ผู้เขียน : ชัชพงศ์ ชาวบ้านไร่
“มาสเตอร์เชฟไทยแลนด์ ซีซั่น 6” ปิดเตาลงแล้วหลังการแข่งขันอันดุเดือดตลอด 17 สัปดาห์ และเป็น “ซีตรอง-วลาสุระ ณ ลำปาง” ที่คว้าชัยชนะไปครอง “ประชาชาติธุรกิจ” ได้สัมภาษณ์แชมป์คนล่าสุดของมาสเตอร์เชฟอาหารไทยกับความสำเร็จในครั้งนี้ และฝันที่เขาตั้งเป้าจะไปให้ถึง “เชฟมิชลินสตาร์”
ซีตรองเล่าให้ “ประชาชาติธุรกิจ” ฟังว่า เป็นคนชอบทำอาหารตั้งแต่เด็ก โดยได้มาจากคุณแม่และครอบครัวที่ทำอาหารกันอร่อยมาก ทำให้เป็นคนที่รักอาหารไทยมาก แม้ปัจจุบันจะมีอาชีพที่ปรึกษากฎหมายธุรกิจก็ตาม แต่ก็ตัดสินใจสมัครและมีโอกาสได้เป็นผู้เข้าแข่งขันในรายการ “มาสเตอร์เชฟไทยแลนด์ ซีซั่นที่ 6” หรือมาสเตอร์เชฟอาหารไทย
ก่อนสมัครเราไม่ได้มั่นใจว่าจะได้เป็นหนึ่งในผู้แข่งขัน แต่ก็เตรียมเมนูประจำตัวมานำเสนอ คือ “น้ำพริกพริกไทยอ่อน” ที่ใครชิมก็บอกว่าอร่อย ปรากฏว่าถูกใจคณะกรรมการตั้งแต่รอบออดิชั่น จนเราเป็นหนึ่งในคนที่ได้ผ้ากันเปื้อน หลังจากนั้นเหมือนเป็นพัฒนาการแบบก้าวกระโดด เมื่อเรารู้ว่าต้องแข่งเเล้ว ก็เตรียมตัวหนักมาก อ่านหนังสือทุกวัน
เวลาที่ใช้อ่านหนังสือหรือศึกษาข้อมูลการทำอาหาร คือหลังจากทำงานประจำวันจันทร์-ศุกร์ ผมแบ่งเวลาชัดเจนมาก จะอ่านหนังสือถึงตี 3 นอนเพียง 3-4 ชั่วโมง และตื่นเช้าไปทำงาน วันเสาร์-อาทิตย์ ก็ไปขลุกอยู่บ้านพ่อบ้านแม่เพื่อซ้อมทำอาหารจริงจัง
ไม่เคยคิดจะได้เป็นแชมป์
ตอนเข้ามาแรก ๆ เราไม่รู้โพซิชันนิ่งของตัวเองว่าอยู่ตรงไหนในการแข่งขันนี้ ยังไม่รู้ว่าแต่ละคนฝีมือระดับไหน แต่เมื่อแข่งไปสักพักก็เริ่มรู้สึกว่าเราสามารถชนะได้ จึงตั้งความหวังไว้มากพอสมควร ว่าต้องชนะในครั้งถัด ๆ ไป และก็หวังว่าจะได้เข้ารอบไฟนอลเหมือนกัน
จนตอนที่ประกาศชื่อว่าซีตรองได้เป็นมาสเตอร์เชฟอาหารไทย ซึ่งเราไม่เคยรู้ผลมาก่อน รายการมีวิธีการถ่ายทำที่เราจะรู้ผลพร้อมคนดูทางบ้านวันที่เทปออกอากาศ เนื่องจากคนรอบตัวก็ลุ้นไปด้วย นี่จึงเป็นหนึ่งสิ่งที่คนถามเสมอว่ารู้ผลแล้วทำไมไม่บอก แต่จริง ๆ คือเราไม่รู้เลย
“วินาทีที่ประกาศผล เข่าทรุด ตอนนั้นคือเข่าและขาไม่มีแรงเลย เพราะผมก็รู้พร้อมทุกคน”
ในจอ-นอกจอ คือเรื่องจริง
ซีตรองบอกว่า เป็นคำถามที่เจอบ่อยมากในชีวิตประจำวัน ว่ารายการมีบท มีสคริปต์ และเป็นเหมือนละครหรือไม่ แต่ทุกอย่างที่เกิดขึ้นในรายการคือเรื่องจริงทั้งสิ้น ไม่มีสคริปต์ ไม่มีบอกบท หรือบอกใบ้ใด ๆ แค่รายการตัดบางช่วงบางตอนมานำเสนอเหมือนการสรุป
บรรยากาศในมาสเตอร์เชฟคิทเช่น ตอนเราเป็นคนดูก็กดดันแล้ว แต่เข้าไปแข่งจริง ๆ ยิ่งกดดันกว่าหลายเท่า ในฐานะคนดูเวลาที่ใช้เเข่งขันมันยาวนาน แต่พอไปแข่งแล้วเวลา 60 นาทีมันสั้นมาก เพิ่งทำไปไม่นาน ทำไมเหลือไม่กี่นาที เวลาจะหมดอีกแล้ว
