เกี่ยวกับเรา

หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ เป็นสื่อเก่าแก่ที่สุดในเครือมติชน ด้วยอายุการก่อตั้งนับจากปี พ.ศ. 2519 และมีวันเกิดตรงกับวันที่ 29 พฤษภาคม

ประชาชาติธุรกิจมีต้นกำเนิดจาก หนังสือพิมพ์ ประชาชาติรายสัปดาห์ แจ้งเกิดโดยกลุ่มคนรุ่นใหม่ไฟแรง ปรารถนาที่จะทำหนังสือพิมพ์ตามอุดมการณ์ คือเป็นสื่อที่เป็นอิสระบนสำนึกของประเทศชาติและประชาชนเป็นสำคัญ

ขรรค์ชัย บุนปาน เป็นบรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณา พงษ์ศักดิ์ พยัฆวิเชียร เป็นบรรณาธิการบริหาร ไชยวัฒน์ ยนเปี่ยม เป็นบรรณาธิการผู้ช่วย และวีรประวัติ วงศ์พัวพันธุ์ เป็นหัวหน้าข่าว

หนังสือพิมพ์เริ่มต้นด้วยจำนวน 64 หน้ากระดาษ ขนาดกว้างยาว 10 นิ้ว ราคา 5 บาท โดดเด่นที่รายงานพิเศษที่มีเนื้อหาหลากหลายรส ตั้งแต่การเมือง เศรษฐกิจ ธุรกิจ ไปจนถึงเรื่องผู้หญิง รถยนต์ ฟุตบอล ฯลฯ


ที่มาชื่อ ประชาชาติ

ชื่อหนังสือพิมพ์ “ประชาชาติ” มีรากเหง้ายาวนานกว่านั้น โดยย้อนไปถึงยุคเปลี่ยนแปลงการปกครอง ปีพ.ศ. 2475 เป็นมงคลนามที่ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ทรงตั้งขึ้นเพื่อเป็นหนังสือพิมพ์ขานรับการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ให้ประชาชนพึงเข้าใจว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย หรือที่เรียกว่า ระบอบประชาธิปไตย

15 พฤศจิกายน 2516 หนังสือพิมพ์ชื่อ ประชาชาติ ปรากฏขึ้นอีกครั้ง ในฐานะหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ เมื่อขรรค์ชัย บุนปาน ขอประทานอนุญาตจากพระองค์วรรณ ผู้ก่อตั้ง นำเสนอเป็น หนังสือพิมพ์ “ประชาชาติรายสัปดาห์” นำเสนอข่าวเชิงวิเคราะห์และรายงานบรรยากาศของสังคมและการเมืองไทยอย่างเข้มข้น ไม่เว้นแม้แต่การจับจ้องมองสื่อด้วยกัน
ตามประกาศเจตจำนงว่า “สิ่งที่คณะผู้จัดทำปรารถนาและต้องการคือ ประชาชาติ อันหมายถึงคนไทยทั้งมวลต้องอยู่ตลอดไป”


ผุดรายวันควบคู่รายสัปดาห์

ปีถัดมา วันที่ 29 กรกฎาคม 2517 ทีมงานชุดเดิมนำเสนอหนังสือพิมพ์ประชาชาติรายวัน ควบคู่กับ ประชาชาติรายสัปดาห์ โดย ขรรคชัย บุนปาน รับหน้าที่บรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณา สุจิตต์ วงศ์เทศ เป็นบรรณาธิการบริหาร
ขรรค์ชัย บุนปานทูลขออนุญาตพระองค์วรรณฯ เจ้าของชื่อหนังสือพิมพ์ “ประชาชาติรายวัน” นอกจากได้รับอนุญาตยังได้รับสารอวยพรในการทำหน้าที่สื่อมวลชนในการจรรโลงระบอบประชาธิปไตย

นอกจากเนื้อข่าวที่เข้มข้น รายงานรวดเร็วฉับไวแล้ว รูปแบบการจัดหน้าหนังสือพิมพ์ประชาชาติรายวันยังแตกต่างและโดดเด่นจากหนังสือพิมพ์รายวันฉบับอื่นในเวลานั้น

กิจการดำเนินไปได้ด้วยดี แม้จะมีการแยกออกมาจากบริษัทเดอะเนชั่น ต้นสังกัดเดิม และผลิตในนามบริษัท ประชาชาติ จำกัด ปรับชื่อหนังสือพิมพ์เป็น “หนังสือพิมพ์รวมประชาชาติรายวัน”

อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดสถานการณ์พลิกผันทางการเมืองในเหตุการณ์นองเลือด 6 ตุลา 2519 จึงเป็นจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ของวงการสื่อมวลชนที่เข้าสู่ยุคจำกัดเสรีภาพอย่างร้ายแรง สื่อประชาชาติไม่อาจรอดพ้นผลกระทบนี้


‘เข็มทิศธุรกิจ’ สู่ ‘ประชาชาติธุรกิจ’

สถานการณ์ตึงเครียดทางการเมืองตั้งแต่ปี 2519 ทำให้หนังสือพิมพ์ไม่อาจนำเสนอข่าวการเมืองได้อย่างเสรี ทีมประชาชาติจึงเปลี่ยนทิศสู่การนำเสนอข่าวเศรษฐกิจที่ยังยึดโยงกับประชาชน ในนาม “เข็มทิศธุรกิจ”

“เข็มทิศธุรกิจ” พิมพ์ด้วยกระดาษปอนด์ขาวอย่างดี ขนาด 12 หน้า ราคา 5 บาท นำเสนอกระแสข่าวประเด็นร้อนทางเศรษฐกิจ ไม่ว่า การขึ้นราคาน้ำมัน ราคาไฟฟ้า ที่ส่งผลต่อภาคการผลิตและภาคการบริการ ไปจนถึงข่าวตีแผ่การขนเงินออกนอกประเทศของเศรษฐีวงการธุรกิจน้ำมัน เป็นต้น

เมื่อสถานการณ์ทางการเมืองเริ่มคลี่คลาย สื่อนำเสนอข่าวการเมืองได้ จึงเกิดหนังสือพิมพ์ “มติชนรายวัน” ในปี 2521 ขณะที่เข็มทิศธุรกิจ เปลี่ยนชื่อเป็น “ประชาชาติธุรกิจ”

จากนั้นมา ประชาชาติธุรกิจนำเสนอเป็นราย 3 วัน มุ่งนำเสนอข่าวเจาะลึกวิเคราะห์เศรษฐกิจอย่างรอบด้าน ตอบสนองผู้อ่านทั้งในแวดวงธุรกิจและประชาชนทั่วไปโดยมีสโลแกนประจำหนังสือพิมพ์ว่า “เตือนคุณล่วงหน้า ทุกคำ ทุกข่าว”


ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

เมื่อก้าวสู่ยุคดิจิทัล ประชาชาติธุรกิจ เริ่มเผยแพร่เนื้อหาผ่านทางเว็บไซต์ www.prachachat.net ตั้งแต่ปี 2549 และเป็นหนึ่งในเว็บไซต์ข่าวการเงิน- ธุรกิจชั้นนำของประเทศจนถึงปัจจุบัน โดยในปี 2565 เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ มีผู้ใช้งานมากกว่า 80 ล้านคนจากทั่วโลก

นอกจากเว็บไซต์แล้ว ประชาชาติธุรกิจ ยังพัฒนาเนื้อหาสำหรับผู้อ่านบนแพลตฟอร์มอื่น ๆ เพื่อตอบรับพฤติกรรมของผู้อ่านยุคใหม่ เช่น เพจเฟซบุ๊ก “Prachachat – ประชาชาติ” ซึ่งมีผู้ติดตามกว่า 1.12 ล้านคน รวมถึงอัพเดตข่าวสำคัญล่าสุดทุกชั่วโมงผ่านทาง Line@ ซึ่งมีผู้อ่านเป็นเพื่อนกับ @prachachat มากกว่า 4.5 แสนคน

ปัจจุบัน ผู้อ่านของประชาชาติธุรกิจเข้าถึงข่าว บทความ วิดีโอ และเนื้อหารูปแบบใหม่ ๆ ได้ในอีกหลายช่องทาง เช่น Twitter, YouTube, Blogdit, TikTok และอื่น ๆ


ติดต่อเรา

ประชาชาติธุรกิจ
บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน)
12 ถนนเทศบาลนฤมาล หมู่บ้านประชานิเวศ 1
แขวงลาดยาว จตุจักร กรุงเทพฯ​ 10900
email: [email protected]

โทร. 02-589-0020-1
ติดต่อฝ่ายข่าวหนังสือพิมพ์ 1544
ติดต่อฝ่ายข่าวออนไลน์ 1518, 1551
ต่อฝ่ายสมาชิก 3342
ต่อฝ่ายโฆษณา 1605