กิติกร เพ็ญโรจน์ สูตรลับความกลมกล่อม AF สู่ มาสเตอร์เชฟ

กิติกร เพ็ญโรจน์
กิติกร เพ็ญโรจน์
ผู้เขียน : ชัชพงศ์ ชาวบ้านไร่

น้อยคนนักที่จะไม่รู้จัก เชฟกระทะเหล็ก ประเทศไทย, มาสเตอร์เชฟ ไทยแลนด์, ท็อปเชฟ และ True Academy Fantasia (AF) ตัวอย่างของรายการเรียลิตี้โชว์สุดโด่งดังที่ถูกสร้างขึ้นโดย “หนุ่ม-กิติกร เพ็ญโรจน์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เฮลิโคเนีย เอช กรุ๊ป จำกัด ผู้ได้รับการขนานนามว่าเป็นเจ้าพ่อเรียลิตี้โชว์รายการอาหาร

“ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสได้พูดคุยกับบิ๊กบอสแห่ง Heliconia ถึงเรื่องราวที่ผ่านมาตั้งแต่ช่วงแรกที่ทำรายการประกวดร้องเพลงสู่รายการประกวดทำอาหาร ในยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงที่วงการโทรทัศน์ต้องเจออุปสรรคมากมาย

ล่าสุด หนุ่ม กิติกร เตรียมสร้างปรากฏการณ์อีกครั้งกับงาน “Heliconia Food Festival” เทศกาลอาหารที่รวบรวมร้านของเซเลบริตี้เชฟกว่า 80 คน จากรายการอาหารในเครือ Heliconia พร้อมจัดใหญ่จากทีวีสู่เรียลิตี้อีเวนต์กับสงครามประชันยอดขาย วันที่ 11-20 สิงหาคมนี้ ที่ลานหน้าเซ็นทรัลเวิลด์

จากวงการเพลงสู่วงการอาหาร

หนุ่ม กิติกร เล่าว่า ที่ผ่านมาจนตอนนี้ Heliconia H Group ทำเกี่ยวกับการประกวดทั้งหมด เริ่มจาก AF ต่อด้วย The Trainer การประกวดร้องเพลงสำหรับเด็ก และอีกหลายรายการ

ตอนที่ทำรายการประกวดร้องเพลง มีคนทำรายการประเภทนี้เยอะมาก เราจึงมองว่าบุคลากรในบริษัทมีความชอบและมีแพสชั่นด้านไหนอีกบ้าง คำตอบคือ อาหาร จากนั้นก็ดูว่าจะทำให้อาหารมีความชัดเจนออกมาอย่างไร

เมื่อ 10 ปีก่อน ประเทศไทยยังมีรายการอาหารไม่มาก มีแค่รายการคุกกิ้งเล็ก ๆ หรือพาชิม ถ้าเราทำรายการอาหารใหญ่ขึ้นมาก็น่าจะดึงสปอนเซอร์เข้ามาได้ จึงเกิดเป็น “เชฟกระทะเหล็ก ประเทศไทย” ในปี 2555 เป็นการซื้อลิขสิทธิ์จากญี่ปุ่น และทำต่อเนื่องมา

ปัจจุบันไทยได้รับการขนานนามว่าเป็นเมืองหลวงของเชฟกระทะเหล็ก เพราะมีจำนวนตอนออนแอร์มากสุดในโลก ต่างประเทศทำปีละ 12-15 ตอน แต่เราทำทุกสัปดาห์ หรือ 52 ตอนต่อปี เชฟที่หมุนเวียนกันมาออกเกือบจะทั่วประเทศแล้วในจำนวนกว่า 600 ตอน

เชฟกระทะเหล็กเป็นการแข่งขันระดับ professional นำเชฟรุ่นใหญ่มาสู้กัน เราอยากจับตลาดให้ครอบคลุมมากขึ้น จึงทำ “มาสเตอร์เชฟ ไทยแลนด์” ซึ่งเป็นการแข่งขันของเชฟมือสมัครเล่นเพื่อขยายคอนเทนต์ไปถึง home cook

เรามองว่ายังขยายตลาดได้อีกก็เกิดเป็น “มาสเตอร์เชฟ จูเนียร์” ที่ผู้ร่วมรายการเป็นเด็กอายุ 8-13 ปี และต่อยอดไปอีกมากมายกับการซื้อลิขสิทธิ์เพิ่ม คือ “ท็อปเชฟ ไทยแลนด์” และ “Hell’s Kitchen” ทำให้คอนเทนต์เราหลากหลายมากขึ้น

“โปรไฟล์คอนเทนต์เกี่ยวกับอาหารของเรามีตั้งแต่เด็ก 8 ปี ไปจนถึงระดับ professional เราได้ลิขสิทธิ์ของแบรนด์เกี่ยวกับอาหารระดับโลกไว้ทั้งหมดในที่เดียว positioning ของเราเวลานี้จึงโฟกัสเรื่องอาหารเป็นสำคัญ”