คณะกรรมการก็ดุจริง แต่ละท่านแต่ละตอนไม่แผ่วเลย ทำอาหารไปก็ลุ้นว่าจะโดนเราเมื่อไหร่ เวลาทำต้องแง้มฝาหม้อดูว่าข้าวสุกหรือยัง ถ้าเปิดเต็ม ๆ กล้องจะเข้ามาเลย จับเราทุกมุม และถ้าไม่สุก สักพักกรรมการก็จะเข้ามา
กรรมการจะเข้ามาเตือน และถ้าครั้งไหนเรารั้น รับประกันได้เลยว่าผลลัพธ์ไม่สวยแน่นอน เพราะกรรมการมีประสบการณ์มาก่อน ทั้งคำแนะนำ คำติชม ล้วนทำให้เราพัฒนาตัวเองแบบก้าวกระโดด มาสเตอร์เชฟจึงเหมือนโรงเรียนสอนทำอาหารแบบเข้มข้น
สำหรับเพื่อน ๆ ซีซั่นนี้ผู้เข้าแข่งขันทุกคนเป็นเพื่อนกันจริง ๆ แม้ในรายการเราจะมีจิกกัดกันบ้าง แต่ถ้ามองดี ๆ จะเห็นว่าเราช่วยเหลือกันตลอด แม้แต่ “แคปหมู” ที่ดูเหมือนเป็นคนร้าย ๆ แต่ก็ช่วยกันทุกอย่าง
“เรารู้สึกว่าต้องเเข่งกันด้วยความสามารถล้วน ๆ การที่คนนั้นจะลืมนู่นนิดนี่หน่อย มันสามารถแบ่งปันกันได้ และมันทำให้การแข่งสนุกขึ้นด้วย”
มี cook book และเป็นเชฟมิชลิน
ซีตรองเล่าอีกว่า สิ่งที่อยากทำหลังเป็นแชมป์มาสเตอร์เชฟคือ เขียนหนังสืออาหารเป็นของตัวเอง เพื่อบอกเล่าเรื่องราวอาหารไทยโบราณที่หายไปแล้ว ตั้งเเต่เข้ามาแข่งและทำอาหารไทยโบราณ มีผู้ชมจำนวนไม่น้อยที่อยากรู้ส่วนประกอบและวิธีปรุง เราจึงคิดว่าเป็นโอกาสดีที่จะรวบรวมตำราอาหารโบราณไว้ในที่เดียว ใน cook book
เราฝันไว้ว่าถ้าได้เข้ามาอยู่ในวงการเชฟ มี 2 อย่างที่ต้องทำให้ได้ อันแรกคือ เป็นผู้เข้าแข่งขันในรายการมาสเตอร์เชฟ แต่วันนี้เป็นแชมป์ซึ่งเกินที่เราฝันไปมาก ๆ ถือว่าเป็นกำไรชีวิต
อีกอย่างคือ อยากเป็นเชฟที่ระดับมิชลินสตาร์ อยากทำร้านอาหารที่มีดวงดาวการันตี ตอนนี้ทำได้แล้วอย่างหนึ่ง ผมหวังว่าอีกอย่างก็จะทำตามที่ตัวเองฝันให้ได้เหมือนกัน
อาหารไทยในฐานะซอฟต์พาวเวอร์
ผมชอบอาหารไทยเพราะความซับซ้อน อาหารไทยรวมความลึกล้ำเอาไว้ ทั้งรสชาติและสมุนไพร อาหารไทยมีทั้งที่สวยงามอยู่แล้วตามตำราโบราณ ส่วนบางอย่างที่อาจดูไม่ทันสมัย ยังไม่ดึงดูดใจคนรุ่นใหม่มากนัก ก็อาจจะต้องปรับให้ทันสมัยมากขึ้น แต่ต้องคงความเป็นไทยเอาไว้ให้มากที่สุด
สำหรับคนไทยเองที่ยังไม่ค่อยรู้จักอาหารไทย ส่วนนี้ผมคิดว่าได้ทำไปบ้างแล้วในมาสเตอร์เชฟ คือคืนชีวิตตำราโบราณขึ้นมา ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี และเป็นจุดดึงดูดให้คนรุ่นใหม่รักอาหารไทยมากขึ้น
ประวัติศาสตร์ไม่ได้ถูกเขียนผ่านตัวหนังสืออย่างเดียว เรื่องราวบางอย่างอยู่ในอาหาร ซึ่งเป็นหนึ่งในวัฒนธรรมของเรา เมื่อต่างชาติได้กินหรือได้เห็นอาหารไทย เขาจะได้รับรู้ถึงความซับซ้อน ประณีต วิจิตร และบรรจง สิ่งนี้จะเป็นซอฟต์พาวเวอร์ที่ผลักดันให้คนรู้จักประเทศไทยได้มากขึ้น