพื้นที่ของสุสานให้มีความเรียบร้อย โดยขึ้นอยู่กับความสะดวกของแต่ละครอบครัว บางครอบครัวอาจไม่มีเวลาไปทำพิธีที่สุสาน และไหว้ที่บ้านเพียงอย่างเดียวก็ได้

การเช็งเม้งสมัยหลัง ๆ จึงทำพอเป็นพิธีเท่านั้น โดยการทำความสะอาดสุสาน จัดการพื้นที่ รวมถึงทาสีป้ายชื่อบรรพบุรุษใหม่ อาจจ้างคนไปทำหรือเป็นหน้าที่ของสมาคมและมูลนิธิที่ดูแลสุสานแทน

สำหรับอาหารและของไหว้เช็งเม้งอาจขึ้นอยู่กับความสะดวกและกำลังทรัพย์ของแต่ละครอบครัว แต่จะไม่แตกต่างกันมากนัก เพื่อให้เป็นไปตามประเพณีและเสริมความเป็นสิริมงคลแก่ลูกหลาน โดยเตรียมของไหว้ทุกอย่างให้พร้อม และให้ผู้ที่อาวุโสที่สุดเป็นคนนำไหว้

ของคาว ของหวาน และเครื่องดื่ม มีดังนี้ ไก่ต้ม หมูสามชั้นต้ม เส้นบะหมี่สด ขนมเต่เหลี่ยว ข้าวเหนียวกวน ขนมเต่า ขนมถ้วยฟู ซาลาเปา น้ำชา เหล้า ผลไม้ เช่น สับปะรด ส้ม องุ่น แอปเปิล และสาลี่

สิ่งของที่ใช้ไหว้ ได้แก่ ธูป เทียน กระดาษเงิน กระดาษทอง ชุดเสื้อผ้า ประทัด และที่สำคัญคืออ่วงแซจิ่ว หรือใบผ่านทางที่ต้องเผาเป็นอันดับแรก เปิดทางให้ของไหว้ต่าง ๆ ส่งถึงบรรพบุรุษ

ทั้งนี้ เมื่อเทียนใกล้หมด ให้ลูกหลานตีวงล้อมด้วยหวายพร้อมเผากระดาษเงิน กระดาษทอง และสิ่งของต่าง ๆ เพื่อบอกว่าสิ่งของที่ส่งไปเป็นของบรรพบุรุษครอบครัวนั้น ๆ ที่สำคัญผู้ตีวงล้อมต้องเป็นลูกหลานเท่านั้น

  • ผู้อาวุโส เป็นผู้นำกราบไหว้
  • เมื่อเทียนใกล้หมด ให้ลูกหลานตีวงล้อมพร้อมเผากระดาษเงิน กระดาษทอง และสิ่งของต่าง ๆ
  • ให้บอกว่าสิ่งของที่ส่งไป เป็นของบรรพบุรุษครอบครัวนั้น ๆ
  • ที่สำคัญผู้ตีวงล้อมต้องเป็นลูกหลานเท่านั้น
  • บางครอบครัวอาจนั่งล้อมวงกินอาหารกัน เมื่อพิธีเสร็จสิ้นแล้ว

สำหรับข้อห้ามหรือข้อที่ไม่ควรทำในวันเช็งเม้ง ได้แก่ ผู้หญิงที่กำลังตั้งครรภ์และผู้หญิงที่เป็นประจำเดือนไม่ควรไปสุสาน ห้ามวางของที่แท่นหินหน้าป้ายชื่อ ซึ่งเป็นทางเข้าออกของวิญญาณ ไม่ควรถ่ายรูปหรือแสดงท่าทางไม่เคารพต่อบรรพบุรุษ ไม่ควรปักธงหรือปลูกต้นไม้บนหลุมสุสาน และที่สำคัญ ไม่ควรไปร่วมพิธีไหว้เช็งเม้งกับครอบครัวอื่น