ทีวี ในยุคโซเชียลและแพลตฟอร์มสตรีมมิ่ง

ทำอย่างไรให้ยืนระยะอยู่ในวงการเรียลิตี้โชว์ด้านอาหารอย่างยาวนาน หนุ่ม กิติกร เผยว่า ธุรกิจทุกอย่างต้องมีการพัฒนา ทำทีวีต้องคิดคอนเทนต์ให้มีเซอร์ไพรส์ สนุก และคาดเดาไม่ได้ นี่คือคำตอบว่าทำไมเชฟกระทะเหล็กถึงก้าวเข้าสู่ปีที่ 12 แล้ว การปรับรูปแบบรายการเป็นระยะคือเรื่องสำคัญ

“เราพยายามทำให้ทุกอย่างมีความสดใหม่เสมอ ทีมงานทุกคนต้องคิดและสร้างสิ่งใหม่ในสิ่งที่เรากำลังทำอยู่ตลอดเวลา เพื่อไม่ให้เกิดความเบื่อ”

ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจุบันคนดูทีวีลดลง สมัยก่อนมีอยู่ 4 ช่อง และก็ผุดขึ้นมามากมายในยุคทีวีดิจิทัล ส่วนตัวไม่เห็นด้วยที่จะมีช่องมากขนาดนั้นโดยไม่ศึกษาก่อนว่าตลาดเป็นอย่างไร ธุรกิจเดิมที่มีอยู่แย่ลงเพราะจำนวนช่องมากเกินไปเมื่อเทียบกับจำนวนคนดู ภาครัฐอาจต้องทำการบ้านมากขึ้น จะพัฒนาอะไรต้องดูว่ามีผลกระทบต่อผู้ประกอบการอย่างไร

ส่วนวิกฤตในปัจจุบัน คือ โซเชียลมีเดีย และแพลตฟอร์มสตรีมมิ่ง คนดูทีวีน้อยลงเพราะอยู่กับโทรศัพท์ ทำให้ธุรกิจฟรีทีวีแบบดั้งเดิมถูกลดบทบาทลงอย่างมาก

แม้เรตติ้งของรายการลดลงจากวันแรกที่ทำมา แต่เราจะมีข้อได้เปรียบ คือ เราไม่ทำรายการวาไรตี้ ไม่ทำทอล์กโชว์ที่เป็นแมส แต่ทำรายการอาหาร กลุ่มเป้าหมายทั้งคนดูและสปอนเซอร์เราชัดเจน เราถึงอยู่ได้และไม่ถูกกระทบมากนัก ถ้าจะลงโฆษณาทีวีในรายการอาหารต้องคิดถึงเราเจ้าแรก

เทรนด์อาหารไทย ค่านิยม และมาตรฐาน

สิ่งที่ Heliconia ทำมาตลอด 10 ปี เป็นการสร้างสังคมของคนรักอาหาร สมัยก่อนถามเด็กว่าโตขึ้นอยากเป็นอะไร อาจจะตอบว่าอยากเป็นนักร้อง แต่สมัยนี้มีเยอะพอสมควรที่บอกว่าอยากเป็น เชฟ นั่นคือสิ่งที่เรานำเสนอมาตลอด เพื่อทำให้คนมองเชฟในมุมที่ดีขึ้น

ผู้ใหญ่สมัยก่อนอาจมองว่า อย่าไปทำเลย เหนื่อย หนัก ไม่มีเกียรติ แต่สมัยนี้คนมองเชฟว่าเป็นงานศิลปะ เพราะฉะนั้นที่เราทำมา เชื่อว่าไม่มากก็น้อยที่ช่วยพัฒนาให้สังคมอาหาร เชฟ ตลอดจนคนที่อยู่ในอุตสาหกรรมอาหาร

คนไทยควรจะส่งเสริมอาหารไทย ช่วง 10 ปี ที่ผ่านมาอาหารไทยอาจถูกมองว่าเป็นอาหารราคาถูก กะเพราจานหนึ่งแม้ขายในห้างแพงสุดก็ได้ร้อยบาทต้น ๆ แต่ถ้าทำพาสต้าคาโบนาร่าขายได้ 200-300 บาท ทั้ง ๆ ที่มันก็คือผัดกะเพราของอิตาเลียน นี่จึงเป็นเรื่องค่านิยม ที่ต้องช่วยกันให้คนไทยมีค่านิยมว่าอาหารไทยดีที่สุดในโลก ถ้าคนไทยไม่ยอมรับ คนทั่วโลกก็ไม่ยอมรับ

เทรนด์สตรีตฟู้ดของไทยโตได้แน่ แต่ต้องทำให้เกิดมาตรฐานและมีความสม่ำเสมอ ต้องมีความสะอาด อร่อย ไปกี่ครั้งร้านเดิมต้องคุณภาพเดิม

ร้าน “Le Du” ของ “เชฟต้น-ธิติฏฐ์ ทัศนาขจร” คว้าอันดับ 1 ส่วนร้าน “Potong” ของ “เชฟแพม-พิชญา สุนทรญาณกิจ” ก็ได้อันดับที่ 35 จากเวที Asia’s 50 Best Restaurants 2023 ช่วงนี้จึงเป็นโอกาสอันดีที่ภาครัฐจะเข้ามาร่วมผลักดันต่อหลังจากที่เอกชนทำมาแล้ว

หนุ่ม กิติกร เผยว่า ในอนาคตอันใกล้นี้เตรียมจะทำรายการที่สร้างมาตรฐานของสตรีตฟู้ดไทย เหมือนมิชลินที่ให้ดาวอาหารแพง เราจะให้ดาวอาหารถูก สตรีตฟู้ดไทยดีอยู่แล้ว แต่ถ้าเราทำได้ สตรีตฟู้ดจะยกระดับมาตรฐานขึ้น ซึ่งจะทำทั้งทีวีเเละออนไลน์

ภาครัฐต้องหนุนมากกว่านี้

ปัจจุบันซอฟต์พาวเวอร์ ด้านต่าง ๆ ถูกหยิบยกมาพูดถึงมากมาย แต่ส่วนมากเป็นเอกชนที่เอาขึ้นมาทำ ภาครัฐควรสนับสนุนได้มากกว่านี้ อาหารไทยขึ้นแท่นอันดับ 1 ของโลกในหลายเมนู ถ้าผลักดันชัดเจนจะทำให้ซอฟต์พาวเวอร์ด้านนี้แข็งแกร่งได้ไม่ยาก การส่งออกจะดีขึ้น วัตถุดิบ หรือ ready to cook ของคนไทยจะขายได้ดีขึ้น

ทำให้คนอยากมากินแบบออริจินอลที่ไทย การท่องเที่ยวก็จะดีขึ้น ต้องมียุทธศาสตร์ที่สนับสนุนเป็นรูปธรรม ทำการตลาดให้ผลิตภัณฑ์ดูดี ศึกษาว่าคนมองเราอย่างไร อะไรคือจุดแข็ง เพื่อดึงเม็ดเงิน หรือ awareness เข้าประเทศ

“วิธีที่ทำให้คนต่างชาติเห็น คือ ต้องทำให้เขาอยากกินอาหารไทย สำคัญสุดคือเชฟ ถ้าเกาหลีมี K-pop เราก็มีเชฟที่เป็นศิลปิน ซึ่งเราสามารถสร้างเชฟคนไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับโลกได้”

แน่นอน ไม่ใช่เรื่องง่ายที่รัฐจะทำเอง 100% ต้องร่วมมือกับเอกชนเพื่อให้มีกำลังเพียงพอ ทั้งการโปรโมตด้วย การทำโรดโชว์อาหาร นำเชฟไปเอ็กซ์โปต่างประเทศ ตลอดจนทำให้อาหารไทยอยู่ในแพลตฟอร์มสตรีมมิ่ง เช่น เน็ตฟลิกซ์ ดิสนีย์พลัส หรือ HBO เป็นต้น เราต้องทำคอนเทนต์เกี่ยวกับอาหารของเราขึ้นมาเอง

ทำเอง กินเอง มีความสุข

ด้านไลฟ์สไตล์ บิ๊กบอส Heliconia บอกว่า เป็นคนชอบทำอาหาร แต่ไม่มีใครชอบกินสิ่งที่เราทำ เพราะเราชอบเอาหลายอย่างมาผสมกัน ซึ่งเอ็นจอยมาก กินแล้วอร่อย ทำเองกินเอง คนอื่นไม่ชอบก็ไม่เป็นไร

เราไม่ได้เป็นเชฟ แต่เป็นคนชอบทำและชอบกิน การทำอาหารเหมือนการพักผ่อน ถ้าเครียดก็เข้าครัวเปิดตู้เย็น เจออันนั้นอันนี้ก็อยากเอามาลองผสมกัน ตู้เย็นจึงเหมือนสวนสนุก แต่พอสนุกมากเกินไป คนอื่นเลยไม่กิน

ส่วนเรื่องงานเราแฮปปี้กับทุกงานที่ทำ จะดูคอนเทนต์ทุกตอนก่อนออนแอร์ เป็นคนที่ทำอะไรด้วยตนเองพอสมควร ทุก ๆ อย่างที่ทำออกไปจึงรู้สึกภูมิใจ ถ้าถามว่าอยากภูมิใจอะไรต่อ คำตอบคือ อยากให้รายการที่ทำนั้นเกิดประโยชน์ ถ้ามีคนรุ่นใหม่ที่มาร่วมกันพัฒนาวงการอาหารไทยจากสื่อที่เราทำออกไป นั่นคือสิ่งที่ภูมิใจที่สุด และจะภูมิใจมากขึ้น ถ้าเชฟจาก Heliconia ประสบความสำเร็จ